ทำไมต้องขับเคลื่อนให้ผลิตแพทย์และคลินิกโรคจากการทำงาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อ 22 ปีก่อนผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เพื่อการทำงานคุ้มครองสิทธิและการเข้าถึงบริการทางด้านอาชีวอนามัยของคนทำงาน ที่เกิดประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงาน การเผยแพร่เรื่องโรคจากการทำงาน  การผลักดันนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน มีการเสนอข้อเสนอเรียกร้องต่อรัฐบาล ผ่านสมัชชาคนจนเรื่อยมา โดยขอให้เร่งจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯ เร่งผลิตแพทย์เชี่ยวชาญหน่วยงานสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เพราะ รพ.ทั่วๆ ไปไม่สามารถระบุในใบรับรองแพทย์ว่า คนงานป่วยเป็นโรคสืบเนื่องจากการทำงานและไม่สามารถรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้นได้ ทำให้ความเจ็บป่วยเรื้อรังมากขึ้นจนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต การไม่ได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน (พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537) แม้จะมีเสียงสะท้อนว่าแพทย์ท่านใด ก็รักษาได้ทำไมจะต้องมาเรียกร้องแบบนี้  แต่สื่อมวลชนก็ได้ช่วยนำเสนอปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นขยายการรับรู้ไปสู่ชุมชน สาธารณชน

จนต่อมาปี พ.ศ.2548 กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง “โครงการคลินิกโรคจากการทำงาน” ครั้งแรกวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2548 มาถึงปัจจุบันนี้ คลินิกโรคจากการทำงานขยายไปทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

คลินิกโรคจากการทำงานมีไว้เพื่อ

  1. ให้คนงานได้เข้ารับการวินิจฉัยโรคกรณีที่สงสัยว่าการเจ็บป่วยเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือไม่ ช่วงใหม่ๆ คนงานจะต้องเตรียมเงินไปจ่ายสำหรับการวินิจฉัยโรคคนละไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท ต่อมามีการเสนอปัญหาเรื่องคนงานไม่มีเงินเพียงพอจึงทำให้กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมได้สำรองเงินไว้ที่คลินิก คนงานสามารถเข้ารับการวินิจฉัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 
  2. เมื่อทราบว่าเจ็บป่วยจากการทำงาน นายจ้างมีหน้าที่ส่งเรื่องเข้ากองทุนหรือลูกจ้างส่งเองก็ได้
  3. ประโยชน์ที่ได้รับผลการวินิจฉัยจากแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาเยียวยากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาการเจ็บป่วยของคนงานดีขึ้น หรือหายได้คนงานสามารถเข้าทำงานได้ตามเดิมโดยไว 
  4. ทำให้สถานประกอบการ สหภาพแรงงาน คณะกรรมการความปลอดภัยฯ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยฯ คนทำงาน ได้มีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ทำให้คนงานคนอื่นๆ ไม่ต้องเจ็บป่วยซ้ำซาก 
  5. ทั้งคนงานและนายจ้างไม่ต้องสูญเสียบุคลากร ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่าย ในการรักษาทดแทนชดเชย กรณีคนงานเจ็บป่วย และสูญเสียสุขภาพแล้ว
  6. กองทุนเงินทดแทนก็ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปจำนวนมากยังสามารถนำดอกผลที่มีอยู่ของกองทุนนำไปจัดการงานด้านการส่งเสริมป้องกัน
  7. เมื่อคนงานมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ก็สามารถสร้างผลผลิตให้แก่สถานประกอบการได้เต็มที่ ชีวิตการทำงานมั่นคง

การเข้าถึงคลินิกโรคจากการทำงาน ได้โดย คนงานสามารถเดินเข้าไปยัง รพ.ที่มีคลินิกโรคจากการทำงาน เพื่อขอรับการวินิจฉัยได้เอง หรือไปขอรับใบส่งตัวจากสำนักงานประกันสังคมในเขตและจังหวัดที่ทำงาน หรือส่งตัวจากนายจ้าง การเรียกร้องของสภาเครือข่ายฯต่อๆ มา คือ ขอให้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้แรงงานรับรู้ การสร้างมาตรฐานของคลินิกโรคจากการทำงานดังกล่าวให้มีมาตรฐานเดียวกัน การสร้างเครือข่ายแกนนำแรงงานด้านอาชีวอนามัยฯ โดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯจัดทำหลักสูตร ทำการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการฯ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เครือข่ายแกนนำอาชีวอนามัยจึงไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ กว้างขวางนัก 

แต่กลับเกิดโครงการลดอุบัติเหตุในงานให้เป็นศูนย์ ถามว่าจะมีประโยชน์อันใดเล่า หากไม่ใช่ความเป็นจริง?  เพราะนี่เป็นเพียงการทำให้สถิติการประสบอันตรายมีจำนวนลดลงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คนงานยังเจ็บป่วยเรื้อรัง สูญเสียสุขภาพและเสียชีวิตจากการทำงาน  คนงานยังเข้าไม่ถึงการวินิจฉัย การรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้วยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมาย (พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ) ในปัจจุบัน คนงานคนไหนใครเกิดอุบัติเหตุในงาน หรือ แจ้งใช้สิทธิกับกองทุนเงินทดแทน กลับถูกเพ่งเล็งเพราะจะถูกมองว่าทำให้เสียผลประโยชน์ ที่สถานประกอบการหยิบยื่นรางวัลให้เล็กๆ น้อยๆ และทำให้สถานประกอบการไม่ได้รางวัลต่อเนื่อง คนงานที่เจ็บป่วยจากการทำงาน ต้องถูกปลดออกจากงาน หรือถูกบังคับให้ลาออกจากงาน เป็นการผลักภาระไปตกอยู่กับคนงาน ให้รับชะตากรรมไว้ แต่เพียงลำพังผู้เดียว

       คำขวัญที่ว่า “ความปลอดภัยในการทำงานต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง” ที่เขียนติดไว้ในสถานประกอบการ จึงเขียนไว้เพียงเพื่อเป็นตรายางให้พูดกันลอยๆ เท่านั้น หากแต่ขาดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติ  งานด้านความปลอดภัยฯ ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขาดการส่งเสริมพัฒนาความรู้ในหมู่คนทำงาน ขาดการดูแลเอาใจใส่สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งกาย ใจ ชีวิตของลูกจ้าง เท่ากับการเร่งการผลิต เป็นหน้าที่ของนายจ้างโดยตรงในฐานะเจ้าของกิจการ แต่หากอุบัติเหตุเจ็บป่วยจากการทำงานเกิดขึ้น ลูกจ้างกลับตกเป็นจำเลยในฐานทำงานโดยประมาทเลินเล่อ      

       แต่หากเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บจากการทำงานเท่านั้น การเจ็บป่วยเรื้อรังจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพราะสาเหตุที่สถานประกอบการไม่มีความปลอดภัยทางด้านอาชีวอนามัย  เป็นปัญหาสะสมที่นับวันจะมีความรุนแรงต่อชีวิตการทำงานของลูกจ้างมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคปอดอักเสบจากฝุ่นต่างๆ รวมทั้งฝุ่นจากแร่ใยหิน โรคหูตึง นิ้วล็อค โรคผิวหนัง เชื้อรา ตาอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ และโครงสร้างกระดูก ฯลฯ  คลินิกโรคจากการทำงานจึงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาด้านอาชีวอนามัยที่สำคัญ ด้วยการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ หาทางส่งเสริมป้องกัน การรักษาเยียวยา ฟื้นฟู และการทดแทน ที่จะสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับคนงาน ลูกจ้าง และนายจ้างเจ้าของสถานประกอบการได้

คลินิกโรคจากการทำงาน 103 แห่ง มีที่ไหนบ้าง?

ภาคกลาง

  1. รพ.ศิริราช
  2. รพ.นครนายก
  3. รพ.พหลพลพยุหาเสนา
  4. รพ.นครปฐม
  5. รพ.พระนั่งเกล้า
  6. รพ.ปทุมธานี
  7. รพ.พระนครศรีอยุธยา
  8. รพ.เสนา
  9. รพ.พระจอมเกล้า
  10. รพ.ราชบุรี
  11. รพ.โพธาราม
  12. รพ.สมุทรสาคร
  13. รพ.กระทุ่มแบน
  14. รพ.สระบุรี
  15. รพ.พระพุทธบาท
  16. รพ.สิงห์บุรี
  17. รพ.เจ้าพระยายมราช
  18. รพ.อ่างทอง
  19. รพ.หัวหิน
  20. รพ.นพรัตน์ราชธานี
  21. รพ.พระนารายณ์มหาราช
  22. รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า
  23. รพ.สมเด็จพระสังฆราช
  24. ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนสุดา

ภาคตะวันออก

  1. ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ
  2. รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี
  3. รพ.พุทธโสธร
  4. รพ.บางคล้า
  5. รพ.รพ.ชลบุรี
  6. รพ.พานทอง
  7. รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
  8. รพ.ระยอง
  9. รพ.มาบตาพุด
  10. รพ.สมุทรปราการ
  11. รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว
  12. รพ.สถาบันราชประชาสมาลัย
  13. รพ.ตราด

ภาคเหนือ

  1. รพ.กำแพงเพชร
  2. รพ.นครพิงค์
  3. รพ.แม่สอด
  4. รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 
  5. รพ .น่าน 
  6. รพ.พะเยา 
  7. รพ.พิจิตร  
  8. รพ.พุทธชินราช
  9. รพ.เพชรบูรณ์
  10. รพ.แพร่  
  11. รพ.ศรีสังวาลย์
  12. รพ.ลำปาง
  13. รพ.ลำพูน  
  14. รพ.สุโขทัย 
  15. รพ.อุตรดิษฐ์
  16. รพ.อุทัยธานี
  17. รพ.แม่เมาะ
  18. รพ.ชัยนาทนเรนทร
  19. รพ.มหานครเชียงใหม่
  20. รพ.ห้างฉัตร 
  21. รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว
  22. รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์
  23. รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  1. รพ.ศรีนครินทร์
  2. รพ.กาฬสินธุ์ 
  3. รพ.ขอนแก่น
  4. รพ.ชัยภูมิ 
  5. รพ.นครพนม 
  6. รพ.มหาสารคาม
  7. รพ.มุกดาหาร 
  8. รพ.ยโสธร 
  9. รพ.ร้อยเอ็ด 
  10. รพ.เลย 
  11. รพ.ศรีสะเกษ 
  12. รพ.สกลนคร
  13. รพ.สุรินทร์ 
  14. รพ.หนองคาย 
  15. รพ.อำนาจเจริญ
  16. รพ.อุดรธานี 
  17. รพ.กุมภวาปี 
  18. รพ.วารินชำราบ
  19. รพ.รอง 
  20. มหาราชนครราชสีมา
  21. สรรพสิทธิประสงค์

ภาคใต้

  1. รพ.สงขลานครินทร์
  2. รพ.กกระบี่ 
  3. รพ.ตรัง
  4. รพ.สุไหงโก-ลก
  5. รพ.เบตง 
  6. รพ.พัทลุง
  7. รพ.ตะกั่วป่า 
  8. รพ.พัทลุง 
  9. รพ.วชิรภูเก็ต
  10. รพ.ยะลา 
  11. รพ.ระนอง 
  12. รพ.สงขลา
  13. รพ.หาดใหญ่ 
  14. รพ.จะนะ 
  15. รพ.สตูล
  16. รพ.สุราษฎร์ธานี
  17. รพ.เกาะสมุย 
  18. รพ.พังงา
  19. รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช
  20. รพ.ท่าโรงช้าง
  21. รพ.นราธิวาสราชนครินทร์
  22. ชุมพรเขตอุดมศักดิ์

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณข้อมูลสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

หากสนใจติดต่อสอบถามได้ที่ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
32 ซ.ทรายทอง 22.ถ.ติวานนท์ 45 ต.ท่ารายอ.เมือง จ.นนทบุรี
อีเมลwept_somboon@hotmail.com.โทรศัพท์ 081-813-28-98
เฟซบุ๊ก สมบุญ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย สีคำดอกแค เว็บไซต์ http://www.wept.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท