Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“ สิ่งที่ภิกษุมอบให้กับฆราวาสแลกกับการรับใช้ให้ความช่วยเหลือทางวัตถุและแรงงานคือ การสอนธรรมะ การประกอบพิธีกรรม และการเป็น ‘เนื้อนาบุญ’ หรือแหล่งที่มาของบุญ ตรรกะการดำรงอยู่ของภิกษุจึงคล้ายกับตรรกะการดำรงอยู่ของกษัตริย์ การดำรงอยู่นี้อยู่บนฐานอุดมการณ์ของระบบแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมระหว่างภิกษุ/กษัตริย์กับฆราวาส/ประชาชน...ทั้งภิกษุและกษัตริย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากการอุดหนุนจากคนธรรมดา แต่คนธรรมดาจะถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าพวกเขาซึ่งเป็น ‘ผู้ให้’ มีสถานะต่ำกว่า ‘ผู้รับ’ และไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีงามได้หากไม่มีศาสนาและราชา และแน่นอนว่าศาสนาและราชาต่างให้ความชอบธรรมซึ่งกันและกัน ”

ข้อความข้างบนคัดจากบทความ “เปิดทองหลังพระ” ของมุกหอม วงษ์เทศ วารสาร “อ่าน” ฉบับ “อ่าน-บอดใบ้” (สิงหาคม 2558) นี่คือภาพความเป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างพระกับฆราวาสที่สรุปจากการศึกษาวิเคราะห์ “พระไตรปิฎกเถรวาท” อย่างตรงไปตรงมา

เราอาจอ่านพระไตรปิฎกอาจได้หลายแบบ เช่น อ่านเพื่อเพิ่มศรัทธาในพุทธศาสนา เป็นการอ่านแบบคนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาอยู่แล้วต้องการรู้คำสอนของพุทธศาสนามากขึ้น หรืออ่านแบบค้นหาความคิด, หลักการสำคัญ, ความมีเหตุผลสนับสนุนลงรอยกัน อย่างที่นิยมเรียกกันว่าหาคำสอนที่เป็น “แก่นแท้” ของพุทธศาสนา เข้าใจว่าท่านพุทธทาส, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และนักวิชาการพุทธศาสนาบ้านเราจำนวนหนึ่งอ่านกันแบบนี้ นี่คือการอ่านแบบ “คนใน” เหมือนกัน เพียงแต่แบบหลังอาจต้องใช้ทักษะทางวิชาการมากกว่า

อีกอย่างคือ การอ่านแบบ “คนนอก” จะเป็นคนนับถือพุทธ ไม่นับถือพุทธ นับถือศาสนาอื่น หรือไม่นับถือศาสนาใดๆก็ได้ แต่ทำตัวเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์แบบผู้สังเกตการณ์ที่เป็นคนนอก ผมไม่ได้กำลังจะบอบว่าอ่านแบบคนนอกต้อง “ปราศจากอคติ” เพราะยากที่จะบอกได้ว่ามันมีวิธีการอ่านคัมภีร์หรือวรรณกรรมแบบไหนที่ปราศจากอคติอย่างสิ้นเชิง การอ่านแบบคนในก็ชัดเจนว่ามี “อคติเชิงบวก” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมักจะนำเสนอด้านบวก หลีกเลี่ยงที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจังกับเนื้อหาด้านที่มีปัญหาในพระไตรปิฎก

ประเด็นเรื่องปราศจากอคติ จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ประเด็นหลักอยู่ที่ “การมีเหตุผลสนับสนุน (Justification)” ที่หนักแน่นกว่าต่อข้อสรุปที่คุณได้จากการอ่านแบบนั้นๆ ผมคิดว่าการอ่านพระไตรปิฎกแบบคนนอกอย่างที่มุกหอมทำ สามารถให้เหตุผลสนับสนุนหนักแน่นกว่าการอ่านแบบคนใน เนื่องจากผู้สังเกตการณ์จากคนนอกสามารถวิเคราะห์จุดดี จุดด้อย หรือปัญหาของ “พุทธศาสนา” ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นรากฐานของพุทธศาสนาแบบปรากฏการณ์ทางสังคมได้ทุกแง่ทุกมุมอย่างตรงไปตรงมามากกว่า แต่บ้านเราแทบไม่มีคนอ่านพระไตรปิฎกแบบมุกหอมเลย ทั้งๆ ที่การอ่านแบบนี้จะทำให้เรามี “ความรู้” อีกด้านหนึ่งที่ช่วยให้มองเห็นความจริงของความเป็น “ชาวพุทธ” ของตัวเราเองชัดเจนขึ้น

สิ่งที่บทความ “เปิดทองหลังพระ” ชวนให้เราคิดคือ “บางทีรากฐานปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันอาจสืบสาวกลับไม่ได้แค่ พ.ศ.2475...แต่สามารถย้อนรอยกลับไปถึงสองพันกว่าปี...” นั่นคือความเชื่อ วิถีคิด ตรรกะในการแยกแยะถูกผิดที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาทนั่นเองที่รองรับ “บุคลิกภาพ (Characters)” ของ “ความเป็นไทย” หรือ “วิถีคิดทางการเมืองที่มีความเป็นศาสนาแบบไทย” ที่ทำงานอย่างขัดแย้งกับหลักการสากล เช่นหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยยะสำคัญ

เห็นได้ตั้งแต่คำสอนพุทธในพระไตรปิฎก (เช่นจักกวัตติสูตร,มหาสุทัสสนสูตร,มหาปรินิพพานสูตร เป็นต้น) ที่ถือว่ามี “ธรรมราชา” เหนือกว่าราชาทั้งปวง 2 ประเภท คือ “พุทธธรรมราชา” กับ “จักรพรรดิธรรมราชา” ธรรมราชาทั้งสอง “ต่างเกิดมาและดำรงอยู่เพื่อความประโยชน์สุขของมหาชน” เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมควรได้รับเกียรติในการปฏิบัติต่อพระสรีระศพเสมอกัน และสมควรสร้างสถูปเจดีย์ให้มหาชนสักการบูชาเพื่อเป็นบุญกุศลเฉกเช่นกัน นี่เป็นลักษณะขัดแย้งกับการที่สิทธัตถะสละวรรณะกษัตริย์ออกบวชอย่างปราศจากการยึดติดในวรรณะ แต่ขณะเดียวกันก็มีคำสอนให้ปฏิบัติต่อพุทธะ (ซึ่งไม่มีวรรณะแล้ว) อย่าง “มีเกียรติเสมอเหมือนกับพระเจ้าจักรพรรดิ” เลยทีเดียว

ในการจัดลำดับ “ความประเสริฐ” ของมวลมนุษย์ พุทธะยืนยันว่า “กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในบรรดามนุษย์ที่ถือโคตร” แต่ “ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะคือผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย” (ซึ่งบุคคลเช่นนี้ก็คือพระตถาคตและเหล่าภิกษุสงฆ์หรือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตาม “ครรลองของธรรมวินัย” แห่งตถาคตเป็นสำคัญ) ใน “อัมพัฏฐสูตร” นอกจาพุทธะจะยืนยันว่าท่านออกบวชจากวรรณะกษัตริย์ซึ่งประเสริฐกว่าวรรณะพราหมณ์แล้ว ท่านยังเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ รวมทั้งภิกษุสาวกของท่านก็ปฏิบัติเพื่อถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะด้วย

ฉะนั้น ไม่ว่าจะพูดถึงความประเสริฐทางชาติกำเนิดและคุณธรรม พุทธะและพระสาวกย่อมประเสริฐกว่าวรรณะพราหมณ์ (พระสาวกแม้จะมาจากวรรณะต่ำ แต่เมื่อฝึกฝนพัฒนาตนตามกรอบธรรมวินัยแล้ว เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะแล้ว ย่อมประเสริฐกว่าคนทุกวรรณะ) นี่คือวาทกรรมที่เน้นย้ำในพระไตรปิฎกเมื่อมีประเด็นถกเถียงกับพราหมณ์เกี่ยวกับเรื่องสูง ต่ำทางชาติกำเนิด (เช่นอัคคัญญสูตร, อัมพัฏฐสูตร) การเน้นย้ำดังกล่าวสะท้อน “ความเป็นมิตร” หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างวรรณะกษัตริย์กับพุทธะและภิกษุสงฆ์สาวก ขณะที่สะท้อน “ความเป็นอื่น” ของวรรณะพราหมณ์

บุคลิกภาพอีกอย่างหนึ่งของพุทธะที่เหมือนกับ “พระราชา” คือ เป็น “เผด็จการโดยธรรม” (สำนวนท่านพุทธทาส) เหมือนกัน นั่นคือพระราชาเป็นผู้ออกกฎแต่ได้รับการ “ยกเว้น” จากกฎนั้นได้ (ตามตรรกะที่ว่า “พระราชาเป็นเจ้าของสวนมะม่วง เสวยมะม่วงของตัวเองย่อมไม่ผิด”) พุทธะก็เหมือนกัน ออกกฎห้ามภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ แต่ท่านเองสามารถทำได้ ในพระไตรปิฎกพุทธะสรรเสริญ “การเปลี่ยนคนด้วยการสอน” (อนุสาสนีปาฏิหาริย์) แต่ท่านเองใช้ปาฏิหาริย์เป็น “ตัวช่วย” บ่อยมาก เพื่อกำราบ,ปราบพยศคนอื่นๆ ที่เห็นต่างบ้าง เพื่อประชันกับพวกเดียรถีย์บ้าง (แสดงยมกปาฏิหาริย์) เพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นๆ เกิดศรัทธาเลื่อมใสบ้าง

ขณะเดียวกัน เมื่อมีคนมาถามตรงๆให้พุทธะยืนยันเรื่อง “ชาติหน้า” หรือการเวียนว่ายตายเกิด แต่พุทธะปฏิเสธที่จะยืนยัน (พยากรณ์) ด้วยเหตุผลว่า “ไม่จำเป็นต่อการดับทุกข์” ทว่าในพระไตรปิฎกอีกนั่นเองก็มีเนื้อหาจำนวนมากที่เป็นการยืนยันการเวียนว่ายตายเกิด มีข้อความบรรยายถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ พรหมโลกชั้นตางๆ นรกขุมต่างๆ จำนวนมาก

ในบางสูตรยังพูดถึง คนพาลตายไปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ วินิบาต นรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในสกุลชั้นต่ำ ยากจน ฯลฯ ขณะที่บัณฑิต ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในสกุลชั้นสูง เป็นคนรวย เช่นสกุลกษัตริย์มหาศาล, พราหมณ์มหาศาล, คหบดีมหาศาล (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=6312&Z=6749) ตามหลักฐานในพระไตรปิฎกนี้ ทำให้เกิดคำถามว่าที่พุทธศาสนาปฏิเสธระบบวรรณะนั้น เพียงแต่ปฏิเสธว่าระบบวรรณะไม่ได้มาจากการกำหนดของพระพรหม แต่ชาติกำเนิดสูง ต่ำของคนถูกกำหนดโดย “กฎแห่งกรรม” ซึ่งเป็นหลัก “อภิปรัชญาทางศีลธรรม (Moral metaphysics)” ของพุทธศาสนาเองใช่หรือไม่

โทษทัณฑ์ต่อคนเลวตามกฎแห่งกรรมก็ “สัมพัทธ์ (relative)” กับ “บุคคลที่มีคุณธรรม” อย่างมีนัยยะสำคัญ ถ้าหากคนคนนั้นเปลี่ยนจากคนเลวมาเป็น “คนดีสูงสุด” (เป็นพระอรหันต์ ดังองคุลีมาลย์เป็นต้น) โทษทัณฑ์ตามกฎแห่งกรรมก็เหลือเพียงเล็กน้อยแค่ “เศษกรรม” เท่านั้นเอง แต่ถ้าใครทำเลวต่อคนดีสูงสุด โทษทัณฑ์ตามกฎแห่งกรรมก็จะหนักหนาสาหัสเกินปกติมาก เช่นพระเทวทัตทำร้ายพุทธะถึงห้อพระโลหิต และเป็นขบถในกรณีอื่นๆ ผลบั้นปลายคือ “ถูกธรณีสูบ” และตกนรกอเวจีนับแสนโกฏิปี การสำนึกผิดของเขามีอานิสงส์ให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคต หลังจากทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสเป็นเวลายาวนานในนรกแล้ว ส่วนนางกิญจมาณวิกาเพียงทำผิดต่อพุทธะ “ด้วยวาจา” คือกล่าวใส่ร้ายว่าพุทธะทำเธอท้อง โทษทัณฑ์ตามกฎแห่งกรรมก็คือ “ถูกธรณีสูบ” และต้องตกนรกอีกยาวนานมาก

บทความเปิดทองหลังพระและกรณีต่างๆในพระไตรปิฎกเถรวาทที่ผมยกมาอภิปรายเพิ่มเติม สะท้อนให้เราเห็น “หน้าตาที่แท้” ของความเป็นไทยบนความเป็นพุทธของชาวสยาม/ไทยเราเองว่า ทำไมในวาทกรรมการเมืองที่อ้างคนดี ความดี คุณธรรม ศีลธรรม จึงอ้างแบบถือว่าชนชั้นปกครองอยู่เหนือกฎ หรือควรได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎ เช่นทำรัฐประหารได้ หากทำในนามคนดี ความดี หรือคุณธรรมศีลธรรมเพื่อขจัดคนเลว คนไม่ดี ซึ่งสะท้อนว่า มาตรฐานตัดสินถูก ผิดแบบเอาผลสำเร็จเป็นตัวตั้งโดยไม่เลือกวิธีการ ก็คือมาตรฐานที่ถูกปลูกฝังกล่อมเกลามาจากคำสอนพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกเถรวาทนั่นเอง

แน่นอนว่า สำหรับคนที่ถูกพิพากษาว่าเป็น “คนเลว” ที่กระทำผิดต่อชนชั้นปกครองตามอุดมคติของพุทธศาสนา เขาย่อมสมควรได้รับ “ผลกรรมชั่ว” ทั้งโดยการถูกสาปแช่งจากสังคมและโดยอัตราโทษทางอาญาที่รุนแรง

หากกล่าวโดยรวม ภายใต้ “วาทกรรมการเมืองเชิงศีลธรรม” แบบพุทธศาสนา ย่อมถือว่า “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” สำคัญกว่ากฎกติกาประชาธิปไตย หรือเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ ขณะที่ “คนเลว” ก็มักจะถูกมองอย่างแทบไม่เหลือ “ความเป็นคน” น่าเศร้าที่สุดก็ตรงที่บรรดาคนที่ถูกพิพากษาว่าเป็นคนเลวที่ติดคุกจำนวนมาก คือคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เป็นชาวบ้านธรรมดา ไร้อำนาจต่อรอง ไม่มีผลประ โยชน์ส่วนตัว อำนาจ ตำแหน่งทางการเมืองเป็นเหตุจูงใจในการต่อสู้ใดๆ

ในสังคมอุดมศีลธรรมเช่นนี้ แม้จะใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงสุดส่องหา “ตัวตน” หรือหา “ความเป็นคน” ของเล็กคนน้อยเหล่านั้น ก็ย่อมจะไม่มีทางหาเจอ หากคิดตามคติพุทธในพระไตรปิฎกก็อาจเป็นไปได้ว่าคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ อดีตชาติอาจเคยเป็นคนเลวมาก่อน คนเคยเลวในอดีตชาติก็เกิดมามีสถานะต่ำทางสังคมมากอยู่แล้ว เมื่อยิ่งถูกสังคมพิพากษาว่าเป็นคนเลวในชาตินี้อีก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สังคมอุดมศีลธรรมจะมองเห็น “ความเป็นคน” ของพวกเขา

อะไรที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่ อะไรที่ทำให้เรามองเห็นแบบที่เราเห็น มองไม่เห็นในสิ่งที่ควรเห็น หรือถ้าใครมองเห็นก็อาจได้รับโทษทัณฑ์แห่งการมองเห็น บทความ “เปิดทองหลังพระ” ได้ชวนให้เราคิดและมองเห็นตัวเราเองตามเป็นจริง

เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ไหม? ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะตรรกะของการจะเป็นประชาธิปไตยได้แค่ไหนกับตรรกะให้พุทธสาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” คือตรรกะเดียวกัน นั่นคือ ตรรกะที่ว่าต้องดู “บริบทความเป็นไทย” ของเราเอง ซึ่งเป็นตรรกะที่ปฏิเสธเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนแบบสากล อย่างมากที่สุด เราต้องร่างรัฐธรรมนูญให้มี “ความเป็นสากลแบบไทย” (???) เท่านั้น

จนกว่าเราจะ “หลุดพ้น” จากมายาคติความเป็นไทยบนความเป็นพุทธ เราถึงจะมองเห็น หรือมี “ความเป็นคน” ในมาตรฐานขั้นต่ำสุดของโลกสมัยใหม่ได้ นั่นคือมีความเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีตามหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนสากล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net