Skip to main content
sharethis
31 ต.ค. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่าในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดปราจีนบุรีนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง คดีอาญาหมายเลขดำที่ 925//2558 ซึ่งมีนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตำรวจ 7 นาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี 2 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดปราจีนบุรี 4 นาย ฐานร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200, 295, 305, 310, 391 ประกอบมาตรา 83, 91 มีระวางโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
 
คดีนี้สืบเนื่องมาจากนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร โจทก์ ได้กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ซึ่งในขณะนั้นตนมีอายุเพียง 18 ปี และยังเป็นนักเรียนอยู่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรีจับกุม ในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ และในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนซ้อมทรมาน จนได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้ต่อมานายฤทธิรงค์จะได้รับการปล่อยตัวและพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากได้มีการจับกุมและดำเนินคดีคนร้ายตัวจริงได้ก็ตาม แต่นายฤทธิรงค์ ก็ไม่อยู่ในภาวะที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข การทรมานโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว มีร่างกายที่อ่อนแอแล้ว ยังมีอาการหวาดผวา จนเป็นเหตุให้ต้องยุติการเรียนกลางคันไปในที่สุด
 
ตลอดระยะเวลา 6 ปี หลังที่ได้รับการปล่อยตัว นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ผู้เสียหาย และนายสมศักดิ์ ชื่นจิตร (บิดา) ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระจำนวนมาก ในการเรียกร้องเพื่อให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมและทำร้ายร่างกายด้วยการทรมานนายฤทธิรงค์แต่ไม่เป็นผล ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 นายฤทธิรงค์ และนายสมศักดิ์ (บิดา) จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดหาทนายความให้และได้ยื่นฟ้องตำรวจทั้ง 7 นาย ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 โดยศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องนัดแรกในวันที่ 24 สิงหาคม 2558 แต่ทั้งโจทก์และจำเลย ได้ขอเลื่อนนัดการไต่สวนมาเป็นวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
 
คดีนี้ นับได้ว่าเป็นคดีสำคัญ กล่าวคือ นอกจากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความรอบคอบและไม่เป็นมืออาชีพ ด้วยการจับกุมดำเนินคดีผู้บริสุทธิ์ มีผลทำให้นายฤทธิรงค์ตกเป็นเหยือของกระบวนการยุติธรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ยังซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส ซึ่งเป็นการกระทำที่ทั้งผิดกฎหมายในประเทศ และผิดกฎหมายระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรื อการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธผูกพันต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ตามอนุสัญญา ฯ การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง โดยรัฐภาคีรวมทั้งประเทศไทยจะต้องดำเนินคดีเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดโดยไม่ละเว้น
 
ในกรณีนี้ ทางการไทยได้ละแลยการปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญา โดยไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด แม้นายฤทธิรงค์ ผู้เสียหายจากการทรมาน และบิดา จะได้ใช้แวลาถึง 6 ปี ในการร้องเรียนแสวงหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องขอความเป็นธรรมจากศาลด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net