Skip to main content
sharethis

บทความในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ Foreign Policy In Focus และเว็บ The Nation ของสหรัฐฯ ระบุถึงการที่นักกิจกรรมในประเทศยังคงไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีคนใหม่ที่เป็นนักแสดงตลกผู้มาจากพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมที่มีกองทัพหนุนหลัง ท่ามกลางบรรยากาศของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความอยุติธรรม


จิมมี โมราเลส
ที่มาภาพ http://www.jimmymoralesforpresident.com/

3 พ.ย. 2558 เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเรื่องจิมมี โมราเลส นักแสดงตลกได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีถึงแม้ว่าโมราเลสจะเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อนเลย อีกทั้งยังได้รับการหนุนหลังจากกองทัพผู้ดื้อดึง ทำให้นักกิจกรรมในกัวเตมาลาต้องเตรียมรับมือกับประธานาธิบดีคนใหม่นี้

ลินเซย์ บิกดา ผู้ช่วยฝ่ายการสื่อสารของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกัวเตมาลาเขียนบทความระบุว่า โมราเลสได้รับความนิยมมากขึ้นจากที่มีกระแสเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลทำให้มีการประท้วงจากประชาชนรวมถึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงหลายคนและการลาออกอ็อตโต เปเรซ โมลีนา ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่จนถึงเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามผู้ประท้วงโมลินาก็ไม่ได้สนับสนุนโมราเลสไปเสียทุกคน บิกดาชี้ว่ามีส่วนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนซานดรา ทอร์เรส ผู้ลงสมัครอีกราย แต่เธอก็พ่ายแพ้ให้กับโมราเลสในการเลือกตั้งครั้งตัดสินเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา

บทความของบิกดาระบุต่อไปว่าถึงแม้โมราเลสจะปราศรัยหาเสียงเช่นเดียวกับคู่แข่งของเขาว่าจะส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน แต่เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายที่คลุมเครือ การแสดงตลกที่ใช้มุกเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล อีกทั้งโมราเลสยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมรวมถึงพรรคเอฟซีเอ็น (FCN) ซึ่งมีกลุ่มผู้ก่อตั้งเป็นคนในกองทัพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองสามทศวรรษ

บิกดาระบุว่าถึงแม้จะมีชาวกัวเตมาลาบางคนที่มองโลกในแง่ดีแบบระมัดระวังกับการขึ้นเป็นผู้นำของโมราเลสแต่ก็มีคนจำนวนมากสงสัยว่าโมราเลสจะสามารถนำประเทศให้พ้นจากความวุ่นวายทางการเมืองได้จริงหรือ มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งเขียนลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กของเธอว่า "จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไป"

บิกดาระบุต่อไปว่าถึงแม้จะมีการโค่นล้มอดีตผู้นำที่มีข้อหาทุจริตลงได้แต่การลุกฮือต่อต้านก็เกิดขึ้นท่ามกลางการกวาดล้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทนายความนักสิทธิมนุษยชน นักข่าว นักกิจกรรมแรงงาน และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

เรื่องนี้ทำให้กลุ่มแนวร่วมสิทธิมนุษยชนในกัวเตมาลาและกลุ่มภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ ร่วมปรึกษาปัญหาเหล่านี้กับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา (Inter-American Commission on Human Rights) และเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีการพูดถึงการกล่าวหาคดีหมิ่นประมาทและข่มขู่คุกคามทนายความกับพยานผู้เชี่ยวชาญของคดีสังหารหมู่ซึ่งยังคงอยู่ในการพิจารณา คดีดังกล่าวนี้มีจำเลยคือ อีเฟรน ริออส มอนต์ อดีตผู้นำเผด็จการ ซึ่งโมลินาที่เคยเป็นผู้บัญชาการทหารพยายามปฏิเสธว่าไม่มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นมาโดยตลอดก็เป็นคนมีส่วนพัวพันกับการสังหารหมู่ชนพื้นเมืองกัวเตมาลาในอดีตเช่นกัน

นอกจากนี้กลุ่มทนายความและผู้นำชุมชนของกัวเตมาลายังพูดเน้นย้ำถึงเรื่องที่บริษัทน้ำมันปาล์มหลายบริษัทคุกคามหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนผู้อยู่อาศัยอย่างเช่นการทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนหรือการก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมถึงมีกรณีสังหารนักกิจกรรมเพื่อชนพื้นเมืองที่ต่อสู้กับบริษัทน้ำมันปาล์มชื่อ REPSA ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการปล่อยสารปนเปื้อนลงแม่น้ำลาปาซิออง และกรณีพยายามลอบสังหารนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชื่ออเล็ก เรย์โนโซ ถึงสองครั้งซึ่งแม้ว่าเขาจะรอดชีวิตมาได้แต่การพยายามลอบสังหารครั้งแรกก็ทำให้ลูกสาวเขาเสียชีวิต

บิกดาระบุว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนมองการโจมตีเหล่านี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้กำลังกดข่มกลุ่มผู้ปกป้องสิทธิที่ดินทำกิน นอกจากนี้ยังมีการให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลคุ้มครองบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงการปกปิดการกระทำผิดของบรรษัท ในขณะเดียวกันก็ไม่มีมาตรการที่เหมาะสมต่อผู้ใช้กำลังโจมตีผู้นำชุมชน

โรสมาเรีย อังตวน หนึ่งในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกากล่าวถึงการใช้ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมชนพื้นเมืองในกัวเตมาลาว่าเป็น "ความเสื่อมเสียอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตยในในภูมิภาค (ทวีปอเมริกา)" ทางด้าน ฮวน ฟรานซิสโก โซโต ผู้อำนวยการปฏิบัติการทางกฎหมายของศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าถึงแม้ว่าจะกัวเตมาลาจะมีผู้นำคนใหม่และมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐชุดใหม่แล้ว แต่รัฐบาลกัวเตมาลาก็ยังคงจุดยืนแบบเดิมคือการปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำผิดที่เกิดขึ้น

บิกดาระบุว่าถึงแม้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาประชาชนชาวกัวเตมาลาจะได้รับการชื่นชมเรื่องการประท้วงที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ความล้มเหลวในการปฏิรูปการเลือกตั้งและปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินก็ชวนให้ตั้งคำถามว่ากัวเตมาลาเปลี่ยนไปแล้วจริงหรือ ผู้ที่ให้คำตอบในเรื่องนี้คือแดเนียล ปาสคูอัล คณะกรรมการองค์กรชาวนาในกัวเตมาลา 'แคมเปซิโน ยูนิตี' กล่าวว่า "ประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่กลัวที่จะประท้วงอีกต่อไป"

ปาสคูอัลกล่าวอีกว่า กลุ่มภาคประชาสังคมในกัวเตมาลามีแนวร่วมใหม่เป็นกลุ่มประชาชน "ผู้ตื่นรู้ทางสังคม" ทำให้กลายเป็นกลุ่มพลเมืองผู้ตื่นตัวที่มีความรู้มากขึ้นและเมื่อมีผู้คนเรียกร้องความยุติธรรมมากขึ้นก็เป็นการท้าทายให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำหน้าที่ตอบสนองประชาชน

บิกดาระบุว่ากัวเตมาลายังต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาเร่งด่วนอีกหลายปัญหาทั้งเรื่องการทำให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยเริ่มมีลักษณะแบบกองทัพมากขึ้น มีการลอยนวลไม่ต้องรับผิดเกิดขึ้นจำนวนมาก มีปัญหาทุจริตในแบบหยั่งรากลึก มีปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ปัญหาระบบประกันสุขภาพที่ล้มเหลว และประเด็นอื่นๆ ที่โมราเลสแทบจะไม่พูดถึงเลย ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ยังไม่มีแผนการใดๆ หรือมีการพูดถึงประเด็นปัญหาของประเทศแต่อย่างใด

อิดูวินา เฮอร์นันเดซ นักสิทธิมนุษยชนกัวเตมาลาถึงขั้นบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นโมราเลสหรือทอร์เรสต่างก็ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องการ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของพวกเขาอาจจะแสดงให้เห็นว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะต้องมีทางเลือกอื่นมากกว่านี้ คือการมีผู้แทนลงสมัครเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ

 

เรียบเรียงจาก

A Military-Backed Comedian Will Be Guatemala’s Next President. Activists Aren’t Laughing., Lindsay Bigda, FPIF, 30-10-2015
http://fpif.org/a-military-backed-comedian-will-be-guatemalas-next-president-activists-arent-laughing/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net