Skip to main content
sharethis
'อภิสิทธิ์' หนุนแนวคิด กรธ.ให้ทุกคะแนนเสียงมีคุณค่า แต่ต้องให้สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนในการเลือกตั้ง เตรียมเสนอปรับการคำนวณระบบจัดสรรปันส่วนผสมใหม่ 4 พ.ย. นี้ ด้าน 'สดศรี' ชี้ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้มีรัฐบาลผสมหลายพรรค ส่งผลเลือกนายกยาก เปิดช่องให้มีนายกคนนอก พร้อมเสนอให้ยกเลิก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหลือเพียง ส.ส.เขต
 
1 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับแนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะนำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่นำคะแนนเลือกตั้งของผู้ที่แพ้มาคิดคำนวน ส.ส.ด้วยมาใช้ ว่า   เห็นด้วยกับการหลักการที่จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมีคุณค่า ไม่เสียเปล่า  แต่ต้องการให้มีการปรับปรุงระบบการคิดคำนวณใหม่ โดยในวันที่ 4 พฤศจิกายน นี้ จะเสนอเป็นความเห็นส่งให้ กรธน.พิจารณาด้วย
 
นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า  หากใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วเอาทุกคะแนนมาใช้ในการคำนวนจำนวน ส.ส. จะทำให้ระบบนี้ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะการเอาคะแนนของผู้แพ้มาคิดคำนวนจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึง การให้ประชาชนเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว อาจจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่า การใช้สิทธิของประชาชนเป็นการเลือกตัวบุคคล หรือเลือกพรรคการเมือง
 
“ข้อเสนอของผม จะเอาหลักการของ กรธ.มาวางไว้ แต่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น  ทำให้ทุกคะแนนของประชาชนได้รับน้ำหนักที่เหมาะสม มีวิธีที่ทำให้เจตนารมรณ์ของประชาชน ทั้งการเลือกพรรคและเลือกคน มีความชัดเจน  จึงต้องเปลี่ยนวิธีการคิดคำนวน และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า  ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งแบบเขตมาก คะแนนลดลงจากการถูกทอนลง  ซึ่งเรื่องนี้จะถูกตั้งเป็นประเด็นคำถาม เพราะบางเขตเลือกตั้งที่คะแนนของผู้ชนะมาก จะสูญเปล่า ดังนั้น การที่พรรคใดจะได้รับเลือกจากประชาชนให้เป็นรัฐบาล ควรจะต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ทั้งการเลือกผู้แทนรายคน และคะแนนของพรรค
 
สดศรี ชี้ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เปิดช่องมีนายกฯ คนนอก
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่า นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นถึงแนวคิดระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ข้อดีของระบบดังกล่าว คือ ผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต จะไม่ถือว่าสอบตก เพราะคะแนนจะมีผลต่อคะแนนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น อีกทั้ง ระบบนี้ ใช้เพียงบัตรเดียว ทำให้ประชาชนเข้าใจง่าย  แต่จะต้องคำนึงว่า ระบบนี้จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมจากพรรคการเมืองหลายสิบพรรค
 
อย่างไรก็ตาม นางสดศรี กล่าวว่า  การที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากในรัฐสภา อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้ง การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากคะแนน 3 ใน 4 จากสมาชิก ส.ส. ซึ่งหากการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้คะแนนตามนี้ อาจมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ทำให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักว่า หากเกิดวิกฤตในการเลือกนายกรัฐมนตรี จะทำอย่างไรต่อไป รวมถึง  การทำงานและการขับเคลื่อนของรัฐบาลจะยุ่งยากและล่าช้า เพราะความเห็นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 
“ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้น  เมื่อถามว่า หากจะลองผิดลองถูกแล้ว เอาประเทศชาติเป็นเงื่อนไข ถ้าเกิดประเด็นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือการเลือกตั้งมีปัญหา การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นโดยองค์กรใด ซึ่งอาจจะต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ขึ้นมา แต่ คปป.เป็นองค์กรที่นักการเมืองกลัวว่า จะเป็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐ ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ไม่ควรโยนหินถามทาง ควรบอกเค้าโครงของรัฐธรรมนูญเลยว่า  หากมีปัญหาแบบนี้ ควรทางแก้อย่างไรบ้าง และฝ่ายการเมืองจะยอมรับได้หรือไม่” นางสดศรี กล่าว
 
นางสดศรี  กล่าวว่า รัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบบนี้ น่าจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  ทั้งนี้ การปฏิรูปจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  สิ่งที่กังวลคือ ขณะนี้นักการเมืองต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ดังนั้น ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติเรื่องใด นักการเมืองก็ต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว ก็เหมือนเป็นการปฏิรูปย้อนหลัง ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาของประเทศ และทำให้ฝ่ายบริหารทำงานลำบาก ดังนั้น ต้องตระหนักว่า การยอมรับให้รัฐธรรมนูญผ่านไปได้ง่ายๆ จะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานในอนาคตหรือไม่
 
“ส่วนตัวเสนอให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก   เพราะให้อำนาจประชาชนเป็นผู้เลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งตรงกับเจตนารมย์ของประชาชน ดีกว่าให้พรรคการเมืองเป็นใหญ่ ด้วยการกำหนดชื่อ ส.ส.ในบัญชีรายชื่อ
 
โฆษก กรธ.มั่นใจระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้เกิดผลดีต่อการเลือกตั้ง
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่านายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในการประชุม กรธ. วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน จะหารือในหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐต่อจากเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ที่ค้างอยู่ 2-3 มาตรา จากนั้น จะพิจารณาเรื่องที่คณะอนุกรรมการเสนอเข้ามา นอกจากนี้ จะหารือถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
 
ส่วนประเด็นระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมือง ว่าอาจไม่สะท้อนเจตนารมย์ของประชาชน นายอมร ยืนยันว่า  การเขียนรัฐธรรมนูญคงไม่มีฉบับใดที่สมบูรณ์แบบไปทั้งหมด แต่ กรธ.ก็จะพิจารณาในสิ่งที่คิดว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด และมั่นใจว่าระบบนี้จะทำให้เกิดผลดีต่อการเลือกตั้ง
 
“การนำนวัตกรรมการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลกมาใช้ น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งมากที่สุด เพราะทุกคะแนนเสียงมีคุณค่า ให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง และพรรคการเมืองเป็นส่วนประกอบหนึ่ง” นายอมร กล่าว และว่า  ไม่ว่าจะใช้การเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง 1  หรือ 2 ใบ ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งของไทย ดังนั้น หากย้อนไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ก็ไม่น่าจะมีสิ่งใดที่ต้องเปลี่ยนแปลง
 
อย่างไรก็ตาม นายอมร กล่าวว่า ความเห็นของผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็พร้อมรับฟัง เนื่องจากยังมีเวลาที่กรธ.จะนำไปปรับแก้ได้ถึงเดือนมกราคม 2559 ที่จะส่งร่างแรก หรืออย่างช้าที่สุด ก็สามารถปรับแก้ร่างได้ ก่อนที่จะทำประชามติ และว่า เวลานี้มีตัวแทนบุคคลจาก 6 พรรคใหญ่ ที่ใช้ความสนิทสนมส่วนตัว ส่งความเห็นมายัง กรธ. โดยเป็นความเห็นในนามบุคคล ไม่ใช่ในนามพรรค แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้
 
นายอมร ยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดรับฟังความเห็น และพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมในการร่าง ถือเป็นเรื่องดีที่หลายพรรคการเมืองพยายามเข้ามามีส่วนร่วมเสนอแนะความเห็นต่างๆ เข้ามา แต่ กรธ.ก็จะรับเฉพาะความเห็นที่เป็นเอกสาร เพราะไม่ต้องการให้แต่ละพรรคเดินทางมาชี้แจงด้วยตัวเอง ซึ่งหากมาไม่ครบทุกพรรค กรธ.ก็จะถูกมองว่าเลือกปฏิบัติในการรับฟังความเห็น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net