Skip to main content
sharethis
IM Japan พร้อมเดินหน้าปรับปรุงระบบ เพื่อขยายรับผู้ฝึกงานไปญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น
 
5 พ.ย. 2558 พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต้อนรับ Mr. Kyoei Yanagisawa ประธานบริหารองค์กร IM Japan และยินดีที่ได้มาหารือข้อราชการในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงแรงงานได้จัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคคนไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นผ่านโครงการ IM Japan ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงวันนี้นับเป็นระยะเวลาถึง 15 ปี ขอขอบคุณองค์กร IM Japan ที่ให้โอกาสผู้ฝึกงานคนไทยได้ฝึกทักษะและเรียนรู้การปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพ มีระเบียบวินัย สามารถกลับมาเปิดกิจการเป็นของตนเอง ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น
 
ขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนของผู้สมัครรับการฝึกอบรมที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ปทุมธานี ได้รับการคัดเลือกไปญี่ปุ่นน้อยลง ทำให้มีผลกระทบด้านงบประมาณของกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอสมควร จึงขอความร่วมมือเรื่องงบประมาณเพื่อเพิ่มทักษะผู้ฝึกงานให้ผ่านเกณฑ์ของญี่ปุ่นได้มากขึ้น และขอให้องค์กร IM Japan เร่งเพิ่มทักษะให้ผู้ฝึกงานไทยให้สอบผ่านการทดสอบระดับฝีมือที่สูงขึ้นเพื่ออยู่ทำงานต่ออีก 2 ปี ตามนโยบายขยายระยะเวลาให้ผู้ฝึกงานจาก 3 ปี เป็น 5 ปี พร้อมทั้งพิจารณาการจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าผู้ผ่านการฝึกงานจากญี่ปุ่น เพื่อมารวมตัวถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในญี่ปุ่น และเป็นต้นแบบความสำเร็จแก่รุ่นน้อง
 
Mr. Kyoei Yanagisawa ประธานบริหารองค์กร IM Japan กล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานเพื่อปรับปรุงระบบการจัดส่งผู้ฝึกงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วนของการทดสอบระดับฝีมือที่สูงขึ้นเพื่ออนุญาตให้อยู่ฝึกงานต่ออีก 2 ปี ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 3 โดยไม่ต้องสอบภาษาญี่ปุ่นอีก พร้อมทั้งได้นำเสนอรูปแบบสมาคมผู้สำเร็จการฝึกงานจากญี่ปุ่นของอินโดนีเซียมาเป็นต้นแบบสำหรับผู้สำเร็จการฝึกงานคนไทย
 
 
สศอ.หวั่นไทยขาดแรงงานป้อนอุตสาหกรรม
 
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตในภาคอุตสาหกรรมเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และค่านิยมการเรียนระดับปริญญา และในอนาคตคาดว่าการขาดแคลนแรงงานจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติกลับประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว และโอกาสการจ้างงานในประเทศต้นทางมีมากขึ้นจากการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง
 
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศไทยในปี 57 จะพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 47 - ปี 57) ประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 974,143 คน เป็น 1,339,834 คน คิดเป็น 37.54 การที่มีแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย อยู่ในระดับสูงโดยเปรียบเทียบ เห็นได้จากจำนวนแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 56 -57 ซึ่งมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 13.18% เนื่องจากนโยบายขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่ประกาศใช้ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 และเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนจากค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน พบว่าประเทศไทยมีค่าจ้างแรงงานสูงเป็นอันดับสอง โดยอันดับแรก คือ สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าจ้างอยู่ที่ 32.2-129.9 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับสอง คือ ประเทศไทยมีค่าจ้างอยู่ที่ 8.8 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับสามคือ มาเลเซีย มีค่าจ้างอยู่ที่ 7.3-8.1 ดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำสุด คือ เมียนมา มีค่าจ้างอยู่ที่ 0.8-1.2 ดอลลาร์สหรัฐ นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเยื่อและกระดาษสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย เฉลี่ยประมาณ 6.5 ล้านตันต่อปี มูลค่าประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปี ผลิตใช้ในประเทศประมาณ 70-80% ส่งออกประมาณ 20-30% ซึ่งถ้ารวมกำลังการผลิตของทุกประเทศในเอเชียแล้ว ถือว่าเป็นทวีปที่มีกำลังการผลิตเยื่อและกระดาษสูงที่สุดของโลก ประมาณ 230 ล้านตันต่อปี การที่จะช่วงชิงตลาดจะต้องดำเนินการหลาย และต้องผลักดันให้ภาครัฐทบทวนอัตราภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งให้สินค้าของไทยแข่งขันได้ เพราะที่ผ่านมากลไกไม่เหมาะสมทำให้มีการตีตลาดจากต่างประเทศจำนวนมาก
 
 
เผยอาชีวศึกษาเป็นทางรอดของไทยต้องสร้าง นศ.รุ่นใหม่ให้คิดเป็นทำเป็น
 
ศาสตราจารย์ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีสายงานวิจัยและคณบดี วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในงานเสวนา "อาชีวศึกษาเชิงสร้างสรรค์ และผลิตภาพ: ความท้าทายรับ AEC" (Creative and Productive Vocational Education: Challenges to AEC) ว่า อาชีวศึกษาถือเป็นทางรอดที่สำคัญของประเทศชาติเพราะเป็นภาคการศึกษา ที่ผลิตบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์การโรงแรมและการท่องเที่ยวการผลิตชิ้นส่วน ฯลฯ ซึ่งควรจะได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะ หากไม่เกิดการจัดระบบอาชีวศึกษาตั้งแต่ วันนี้ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งจะส่งผลให้กับ ประเทศไทยในระยะยาว ดังนั้น อาชีวศึกษา รุ่นใหม่ต่อจากนี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์สามารถผลิตผลงานใหม่ๆ ที่สะท้อนความ เปลี่ยนแปลงความก้าวหน้า ตลอดจนอนาคตของประเทศไทยและของโลกด้วยซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่มีบทบาทอย่างเราที่จะนำพานักเรียนเหล่านี้ก้าวขึ้นไป อีกขั้นสร้างโอกาสให้พวกเขาเหล่านี้ได้เป็น ผู้นำในวงการธุรกิจวงการวิชาชีพวงการ อุตสาหกรรมและวงการค้าในระยะยาวต่อไป ซึ่งจากการจัดระดมความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชนในครั้งนี้หวังให้เกิดแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ในทุกมิติสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพและมีความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งสมรรถนะที่สำคัญที่สุดของผู้ที่เรียน อาชีวศึกษาในยุค AEC คือ ความสามารถ ในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในสาขา วิชาชีพสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งประยุกต์สู่ อาชีพได้ โดยจะต้องเป็นภารกิจของคณาจารย์ ทั้งหลายที่จะทำอย่างไรให้นักเรียนที่จะจบการศึกษาออกไปนั้น เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังที่องค์กรต่างๆ ต้องการ
 
นายคมพิชญ์ พนาสุภน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทแม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวในงานเดียวกันว่า ขณะนี้ภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษาของประเทศไทยกำลัง ถูกกระตุ้นและส่งเสริมอย่างหนักจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องตลอดจนเกิดเป็นความร่วมมือ ในรูปแบบทวิภาคีจากหลายหน่วยงานแม็คเอ็ดดูเคชั่นเองก็เช่นเดียวกันที่ได้มี โอกาสร่วมเป็นทวิภาคีในสถาบันการศึกษา หลายแห่งด้วยความมุ่งมั่นในการเข้าไปช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบ การเรียนการสอนองค์ความรู้และสร้างวิชาชีพตั้งแต่บุคลากรในสถาบันคณาจารย์ จนปลายทางคือนักเรียนเพื่อให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับในฐานะกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ไปสู่อนาคตที่ดีข้างหน้า โดยเฉพาะการเปิด ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปลายปีนี้ ทั้งนี้พันธกิจต่างๆ ที่เราได้ดำเนินการอยู่นี้ยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาการศึกษาภาคอาชีวศึกษาในขณะนี้อีกด้วย
 
 
พม.รุกผุดบ้านข้าราชการ-พนักงานรัฐ
 
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแนวทางการจัดทำที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตด้านความมั่นคงที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ ภายใต้แผน ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) โดยมอบหมายให้ พม.รับผิดชอบ ซึ่งจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดโครงการแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. โครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านพักสวัสดิการ) พนักงานราชการและลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ โดยพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นสวัสดิการที่มีอยู่แล้วของแต่ละหน่วยงาน และ 2. โครงการที่อยู่อาศัยประเภทเช่าซื้อ สำหรับตอบ สนองความต้องการของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้ข้าราชการได้เป็นเจ้าของด้วยการผ่อนชำระระยะยาว 
 
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงาน ทั้งนี้ กำหนดให้จัดทำแผนข้อมูลภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอที่ประชุมต่อไป
 
 
กยศ.กุมขมับ! ยอด"หมอ-พยาบาล"เบี้ยวหนี้เริ่มพุ่ง มีงาน-เงิน แต่ตั้งใจชักดาบ
 
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยศ.ได้ทยอยโอนเงินค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพให้แก่ผู้กู้ กยศ.และผู้กู้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2557 แล้ว ดังนี้ ผู้กู้ กยศ. 597,746 ราย แบ่งเป็น ผู้กู้เก่า 489,422 ราย และผู้กู้ใหม่ 108,324 ราย และผู้กู้ กรอ. 90,131 ราย แบ่งเป็น ผู้กู้เก่า 54,625 ราย และผู้กู้ใหม่ 35,506 ราย โดยในส่วนของ กยศ.มีผู้ที่ครบกำหนด และอยู่ระหว่างชำระหนี้ 2,185,133 ราย ค้างชำระหนี้ 1,205,626 ราย ซึ่ง กยศ.จะต้องเร่งติดตาม 
 
"ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา โดยควบรวมกองทุน กยศ.และกองทุน กรอ.เข้าด้วยกัน ให้เหลือเพียงกองทุนเดียว เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา และหากมี พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ก็จะแก้ปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องในการกู้ยืมของทั้งสองกองทุนได้" น.ส.ฑิตติมากล่าว
 
นายเปรมประชา ศุภสมุทร กรรมการกองทุน กรอ.กล่าวว่า การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา เพื่อให้กรมสรรพากรเข้ามาจัดเก็บหนี้แทน กยศ.นั้น หากปรับแก้ไม่ทันก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ก็ปรับแก้ได้ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยังปรับแก้ในรายละเอียดได้อีก เพื่อให้ พ.ร.บ.ที่จะออกมามีความสมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะจะต้องแก้ปัญหาข้อบกพร่องของกองทุน กยศ.และ กรอ.ในเรื่องการจัดเก็บหนี้ และลดจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุน กรอ.ได้เห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 ชุด คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์วางแผน ที่จะต้องกำหนดสาขาการปล่อยกู้ ซึ่งสามารถมองไปในอนาคตข้างหน้า 4 ปี ว่าจบแล้วมีงานทำแน่นอน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อหามาตรการดูแลผู้ที่ไม่มาชำระหนี้ 
 
"พบว่าสาเหตุสำคัญของผู้ที่ไม่มาชำระหนี้ ลำดับแรกคือ ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ถัดมาคือ มีเงิน มีงานทำ แต่ตั้งใจไม่มาชำระหนี้ ซึ่งสถิติสาขาที่มีผู้ค้างชำระมากที่สุดคือ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ อยู่ที่ประมาณ 72% โดยกลุ่มสาธารณสุข/พยาบาล 57% และกลุ่มแพทย์ 51% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย 
 
โดยจำนวนผู้กู้ กรอ.ตั้งแต่ปี 2549 มีทั้งหมด 345,100 ราย ใช้งบประมาณรวม 18,074 ล้านบาท ครบกำหนดชำระ 267,184 ราย เป็นเงิน 10,318 ล้านบาท ค้างชำระ 190,700 ราย เป็นเงิน 7,243 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ที่น่าตกใจคืออาชีพแพทย์และพยาบาล ซึ่งมีงานทำแน่นอน กลับไม่ยอมชำระหนี้ วิธีแก้ปัญหานอกจากสร้างวินัยและจิตสำนึกให้แต่ละคนแล้ว ยังต้องดูระบบติดตามหนี้ ที่จะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย" นายเปรมประชากล่าว
 
 
ขรก.เตรียมพบ สธ. 12 พ.ย.หารือเกณฑ์เยียวยาเหลื่อมล้ำเงินเดือน-ขอบคุณ หลัง ครม.อนุมัติ
 
นายธนภัทร ศรีชุม ประธานกลุ่มเครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรม (กระทรวงสาธารณสุข) กล่าวว่า ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ตัวแทนเครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรม สธ. จะเดินทางไปกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอบคุณที่ช่วยผลักดันการเยียวยาปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนให้กับพนักงาน สธ.และลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับบรรจุข้าราชการก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 จำนวน 12,000 คน ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้เยียวยาแล้ว มีมติเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้จะขอหารือถึงหลักเกณฑ์การเยียวยาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปโดยเร็วและถูกต้อง ไม่เกิดความวุ่นวาย ทั้งนี้การเยียวยา
 
“ครม.ได้อนุมัติการเยียวยาแล้ว และจะมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งดูแล้วต่างก็พอใจและได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นคงจะไม่มีการอุทธรณ์อีก เพียงแต่หลังจากนี้คงต้องติดตามการเยียวยาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่เท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ก.พ.เองก็ให้ประโยชน์สูงสุด โดยให้คำนวณปรับอัตราเงินเดือนใหม่ให้กับลูกจ้างในวันเยียวยาก่อน เพราะเราได้ใช้เวลาในการเรียกร้องเรื่องนี้ยาวนานถึง 2 ปี และหลังปรับเงินเดือนแล้วค่อยนำเข้าสู่ พ.ร.บ.เงินเดือน พ.ศ. 2558 ที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือน 10%” ประธานกลุ่มเครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรม กล่าวและว่า สำหรับในวันที่ 12 พฤศจิกายน นี้ จะเข้าพบนางสาวภาวนา เผือกผาสุข ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะฝากขอบคุณไปยัง รมว.สาธารณสุข และปลัด สธ. นอกจากนี้จะทำหนังสือขอบคุณไปยัง ก.พ.ด้วย
 
นายธนภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะใช้เวลาดำเนินการยาวนานถึง 2 ปี แต่เนื่องจากมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ทำให้มั่นใจว่าอย่างไรผู้ใหญ่จะให้ความเป็นธรรมตรงนี้แน่นอน เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบกับข้าราชการในระบบถึง 12,000 คน ซึ่งหากถามว่าการผลักดันตรงนี้เหนื่อยมั้ย ต้องบอกว่าเหนื่อย แต่ก็เป็นการเสียสละเพื่อข้าราชการด้วยกัน ไม่แต่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข แต่รวมถึงข้าราชการในกระทรวงอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายถึง 5 ฉบับ คือ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อครู ตำรวจ ทหาร ข้าราชการรัฐสภา และข้าราชการพลเรือนที่รวมถึงข้าราชการในสังกัด สธ.ด้วย และตรงนี้จะเป็นบรรทัดฐานกรณีที่เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำขึ้นในระบบ   
 
ต่อข้อซักถามว่า กลุ่มเครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรมเป็นกลุ่มที่รวมตัวเรียกร้องเฉพาะกิจ หลังจากนี้จะดำเนินการต่ออย่างไร นายธนภัณฑ์กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรมฯ จะเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจต่อสู้เพื่อความยุติธรรม โดยเป็นการรวมตัวของทุกเครือข่ายวิชาชีพ มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อทำเรื่องนี้ ซึ่งหลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้วการเคลื่อนไหวคงต้องจบ และต้องปล่อยเป็นบทบาทของแต่ละสมาคมวิชาชีพ แต่ในส่วนที่มีการรวมตัวในโซเซียลจนเป็นพลังหนึ่งต้องคงไว้ หากวันใดเกิดความไม่ยุติธรรมและเหลื่อมล้ำขึ้นอีกคงต้องกลับมารวมตัวเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยหลังจากนี้คงต้องทำหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังต่อไป
 
 
สธ.ตั้งเป้าปี 66 ผลิตแพทย์ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน 1 ต่อประชากร 1,500 คน
 
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการแนะนำนักศึกษาแพทย์ เรื่อง “เส้นทางการเป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข” เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะจบการศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจเส้นทางการเป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข เป็นแรงจูงใจให้แพทย์ตัดสินใจปฏิบัติราชการชดใช้ทุน อย่างมีความสุข มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน โดยมีอาจารย์แพทย์และตัวแทนนักศึกษาแพทย์ ปี 5-6 จาก 21 โรงเรียนแพทย์ และตัวแทนนักศึกษาแพทย์จากศูนย์แพทย์ 39 แห่งของกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมกว่า 120 คน
 
นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการมีแพทย์กระจายครอบคลุมในทุกหน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ได้รับความเท่าเทียมกันในการรักษา โดยแต่ละปีจะมีแพทย์จบใหม่ประมาณปีละ 2,500 คนเข้ามาเติมเต็มในระบบบริการ ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้แพทย์ไหลออกจากระบบ ทั้งการลาศึกษาต่อ การลาออกเพื่อประกอบอาชีพอิสระ และปัญหาทางสุขภาพ เฉลี่ยปีละ 500 คน ทั้งนี้เพื่อให้ระบบสุขภาพในประเทศมีแพทย์เพียงพอที่จะบริการผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานคือ แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,500 คน ในปี 2566 ซึ่งขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน จากทุกระบบทั้งในราชการและเอกชน
 
การกระจายแพทย์ ไปปฏิบัติงานจะใช้เกณฑ์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ กำหนดตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้เลือกจังหวัดที่จะไปปฏิบัติงาน เพื่อชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี แพทย์จบใหม่ทุกคนในปีแรกจะต้องเข้าปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปเป็นเวลา 1 ปี เพื่อฝึกปฏิบัติเพิ่มพูนทักษะเพิ่มเติม ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์และแพทย์รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ สร้างความชำนาญและประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้แพทย์ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจและมีความเข้าใจในระบบบริการยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะต้องลงปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจนครบ 3 ปี เมื่อครบกำหนดใช้ทุนแล้ว แพทย์สามารถเลือกปฏิบัติในโรงพยาบาลชุมชนต่อ หรือจะไปศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ ตามแผนพัฒนาระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข (Service Plan)  
 
 
เตรียมแรงงานเวียดนามทำงานในไทย
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.)เห็นชอบให้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาวและกัมพูชา ในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เนื่องจากเป็นกิจการต่อเนื่องจากกิจการประมง ใน 22 จังหวัดติดชายทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งข้อท้วงติงของสหภาพยุโรป(อียู) เกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) ที่กำหนดให้ประเทศไทยแก้ไขนอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราวีซ่าให้แก่แรงงานสัญชาติเวียดนาม ซึ่งจะเปิดจดทะเบียนกรณีที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาทำงานในประเทศไทยก่อนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนวันที่ 10 ก.พ. 2558 ซึ่งพบว่ามีทั้งหมดประมาณ 3,000 คนโดย จะอนุญาตให้สำหรับแรงงานเวียดนามกลุ่มนี้ทำงานในไทยเป็นเวลา 1 ปี ในอาชีพ ประมง กรรมกร แม่บ้านและพนักงานในร้านอาหาร ส่วนกลุ่มที่จะนำเข้ามาตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับเวียดนามนั้นอนุญาตให้ทำอาชีพประมง กรรมกรและแม่บ้านเท่านั้น จะนำมติที่ประชุมกนร.เสนอต่อครม.ในวันที่ 10 พ.ย.นี้
 
 
จี้ศึกษา-แรงงานออกประกาศฯลดตีตราเอดส์
 
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินงาน 2 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์ โดยในปีงบประมาณ 2559 ได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานและการบริหารงบประมาณ แบ่งเป็นงบกองทุน เพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยวัณโรค หมวดป้องกันของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 200 ล้านบาท และงบการดำเนินงานของกรมควบคุมโรค 30.127 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในเขตสุขภาพ 13 เขต และการ บริหารจัดการเอดส์ในสถานที่ทำงาน การจัดซื้อเข็มและอุปกรณ์สะอาด การพัฒนาระบบข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนจังหวัดและเขต รวมถึงพัฒนาระบบเฝ้าระวังสถานการณ์
 
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานเพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ที่ต้องเร่งรัดเพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ คือ ระบบการรับเรื่องร้องเรียนและการละเมิดสิทธิ การแก้ไขและคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิ การเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องเอดส์กับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ได้เตรียมประสานให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการเร่งออกประกาศกระทรวงฯ ให้หน่วยงานในสังกัดรับทราบแนวทางการปฏิบัติอย่างชัดเจน ในการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ
 
 
บิ๊กตู่ใช้ ม.44โละ"บอร์ดประกันสังคม" ตั้งใหม่-ระงับการสรรหา เพื่อปฏิรูปโปร่งใส
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 พ.ย. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว มีรายละเอียดดังนี้
 
โดยที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้บัญญัติให้คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมหรือคณะกรรมการการแพทย์ขึ้นใหม่ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔)พ.ศ. ๒๕๕๘ ใช้บังคับ ประกอบกับในปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงสภาพปัญหาและข้อขัดข้องในการดำเนินการของระบบประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคมทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนายจ้างลูกจ้าง และผู้ประกันตน อันส่งผลไปถึงความเสียหายต่อรัฐด้วย กรณีจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปฏิรูประบบของงานประกันสังคม งานเงินทดแทน และสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้มีการดำ เนินงานที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ประกันตน โดยจำเป็นต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวรวมทั้งให้ระงับกระบวการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมไว้ก่อนแล้วแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทนเพื่อให้การปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปราชการแผ่นดิน
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑ ให้คณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับหยุดปฏิบัติหน้าที่และให้การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมตามมาตรา๘หรือคณะกรรมการการแพทย์ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ ยุติลง
 
ข้อ ๒ ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๖แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และมาตรา ๘/๑ มาตรา ๘/๒ มาตรา ๘/๓ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ จนกว่าคณะกรรมการหรือที่ปรึกษาตามข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง โดยในระหว่างนี้ให้การได้มาซึ่งคณะกรรมการ
ประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ เป็นไปตามคำสั่งนี้
 
ข้อ ๓ ให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา ๓๑มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ. ๒๕๓๗ จนกว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามข้อ ๗ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งโดยในระหว่างนี้ให้การได้มาซึ่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นไปตามคำสั่งนี้
 
ข้อ๔ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
(๑) ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการ
(๒) ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ
(๓) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กรรมการ
(๔) ผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการ
(๕) นายทวี ดียิ่ง กรรมการ
(๖) นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร กรรมการ
(๗) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการ
(๘) นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล กรรมการ
(๙) นายวาชิต รัตนเพียร กรรมการ
(๑๐) นายวันชัย ผุดวารี กรรมการ
(๑๑) นายสมพงศ์ นครศรี กรรมการ
(๑๒) นายสุวรรณ สุขประเสริฐ กรรมการ
(๑๓) นายสุวิทย์ ศรีเพียร กรรมการ
(๑๔) นางอรุณี ศรีโต กรรมการ
(๑๕) เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ
 
ข้อ ๕ ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วย
การประกันสังคม
(๑) นายปั้น วรรณพินิจ
(๒) นายอำพล สิงหโกวินท์
(๓) พลโท กฤษฎา ดวงอุไร
(๔) นายถาวร พานิชพันธ์
(๕) พลเอก อภิชาต แสงรุ่งเรือง
 
ข้อ ๖ ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการในคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วย
การประกันสังคม
(๑) นายชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการ
(๒) นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการ
(๓) นายอำนวย กาจีนะ กรรมการ
(๔) นายสุพรรณ ศรีธรรมมา กรรมการ
(๕) พลโท ไตรโรจน์ ครุธเวโช กรรมการ
(๖) ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี กรรมการ
(๗) พลตรี จัดพล วุฑฒกนก กรรมการ
(๘) ศาสตราจารย์พรชัย สิทธิศรัณย์กุล กรรมการ
(๙) รองศาสตราจารย์จุฑาไล ตัณฑเทอดธรรม กรรมการ
(๑๐) นายอดุลย์ บัณฑุกุล กรรมการ
(๑๑) นายชาญวิทย์ ทระเทพ กรรมการ
(๑๒) นายทรงยศ ชัยชนะ กรรมการ
(๑๓) ศาสตราจารย์สุนันทา พลปัถพี กรรมการ
(๑๔) ศาสตราจารย์สารเนตร์ ไวคกุล กรรมการ
(๑๕) รองศาสตราจารย์ศุภชัย รัตนมณีฉัตร กรรมการ
(๑๖) ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ
ข้อ ๗ ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วย
เงินทดแทน
(๑) เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ประธานกรรมการ
(๒) นายศรีประสิทธิ์ บุญวิสุทธิ์ กรรมการ
(๓) นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ กรรมการ
(๔) นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการ
(๕) นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย กรรมการ
(๖) นางผจงสิน วรรณโกวิท กรรมการ
(๗) นางปริศนา ประหารข้าศึก กรรมการ
(๘) นายอรรถการ ตฤษณารังสี กรรมการ
(๙) นายปิยะชาติ ชุณหเวชสกุล กรรมการ
(๑๐) นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ กรรมการ
(๑๑) นายวารินทร์ ศรีแจ่ม กรรมการ
(๑๒) นายบรรจง บุญรัตน์ กรรมการ
(๑๓) นายพงษทร คงลือชา กรรมการ
(๑๔) ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ
ข้อ ๘ กรรมการซึ่งระบุชื่อตามข้อ ๔ ข้อ ๖ และข้อ ๗ หรือที่ปรึกษาตามข้อ ๕มีวาระอยู่ในตำแหน่งสองปีนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อครบกำหนดตามวาระแล้วให้ดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการหรือที่ปรึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมหรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนแล้วแต่กรณีให้คณะกรรมการและที่ปรึกษาที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมหรือคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
 
ข้อ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระในข้อ ๘ กรรมการซึ่งระบุชื่อตามข้อ ๔ ข้อ ๖
และข้อ ๗ หรือที่ปรึกษาตามข้อ ๕ พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ออก
เมื่อกรรมการหรือที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่แทนได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับ
วาระที่เหลืออยู่ของกรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้นทั้งนี้ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งบุคคล
เพื่อทำหน้าที่แทนกรรมการซึ่งระบุชื่อให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่และให้ปฏิบัติหน้าที่
ต่อไปได้
 
ข้อ๑๐ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมกรรมการการประชุมคณะกรรมการตามข้อ ๔ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุมให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจมาประชุมได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมมติในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียง
เท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดในการประชุมของคณะกรรมการตามข้อ๔ข้อ ๖ และข้อ ๗ ถ้ากรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องที่พิจารณา ผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม
 
ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการตามข้อ ๔ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ให้นำข้อ ๑๐ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
 
ข้อ ๑๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
 
แรงงานหญิงเรียกร้องปรับกฎหมายลาคลอด เป็น 120 วัน ระบุกฎหมายเดิมล้าสมัยใช้มายาวนานกว่า 22 ปี
 
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จัดเสวนา บทเรียนการต่อสู้กฎหมายลาคลอด 90 วันกับทิศทางการพัฒนาสวัสดิการแรงงานหญิง โดยมีสาระสำคัญคือเรียกร้องการเพิ่มวันลาคลอดให้แรงงานหญิงได้สิทธิดูแลบุตรหลังคลอดเพิ่มเป็น 120 วันหรือ 4 เดือน จากเดิมที่สามารถลาคลอดได้ 90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน
 
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำร่องเรื่องกฎหมาย โดยให้สามีใช้สิทธิลาได้ด้วย เพื่อดูแลภรรยาและลูกหลังคลอด ซึ่งปัจจุบันในส่วนของข้าราชการทำได้ แต่ในภาคเอกชนกลับไม่มีสิทธิในส่วนนี้ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งหลังจากนี้ทางกลุ่มจะร่วมกันรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ ก่อนจะนำข้อเสนอดังกล่าวยื่นต่อกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรีต่อไป
 
 
คนงานนับพันประท้วงหัวหน้างานตบลูกน้องแก้วหูอักเสบ
 
(9 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเหตุคนงานนับพันคนของบริษัท ไทยการ์เม้นต์ เอ๊กซปอร์ต จำกัด เลขที่ 50/3 หมู่ 4 ถ.แจ้งวัฒนะ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จับกลุ่มชุมนุมประท้วงไม่เข้าทำงานที่บริเวณลานด้านหน้าโรงงาน สาเหตุเนื่องจากพนักงานรายเดือนทำร้ายร่างกายพนักงานรายวันจนได้รับบาดเจ็บหูอักเสบ จึงรีบรุดเดินทางไปตรวจสอบ
       
ที่เกิดเหตุเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออกขนาดใหญ่ พบคนงานชายและหญิงนับพันต่างส่งเสียงตะโกนโห่ร้องด้วยความไม่พอใจในตัวผู้บริหารหลังเกิดเหตุการณ์พนักงานหญิงหัวหน้าแผนกตบพนักงานหญิงรายวันจนแก้วหูอักเสบ คือ น.ส.อำภา หรือน้องแพรว พิงไทย อายุ 27 ปี พนักงานรายวันที่โดนทำร้ายเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 58 ที่ผ่านมาช่วงเวลา 16.00 น. ขณะที่ตนเองทำงานอยู่นั้น นางวราภรณ์ นิดจอหอ อายุ 40 ปี หัวหน้าแผนกตัดเย็บรายเดือน เดินเข้ามาไม่พูดพล่ามทำเพลงใช้ฝ่ามือตบเข้าที่ใบหูตนเองอย่างแรงจนหูอื้อทำให้เพื่อนๆ ต้องรีบนำส่ง รพ.กรมชลประทาน ก่อนส่งไปรักษาตัวต่อที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ แพทย์ตรวจพบว่าแก้วหูอักเสบอย่างแรง
       
น.ส.อำภาเล่าต่อว่า หลังจากนั้นตอนเช้าวันที่ 4 พ.ย. 58 ตนจึงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด เพื่อให้ดำเนินคดีต่อนางวราภรณ์ในข้อหาทำร้ายร่างกาย หลังจากนั้นเรื่องทั้งหมดก็เข้าสู่ที่ประชุมของฝ่ายบริหาร แต่ปรากฏว่ากลับลงโทษแค่ตักเตือน ทั้งๆ ที่ตามกฎระเบียบของโรงงานต้องถูกไล่ออก ทำให้เพื่อนพนักงานรายวันที่มีนับพันคนต่างไม่พอใจและเห็นใจตนเองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงชุมนุมประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตนเอง โดยตั้งแต่วันเกิดเหตุแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่พอใจ และหลังเกิดเหตุเขาเพียงแค่มากล่าวขอโทษ ตนถามว่าทำร้ายตนโกรธตนเรื่องอะไร เขาก็ไม่ยอมบอก อย่างนี้แสดงว่าไม่มีความจริงใจที่จะขอโทษกัน เรื่องนี้ขอเอาเรื่องให้ถึงที่สุดและหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากผู้บริหารที่เข้าข้างพนักงานรายเดือน แต่ไม่เห็นความสำคัญของพนักงานรายวัน
       
ด้าน น.ส.นาราทิพย์ บุญมา พนักงานรายวันแผนกกระดุมและประธานสหภาพแรงงานไทยการ์เม้นต์ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนในสถานะคนกลางได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการฯ และได้ติดต่อกับสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานไทย ให้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ เพื่อพูดคุยกับบริษัทและทางเราว่าต้องการอะไร บทสรุปตรงนี้จะทำยังไงเพื่อให้บทลงโทษชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้ทางบริษัทยังไม่ได้ดำเนินการอะไร ทางเราก็รอคำตอบอยู่ ตอนแรกจะคัดด้านก่อนเที่ยงแต่ยังไม่ได้คำตอบอะไรน่าจะรอบ่าย ก่อนหน้านี้มีการทะเลาะวิวาทกันแต่ไม่เคยมีเหตุหัวหน้างานทำร้ายลูกน้องแบบนี้ เมื่อหลายปีก่อนมีเหตุการณ์แบบนี้บทลงโทษคือไล่ออกตามระบบกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนการทำแบบนี้มันทำไม่ได้ อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลแรงงานระดับล่างบ้าง ไม่ใช่ดูแลแต่นายจ้าง 
 
 
ครม.เห็นชอบจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ แก้ปัญหา IUU
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) และการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
 
1. การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ประสงค์จะทำงานในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรและอนุญาตให้ทำงานเป็นเวลา 1 ปี และในระหว่างการอนุญาตทำงานหากแรงงานประสงค์ที่จะตรวจสัญชาติก็เปิดโอกาสให้มีการตรวจสัญชาติควบคู่กันไปด้วย โดยให้ไปดำเนินการที่สถานทูต (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ประจำประเทศไทย
 
2. แนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ดำเนินการใน 2 ลักษณะ ดังต่อไปนี้ (ไม่รวมผู้ติดตาม)
 
2.1 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามทำงานได้ชั่วคราว ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 30 วัน เพื่อขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว
 
2.2 การนำเข้าแรงงานเวียดนาม ทางการเวียดนามแจ้งว่าจะมอบหมายให้บริษัทจัดหางานเวียดนาม จำนวน 10 บริษัท เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทย สำหรับการดำเนินการของทางการไทย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจดำเนินการตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 โดยมอบหมายให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยประสานการดำเนินงานกับบริษัทจัดหางานกรณีนำเข้าแรงงานประมง
 
สำหรับการนำเข้าแรงงานก่อสร้าง ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับแรงงานประมง โดยให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้ประสานงาน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะกำหนดแนวทางการนำเข้าแรงงานเวียดนามให้มีความโปร่งใส สะดวก ประหยัด และรวดเร็ว โดยเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนเริ่มดำเนินการนำเข้าแรงงานเวียดนามต่อไป
 
3. การออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa) ให้กับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมายปกติจัดเก็บในอัตรา 2,000 บาท  ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมายตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่น (MOU) หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษปกติในอัตรา 500 บาท โดยจะมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งจะสิ้นผลการใช้บังคับในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม
 
 
ครม.เห็นชอบอัตราเงินเดือนใหม่ ธอส.
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ของพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ทุกระดับตำแหน่ง 
 
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับเงินเดือนเข้าโครงสร้างเงินเดือนใหม่ การปรับอัตราเงินเดือนใหม่นี้จะปรับขึ้นโดยมีเกณฑ์สำหรับผู้ที่ได้รับอัตราเงินเดือนใหม่แล้วยังไม่ถึงอัตราเงินขั้นต่ำว่าต้องได้รับการปรับขึ้นไม่เกินร้อยละ10 ของกระบอกเงินเดือนใหม่ หากได้ปรับขึ้นเกินร้อยละ 10 ของกระบอกเงินเดือนใหม่ ต้องรอปรับเงินเดือนในปีต่อไป ถึงจะได้รับเงินเดือนอัตราขั้นต่ำตามโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557
 
ในส่วนของการขอปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานทุกตำแหน่งในอัตราร้อยละ 2 ครม.มีมติไม่เห็นชอบ เนื่องจากได้รับเงินเพิ่มจากการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่แล้ว
 
สำหรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ที่ปรับปรุงครั้งนี้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ/รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส(ระดับ16) ขั้นต่ำ 110,000 บาท ขั้นสูง 220,000 บาท
 
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (ระดับ 15) ขั้นต่ำเดิม 73,300 บาท ขั้นต่ำใหม่ 76,000 บาท ขั้นสูงเดิม 149,552 บาท ขั้นสูงใหม่ 176,000 บาท
 
ผู้อำนวยการฝ่าย/สำนัก (ระดับ 14) ขั้นต่ำเดิม 62,000 บาท ขั้นต่ำใหม่ 60,600 บาท ขั้นสูงเดิม 126,672 บาท ขั้นสูงใหม่ 140,000 บาท
 
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย/สำนัก (ระดับ 13) ขั้นต่ำเดิม 52,600 บาท ขั้นต่ำใหม่ 54,000 บาท ขั้นสูงเดิม 107,328 บาท ขั้นสูงใหม่ 133,000 บาท
 
ผู้จัดการสาขาอาวุโส/ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย/สำนัก (ระดับ 12) ขั้นต่ำเดิม 44,600 บาท ขั้นต่ำใหม่ 47,200 บาท ขั้นสูงเดิม 91,000 บาท ขั้นสูงใหม่ 124,000 บาท
 
ผู้จัดการสาขา/หัวหน้างาน (ระดับ 11) ขั้นต่ำเดิม 32,800 บาท ขั้นต่ำใหม่ 41,220 บาท ขั้นสูงเดิม 84,240 บาม ขั้นสูงใหม่ 112,500 บาท
 
ผู้ช่วยหัวหน้างาน/ผู้ช่วยผู้จัดการสาขา/ผู้จัดการสาขาย่อย (ระดับ 10) ขั้นต่ำเดิม 27,800 บาท ขั้นต่ำใหม่ 36,500 บาท ขั้นสูงเดิม 71,344 บาท ขั้นสูงใหม่ 79,500 บาท
 
ผู้ช่วยหัวหน้างาน (ระดับ 9) ขั้นต่ำเดิม 23,600 บาท ขั้นต่ำใหม่ 30,800 บาท ขั้นสูงเดิม 60,528 บาท ขั้นสูงใหม่ 67,000 บาท
 
พนักงานอาวุโส (ระดับ 8 ) ขั้นต่ำเดิม 19,700 บาท ขั้นต่ำใหม่ 25,800 บาท ขั้นสูงเดิม 51,272 บาท ขั้นสูงใหม่ 56,200 บาท
 
พนักงานอาวุโส (ระดับ 7) ขั้นต่ำเดิม 16,800 บาท ขั้นต่ำใหม่ 21,400 บาท ขั้นสูงเดิม 43,576 บาท ขั้นสูงใหม่ 46,600 บาท
 
พนักงานอาวุโส (ระดับ 6) ขั้นต่ำเดิม 13,400 บาท ขั้นต่ำใหม่ 17,500 บาท ขั้นสูงเดิม 37,960 บาท ขั้นสูงใหม่ 38,100 บาท
 
พนักงานคุณวุฒิ ป.โท/ตรี (ระดับ 5) ขั้นต่ำเดิม 11,200 บาท ขั้นต่ำใหม่ 14,800 บาท ขั้นสูงเดิม 31,720 บาท ขั้นสูงใหม่ 32,000 บาท
 
พนักงานคุณวุฒิ ป.ตรี (ระดับ 4) ขั้นต่ำเดิม 9,700 บาท ขั้นต่ำใหม่ 12,200 บาท ขั้นสูงเดิม 26,416 บาท ขั้นสูงใหม่ 26,500 บาท
 
พนักงานคุณวุฒิ ปวส. (ระดับ 3) ขั้นต่ำเดิม 7,900 บาท ขั้นต่ำใหม่ 10,300 บาท ขั้นสูงเดิม 22,048 บาท ขั้นสูงใหม่ 22,500 บาท
 
พนักงานคุณวุฒิ ปวช. (ระดับ 2) ขั้นต่ำเดิม 6,400 บาท ขั้นต่ำใหม่ 8,600 บาท ขั้นสูงเดิม 18,408 บาท ขั้นสูงใหม่ 18,600 บาท
 
พนักงานคุณวุฒิต่ำกว่า ปวช. (ระดับ 1) ขั้นต่ำเดิม 5,700 ขั้นต่ำใหม่ 7,100 ขั้นสูงเดิม 15,228 บาท ขั้นสูงใหม่ 15,300 บาท  
 
 
พบกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุน 1.3 ล้านล้านบาท 88% เป็นเงินลงทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ
 
11 พ.ย. 2558 ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม พบว่า ณ เดือน กันยายน 2558 กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุน 1,339,290 ล้านบาท โดย 1,184,716 ล้านบาท หรือ 88% ของทั้งหมดเป็นเงินลงทุนในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ส่วนเงินลงทุนกรณีว่างงานมี 103,170 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมระบุว่าสำรองไว้เพื่อรองรับคนว่างงานพร้อมกัน 1 ล้านคน ได้เป็นเวลาถึง 2 ปี ส่วนอีก 6,434 ล้านบาทนั้น เป็นในส่วนลงทุนของผู้ประกันตน ม.40
 
ในด้านสถานะเงินลงทุนนั้น พบว่าเงินลงทุนเติบโตจากไตรมาสที่ผ่านมา 20,302 ล้านบาท ส่วนในด้านสัดส่วนการลงทุน ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 พบว่า กองทุนประกันสังคมได้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงสูง 78% หลักทรัพย์เสี่ยง 22%
 
 
ปคม.รวบ 2 ผู้ร่วมขบวนการหลอกคนไปทำประมงที่อินโดนีเซีย
 
(11 พ.ย. 58) นายสมเกียรติ รัตนพร ผู้ควบคุมเรือ ส.ทองมา 1 และนางสาวพัชรินทร์ เดชสโร หรือกวาง ถูกตำรวจปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์(ปคม.) จับกุมตัวได้หลังพบพฤติกรรมหลอกแรงงานไทยไปทำงานบนเรือประมงที่น่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย โดยมีการกักขังไม่ให้กลับขึ้นฝั่งประเทศไทย และไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้
 
นายสมเกียรติ ให้การปฏิเสธว่า ทำงานควบคุมเรือให้นายจ้างกลุ่ม ส.ทองมา ได้ประมาณ 1 ปี ยอมรับว่า มีปัญหาเรื่องได้รับเงินค่าจ้างเช่นเดียวกับกลุ่มผู้เสียหาย ส่วนการใช้ชีวิตทำงานบนเรือ ยืนยันว่าลูกเรือทุกคนเป็นพรรคพวกที่รู้จักกันมาก่อน ไม่เคยมีการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย หรือบังคับให้ต้องทำงานหนักอย่างที่ถูกกล่าวหา
 
ขณะที่นางสาวพัชรินทร์ ให้การปฏิเสธเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานให้นายจ้างอีกคนในตระกูลเดียวกัน ก่อนจะมาทำงานให้นางอมร ทองมา ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ โดยงานที่ทำเป็นงานตรวจสอบสินค้าที่รับฝากขึ้นเรือประมง แต่ทำได้ไม่นานก็ถูกให้ออกจากงาน รายละเอียดอื่นๆ จะขอให้การกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น
 
ทั้งนี้ พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บังคับการปคม. กล่าวว่า สำหรับคดีนี้ ปคม.ได้สอบปากคำผู้เสียหายไปทั้งหมด 1,242 คนแล้ว สรุปมีผู้เสียหายที่ถูกหลอกไปทำงานเพียง 39 คน ที่เหลือทำไปโดยสมัครใจ เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหาในข้อหาสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบโดยการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง ร่วมกันกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด และร่วมกันปลอมเอกสารราชการ
 
 
การบินไทย ประกาศลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง 10%
 
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ด ว่า 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้ 137,000 ล้านบาท ขาดทุน 18,100 ล้านบาท เป็นเพราะในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดราชประสงค์ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปถึง 23% และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลง โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูเร่งด่วน ในการลดรายจ่ายให้ได้ถึง 7,000-8,000 ล้านบาท และเพิ่มรายได้ให้ได้ 3,000 ล้านบาท
 
ส่วนในไตรมาส 4 คาดว่ารายได้น่าจะเพิ่ม 1,500 ล้านบาท จากการปรับปรุงระบบขายตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต การทำตลาดในเส้นทางต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แผนฟื้นฟูทั้ง 21 แผน ขณะนี้ 7 แผน ดำเนินการได้ร้อยละ 85 แล้ว และ 12 แผน ดำเนินการร้อยละ 50-75 แต่อีก 2 แผน คือ การปรับปรุง อิโคโนมีคลาส ซึ่งต้องใช้เวลาทดสอบ เพราะกระทบหลายภาคส่วน 
 
โดยที่ประชุมวันนี้ (11 พ.ย.) ยังมีมติให้ปรับลดเงินเดือนระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไป จำนวน 8 คน ลงร้อยละ 10 จากฐานเงินเดือนแต่ละคน ในเดือนที่ผลประกอกบารติดลบ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ จนถึงสิ้นปี 2559 ส่วนแผนการลดจำนวนพนักงาน คาดว่าสิ้นปีนี้จะลดจำนวนพนักงานได้ 1,200 คน จากเป้าหมาย 1,400 คน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net