นักวิชาการ ห่วงการพัฒนาระบบราง ส่งผลต่อการไล่รื้อบ้านริมคลอง

เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง (ACCD) ระบุแนวโน้มการพัฒนาระบบรางดันราคาที่ดินสูงขึ้น ห่วงอาจจะมีการไล่รื้อชาวบ้านริมคลอง แนะรัฐอย่าแก้ปัญหา ด้วยการย้ายปัญหา

จากการประกาศราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ฉบับใหม่ที่จะใช้ในอีก 4 ปีข้างหน้าคือปี 2559-2562 พบว่า ราคาที่ดินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ราคาที่ดินปรับขึ้นร้อยละ 17.13 ซึ่งที่ดินตามแนวรถไฟฟ้ายังคงเป็นพื้นที่ทองคำ อย่างแนวรถไฟฟ้าสายเดิม ย่านสีลม บางแปลงปรับขึ้นถึงตารางวาละ 9 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท ส่วนที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอย่างสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ สีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ราคาที่ดินก็ปรับตัวขึ้นไปรออยู่แล้วหรือก่อนหน้านั้น

ราคาที่ดินที่กำลังปรับเพิ่มขึ้นนั้นเกี่ยวกับผู้คนริมคลองโดยตรงเนื่องจากตลอดความยาวประมาณ 24 กิโลเมตรของคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นคลองสายแรกที่จะถูกปรับปรุงมีบริเวณที่เป็นจุดตัดรถไฟฟ้าอยู่ 3 จุด คือบริเวณตลาดยิ่งเจริญ, ราชภัฏพระนคร และบึงพระรามเก้า (บางจุดยังไม่มีความชัดเจน) หมายความว่าความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณรอบจุดตัดรถไฟฟ้าจะมีสูงขึ้น แม้ว่าโดยสภาพพื้นที่ริมคลองอาจจะไม่สามารถนำไปใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือคอนโดมิเนียม แต่ก็อาจถูกแปลงเป็นพื้นที่สาธารณะรูปแบบอื่น ไปจนถึงพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง (ACCD) อธิบายเบื้องต้นว่า แนวโน้มการพัฒนาระบบรางย่อมทำให้พื้นที่รอบๆ มีมูลค่าสูงขึ้น เกิดความต้องการการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบๆ สถานี สำหรับพื้นที่ริมคลอง เมื่อมีคนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าก็จำเป็นต้องมีกิจกรรมที่รองรับเป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนการอยู่อาศัย เช่น อาจจะมีแรงกดดันจากภาครัฐเองหรือโครงการต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อนำพื้นที่ริมคลองมาใช้ประโยชน์

“คนที่ย้ายมาอยู่ใหม่รอบๆ รถไฟฟ้าก็ต้องการพื้นที่สาธารณะ เป็นไปได้ว่าหน่วยงานรัฐอาจจะอาศัยแรงกดดันจากชนชั้นกลางโดยรอบมาเอาพื้นที่ริมคลอง ทำให้โอกาสในการพัฒนาเหลือแค่ทางออกเดียวคือ ไล่รื้อ มันจะไม่ใช่ที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่จะเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมชั่วคราว เมื่อมีระบบขนส่ง เราก็จะเห็นความพยายามของรัฐที่จะนำกิจกรรมเชิงพาณิชย์มาใส่ตรงพื้นที่ริมคลองเป็นเพิงหรือสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวใช้ขายของเหมือนสะพานพุทธ เป็นลักษณะของการใช้ประโยชน์เชิงเดี่ยว”

การใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลองมิได้หมายความว่าจะถูกนำไปใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่อาจถูกนำไปใช้เป็นสวนสาธารณะ ทางจักรยาน หรือท่าเรือสำหรับเชื่อมต่อระบบขนส่ง กรณีเลวร้ายที่สุดอาจเป็นโครงการที่เอกชนร่วมกับรัฐปล่อยเช่าระยะยาว แต่จะไม่ใช่สำหรับที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนริมคลองที่อยู่มาแต่เดิม

หากไม่ทำอะไรก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดการล้างไพ่หรือไล่รื้อชุมชนออกไปโดยรัฐหาพื้นที่ให้ใหม่ ปัญหาอยู่ตรงที่การจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ผ่านๆ มา ไม่ได้มองมิติเชิงเศรษฐกิจของชุมชน เมื่อย้ายชาวบ้านออกไปจากแหล่งงาน สุดท้ายแล้วพวกเขาก็จะกลับมาอยู่ดี

“การไล่รื้อชุมชนไปอยู่ไกลๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการย้ายปัญหา คลองนี้สะอาด ชาวบ้านก็อาจจะไปคลองอื่นหรือที่อื่น เพราะว่าโครงสร้างใหญ่คือระบบเศรษฐกิจในเมืองหลวงมีแหล่งงานเยอะ ก็จะดูดคนเหล่านี้กลับมาอยู่ดี เราผลักคนออกจากคลองได้ แต่ก็จะถูกดูดกลับไปที่อื่น”

“ถ้าเราไม่ทำอะไร ณ วันนี้ก็จะเกิดการไล่รื้อ ชุมชนจะไม่มีทางเลือกสำหรับการต่อรองเลย เหลือทางเดียวคือออกไป การที่เราลงไปทำงานตั้งแต่ตอนนี้ก็มีโอกาสที่จะสร้างทางออกที่ลดปัญหา ในทางทฤษฎีมีหลายวิธีในการแก้ที่อยู่อาศัยสำหรับคนมีรายได้น้อย ถ้าชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับคลอง คุณก็ไม่ต้องผลักเขาออกไป แล้วตามไปแก้ปัญหาที่อื่นอีก คุณก็แก้ปัญหาตรงนี้เลย เพราะถ้าคุณผลักเขาออกไป ได้ทางจักรยาน ทางวิ่งจ็อกกิ้ง แต่ก็จะเป็นการย้ายปัญหาไปไว้ที่อื่น ดังนั้น แนวคิดของทีมเครือข่ายจึงเห็นว่าการปรับปรุงให้ชุมชนอยู่กับคลองและคืนพื้นที่สาธารณะส่วนหนึ่งให้แก่เมืองน่าจะเป็นทางออก” ณัฐวุฒิ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่

เฟซบุ๊ก Khon-Kool-Klong

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท