Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายประชาชนท้องถิ่นในประเทศกัมพูชา ประเทศไทยและเวียดนาม ร่วมกันออกแถลงการณ์หัวข้อ "รัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ต้องฟังเสียงประชาชน: แถลงการณ์ประชาชน ว่าด้วยโครงการเขื่อนในภูมิภาคแม่น้ำโขง" เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้รับฟังอย่างจริงจังในประเด็นผลกระทบอย่างใหญ่หลวงของเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงและสายน้ำต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง และความกังวลของชุมชนท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเหล่านี้ โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า

“เราขอเรียกร้องให้มีการพูดคุยกันโดยตรง ระหว่างตัวแทนรัฐบาลในภูมิภาคแม่น้ำโขง กับตัวแทนของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง ในเวทีสาธารณะที่จะมีการจัดขึ้น ทั้งนี้ ตัวแทนรัฐบาลต่าง ๆ ต้องมาเข้าร่วมในเวทีสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อฟังเสียงของพวกเรา และเรียนรู้จากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเราจากโครงการเขื่อน”

โดยแถลงการณ์เริ่มแรก ลงนามโดยตัวแทนประชาชนจากสามประเทศ และอีก 10 องค์กรและนักวิชาการหนึ่งคนในฐานะผู้สนับสนุนเสียงประชาชน และหลังจากการรณรงค์เพื่อให้มีการลงนาม ปัจจุบันมีชาวบ้านริมแม่น้ำโขงและประชาชนทั่วไปกว่า 4,500 คนแล้วที่ร่วมลงนาม ในจำนวนดังกล่าว กว่า 4,000 รายชื่อและรอยนิ้วมือ มาจากกลุ่มประชาชนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงและได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงโดยตรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รายนามทั้งหมดจะถูกรวบรวมสุดท้ายในช่วงต้นสัปดาห์หน้า และทำการนำเสนอไปยังรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจากทั้งสี่ของประเทศแม่น้ำโขงตอนล่าง คือลาว ไทย เวียดนามและกัมพูชา ผู้ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงในกระบวนการการตัดสินใจในอนาคตของลุ่มแม่น้ำโขง และประชาชนได้ส่งจดหมายเชิญไปยังรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ไทยและเวียดนามแล้ว สำหรับการจัดเวทีสาธารณะระดับภูมิภาค ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย. นี้ ที่มหาวิทยาลัยอันเกียง  จังหวัดอันเกียง สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การประชุมสาธารณะระดับภูมิภาค เรื่อง “เสียงประชาชนแม่น้ำโขง: สารถึงรัฐบาลแม่น้ำโขงเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขง” จะเป็นการประชุมของผู้เข้าร่วมจำนวนเกือบหนึ่งร้อยคน โดยอย่างน้อย 20 คนมาจากชุมชนท้องถิ่นในประเทศกัมพูชาและไทย นอกจากนั้นส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนในชุมชนแม่น้ำโขงของเวียดนาม กลุ่มประชาสังคม และกลุ่มนักวิชาการจากประเทศเวียดนาม นับเป็นเวทีสำคัญ เนื่องจากสามารถรวมเอาประชาชนกัมพูชา ไทยและเวียดนามเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกเพื่อพูดคุยกันเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีตัวแทนของรัฐบาลแม่น้ำโขงตอบกลับอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งกรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งภาคประชาชนไทยส่งจดหมายเชิญไปถึงโดยตรงด้วย

แถลงการณ์ประชาชน ว่าด้วยโครงการเขื่อนในภูมิภาคแม่น้ำโขง : 

รัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ต้องฟังเสียงประชาชน

แถลงการณ์ประชาชน ว่าด้วยโครงการเขื่อนในภูมิภาคแม่น้ำโขง

พวกเราคือประชาชนของชุมชนท้องถิ่น ผู้ซึ่งพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศของแม่น้ำโขง และบรรดาแม่น้ำสาขาและทะเลสาบที่มีอยู่มากมายในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลสาบเขมร แม่น้ำเซซาน และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เพื่อเป็นแหล่งของอาหาร วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สังคมวัฒนธรรม และรายได้ของเรา  แหล่งน้ำและทรัพยากรต่าง ๆ ในภูมิภาคแม่น้ำโขง เกื้อหนุนชีวิตและเศรษฐกิจของเราให้มั่นคงยั่งยืน

เขื่อนที่สร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำอื่น ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากมูล เขื่อนน้ำตกยาลี เขื่อนน้ำเทิน 2 เขื่อนเทินหินบูน เขื่อนไซยะบุรี และชุดของเขื่อนสร้างแล้วบนแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) ในเขตประเทศจีน ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง อีกทั้งยังคุกคามชีวิต วิถีความเป็นอยู่ของผู้คน และทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเสียหายโดยรวม กลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ  ผู้หญิง และเด็ก เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากที่สุด อีกทั้งการสร้างเขื่อนยังซ้ำเติมความเดือดร้อนที่เราได้รับจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

พวกเราได้เห็นเป็นประจักษ์พยาน และต้องเผชิญกับผลกระทบที่เลวร้ายจากการสร้างเขื่อนเรื่อยมา  สำหรับพวกเรา ซึ่งอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อระบบของแม่น้ำด้วยตัวเองแล้ว  เราไม่มีข้อสงสัยใด ๆ อีกต่อไป ว่าเขื่อนเหล่านั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบัน และจะกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราเพียงใด และเขื่อนเหล่านี้ไม่สมควรจะถูกสร้างขึ้นโดยสิ้นเชิง

พวกเราวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในประเทศลาว ในพื้นที่ที่เป็นเส้นทางอพยพของปลาระหว่างแม่น้ำโขงตอนบนกับตอนล่าง และจะทำลายทั้งพันธุ์ปลา และปริมาณปลาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด เขื่อนนี้จะคุกคามวงจรชีวิตของปลาบึกและโลมาอิรวดี โครงการเขื่อนดอนสะโฮง จะส่งผลกระทบด้านลบต่อภาคเกษตรกรรมและการทำประมงในพื้นที่ปากแม่น้ำโขงอีกด้วยอย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดความเสียหายจากการสร้างเขื่อน รัฐบาลลาวยังไม่เคยรับฟังความวิตกกังวลของประชาชนในประเทศภูมิภาคแม่น้ำโขงอื่น ๆ ที่ถูกเรียกร้องและนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ

เราไม่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์เกี่ยวกับเขื่อนเหล่านี้  ไม่เคยมีใครมาถามความเห็นของเราอย่างจริงจังเหมาะสม และไม่เคยมีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเหล่านั้น เราถูกบีบบังคับให้แบกรับผลกระทบที่ไม่สามารถแบกรับได้ของโครงการเขื่อน ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลของเราจะต้องฟังเสียง และเคารพสิทธิของเรา ในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของแม่น้ำของเรา และเกี่ยวกับชีวิตของพวกเรา

พวกเราจึงเรียกร้อง

  • ให้ต้องมีการพูดคุยกันโดยตรง ระหว่างตัวแทนรัฐบาลในภูมิภาคแม่น้ำโขง กับตัวแทนของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง ในเวทีสาธารณะที่จะมีการจัดขึ้น ทั้งนี้ ตัวแทนรัฐบาลต่าง ๆ ต้องมาเข้าร่วมในเวทีสาธารณะที่มีประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขงเข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อฟังเสียงของพวกเรา และเรียนรู้จากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเราจากโครงการเขื่อน
  • ให้มีการศึกษาเพื่อเข้าใจถึงคุณค่าของแม่น้ำอย่างรอบด้าน รวมทั้งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากโครงการเขื่อน การศึกษาเหล่านี้จะต้องทำโดยกลุ่มหรือองค์กรอิสระ และเปิดโอกาสให้ประชาชนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ให้เวลาเพียงพอในการรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการได้อย่างเหมาะสม และหากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบเชิงลบจากโครงการเขื่อน มีมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ จะต้องหยุดโครงการเขื่อนเหล่านั้นเสีย
  • ให้มีการศึกษาและดำเนินการเกี่ยวกับโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยเร็วที่สุด เนื่องจากจุดสร้างเขื่อนและสถานภาพของโครงการนี้มีลักษณะล่อแหลมอย่างยิ่ง อีกทั้งจะต้องมีการเปิดเผยมูลค่าและผลกระทบของโครงการนี้ต่อสาธารณะ และได้รับการตระหนักรับรู้โดยรัฐบาลของทุกประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

ท้ายที่สุด เราขอย้ำเตือนต่อรัฐบาลทั้งหลายว่า เรา คือประชาชนของภูมิภาคแม่น้ำโขง เราปกป้องแม่น้ำต่าง ๆ ของเรามาหลายชั่วอายุคน และเราจะต้องมีส่วนในการตัดสินใจใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับสายน้ำเหล่านี้

ที่มาคำแถลงการณ์ : TERRA โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net