Skip to main content
sharethis

ศ.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ

4 พ.ย. 2558 ศ.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพกล่าวถึงแนวคิดการและการผลักดันเพื่อจัดตั้ง “สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ว่า แม้ไทยจะบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคน แต่ก็ยังคงมีความแตกต่างในด้านสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน การรักษา ซึ่งเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น ประชาชนในแต่ละกองทุนควรได้รับการรักษาเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่กองทุนไหนมีความพิเศษก็เพิ่มส่วนอื่นให้ แต่ควรมีสิ่งที่เป็นสิทธิประโยชน์กลาง

ศ.อัมมาร กล่าวว่า เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีเวทีความร่วมมือ โดยให้ทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพของประเทศเข้ามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เน้นให้เป็นเวทีของการเจรจา ทั้งผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมบัญชีกลาง รวมถึงผู้ให้บริการอย่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง รพ.พยาบาลเอกชน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนบุคลากรในระบบสุขภาพ จึงได้เสนอให้มีการตั้ง “สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่นี้

“ในการผลักดันตั้งสภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิ่งที่ผมยืนยันได้คือการรวม 3 กองทุนรักษาพยาบาลจะไม่เกิดขึ้น และจะไม่ได้เป็นซุปเปอร์บอร์ดเพื่อควบคุมการบริหาร 3 กองทุนฯ เหมือนกับซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ไม่มีการทำใน 2 เรื่องนี้แน่นอน ประเด็นนี้ชัดเจนมาก เพียงแต่จะเปิดเป็นเวทีเจรจาร่วมกัน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงรัฐมนตรีของ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และกระทรวงการคลัง และผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม” ศ.อัมมาร กล่าว

ศ.อัมมาร กล่าวว่า สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารกองทุนรักษาพยาบาล ไม่ใช่แบบสั่งการ แต่ะเปิดการมีส่วนร่วมเพื่อร่วมแก้ปัญหาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพประเทศไปพร้อมกัน ในสภาแห่งนี้แต่ละกองทุนหารือกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นฉันทามติร่วมกัน มีนากยรัฐมนตรีเป็นประธาน อาจจะดำเนินการตั้งแต่งบประมาณของแต่ละกองทุนที่ต้องใช้ในแต่ละปี และนำเสนอพร้อมกัน เพื่อให้เห็นภาพรวมของงบประมาณการรักษาพยาบาล รวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างกองทุนรักษาพยาบาลและหน่วยบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนรักษาพยาบาล โดยเน้นการมีฉันทามติร่วมกัน ทั้งนี้จากที่ได้ไปสำรวจการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศที่มีหลายกองทุนรักษาพยาบาลต่างใช้วิธีนี้เป็นกลไกในการบริหารร่วมกัน   

“ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... อยู่ระหว่างการผลักดัน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้น อย่างน้อยวันนี้ได้มีการนำเสนอและวันหนึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะเป็นการเปิดให้มีเวทีการเจรจาอย่างเป็นทางการจริงๆ ไม่ใช่การมีส่วนร่วมลอยๆ ที่มีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องเป็นเพียงไม้ประดับ แต่เวทีนี้ทุกส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศให้ยั่งยืน” ศ.อัมมาร กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net