Skip to main content
sharethis

2 พ.ย. 2558 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ออกแถลงการณ์สภาพปัญหาการอายัดตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง โดยรพบุว่า ปัญหาการอายัดตัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมยกตัวอย่างส่วนหนึ่งของปัญหาการอายัดตัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงประกอบ

โดย มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้แสดงความความห่วงกังวลต่อปัญหาการอายัดตัวดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า นอกจากไม่เป็นการอำนวยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว จะเป็นสร้างเงื่อนไขในการสร้างความเกลียดชังต่อการปฏิบัติการทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และจะส่งผลกระทบต่อการสร้างบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพและนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่ต่อไป เพราะเชื่อว่าการอำนวยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น และจะส่งผลดีในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วย

“จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม พิจารณาดำเนินการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการอายัดตัวของผู้ต้องหาและอำนวยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง และมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน โดยไม่ใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความเกลียดชังต่อรัฐ สร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันจากประชาชนในพื้นที่ และมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักการทางกฎหมาย รวมทั้งหลักการด้านสิทธิมนุษยชน” มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุข้อเรียกร้องในแถลงการณ์

แถลงการณ์สภาพปัญหาการอายัดตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เผยแพร่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 : 
 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ศาลจังหวัดยะลา ได้อ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4137/2557 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 โจทก์ กับนายมะรอซาลี เจ๊ะบู จำเลยที่ 1 นายสอบือรี หะมะ จำเลยที่ 2 นายบูดีมัน สิแล จำเลยที่ 3 โดยพิพากษาว่า “พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัย ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน” (ใบแจ้งข่าวมูลนิธิศูนย์ทนายศูนย์ทนายความมุสลิม ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2558) ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 20.00 นาฬิกา เรือนจำกลางจังหวัดยะลาได้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสามคนออกจากเรือนจำ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลาเข้ามาอายัดตัวจำเลยทั้งสามคน อ้างมีหมายอายัดจากสถานีตำรวจภูธรเบตง และได้นำตัวจำเลยทั้งสามคนไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เพื่อให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเบตงดำเนินการต่อไป ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2558 เวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเบตงเข้ามาจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามคนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา และนำตัวไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธรเบตง ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 พนักงานอัยการจังหวัดเบตงยื่นคำร้องขอออกหมายขังผู้ต้องหาทั้งสามคนเป็นระยะเวลา 12 วัน นับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 อ้างเหตุคดีนี้มีความซับซ้อนและมีเอกสารที่เกี่ยวข้องและข้อเท็จจริงในคดีที่จะต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก และขอคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ปัจจุบันผู้ต้องหาทั้งสามคนถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดเบตง

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหาทั้งสามคนนี้ กล่าวคือเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ขณะที่จำเลยทั้งสามคนอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลจังหวัดยะลา และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดยะลา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเบตง ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสามคน โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันก่อการร้าย เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียหายเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันใช้และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเบตง ได้เข้าสอบคำให้การเพิ่มเติมและขอจัดเก็บดีเอ็นเอจำเลยทั้งสามคนอีกครั้ง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเบตง สามารถดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อมีความเห็นทางคดี และส่งให้พนักงานอัยการมีความเห็นเพื่อพิจารณามีคำสั่งฟ้องคดีได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้การพิจารณาคดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น และมาดำเนินการเพื่ออายัดตัวผู้ต้องหาและเริ่มต้นการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่อีกครั้ง

นอกจากกรณีการอายัดตัวจำเลยทั้งสามคนในคดีนี้แล้ว ยังมีกรณีการอายัดตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอีกหลายรายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏตามรายละเอียดของกรณีการอายัดตัวผู้ต้องหาดังนี้

1. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 มีการอายัดตัวนายนูรฮีซัม วานิ ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา กรณีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรลำใหม่และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดยะลาพร้อมกันทั้งสองคดี ครบกำหนดฝากขังระหว่างสืบสวนสอบสวน 84 วัน พนักงานอัยการมีคำสั่ง สั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหา เรือนจำปล่อยตัวในเย็นวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลามาอายัดตัวจำเลย อ้างมีหมายอายัดตัวจากสถานีตำรวจภูธรลำใหม่ และต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรลำใหม่ ยื่นคำร้องขอฝากขังและพนักงานอัยการยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดยะลา จำเลยถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีมาโดยตลอด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 จำเลยได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเย็นวันดังกล่าว แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลามาอายัดตัวจำเลย อ้างมีหมายอายัดจากสถานีตำรวจภูธรเทพา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มาแจ้งข้อกล่าวแก่จำเลยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 ในระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษในชั้นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเทพายื่นคำร้องขอฝากขังและอัยการยื่นคำฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนาทวี ปัจจุบันจำเลยอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนาทวี จำเลยถูกอายัดตัวระหว่างการพิจารณาคดี 2 ครั้ง

2. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 มีการอายัดนายอาลี เจะอาลี และนายฮารน เจะอาลี ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา หลังจากที่ศาลจังหวัดยะลามีคำพิพากษายกฟ้องแต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองคนยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา มาอายัดตัวจำเลยทั้งสองคน โดยอ้างมีหมายอายัดตัวจากสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา และควบคุมตัวจำเลยทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา รอให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบันนังสตามาดำเนินการต่อไป คดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบันนังสตาได้เข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยทั้งสองคนแล้ว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ระหว่างที่จำเลยทั้งสองคนถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ปัจจุบันจำเลยทั้งสองถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา คดีระหว่างการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา อยู่ระหว่างการฝากขังระหว่างสอบสวนครั้งที่ 4

3 . เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 มีการอายัดนายมาหะมะ อาโกะ ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา กรณีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยะหา ยื่นคำร้องขอฝากขังจำเลยพร้อมกันทั้งสองคดี ต่อมาครบฝากขัง 84 วัน พนักงานอัยการมีคำสั่ง “สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา” จำเลยได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา แต่มีพนักงานสอบสวนมาอายัดตัวจำเลย โดยอ้างว่ามีหมายอายัดตัวจำเลยจากสถานีตำรวจภูธรกรงปินัง และควบคุมตัวจำเลยไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา รอให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกรงปินังมาดำเนินการต่อไป ปัจจุบันจำเลยถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจกรงปินัง อยู่ระหว่างการฝากขังครั้งที่ 4 และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ระหว่างที่จำเลยถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกรงปินังนั้น ได้มีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรปะแต เข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยด้วย เชื่อว่าหากมีการปล่อยตัวจากเรือนจำไม่ว่ากรณีใดๆ จะต้องมีการอายัดตัวจำเลยต่อไป

จากกรณีตัวอย่างที่นำเสนอให้เห็นในแถลงการณ์ฉบับนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการอายัดตัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะมีบันทึกข้อความของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง ข้อกำชับการอายัดตัวผู้ต้องหา แต่พนักงานสอบสวนสถานีภูธรตำรวจภูธรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มิได้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวที่เขียนระบุไว้ว่า “ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นให้แล้วเสร็จ โดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษในคดีเดิมก่อน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว” (บันทึกข้อความส่วนราชการ ศชต. ที่ 0025.22/6774 เรื่อง ข้อกำชับการอายัดตัวผู้ต้องหา ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553)

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีความห่วงกังวลต่อปัญหาการอายัดตัวดังกล่าว นอกจากไม่เป็นการอำนวยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว จะเป็นสร้างเงื่อนไขในการสร้างความเกลียดชังต่อการปฏิบัติการทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และจะส่งผลกระทบต่อการสร้างบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพและนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่ต่อไป เพราะเชื่อว่าการอำนวยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น และจะส่งผลดีในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม พิจารณาดำเนินการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการอายัดตัวของผู้ต้องหาและอำนวยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง และมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน โดยไม่ใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความเกลียดชังต่อรัฐ สร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันจากประชาชนในพื้นที่ และมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักการทางกฎหมาย รวมทั้งหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกภาคส่วน ที่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่อย่างสันติวิธี เพื่อความสงบสุขในพื้นที่ต่อไป

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net