'ดวงฤทธิ์ บุนนาค' ขยายความ 'ยุบ TCDC' ทำลายอนาคตประเทศ

หลังโพสต์แจ้งข่าวว่า จะมีการเสนอยุบ TCDC และ OKMD ต่อ ครม.พรุ่งนี้ จนเป็นกระแสไปทั่วโซเชียลเน็ตเวิร์ก "ดวงฤทธิ์ บุนนาค" ให้สัมภาษณ์ขยายความถึงความจำเป็นของการต้องมีองค์กรเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ 

9 พ.ย. 2558 กรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ยุบสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้เริ่มโพสต์กระแสข่าวนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ได้ทราบข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เมื่อคืนนี้ ( 8 พ.ย.) ว่า มีความตั้งใจยุบหน่วยงาน OKMD ซึ่งดูแลสามหน่วยงาน คือ TCDC, TK Park และ Museum Siam ด้วยเหตุผลว่าไม่มีประสิทธิภาพ โดยเตรียมจะเสนอต่อ ครม.

เขามองว่า อันที่จริงหน่วยงานรัฐอื่นไม่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่ายังมีอีกเป็นจำนวนมาก หากครม.อนุมัติเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตของหน่วยงานทั้งสามจะเป็นอย่างไร เมื่อทราบข่าวก็เกิดความกังวลจึงเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไป เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ให้คนได้เห็นว่ามันเป็นหน่วยงานที่คนสนใจเพราะเป็นประโยชน์กับเขา แล้วจะได้เห็นว่าการยุบนั้นไม่เวิร์ก

ดวงฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ในทุกๆ ปีจะมีการประเมินของหน่วยงานรัฐกันเอง ซึ่งผลปรากฏว่า TCDC ก็ทำคะแนนนำตลอด ส่วน Museum Siam และ TK Park นั้นได้คะแนนปานกลาง แต่หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานรัฐอื่นแล้ว องค์กรเหล่านี้ถือว่ามีความกระตือรือร้น และมีประโยชน์กับประชาชนกว่า ซึ่งส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่ามีระบบการประเมินอย่างไรจึงไม่ได้คะแนน หรือว่าไม่มีประสิทธิภาพ


กิจกรรมของ TCDC
ภาพจาก
เพจ TCDC

ดวงฤทธิ์ กล่าวถึงความสำคัญในการมีองค์กรเหล่านี้โดยชวนให้มองไปในอนาคตและถามว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ได้ด้วยอะไร ในอนาคตเราจะขายอะไร เมื่อสถานที่ท่องเที่ยวหมด ผลผลิตทางการเกษตรสู้ใครไม่ได้ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ดูจะไม่มีทางสู้คนอื่นได้เลย

"เรามีทรัพยากรอันนึงซึ่งดีมาก คือความคิด" ดวงฤทธิ์กล่าวและยกตัวอย่างว่า แก้วน้ำหนึ่งใบซึ่งใช้วัสดุที่เป็นแก้วธรรมดาขายได้ใบละ 50 บาท แต่หากเรามีดีไซน์หรือความคิดอะไรบางอย่างเข้าไป อาจขายได้ถึง 300 บาท

"ตรงนี้ก็เป็นไปได้ที่เราอาจจะใช้แค่ความคิด หรือ นวัตกรรม หรือ creative thinking เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของเราให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทรัพยากรเท่าเดิม อันนี้ก็สามารถจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศของเราได้หลายเท่าตัวจากที่เรามีอยู่ ทำให้ประเทศของเรามีอนาคตข้างหน้าได้ อันนี้เป็นอนาคตของประเทศไทย ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" ดวงฤทธิ์กล่าว

เขาชี้ว่า การปลูกฝังเรื่องพวกนี้จะช่วยสร้างคนของเราให้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักออกแบบ หรือคิดค้นนวัตกรรม เป็นเรื่องมีประโยชน์กับประเทศ และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้เวลาสร้างแค่ 2-3 ปี มันใช้เวลาเป็นสิบปี หน่วยงานอย่าง TCDC, TK Park, Museum Siam เป็นหน่วยงานเบื้องต้นที่สามารถจะสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้กับประเทศได้ เพราะฉะนั้นการยุบมันก็เหมือนกับเราตัดอนาคตของตัวเองไปประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะกว่าจะสร้างก็ใช้เวลาพอสมควร

ดวงฤทธิ์ กล่าวถึง TCDC ซึ่งเขาเองได้เคยร่วมงานด้วยหลายครั้งว่า TCDC มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สิบปีแรกมียุทธศาสตร์สร้างคนขึ้นมา มีบทสนทนาเริ่มต้นเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ พยายามทำให้คนเห็นว่าการสร้างสรรค์สามารถจะเปลี่ยนประเทศอย่างไรได้บ้าง  จะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างไรได้บ้าง มีกิจกรรมและนิทรรศการมาโดยตลอด และมีการวางยุทธศาสตร์สิบปีต่อไปว่าจะทำให้คนยุคต่อไปเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไรในธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์ งานออกแบบต่างๆ ถือว่าทำงานค่อนข้างเป็นมืออาชีพและมีความคิดที่ต่างจากหน่วยงานรัฐทั่วไป

เขาชี้ว่า ประเด็นการเมืองนั้นคงมีส่วนในการยุบ แต่ไม่มีใครพูดประเด็นนั้นชัดเจน โดยตอนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีความพยายามยุบรวม TCDC ไปรอบหนึ่ง แต่รอดมาได้อย่างหวุดหวิดเพราะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาก่อนตัดสินใจยุบ ครั้งนี้ก็ต้องลุ้นกันว่าจะรอดไหม

ดวงฤทธิ์ชี้ว่า องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นสมัยของพรรคไทยรักไทย และถูกมองว่าเป็นเหมือนมรดกของพรรคการเมืองที่ดันทะลึ่งประสบความสำเร็จ จึงต้องกำจัดมันเสียให้ได้ เพราะมันเป็นความสำเร็จของอดีต แล้วเขาก็ไม่ชอบอดีตกันจึงต้องพยายามกำจัด

กรณีมีเสียงวิจารณ์ว่าองค์กรเหล่านี้อาจไม่ยึดโยงกับคนกลุ่มอื่นๆ นอกจากในเมือง เขาบอกว่า อยากให้ดูข้อเท็จจริง TCDC ไม่ได้ทำงานเฉพาะในกรุงเทพฯ มีอีกศูนย์ด้วยที่เชียงใหม่ มีการออกไปในชุมชนต่างจังหวัดหลายแห่ง พยายามเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องของการคิดอย่างสร้างสรรค์หรือการออกแบบ มีการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ไปทั่วประเทศตลอดเวลา ที่เชียงใหม่ก็ถือเป็นหลักสำคัญในการผลักดันเรื่องเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ หรือทำให้เกิดบทสนทนาเรื่องการสร้างสรรค์ในจังหวัดเชียงใหม่ และ TCDC สร้างผลลัพธ์จริง ถามว่าคนที่วิจารณ์เคยไปนั่งห้องสมุดหรือเคยดูนิทรรศการที่ TCDC ทำไหม นิทรรศการ TCDC เป็นต้นแบบการพัฒนา การทำนิทรรศการ การทำโฆษณาสื่อประชาสัมพันธ์ของภาคราชการทั้งหมดเปลี่ยนไปมาก ในรอบสิบปีที่ผ่านมา

ในแง่งบประมาณ เขากล่าวว่า สิบปีที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ใช้ไปตีว่าสักหมื่นล้าน เงินจำนวนนี้สำหรับองค์กรที่เป็นเรื่องของการศึกษาถือว่าน้อยมาก เราเสียเงินหมื่นล้านสำหรับเรื่องไร้สาระกว่านี้เยอะมาก ขณะที่ใช้งบประมาณลงไปภาคใต้ปีละสองหมื่นล้าน

"คือผมอยากชี้ให้เห็นว่า effective (ประสิทธิภาพ) มันต่างกันเยอะ และเป็นเรื่องคนละแบบกัน คือเราพร่ำบ่นกันว่า เราอยากให้เด็กไทยฉลาด อยากให้การศึกษาดี แล้วก็มีบางสิ่งบางอย่างซึ่งเหมือนจะเป็นความหวังที่ทำให้การศึกษาเราดี แต่สิ่งที่เขาทำบอกว่างบประมาณฟุ่มเฟือย ก็พูดไม่ออกเหมือนกัน ถนนเลียบแม่น้ำหมื่นสี่พันล้านยังทำได้ อันนี้ไม่ฟุ่มเฟือย ใครเป็นคนใช้บ้างยังไม่รู้เลย ยังไม่มีใครเคยบอกว่าทำมาแล้วจะมีคนใช้หรือเปล่า แต่เขาบอกว่าเขาจะทำ ก็เป็นเรื่องประหลาดดี" ดวงฤทธิ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท