Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

‘Vessel’ เป็นภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงกับการจัดการร่างกายตัวเองในประเด็นการทำแท้ง โดยมี ‘รีเบคก้า’ แพทย์หญิงชาวเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก เธอเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้ง ภายใต้ชื่อองค์กรว่า ‘Women on Wave’ โดยใช้เรือเป็นคลินิกบริการทำแท้งเคลื่อนที่ไปยังประเทศที่เห็นว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดต่อกฎหมาย และเสียดสีต่อศีลธรรม

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ตอนหนึ่งของงาน  “Pro-Voice: เสียงผู้หญิงเพื่อการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ” ที่จัดโดย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ  สมาคมเพศวิถีศึกษา มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘Vessel : เรือเสรีภาพเพื่อเสียงผู้หญิง’


‘Vessel’ เป็นการกำกับภาพยนตร์โดย ‘Diana Whitten’ นำเสนอออกมาในรูปแบบสารคดีที่ถ่ายทอดจากเหตุการณ์จริงในการต่อสู้ของ ‘รีเบคก้า กอมเปิร์ท’ แพทย์หญิงชาวเนเธอร์แลนด์ และทีมของเธอที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด พวกเธอใช้เรือในการเดินทางไปยังทั่วโลก ภายใต้ชื่อองค์กรว่า ‘Women on Waves’

‘รีเบคก้า’ และทีมยึดมั่นในอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการร่างกายของผู้หญิงเพื่อช่วยผู้หญิงที่ต้องการจะทำแท้ง โดยบอกกับทุกคนว่าผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง และได้รับข้อมูลการทำแท้งที่ปลอดภัย โดยในทุกๆ ปีมีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตไปจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยเพราะมักจะหันไปพึ่งคลีนิกทำแท้งเถื่อน ส่งผลให้เกิดอันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้หญิงต้องหันไปพึ่งการทำแท้งเถื่อนเป็นเพราะการทำแท้งนั้นขัดกับศีลธรรมที่เคร่งครัดในประเทศ

สิ่งที่รีเบคก้าและทีมทำคือการบริการทำแท้งที่ปลอดภัยด้วยการทานยาอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งก่อนที่จะเริ่มกระบวนการทำแท้งได้นั้น รีเบคก้าและทีมจะต้องรับผู้หญิงที่ต้องการจะทำแท้งที่ท่าเรือ ใช้เรือเปรียบเสมือนคลินิกทำแท้งเคลื่อนที่ โดยจะลอยลำเรือไปยังน่านน้ำสากลที่ติดกับประเทศนั้นๆ เสียก่อน เพื่อให้อยู่นอกเขตประเทศที่เห็นการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จากนั้นถึงจะเริ่มกระบวนการการทำแท้งโดยให้ผู้หญิงทานยาที่มีความปลอดภัย และระหว่างการเดินเรือให้บริการยังประเทศต่างๆ เธอต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ต้องต่อสู้กับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง ถูกข่มขู่ ถูกต่อต้าน และพยายามขับไล่พวกเธอในทุกท่าเรือที่พวกเธอไปเยือน แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้คนที่ยินดีในการมาของพวกเธอ สิ่งที่รีเบคก้าและทีมทำ ส่งผลให้ประเทศโปรตุเกสเกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในประเทศ

สิ่งที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอเป็นการเล่นกับประเด็นที่อยู่บนพื้นที่สีเทา เสียดสีสังคม และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอยู่ตลอด ส่วนสิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์คือการนำเสนอในมุมมองเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ประเด็นสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ส่วนอีกด้านหนึ่งคือสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ กล่าวคือการที่ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกหรือไม่เลือกต่อการตั้งครรภ์ และการทำแท้งของตัวเอง แต่ในทางกลับกัน สังคมไทยกระแสหลักยังมองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดและไม่ให้ความสำคัญเท่าไรนัก ผู้หญิงคนหนึ่งๆ ที่ตั้งครรภ์จะไม่สามารถตัดสินใจในร่างกายตัวเองได้ ราวกับว่า ‘ท้องของฉันแต่ต้องปฏิบัติตามปากของคนอื่น’

‘Vessel’ ยังเป็นภาพยนตร์ที่เล่นกับประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อสังคม โดยเฉพาะด้านศาสนา ด้วยเรื่องที่ว่า ‘ทำแท้งมันบาป เพราะเป็นการไปฆ่าเด็กในท้อง’ หรือว่า ‘การฆ่าเด็กในท้องถือว่าขัดต่อประสงค์ของพระเจ้า’ ภาพยนตร์ ‘Vessel’ พยายามทำลายวาทกรรมแบบเก่าของสังคมที่ว่าการทำแท้งแล้วบาป เป็นการทำร้ายเด็กในท้อง ฯลฯ ด้วยวิธีการนำเสนอให้เห็นความสำคัญเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ กับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง และให้เห็นมุมองอีกด้านหนึ่งของปัญหาการตั้งท้อง โดยสะท้อนเสียงของผู้หญิงให้เห็นปัญหาจากการตั้งท้องไม่พร้อม อย่างในเรื่องเช่น การตั้งท้องจากการถูกข่มขืน การตั้งท้องในขณะที่สถานะของครอบครัวไม่พร้อม เป็นต้น ซึ่งตอนหนึ่งในภาพยนตร์กล่าวว่า ‘ผู้หญิงควรมีสิทธิเสรีภาพของตัวเองในการที่จะมีสิทธิการจัดการร่างกายของตัวเอง’ ทำให้เห็นได้ว่าสังคมส่วนใหญ่กำลังละเลย และบีบบังคับให้ผู้หญิงเป็นไปตามกลไกโครงสร้างทางสังคม ซึ่งไม่ว่าผู้หญิงจะท้องต่อไปหรือจะทำแท้ง ก็มักไม่พ้นต่อการถูกประณามถึงสาเหตุของการตั้งครรภ์นั้นๆ เช่น การป้องกันที่ไม่ถูกวิธีขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งวิธีการประณามเหล่านี้ แท้จริงแล้ว ไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับภาพการต่อต้านของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง ในภาพยนตร์สะท้อนว่าคนส่วนมากที่ออกมาต่อต้านการทำแท้ง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักกฎหมายที่เป็นตัวแทนของรัฐที่มักจะเป็นผู้ชาย ในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านการทำแท้งจำนวนมากไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการตั้งครรภ์และการทำแท้ง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการต่อรองบนพื้นที่ต่างๆ ของประเทศที่เห็นว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ด้วยวิธีการให้คำแนะนำทางอีเมล และการให้คำปรึกษาฮอตไลน์แก่ผู้ที่มีปัญหาต่อการตั้งครรภ์ และสนใจที่จะทำแท้ง  นอกจากนี้ยังมีการนำป้ายไปแขวนไว้ที่รูปปั้น พ่นสีเบอร์โทรตามสถานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้หญิงที่สนใจจะทำแท้งให้ได้รับบริการการทำแท้งที่ปลอดภัย และได้ใช้สิทธิในการจัดการกับร่างกายของตนเอง ซึ่งในกระบวนการเคลื่อนไหวของพวกเธอเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเสียดสีต่อสังคมที่ขัดต่อกฎหมายหลายประเทศที่ห้ามทำแท้งอย่างมาก

ในสังคมไทยยังคงมีความคิดกระแสหลักเรื่องการทำแท้งที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อสังคม ขัดต่อศาสนา ศีลธรรม และกฎหมาย แม้ว่าการทำแท้งจะเป็นการกระทำผิดต่อกฏหมายอาญา แต่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฏหมายอาญา ที่สามารถทำได้โดยเฉพาะแพทย์เท่านั้น และต้องเป็นความยินยอมของหญิงตั้งครรภ์ โดยมีเพียงเหตุผล 2 ประการเท่านั้น คือ

1. การตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์
2. การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิดอาญาหรือการถูกข่มขืน

ประเด็นเรื่องกฎหมายการทำแท้งของประเทศไทย ก่อนหน้านี้เคยมีความคิดที่จะแก้กฎหมายที่เปิดให้สามารถทำแท้งได้อย่างเสรี  ซึ่งในปี พ.ศ. 2524 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างกฎหมายใหม่เพื่อแก้กฎหมายให้ทำแท้งได้ง่ายขึ้น จนเหมือนกับว่าสามารถให้ทำแท้งได้อย่างเสรี แต่ในขณะเดียวกัน “พลตรีจำลอง ศรีเมือง” ซึ่งในขณะนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถึงกับลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการพยายามแก้กฎหมายในครั้งนี้ พร้อมชักชวนประชาชนคัดค้าน โดยการระดมเขียนจดหมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปล่อยให้กฎหมายตกไป ไม่มีใครกล้านำเข้าสู่สภาจนล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 34 ปีมาแล้ว [1]

อย่างไรก็ตามแม้ว่าความคิดสังคมกระแสหลักของประเทศไทยจะไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงเลือกที่จะทำแท้ง แต่ยังคงมีองค์กรหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่ต้องการจะทำแท้ง และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เช่น มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) (สอส.) มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)  เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เป็นต้น

‘Women on Web’ (https://www.womenonweb.org/) เป็นเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับภาคี ‘Women on Wave’ เป็นสื่อเว็บไซต์ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่สนใจการทำแท้ง นำเสนอประสบการณ์คนที่เคยทำแท้งจริง ทั้งยังเป็นสื่อที่แนะนำการทำแท้งอย่างปลอดภัย สำหรับผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความก้าวหน้าและสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการ เพื่อผลประโยชน์ของสุขภาพผู้หญิงและเพื่อให้ข้อมูลกับผู้หญิง ซึ่งในเว็บก็จะมีมุมเสียงของผู้หญิงมาเล่าประสบการณ์ในการทำแท้งของตนเองด้วย

 


ความเห็นของผู้ที่เข้าไปแชร์ประสบการณ์ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและทำแท้ง 
 

หมายเหตุ: สามารถรับชมภาพยนตร์ได้ที่ >>http://vesselthefilm.com/

 

[1] จำลอง ศรีเมือง, พล.ต.. 2553. การแก้ปัญหาการทำแท้ง. (ออนไลน์) แหล่งที่มา: http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000168510. เข้าถึงเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net