Skip to main content
sharethis

สนช.ลงมติ 164 ต่อ 4 เห็นชอบประกาศใช้ “ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว” หวังผู้ต้องหาและจำเลยได้ปล่อยตัวมากขึ้น และลดปัญหาคนล้นคุก กำหนดรัฐจ่ายค่าเช่าอุปกรณ์ 3 ปีแรก ก่อนประเมินจะเก็บผู้ต้องหาหรือไม่

6 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่… พ.ศ. (เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว) ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว วาระ 2 และ 3 โดยเป็นการพิจารณารายมาตรา ซึ่งสาระของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ “อีเอ็ม” มาใช้ในการบังคับตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ติดตามตัวผู้ถูกปล่อยชั่วคราว และการไม่ให้เรียกหลักประกันเกินสมควร เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น และเป็นการลดจำนวนผู้ต้องหาล้นคุกด้วย โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เดิมมีทั้งหมด 6 มาตรา แต่คณะกรรมาธิการได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7 และมาตรา 8 ซึ่งเป็นเรื่องการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในอุปกรณ์ รวมถึงผู้รับผิดชอบตามความในมาตรา 7

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ อภิปรายตั้งข้อสังเกตในมาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้ “เมื่อครบ 3 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการประเมินความคุ้มค่าและภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการใช้อุปกรณ์อีเอ็ม ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวที่ใช้อุปกรณ์นี้ ให้กำหนดอัตราค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องมีข้อยกเว้นในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระด้วย

พลเรือเอกยุทธนา ฟักผลงาม สนช. แสดงความเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ที่ให้รัฐรับภาระค่าใช้จ่ายในเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะ 3 ปีแรก ก่อนประเมินค่าใช้จ่ายว่าสมควรจะจัดเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากเป็นภาระที่รัฐต้องแบกรับเป็นเงิน 72 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเบื้องต้นรัฐจะเช่ามาประมาณ 3,000 ชุด เป็นเงิน 78 ล้านบาทต่อปี โดยหากใช้กับผู้ต้องหา 20,000 คน จะเป็นเงินงบประมาณ 552 ล้านต่อปี ทั้งนี้ เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับที่ใช้ในต่างประเทศ ซึ่งใช้วิธีเก็บเงินกับผู้ต้องหาที่ต้องการรับการประกันตัวชั่วคราว

ขณะที่ นายกิตติ วะสีนนท์ สนช. ตั้งข้อสังเกตว่า หากคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้ต้องหาถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่หากท้ายที่สุดแล้วศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด รัฐจะคืนเงินผู้ถูกกล่าวหาที่เช่าอุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่

ทั้งนี้ หลังพิจารณารายมาตราเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนน 164 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 เห็นชอบบังคับใช้เป็นกฎหมาย และหลังการลงมติเสร็จสิ้น สมาชิกบางส่วน เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว รวมถึงบุคลากรในด้านนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุปกรณ์ ทั้งการเช่า การบำรุงรักษา การตรวจสอบความเชื่อถือของเครื่อง ตลอดจนการจัดซื้อในอนาคต เพื่อการใช้งานภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net