Skip to main content
sharethis

วงประชุมวิชาการ เปิดใจคุย ครอบครัวหลากหลายทางเพศ รักลูกได้เหมือนกัน ไม่ต่างจากครอบครัวอื่นๆ ชี้สังคมหยุดตีตราความรัก ว่าเป็นการเสแสร้ง ร้องรัฐหยุดสร้างกรอบคำนิยาม “ครอบครัวที่ดี”

“ถ้าหนูมีแม่สองคน แล้ววันแม่ปีนี้หนูจะไหว้ใครที่โรงเรียน?”  “ทำไมหนูถึงมีแม่หลายคน?” หรือ “ทำไมเธอถึงมีพ่อสองคน?” นั้นเป็นคำถามโลกแตกที่ครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศในสังคมมักจะพบเจอ   

เรื่องราวของครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศในไทย นับว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยและด้วยกรอบคิดว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์จะต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ที่เป็นชายและหญิงนั้นยิ่งช่วยหล่อหลอมให้ลังคมไทยมองว่าการมีครอบครัวหลากหลายเพศนั้นเป็นเรื่องแปลก จนอาจจะทำให้ครอบครัวเหล่านั้นก็ไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง

ในการประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษา “รัฐ/ ประหาร/ เพศ”ในหัวข้อ “ครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศในสังคม” เมื่อวันที่19 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้องคอนเวนชั่นc โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ มีการหยิบยกเอาประเด็นเรื่องนี้มาถกเถียงในหลายมิติและให้มุมมองที่น่าสนใจ พร้อมทั้งนำเสนอความคืบหน้าของงานวิจัยครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศหรือที่เรียกว่า LGBT Parents

ในส่วนแรกเป็นการตอบคำถามกับคนในสังคมที่มีความใคร่รู้และ “หวังดี” ต่อเด็กที่อยู่ในครอบครัวในลักษณะนี้  คำถามที่ครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศมักจะเจอบ่อยๆ หนีไม่พ้นเรื่องวิธีการอธิบายลูกถึงสถานะบทบาทของพ่อและแม่ อันธิฌา แสงชัย ตัวแทนกลุ่มพ่อแม่หลากหลายเพศ(Thai LGBTI Parents) ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้มีความยากในสองมิติ มิติแรกคือ มิติที่สังคมมองว่าสถาบันครอบครัวต้องประกอบไปด้วยพ่อแม่ที่เป็นคู่ชายและหญิง สังคมไปผูกสิ่งเหล่านี้ไว้กับทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งการจะทำให้คนในสังคมรับรู้ว่าเพศของการเป็นพ่อแม่นั้นมีความหลากหลากมากกว่านั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย มิติที่สองคือ การที่สังคมเอาความหลากหลายทางเพศของพ่อแม่ไปผูกกับตัวลูก โดยปกติเด็กจะมักจะถูกมองว่าต้องได้รับการปกป้องและสังคมมักมองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดหรือต่ำกว่ามาตรฐานจึงเกิดความรู้สึกว่าเด็กควรได้รับการปกป้องจากเรื่องนี้ ซึ่งคำตอบในเรื่องนี้เป็นไปได้ในสองกรณี คือ 1.แนวคิดแบบจิตวิทยาว่าเด็กจะเลียนแบบความหลากหลายทางเพศนั้นๆ การคิดแบบนี้เป็นแนวคิดหลักของคนในสังคม แต่ก็ทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมายว่าแล้วการเลียนแบบมันผิดตรงไหน ในเมื่อความหลากหลายทางเพศก็เป็นเพศวิถีแบบหนึ่งที่เด็กก็ต้องเลียนแบบมาจากใครสักคนอยู่แล้ว 2.แนวคิดในแบบปฐมวัย หากมีข้อถกเถียงว่าทำไมเด็กคนหนึ่งๆ จะเลียนแบบทางความหลากหลาย เราก็ต้องย้อนสู่จุดเริ่มต้นว่าคนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ สามารถตอบได้หรือไม่ว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น หากคนเหล่านั้นถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่ต่างเพศ ทำไมคนเหล่านั้นไม่เลียนแบบพ่อแม่ที่เป็นคู่ต่างเพศ

“จริงๆ เด็กๆ เขาก็ยังเป็นลูกของแม่และเขาก็ยังเป็นลูกของพ่อ เมื่อเรามีคู่ชีวิตใหม่ เราก็ต้องแล้วแต่ลูกว่าจะเรียนรู้คนๆ นั้นอย่างไร”อันธิฌาแลกเปลี่ยน

“บางครั้งเด็กๆ สามสี่ขวบ เขาก็ไม่รู้หรอกว่า พ่อแม่คืออะไร เขาแค่รู้ว่าคนนี้คือพ่อ คนนี้คือแม่ หรือคนนี้คือแม่และนี่ก็คือแม่อีก มันอยู่ที่สังคมเป็นตัวกำหนดให้เขาว่าครอบครัวต้องมีพ่อแม่ที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย” อันธิฌากล่าว

นอกจากนั้นอันธิฌา และมัจฉา พรอินทร์ยังพูดถึงเรื่องของปัญหาในโรงเรียนเรื่องการจัดพิธีกรรมต่างๆ ว่า อีกด้านหนึ่งก็เป็นการรังแกเด็กและครอบครัวอยู่ไม่น้อย เช่น กิจกรรมวันแม่ วันพ่อ ซึ่งมัจฉาบอกว่าเธอเลือกที่จะอยู่บ้าน ทำกับข้าวให้ลูกกินเหมือนกับทุกๆ วัน

“การควบคุมแบบนี้เป็นการควบคุมแบบรัฐ รัฐเป็นผู้กำหนดว่าครอบครัวที่ดีจะต้องเป็นยังไง” มัจฉากล่าวว่า การทำความเข้าใจกับโรงเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อครูบางคนไม่เข้าใจก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เช่น คู่ชีวิตของพ่อแม่บางคนไม่สามารถไปรับลูกที่โรงเรียนได้ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ก็อยู่บ้านเดียวกันหรือการถูกตราหน้าจากสังคมว่าเสแสร้งแกล้งรักลูกของคนอื่น โดยเฉพาะครอบครัวหลากหลายทางเพศที่เป็นชาย-ชาย มักจะโดนมองว่าไม่สามารถรักลูกได้จริงๆ มองไปถึงขั้นที่เด็กอาจจะจะถูกกระทำชำเราหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะสังคมยังมองว่าคู่รักชาย-ชายนั้นหมกมุ่น วิปริตแต่ในเรื่องเพศ ซึ่งกลับกันปัญหานี้จะไม่ค่อยพบในคู่หญิง-หญิง เพราะสังคมมองว่าเพศหญิงมีความเป็นแม่เหมาะแก่การเลี้ยงลูก และนี่ก็เป็นสิ่งที่ครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศแทบทุกครอบครัวมักจะเจอ ไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้หลายครอบครัวนั้นหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยตัวตน 

มัจฉากล่าวว่า  บางครั้งเธอเจอเหตุการณ์ที่ถูกตัดสินล่วงหน้าว่าไม่สามารถรักลูกที่ไม่ได้คลอดออกมาได้ สิ่งที่ทำอยู่คือการเสแสร้งแกล้งรักและนั่นไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงความรู้สึกของเธอเท่านั้น แต่การพูดแบบนี้เป็นการรังแกลูกของเธอด้วย เด็กจะรู้สึกว่าความรักที่เขาได้นั้นไม่จริง

“เราเองก็ไห้ความรักกับลูกได้ไม่ต่างกับครอบครัวอื่นๆ เราก็มีทั้งเรื่องดีไม่ดี เหมือนคนอื่นทั่วไปแต่การที่สังคมฟันธงว่าเรารักลูกไม่ได้ มันเจ็บปวด บางครอบครัวเลยไม่กล้าจะออกมาพูด ไม่กล้าแสดงตัวตน เพราะไม่อยากเจอแรงต้านเหล่านี้” มัจฉากล่าว

สิ่งที่ครอบครัวหลากหลายทางเพศยังจะต้องก้าวข้ามนั้นมีอีกมากมาย สังคมทั่วไปนั้นแสดงความหวังดีและเป็นห่วงลูกๆ ของพวกเขาด้วยการตอกย้ำในสิ่งที่พวกเขาแตกต่าง คนทั่วไปมักมุ่งประเด็นไปที่ตัวเด็ก แต่จริงๆ แล้วคนที่รับภาระหนักที่สุดคือคู่ชีวิตของพ่อแม่  อันธิฌาเล่าว่า ในช่วงปีแรกทางบ้านสามีเก่าไม่ยอมให้เอาลูกออกจากบ้านเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องทางกฎหมายแต่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับครอบครัว แฟนใหม่ของเธอซึ่งเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ใช่ผู้ปกครองเด็กก็จะไม่มีสิทธิ์อะไรในตัวเด็กเลย คนที่เป็นคู่รักของพ่อแม่เด็กจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเขาดูแลลูกได้ ต้องพยามทำความเข้าใจกับครอบครัว เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับความต้องการที่จะผลักดันกฎหมายให้ยอมรับครอบครัวเพศเดียวกัน เพราะการที่กฎหมายไม่เอื้ออำนวยต่อครอบครัวเพศเดียวกัน ทำให้ในทางกฎหมายเราจะไม่ได้รับการยอมรับหรือปฏิบัติแบบคู่ชีวิต การทำธุรกรรมต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างไปรับลูกที่โรงเรียนก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

ความพยายามในการผลักดันกฎหมายของครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศของเธอ เธอมองไปมากกว่าการจดทะเบียนของคู่รักเพศเดียวกัน อันธิฌากล่าวว่า เธอสนับสนุนให้มี ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกันเท่านั้น แต่ควรกระทำโดยไม่ระบุเพศ เป็นเพศอะไรก็ได้ที่มีความต้องการที่จะใช้ชีวิตร่วมกันและสร้างครอบครัวด้วยกัน

เธอยกตัวอย่างของประโยชน์จากการมีกฎหมายขึ้นมาหลายข้อเช่นการแจ้งความ เพราะในปัจจุบันเราไม่สามารถบอกได้ว่าเราเป็นอะไรกับคู่ชีวิตของเรา ยกตัวอย่างกรณีถ้าเขาหายไป 24 ชม.ก็แจ้งไม่ได้เพราะไม่ใช่คนในครอบครัว หรืออย่างกรณีที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อแฟนต้องผ่าตัดสมองด่วน อีกคนหนึ่งก็ไม่สามารถเซ็นยอมรับให้ผ่าได้ ต้องไปพาแม่แฟนมาเซ็นเรื่องผ่าตัดสมอง ดังนั้นจึงอยากให้กฎหมายครอบคลุมส่วนนี้  รัฐควรมีทางเลือกให้กับคนที่เขาต้องการโดยให้ความเท่าเทียม

นอกจากการเดินหน้าของกลุ่มครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศเพื่อให้สังคมตระหนักรู้แล้ว ยังมีการทำวิจัยควบคู่ไปด้วย  โดยอันธิฌากล่าวถึงงานวิจัยจำนวนมากในต่างประเทศที่เกี่ยวกับเรื่อง LGBT Parents ว่า มีการพัฒนา มีการทำสถิติ แต่ในประเทศไทยกลับไม่เคยมีมาก่อน จึงทำให้เธอเลือกที่จะทำวิจัยในเรื่องดังกล่าว เพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศในเมืองไทย โดยเธอมีจุดประสงค์ 3 ประการ คือ

1.การรู้สาเหตุของปัญหาของพ่อแม่หลากหลายเพศหรืออาจจะครอบคลุมถึงตัวลูกด้วย โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กปฐมวัย เพราะตอนนี้ในทีมวิจัยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยร่วมอยู่ด้วย

2.สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศ ทั้งนี้มีความพยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะเปิดตัวครอบครัวตามงานเสวนา หรือในบางองค์กรเช่น ‘อัญจารี’ ที่เคยเชิญครอบครัวพ่อแม่หลากหลายเพศที่เป็น หญิง-หญิง มาร่วมให้สัมภาษณ์พร้อมกับลูกของพวกเธอด้วยโดยมีจุดประสงค์ให้เป็นที่รู้จัก แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิจัยควบคู่ไปด้วย

3.การทำเวิร์คชอบ ซึ่งได้วางแผนไว้ว่าจะการเชิญพ่อแม่หลากหลายเพศมาเข้าร่วมเพื่อเสริมสร้างพลังเครือข่าย มองหาจุดยืน ทางออกของปัญหา แชร์ปัญหาซึ่งกันและกันและอาจจะทำข้อเสนอต่อสังคมว่าอยากให้สังคมมองเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร สิ่งสำคัญคือเน้นการพัฒนาและมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ตอนนี้มีผู้เข้าร่วมวิจัยประมาณ 30 คู่ ในช่วงแรกๆ ครอบครัวจะไม่กล้าเปิดใจและไม่กล้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย แต่เมื่ออันธิฌาเล่าถึงชีวิตของตนเองและลูกสาวให้พวกเขาฟัง จึงได้รับการเชื่อใจและเข้าร่วมมากขึ้น

ทั้งนี้งานวิจัยวางกรอบคร่าวๆ ว่าจะทำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในเชิงปริมาณเพื่อให้เห็นในมุมกว้างๆ เช่น จำนวน ที่อยู่ อาชีพ ฯลฯ และคัดเลือก 20-25 คู่จากทุกเพศจากคนที่สนใจและสมัครเข้าร่วม เพื่อทำวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการเวิร์คชอบประมาณ 3 ครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในทางสถิติและสังคมต่อไป

“ถ้าสังคมไม่มีความตระหนักรู้ในเรื่องพวกนี้เลย มันก็จะกลายเป็นภาระของครอบครัว  ... ถ้าทำให้โครงสร้างในสังคมเอื้อแก่ทุกคนให้อยู่ร่วมกันได้ ทุกการรังแกต่างๆ ก็จะหายไป” อันธิฌากล่าวทิ้งท้าย

 

หมายเหตุ : มีการแก้ไขความถูกต้องของข้อมูลในวันที่ 28 ต.ค. 2558

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net