เสียงจากคลองไทรฯ: ชุมชนเกษตรกรไร้ที่ดิน เผยเหตุผลยึดที่รัฐคืนจากทุน

คุยกับเกษตรกรชุมขนคลองไทรฯ จ.สุราษฎร์ธานี เหตุที่บุกยึดที่ดินรัฐคืนจากนายทุนสวนปาล์ม หลังรัฐปล่อยหลังทุนใช้ประโยชน์กว่า 30 ปี พร้อมเผยเรื่องราวการคุกคามหลังเข้ายึด ชาวบ้านตาย 4 ยังไร้แววมอบพื้นที่จาก สปก.

ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐ นายทุน และชุมชนในประเทศไทยไม่ได้เป็นปัญหาใหม่ ตลอดช่วงเวลาการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และสังคม ปัญหาดังกล่าวดำรงอยู่ร่วมกับสังคมไทยเรื่อยมา บ่อยครั้งเรารับรู้เรื่องราวกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐและชุมชน มีการประกาศและออกคำสั่งให้ชุมชนออกจากพื้นที่ซึ่งรัฐอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน บ่อยครั้งที่ขั้นตอนในการพิสูจน์สิทธิ การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีปัญหา เสียงสะท้อนจากชุมชนดั้งเดิมที่อยู่กันมากก่อนหน้าที่รัฐจะประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ หลายชุมชนระบุถึงความไม่เป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิดังกล่าว

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นด้านหนึ่งของปัญหาเรื่องที่ดินที่ทำกิน ซึ่งคือการมีข้อพิพาทระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับรัฐที่เพิ่งประกาศเขตพื้นที่ให้เป็นทรัพย์สินแผ่นดิน ขณะที่อีกด้านหนึ่งของปัญหาเรื่องที่ดิน ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีการพูดถึง หรืออาจจะพูดถึงแต่ไม่ได้มีการสร้างความใจต่อสังคมมากเท่าที่ควรคือ ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน บุกยึดที่ดินของรัฐ

บางครั้งเรื่องราวของเกษตรกรไร้ที่ดินบุกยึดที่ดินของรัฐ ถูกหยิบมานำเสนอโดยตัดทอนตัดทอนบริบท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าว ทำให้ภาพจินตนาการถึงเกษตรกรเหล่านั้น กลายเป็นภาพของ ผู้ร้าย ผู้มีอิทธิพล หรือไม่ก็เป็นภาพของ คนจนที่ขี้เกียจ ไม่รู้จักสู้ชีวิต ซึ่งแน่นอนภาพจินตการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนในเรื่องที่อยู่อาศัย และความเข้าใจเรื่องกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม

ชุมชนคลองไทรพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนหนึ่งของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ก็ถูกมองด้วยภาพจินตนาการในลักษณะดังกล่าว ซ้ำหนักมากไปกว่านั้น หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ชุมขนคลองไทรฯ และชุมชนอื่นๆ ในกลุ่ม สกต. ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพยายามไล่ให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลก่อนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในชุมชนนำร่องโฉนดชุมชน แต่ดูเหมือนเรื่องเหล่านี้ไม่มีความสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาแจ้งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน

อย่างไรก็ตามหลังช่วงเวลาที่ถูกขีดเส้นตายไว้ ชาวบ้านยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ ทว่าไม่ได้มาจากการเข้าใจถึงความเป็นมา หรือการยึดหลักสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด หากมาจากการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง จากการเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันที่แน่นอนแต่อย่างใดในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ขณะเดียวกันกับภาพจินตาการแบบเดิมที่ยังคงทำงานอยู่

หากไล่เรียงที่มาที่ไปของการบุกยึดที่ดินของรัฐในจังหวัดสุราษฏร์ธานี พบว่ามีจุดเริ่มต้นจากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในนามกลุ่ม เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2545 โดยชาวบ้าน ประมาณ 3,000 คน จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ ได้ประชุมหาทางแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดินทำกิน พร้อมเข้าชื่อแสดงความจำนงให้รัฐปฏิรูปที่ดินให้กับคนจน และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เรียกร้องให้ยกเลิกการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ป่าแก่นายทุนที่เช่าพื้นที่ป่า ทั้งที่หมดสัญญาแล้วกำลังจะหมดสัญญา และตรวจสอบพื้นที่ซึ่งถูกบุกรุก เพื่อนำมาจัดสรรให้กับคนจน

ทั้งนี้จุดเริ่มต้นที่นายทุนสามารถเช่าที่ดินในเขตสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ในภาคใต้ มาจากนโยบายของรัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่อนุญาติให้เอกชนสามารถเช่าที่ดิน เพื่อเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมของป่าสงวนแห่งชาติ มีนายทุนทั้งที่เป็นคนไทย และนายทุนจากต่างชาติได้รับการอนุญาต ให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินหลายแสนไร่ ขณะเดียวกันนายทุนบางรายได้ฉวยโอกาสบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อทำประโยชน์มากเกินไปกว่าที่ได้รับอนุญาติ โดยที่ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับนายทุนเหล่านั้นได้

จากข้อเรียกร้องเมื่อเดือน พ.ค. 2545 ได้นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของชาวบ้านกว่า 20,000 คน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2546 ถึงที่สุดทำให้ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหากรณีราษฎรชุมนุมเรียกร้องที่ดินทำกินจากรัฐบาล จนกลายมาเป็นมติคณะรัฐมตรีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 คือ ให้ยุติการต่อสัญญา ในพื้นที่ซึ่งหมดอายุสัญญาไว้ก่อน ในส่วนของพื้นที่ซึ่งยังไม่หมดสัญญา แต่มีการทำผิดเงื่อนไข ให้ยกเลิกการสัมปทาน และให้นำพื้นที่ทั้งสองลักษณะ มาจัดระเบียบการอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยให้พิจารณาจัดให้ราษฎรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองในพื้นที่เป็นหลัก

ทว่าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีกลับมีความล่าช้า และบางพื้นที่ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด ในกรณีของพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา แต่เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าบ้านหมาก ป่าปากพนัง แต่ในปี 2528 บริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ได้เข้ายึดครองพื้นที่ 1,081 ไร่ โดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย  และทำการปลูกพืชเศรษฐกิจคือ ปาล์มน้ำมัน จนกระทั่งมีการประกาศให้พื้นที่ป่าโทรมเสื่อมโทรมบริเวณดังกล่าวเป็น พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2537 แต่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) ไม่สามารถนำที่ดินบริเวณดังกล่าวมาจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ เนื่องจากบริษัทไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งในปี 2548 มีการฟ้องคดี หมายเลขคดีดำที่ 616/2548 โดย สปก. เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทจิวกังจุ้ยฯ ให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งชนะคดีในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2550 โดยศาลสั่งให้บริษัทออกจากพื้นที่ของ ส.ป.ก. แต่บริษัทยื่นอุทธรณ์ และขอทุเลาการบังคับคดี(ปัจจุบันคดีสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2557 ศาลฏีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น) ต่อมาในปี 2551 ชาวบ้านจึงได้รวมกันเข้าไปตั้งชุมชนในบริเวณที่บริษัทจิวกังจุ้ยฯ ครอบครองอยู่บางส่วน เพื่อเป็นการกดดันให้รัฐเร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน และเกษตรกรไร้ที่ทำกิน

จุดเริ่มต้นของการบุกยึดที่ดินในจังหวัดสุราษฏร์ธานี

เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ สวมเสื้อคลุ่มสีน้ำเงิน

คำถามใหญ่ที่สังคมมักตั้งคำถามคือ ในเมื่อรู้ว่าการยึดที่ดินเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แล้วทำไมยังเข้ายึดอีก ทำไมไม่รอคอยการจัดสรรที่ถูกต้องตามกฏหมายจากภาครัฐ เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ กรรมการบริหารสหกรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เล่าถึงที่มาที่ไปว่า การบุกยึดที่ดินของรัฐเกิดจาก การรวมตัวครั้งใหญ่ของกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินเพื่อกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินที่ให้กับประชาชนเมื่อช่วงปี 2545-2546 ถึงที่สุดทำให้ได้มติ ครม. 26 ส.ค. 2546 หลังจากนั้นได้มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบพื้นที่สัมปทานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการตรวจสอบของภาครัฐพบว่ามีที่ดินทั้ง 16 แปลงซึ่งสามารถนำดำเนินการจัดสรรให้กับประชาชนได้ ตามมติ ครม. มีหลายพื้นที่ที่หมดสัญญาแล้ว แต่ยังใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐอยู่ หลายพื้นที่กำลังจะหมดสัญญา หลายพื้นที่มีการบุกรุกดินของรัฐเกินไปกว่าสัญญาเช่า และบางพื้นที่เข้าใช้ที่ดินของรัฐอย่างผิดกฏหมายโดยไม่มีการทำสัญญาใดๆ กับรัฐเลย

“ในปี 2548 ได้มีการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร ไปหมื่นกว่าไร่ พันกว่าครอบครัว ซึ่งก็จะเห็นจำนวนคนที่ต้องการความช่วยเหลือยังมีอีกมาก ที่ลงทะเบียนคนจนทั้งประเทศ มี 4 ล้านคนที่ต้องความช่วยเหลือด้านที่ดิน เฉพาะที่จังหวัดสุราษฏร์ก็ 2 หมื่นกว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเมื่อตอนชุมชนใหญ่ คือรัฐแก้ปัญหาไม่เสร็จ และได้จัดสรรไปเพียง 8 แปลงเท่านั้น ยังมีอีก 8 แปลงซึ่งรัฐยังไม่ได้ทำอะไรจนถึงวันนี้” เพียรรัตน์กล่าว

หากยังรอคอยการดำเนินการขับไล่นายทุน และการจัดสรรของภาครัฐ เพียรรัตน์ เห็นว่าเป็นการรอคอยที่ไม่รู้ว่า ระยะเวลาจะไปสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ขณะที่ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินกำลังรอคอยการจัดสรรของภาครัฐ นายทุนกำลังใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐต่อไป ขณะที่ชาวบ้านรอคอยการจัดสรรที่ดินจากภาครัฐ ต้นทุนต่างๆ ในชีวิต ค่อยๆ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ทว่านายทุนกลับสะสมความมั่งคั่ง ระหว่างที่รอคอยการขับไล่จากภาครัฐ

อีกภาพหนึ่งของเบื้องหลังความคิดในการบุกยึดที่ดินของรัฐ สุรพล สงฆ์รักษ์ กรรมการบริหารสหกรการเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้เล่าว่า การบุกยึดที่ได้ของรัฐในภาคใต้ครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2546 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานไร้ที่ดิน ในประเทศบราซิล (MST) ก่อนหน้าที่จะมีการเริ่มต้นบุกยึดที่ดินทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้มีการส่งผู้นำในภาคประชาสังคมไปประชุมที่เซาเปาโล(Sao Paulo) และได้มีโอกาสไปเยี่ยมค่ายของ MST เมื่อผู้นำเหล่านั้นกลับก็ได้มีการประชุมในช่วงต้นปี 2546 ประกอบกับสถานการณ์ในช่วงนั้น เพิ่งกิดการชุมนุมใหญ่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฏร์ธานี ทำให้เกิดแนวคิดว่า หากประท้วงกดดันรัฐบาลจนถึงที่สุดแล้วยังไม่มีการแก้ปัญหา ก็จำเป็นที่ต้องเข้ายึดพื้นที่ เพื่อเป็นการยกระดับการกดดันต่อภาครัฐ แต่หลังจากมีการเข้ายึดพื้นที่ของกลุ่มต่างๆ ทั้งในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และจังหวัดกระบี่ 13 พื้นที่ เพียงแค่ 6 เดือน ก็ถูกรัฐนำกำลังมาสลายจนหมด

สุรพล สงฆ์รักษ์ ซ้ายมือ

สรุพล เล่าต่อไปว่า หลังจากความล้มเหลวในการเข้ายึดที่ดินเมื่อปี 2546 ได้มีการบุกเข้ายึดที่ดินของรัฐ ซึ่งปล่อยให้เอกชนใช้ประโยชน์อยู่อย่างผิดกฎหมายอีกครั้งในช่วงปี 2550-2551 และจากการเห็นภาพความล้มเหลวของแต่กลุ่มที่เข้าไปยึดที่ดินเมื่อปี 2546 ทำให้แกนนำกลุ่มยึดที่ดินแต่ละกลุ่มเดินทางมาประชุม พูดคุยเพื่อหาแนวทางในการสร้างความยั่งยืน โดยการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ และบทเรียนของประเทศไทยทั้งจากความล้มเหลวที่เกิดจากการยึดที่ดินของเกษตรกร และความล้มในการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรของภาครัฐเมื่อปี 2548 ซึ่งมีการจัดสรรที่ดินให้เกษตรโดยการสุ่ม และมอบที่ดินให้เกษตรกรครอบครองในลักษณะของปัจเจก ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียที่ดินให้กับนายทุนอีกครั้ง เนื่องจากการจัดสรรที่ดินของภาครัฐเป็นแต่เพียงการมอบที่ดินให้กับเกษตร ไม่ได้มีการจัดวางแผนการในการรักษาที่ดินไว้ด้วย ทำให้เกษตรกรหลายรายตัดสินใจขายที่ดินให้กับนายทุนอีกครั้ง

จากการประชุมทบทวนบทเรียนต่างๆ ถึงที่สุดเกิดการรวมตัวกันเป็นสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ซึ่งชุมชนคลองไทรเองก็อีกหนึ่งในชุมชนเครือข่าย โดยแต่ละชุมชนยึดมั่นในหลักการเดียวกัน ต้องการถือครองโฉนดที่ดินร่วมกันในลักษณะโฉนดชุมชม รวมทั้งออกแบบการบริหารจัดการชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และความมั่นคงร่วมกัน โดยให้สมาชิกชุมชนทุกคนสามารถแสดงความคิด ข้อเสนอต่างๆ มีการประชุมร่วมกัน และถือมติที่ประชุมเป็นสำคัญ มีการจัดสรรที่ดินอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เป็นการรวมตัวที่ไม่มีลักษณะของการนำเดี่ยว ความเป็นไปของชุมชน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงไม่กี่คน อีกทั้งยังยึดแนวทางร่วมเจรจาต่อรอง ร่วมแก้ไขปัญหากับหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอด ไม่ได้ยึดโยงกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เพื่อของความคุ้มครอง

ชุมชนคลองไทร และการคุกคามจากรัฐ และทุน

การบุกที่ดินของรัฐกลับคืนมาจากนายทุนถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การอยู่รอดต่อไปในที่ดินของรัฐที่ยึดคืนกลับมานั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่า กรณีของชุมชนคลองไทรฯ แม้จะสามารถอยู่มาถึง 7 ปี แต่ก็เผชิญหน้ากับปัญหามาโดยตลอด ทั้งจากภาครัฐ และจากนายุทน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการมอบพื้นที่จาก สปก. แม้ว่าคดีความซึ่ง สปก. เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่บริษัทจิวกังจุ้ย และบริวารจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม ทว่าบริวารของบริษัทยังคงอยู่ในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน

ชุมชนคลองไทรฯ ตั้งอยู่ในตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในที่ดินของ สปก. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทจิวกังจุ้ย บุกรุกเข้าทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2528 โดยชาวบ้านได้เข้าไปตั้งชุมชนในพื้นที่เมื่อปี 2551 ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ทั้งหมด 69 ครัวเรือน ทั้งนี้ชาวบ้านได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวหลังจากคำตัดสินของศาลชั้นต้นเมื่อปี 2550 โดยศาลได้ตัดสินให้บริษัท พร้อมทั้งบริวารออกจากพื้นที่ แต่บริษัทกลับยื่นอุทธรณ์ และศาลรับคำร้องอุทธรณ์ โดยในระหว่างรอการพิจารณาคดี บริษัทและบริวาร ยังคงใช้ประโยชน์จากที่ดินอยู่ต่อไป จนกระทั้งการพิจารณาคดีถึงที่สุดที่ศาลฏีกา เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2557 โดยศาลตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการบังคับคดีขับไล่บริษัท และบริวาร ออกจากพื้นที่แต่อย่างใด

ทว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก.) ได้เดินทางเข้าไปในชุมชนคลองไทรฯ เพื่อชี้แจง และพูดคุยกับชาวบ้านถึงกรณีที่ศาลฎีฏาตัดสินให้ ส.ป.ก ชนะคดี ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องร้องขับไล่บริษัทจิวกังจุ้ยฯ โดยได้พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า หากจะมีการบังคับคดีให้บริษัทออกจากพื้นที่ ก็จำเป็นต้องให้ชาวชุมชนคลองไทรฯ ออกนอกพื้นที่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดสรรที่ดินใหม่

ประทีบ ระฆังทอง (ภาพจากเครือข่ายนักข่าวพลเมือง)

ต่อเรื่องดังกล่าว ประทีบ ระฆังทอง ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ เห็นว่า ในคำสั่งศาล คำว่า “บริวาร” ไม่ได้หมายถึง ชุมชนคลองไทรฯ เนื่องจากชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ในฐานะเกษตรกร ที่ต้องการที่ดินทำกินเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารไม่ใช่ถือครองที่ดินเพื่อนำไปเป็นสินค้า และชุมชนมีการจัดสรรที่ดินทำกินที่เป็นระบบที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบโฉนดชุมชนไม่ใช่การเป็นเจ้าของแบบปัจเจก จึงต้องการให้ สปก. ยกเลิกคำสั่งขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่และเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาว ตามที่ได้มีการดำเนินการร่วมกันมาก่อนหน้า ในเรื่องของโครงการนำร่องโฉนดชุมชน

ด้าน สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน อดีตรองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เห็นว่ากรณีที่ สปก. มีการออกประกาศให้ชาวบ้านชุมชนคลองไทรออกจากพื้นที่ ถือเป็นมุมมองที่ไม่มีการเข้าใจในระบบการบริหารทรัพยากรที่ดิน เมื่อที่ดินเป็นของรัฐ ต้องรู้จักการแบ่งปัน ให้กับผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช่การมองภาพไปในลักษณะของการเก็งกำไร เสมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้นายทุน มาแสวงหาผลประโยชน์ ที่มีการทำกันอย่างแพร่หลายเหมือนเช่นที่ผ่านมา

“สปก. ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ จากเดิมที่มองในเรื่องที่ดินเป็นเรื่องของการเก็งกำไร ต้องมามองเป็นการแบ่งปันโดยมองประชาชนที่ด้อยโอกาสเป็นพวกของตัวเอง ในส่วนของภาคประชาชนทราบมาว่า มีการจัดการที่ดีโดยอยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันแบ่งสรรอย่างเท่าเทียม สปก. เองก็มีหน้าที่เพียงควบคุมดูแลหรือคัดเลือกคุณสมบัติแก่ผู้ที่เหมาะสมที่จะ มาถือครองที่ดิน การคำนึงถึงข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่มีการยืดหยุ่นเหมือนเช่นที่ผ่านมาก็จะเป็นการปิดโอกาสแก่คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” สถิตพงษ์กล่าว

ปัญหาการเหมารวมชาวบ้านว่าเป็นบริวารของบริษัท พร้อมกับความพยายามผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ไม่ได้เป็นปัญหาครั้งแรกสำหรับชุมคลองไทรฯ มีการพยายามผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่มาโดยตลอด และนอกจากจากการผลักดันของภาครัฐ ยังมีการผลักดันด้วยการข่มขู่คุกคามจากนายทุนและบริวาร และกรณีล่าสุดคือการเข้ามาผลักดันโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หลังการรัฐประหาร 2557

ดูเหมือนว่าการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ สปก. ของกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดิน จะเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับนายทุนที่บุกรุกที่ดินเพื่อทำประโยชน์มาก่อน ในช่วงแรกที่ของการก่อตั้งชุมชน ชาวบ้านต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามหลายรูปแบบ เช่น ได้ยินเสียงปืนดังจากด้านนอกชุมชนหลายสิบนัด ซึ่งเสียงดังมาจากบริเวณที่ตั้งแคมป์คนงานของบริษัทฯ  ต่อมาในเดือน ม.ค. 2553 สมพร พัฒภูมิ หนึ่งในสมาชิกชุมชน แต่เดิมเป็นช่างซ่อมรถมอเตอร์ไซด์ ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนตั้งแต่ปี 2551 ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณท้ายหมู่บ้าน โดยกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองและปืนเอ็ม.16 ยิงเข้าใส่วงสนทนาและรับประทานอาหารค่ำที่นอกชานหน้ากระท่อมที่พักของ ฟอง ขุนฤทธิ์ ซึ่งมี สมพร พัฒนภูมิ นั่งอยู่ด้วย โดยในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำตรวจ ได้ตรวจพบปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอกและปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 7 ปลอก ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องข้อสังเกตว่าก่อนเกิดเหตุยิงใส่กลุ่มสมาชิกชุมชนคลองไทรฯ พบเห็นผู้จัดการบริษัทจิวกังจุ้ย เข้าตรวจเดินดูสภาพต่างๆ ในชุมชนโดยเฉพาะบริเวณด้านหลังที่เกิดเหตุ

อย่างไรก็ตามยังมีสมาชิกชุมชนถูกยิงเสียชีวิตอีก 3 รายคือ ปราณี บุญรักษ์ อาชีพเดิมรับจ้างทั่วไป และมณฑา ชูแก้ว อาชีพเดิมค้าขาย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555 ขณะขับรถมอเตอร์ไซด์ออกจากชุมชนในเวลา 07.00 น. เพื่อจะไปซื้อกับข้าวนอกชุมชน ทั้งนี้ชุมชนที่ทางเข้าออกทางเดียว โดยจะต้องขับรถผ่านพื้นที่ซึ่งนายทุน และบริวารยังครอบครองอยู่ ในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืน เอส.เค.กับ เอ็ม.16 ตกอยู่ 10 ปลอก อีกหนึ่งผู้เสียชีวิตคือ ใช่ บุญทองเล็ก อาชีพเดิมขายของเก่า ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 โดยที่ทั้งสามกรณี 4 ผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้

ความพยายามในการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ นอกจากการคุกคามถึงชีวิต ยังมีการเข้ารื้อบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนด้วย ชาวบ้านในชุมชนรายหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2552 ช่วงเช้า ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในชุมชนมากถึง 40 นาย นำโดยผู้บังคับการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกำลังตรวจจากสถานีตำรวจชัยบุรี โดยชี้แจงว่าเข้ามาตรวจค้นอาวุธ และยาเสพติด ใช้เวาตรวจค้นประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็ไม่พบอาวุธ และยาเสพติดแต่อย่างใด โดยขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทยอยกลับได้มีรถแทคเตอร์จำนวนหลายคัน พร้อมด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์ถืออาวุธปืนยาวหลายคนเดินนำรถแทคเตอร์ เพื่อเข้าพังรั้วของชุมชน และเข้ามาไถรื้อบ้านของชาวบ้านพังจำนวน 60 หลัง ซึ่งชาวบ้านได้แจ้งตำรวจที่ยู่ในพื้นที่ขณะนั้น แต่ได้รับคำตอบว่าให้ไปแจ้งความที่สถานนีตำรวจแทน ทั้งนี้ชาวบ้านได้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ และในวันเดียวกันได้ไปแจ้งความ ที่สถานีตำรวจภูธรชัยบุรี แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดรับเรื่อง

ทั้งนี้ก่อนจะมีการเข้าไล่รื้อบ้านของชาวบ้านกว่า 60 หลัง ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือน ก.พ. 2552 บริษัทจิวกังจุ้ย ได้อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งกับชาวบ้านและบริวารชุมชนคลองไทรฯ จำนวน 3 คน โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ เข้าไปรบกวนการครอบครองทรัพย์สิน โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท ต่อมาบริษัทถอนฟ้องที่ 1, จำเลยที่ 2-3 ได้ทำสัญญายอมออกจากพื้นที่

ต่อมาบริษัทจิวกังจุ้ย ได้ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งกับชาวบ้าน โดยอ้างว่าชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวเป็นบริวารของจำเลยทั้ง 3 ในคดีหมายเลขดำที่ 136/2552 จึงฟ้องเป็นคดีใหม่ และต่อมาเดือนธันวาคม 2553 บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา ได้ดำเนินการฟ้องคดีอาญา หมายเลขดำที่ 3177/2553 ข้อหาบุกรุกกับชาวบ้านชุมชนคลองไทรโดยอ้างว่าตนเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในเขตที่ดินดังกล่าว ปัจจุบันคดีทั้งหมดบริษัทแจ้งถอนฟ้องเนื่องจากเจ้าของบริษัทไม่มีตัวตนในทางกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ข้อสังเกตุประการหนึ่งคือ การฟ้องร้องคดีต่อศาล ซึ่งบริษัทเป็นโจทก์ฟ้องชาวบ้าน เกิดขึ้นหลังจากคำตัดของศาลชั้นต้น ซึ่ง สปก. เป็นโจทก์ โดยตัดสินให้บริษัทออกจากพื้นที่

ความพยายามกดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไม่ได้สิ้นสุดแต่เพียงแค่นั้น หลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน) จังหวัดสุราษฏร์ธานี นำโดยพันเอกสมบัติ ประสานเกษม รอง กอ.รมน. พร้อมกำลังทหาร จำนวน 50 นาย เข้าตรวจสอบพื้นที่ชุมชนคลองไทรฯ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2557 โดยมีผู้นายหน้าซื้อขายที่ดินซึ่งบริษัทจิวกังจุ้ยฯ ครองครอบอย่างผิดกฏหมาย เดินทางร่วมขบวนมาด้วย การเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ทหารครั้งนั้น เป็นการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาลแต่อย่างใด ทว่าเจ้าหน้าได้อ้างหนังสือคำสั่งการทุเลาบังคับคดีการคุ้มครองผลอาสิน ของ บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด มาแสดงการเข้าตรวจค้นชุมชน

ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า การเข้ามาของเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนั้นเป็นการเข้ามาพูดคุยสอบถามสิทธิในการอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน พร้อมทั้งชี้แจงว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิในการอยู่ในพื้นที่ ต่อมา เมื่อวันที่ 24 ก.ย 2557 ได้มีชายไม่ทราบชื่อแต่งตัวชุดคล้ายทหารหนึ่งคน แต่งตัวชุดลำลองห้าคน อ้างตัวว่าเป็นทหารจากค่ายวิภาวดี เข้าตรวจสอบพื้นที่ ในชุมชนคลองไทรฯ  โดยเข้ามาชี้แจงว่า จะมีการนำป้ายมาติดเพื่อประกาศว่า ให้ชาวบ้านในชุมชนย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน เพื่อรอการจัดสรรที่ดินทำกิน ของศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบทตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นชาวบ้านจึงได้เร่งติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ดำรงธรรม องค์การสหประชาชาติ และยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล ทำให้การดำเนินการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหารยุติลง

การดำเนินการร่วมแก้ไขปัญหากับรัฐบาล ก่อนยุค คสช.

ภายหลังจากการเข้ายึดที่ดินของรัฐคืนจากนายทุน ชุมชนคลองไทรได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา และเจรจาต่อรองกับรัฐบาลมาทุกรัฐบาล เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2552 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่ทำกิน ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดให้รัฐบาลต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เป็นผลให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่ง ที่ 71/2552 วันที่ 9 มี.ค. 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขเพื่อปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ต่อมาในวันที่ 11 มี.ค. 2552 คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขเพื่อปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ได้มีการประชุมครั้งที่ 1 มีมติสำคัญประการหนึ่งคือ ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่ทำกิน เห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินตามวิถีปกติไปพลางก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

การประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ชุมชนคลองไทรฯ เองก็เป็นหนึ่งใน 30 ชุมชนนำร่องโฉนดชุมชนด้วย ทว่ายังไม่มีการดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้ชุมชน โดยก่อนหน้านี้ สปก. อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ซึ่ง สปก. ฟ้องดำเนินคดีขับไล่นายทุนออกจากพื้นที่ จำเป็นต้องรอให้คดีความสิ้นสุดก่อน จึงจะสามารถจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรได้ อย่างไรก็ตามหลังจากการศาลฏีกาได้ตัดสินให้บริษัทออกจากพื้นที่ ยังคงไม่มีการดำเนินการส่งมอบที่ดินให้ชุมชนเช่นเดิม และกลับมีการชี้แจ้งให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ไปพร้อมกับบริษัท

ต่อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งชุมชนคลองไทรฯ และกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เป็นหนึ่งเครือข่ายที่อยู่ร่วมในขบวนการ ได้ทำการเจรจากับรัฐบาลหลังชุมนุมกดดันรัฐบาลระหว่างวันที่ 6-22 พ.ค. 2556 จนที่สุดได้ข้อตกลงร่วมกับรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค. โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนคลองไทร รัฐบาลในขณะนั้นระบุว่า จะมีการเร่งรัดดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชน พร้อมทั้งให้ชุมชนที่ได้เริ่มต้นดำเนินงานเรื่องโฉนดชุมชนไปบ้างแล้ว สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการจะแล้วเสร็จ พร้อมทั้งจะเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายด้านที่ดิน และทรัพยากร ตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกลไก และแนวทางที่มีอยู่นั้น รัฐบาลจะแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป่

ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลก่อนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ทว่าหลังการรัฐประหารกลับมีความพยายามขับไล่ชาวบ้านออกจากชุมชนอีกครั้ง

ระยะเวลาทั้งหมดที่นายทุนทั้งบริษัทจิวกังจุ้ยฯ และบริวาร  ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นับจากปี 2528 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 30 ปี รัฐไม่สามารถดำเนินการขับไล่บริษัทออกจากพื้นที่ได้สำเร็จ ในทางกลับกันชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เข้ายึดพื้นที่ เพราะต้องการกดดันให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินให้การเกษตรกรไร้ที่ดิน ในช่วงระยะเวลา 7 ปี กลับถูกคุกคามมาโดยตลอดทั้งจากอำนาจรัฐ และอำนาจทุน คำถามใหญ่ที่สังคมควรจะตั้งคำถามอาจจะไม่ใช่คำถามว่า ทำไมเกษตรกรเหล่านี้ถึงต้องบุกยึดที่ดินทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมายอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท