Skip to main content
sharethis

<--break- />

6 พ.ย. 2558 เว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (FPIF) นำเสนอบทความที่เขียนร่วมกันโดยแรมเซย์ เลียม นักวิชาการด้านจิตวิทยาและสิทธิมนุษยชนร่วมกับคริสตีน ฮง นักวิชาการเรื่องชาวเกาหลีพลัดถิ่นและสมาชิกสถาบันนโยบายเกาหลี ซึ่งระบุถึงกลุ่มชาวเกาหลี-อเมริกันรวมทั้งศิลปินและนักประวัติศาสตร์มุขปาฐะ (การเล่าผ่านปาก) พยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯ มองเห็นประวัติศาสตร์สงครามเกาหลีผ่านมุมมองของชาวเกาหลีเองด้วย

บทความระบุถึงช่วงที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปเยือนอนุสรณ์สถานสงครามเกาหลีในสหรัฐฯ และกล่าวปราศรัยต่อทหารผ่านศึกชาวเกาหลีใต้และชาวอเมริกันว่าสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นในปี 2493-2496 เป็น "เรื่องราวของชาวอเมริกัน" และไม่ใช่การรบเสมอกันแต่นับเป็น "ชัยชนะ" และยังคงมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องนี้ตกเป็นข่าวที่พูดถึงกันมากในหมู่ชาวเกาหลีโดยเฉพาะชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจากสงคราม

สงครามเกาหลีเป็นการสู้รบระหว่างเกาหลีใต้ซึ่งมีชาติตะวันตกหนุนหลังกับเกาหลีเหนือซึ่งมีประเทศจีนหนุนหลัง การสู้รบยุติลงในปี 2496 จากการทำสัญญาสงบศึกท่ามกลางการสูญเสียจากทั้งสองฝ่ายทั้งทหารและพลเรือน อย่างไรก็ตามถึงจะมีการสงบศึกแต่ในทางเทคนิคแล้วสงครามนี้ยังไม่จบ ทำให้สงครามนี้ถูกเรียกว่าเป็น "สงครามที่ถูกลืม" ในขณะเดียวกับที่ถูกจดจำไว้ในฐานะความขัดแย้งทางการสู้รบครั้งแรกในยุคสงครามเย็น ซึ่งแม้ว่าจะมีการอธิบายถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการเสียสละของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือให้เกาหลีใต้เป็นประชาธิปไตย แต่บทความก็ตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐฯ กลับสร้างมรดกให้เกาหลีใต้เป็นการปกครองแบบเผด็จการทหารก่อนที่จะกลายเป็นประชาธิปไตยในอีกหลายปีหลังจากนั้นซึ่งไม่ได้เป็นเพราะนโยบายของสหรัฐฯ เลย

บทความใน FPIF ระบุว่าสงครามเกาหลีถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถแสดงตัวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกในฐานะผู้นำมาซึ่งความมั่นคงของรัฐ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมการทหาร และเป็นผู้แผ่อำนาจจักรวรรดิ์นิยม จากที่นักประวัติศาสตร์ชื่อบรูซ คัมมิงส์เคยเขียนไว้ว่าอิทธิพลทางการทหารของสหรัฐฯ เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์สงครามเกาหลี

แต่ประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้พูดถึงสงครามเกาหลีจากมุมมองของชาวเกาหลีเองเลย ทั้งที่ชาวเกาหลีต้องประสบกับภัยพิบัติจากสงครามโดยตรง สงครามเกาหลีคร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 3 ล้านคน ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและทางสังคม ทำให้ผู้คน 10 ล้านคนต้องพลัดพรากจากครอบครัวโดยมีอยู่จำนวนน้อยที่ได้ครอบครัวได้กลับมาพบกันแม้จะผ่านไปแล้วหลายสิบปี

บทความของสองนักวิชาการระบุว่ากลุ่มชาวเกาหลีพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เริ่มส่งเสียงท้าทายการเขียนประวัติศาสตร์ในแบบของสหรัฐฯ มากขึ้น ชาวเกาหลี-อเมริกันมีความเข้าใจว่าความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลียุคนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้คนอย่างไร มีมากกว่า 100,000 คนที่ยังคงพลัดพรากจากสมาชิกครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือ

บทความชี้ว่าในช่วงเริ่มต้นสงความเย็นมีการจำกัดจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศสหรัฐฯ 100 คนต่อปี จนกระทั่งมีปรากฎการณ์ชาวเกาหลีแต่งงานเป็นเจ้าสาวทหารอเมริกันหลายพันคนทำให้ชาวเกาหลีอพยพเข้าสู่สหรัฐฯ เป็นจำนวนมากจนกระทั่งมีการยกเลิกโควต้าในปี 2508 สงครามเย็นยังสร้างสภาพการเมืองที่กดขี่ในเกาหลีใต้ยุคนั้นรวมถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจและภาวะสงครามยิ่งเป็นปัจจัยให้มีการอพยพออกจากประเทศและมีคนอุปการะเด็กชาวเกาหลีจากต่างประเทศมากขึ้น

ชาวเกาหลีในสหรัฐฯ มักจะถูกสอนในชั่วโมงเรียนว่าสงครามเกาหลีเป็นการที่สหรัฐฯ "ต่อสู้ปลดปล่อย" เกาหลีใต้จากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งชาวเกาหลีที่อาศัยในสหรัฐฯ ยังคงได้รับอิทธิพลทางความคิดนี้จนไม่ค่อยกล้าพูดคุยถกเถียงกันในเรื่องบทบาทของสหรัฐฯ ในสงคราม แต่เรื่องนี้ก็ทำให้ชาวเกาหลีรู้สึกถูกกดทับจากประเด็นทางการเมืองที่ทำให้เล่าประสบการณ์ที่ครอบครัวพวกเขาเผชิญมาในสงครามไม่ได้ ส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเอง "ไม่มีตัวตน" และ "ไม่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองแม้จะผ่านไป 50 ปีแล้ว"

บทความ FPIF ระบุว่าการที่ชาวเกาหลีเริ่มมีปากมีเสียงในเรื่องนี้เริ่มขึ้นหลังจากมีการประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปี 2543 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศไม่มีการพบปะกันและชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ก็ไม่เคยพูดกันถึงเรื่องนี้รวมถึงไม่มีคำให้การเกี่ยวกับความทรงจำช่วงสงครามตีพิมพ์ออกมาเลย แต่การหารือระหว่าง 2 ผู้นำรวมถึงบรรยากาศของสงครามเย็นที่จางลงไปแล้วส่งผลให้ชาวเกาหลีพลัดถิ่นเริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ได้มากขึ้น

ในช่วงราว 15 ปีที่ผ่านมาชาวเกาหลี-อเมริกัน ก็เริ่มใช้พื้นที่ทางวัฒนธรรมในการจัดรำลึกสงครามและย้ำเตือนถึงการสู้รบที่ทำลายชีวิตมนุษย์ เช่น โครงการประวัติศาสตร์มุขปาฐะของ แรมเซย์ เลียม ซึ่งต่อมาทำให้เกิดนิทรรศการ 'Still Present Pasts: Korean Americans and the “Forgotten War" ' ซึ่งมีทั้งศิลปะการแสดง ศิลปะการจัดวาง ภาพยนตร์สารคดี สิ่งจัดแสดงทางประวัติศาสตร์ และศิลปะแบบให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ด้วย งานนี้มีการจัดแสดงตระเวนตามที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ รวมถึงในเกาหลีใต้รวมเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ซึ่งพื้นที่จัดแสดงนี้ยังกลายเป็นพื้นที่ให้ชาวเกาหลีผู้มีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามได้สะท้อนเรื่องราวของตนเองเป็นการท้าทายการเล่าประวัติศาสตร์ในแบบของรัฐบาลสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีเรื่องที่แรมเซย์ เลียม ร่วมสร้างกับดีนน์ บอร์เชย์ เลียม ชื่อ "ความทรงจำของสงครามที่ถูกลืม" (Memory of Forgotten War) ในปี 2556 และหลังจากนั้นก็มีการตั้งกลุ่มชุมชนชาวเกาหลีเพื่อหารือกันเรื่องการเล่าประวัติศาสตร์สงครามโดยมีกระบวนหารือแบบที่ทุกคนเสมอภาคกัน ไม่ว่าใครจะเป็นคนเล่าหรือคนสัมภาษณ์ก็ตาม

บทความใน FPIF ยังได้ยกตัวอย่างโครงการ 'ชิ้นส่วนที่หายไป' (Missing Pieces Project) ซึ่งเป็นโครงการสะท้อนความคิดชาวเกาหลี-อเมริกัน รุ่นที่ 2 และ 3 ที่มีการนำเสนอเรื่องราวน่าปวดใจของการพลัดพรากและความสูญเสียจากสงครามที่พวกเขาได้ยินได้ฟังจากผู้สูงอายุในชุมชน โครงการนี้ยังร่วมมือกับกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติเพื่อครอบครัวที่พลัดพราก (National Coalition for the Divided Families) เสนอต่อที่ประชุมสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ให้มีการวางแผนจัดการให้ครอบครัวชาวเกาหลี-อเมริกันผู้พลัดพรากจากครอบครัวในเกาหลีเหนือได้พบเจอกัน

ในโลกออนไลน์ก็มีการสร้างเว็บไซต์มัลติมีเดียเพื่อรวบรวมหลักฐานประวัติศาสตร์จากมุมมองของชาวเกาหลีในเว็บไซต์ชื่อ 'Legacies of the Korean War' โดยมีการรวบรวมข้อมูลของจากนักกิจกรรมในชุมชน นักวิชาการเกี่ยวกับเกาหลีศึกษาและการศึกษาคนเชื้อสายเอเชียน-อเมริกัน รวมถึงผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีและประชาชนทั่วไปจากย่านต่างๆ ในสหรัฐฯ และจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความจาก FPIF ระบุอีกว่า กิจกรรมเหล่านี้จะเน้นไปที่การได้แลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวเกาหลีพลัดถิ่นผู้รอดชีวิตจากสงครามที่มีแนวคิดทางการเมืองต่างกันและเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แต่ทุกคนล้วนมีแนวคิดแบบเดียวกันคือความใฝ่สันติและต้องการให้ประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้กลับมาดีกัน

บทความจาก FPIF สรุปปิดท้ายว่าในตอนนี้กลุ่มชาวเกาหลีไม่ได้เงียบเสียงต่อการเล่าประวัติศาสตร์ของพวกตนอีกต่อไปแล้วจากการที่พวกเขามีโครงการเล่าประวัติศาสตร์ที่ริเริ่มโดยชาวเกาหลี-อเมริกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายความเงียบในช่วงยุคสมัยสงครามเย็นลงแล้วยังถือเป็นการสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสูญเสียของมนุษย์จากสงครามเกาหลีที่ยังคงไม่จบสิ้นและชวนให้สหรัฐฯ กลับมาทบทวนนโยบายเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลีใหม่อีกครั้ง

 

เรียบเรียงจาก

Korean Americans Are Reclaiming Their History Through Culture, FPIF, 30-10-2015

ข้อมุลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Korean_War

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net