Skip to main content
sharethis

แม้ว่าจะเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว ที่ชุมชนชาวลาหู่ ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ที่ภูมิประเทศเป็นเนินเขาบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่าต้องรับผลกระทบอันเลวร้ายจากปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด แต่ทุกวันนี้ในขณะที่พวกเขายังต้องใช้เวลารักษาแผลเก่าที่ยังไม่หาย พวกเขาก็ยังต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผลและการถูกเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ภายใต้แสงแดดของเวลาใกล้เที่ยงที่ส่องโชนอย่างไม่เกรงใจใคร ในกระท่อมเล็กๆ ขนาดห้องเดี่ยวที่หลังคามุงด้วยใบไผ่ นาอือ จะโล แม่ม่ายชาวลาหู่วัย 68 ปี ยิ้มละไมผ่านประตูที่ค่อยๆ เปิดออกพร้อมกวักมือเรียกให้พวกเราเข้าไปในบ้านอันแสนสมถะของเธอ

ภายในกระท่อมไม้ไผ่ที่มีสภาพทรุดโทรมแห่งนี้ นาอืออาศัยอยู่กับหลานชายพิการและแมวหนึ่งตัว เธอบอกเราว่าจากสภาพบ้าน เธอควรจะต้องซ่อมมันเร็วๆ นี้ ก่อนที่หน้ามรสุมจะมาถึง แต่เธอบอกว่า ผู้หญิงอายุขนาดเธอ การซ่อมกระท่อมหลังนี้ที่ตกทอดมาจากสามี จะวะ ที่หายตัวไป ดูจะเป็นเรื่องที่หนักเกินไป นาอือไม่ได้เห็นแม่แต่เงาของสามีมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว เธอมองตาละห้อยจ้องแสงที่ลอดผ่านรูพื้นไม้ไผ่ของบ้านพร้อมพูดว่า “ฉันได้แต่หวังว่า สักวันนึงเขาจะกลับมา” 

หลายครอบครัวของชนเผ่าลาหู่มีชาตากรรมเดียวกับนาอือ คือต้องทนทุกข์ทรมานด้วยการไม่รู้ชะตากรรมของคนในครอบครัวอันเป็นที่รักที่ต้องหายตัวไปในช่วงที่ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดภายใต้การสั่งการและควบคุมของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กำลังเข้มข้นถึงขีดสุดในปี 2546 ข้อมูลจากฮิวแมนไรท์วอชท์ องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2546 มาตรการปราบปรามยาเสพติดของอดีตนายกได้คร่าชีวิตคนไปกว่า 3,000 ราย โดยครึ่งหนึ่งของคนจำนวนนี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบขนถ่ายยาเสพติด อย่างไรก็ดี ในขณะที่ชาวลาหู่กำลังใช้เวลาเลียแผลที่เกิดจากความสูญเสียดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยก็ซ้ำเติมพวกเขาด้วยการไล่ที่ การเข้าจับกุมอย่างไร้เหตุผล และการปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ราวกับเป็นการขยี้เกลือบนปากแผล 

 

นาอือ จะโล แม่มายชาวลาหู่ ผู้ซึ่งสามีของเธอ นายจะวะ ได้หายตัวไปหลังจากถูกจับกุมโดยทหารพรานในช่วงปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด

 

บาดแผลที่ไม่มีวันหาย

ด้วยเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า บริเวณอำเภอแม่อาย ฝาง ชัยปราการ และเชียงดาว ในจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีการขนถ่ายยาเสพติดจากรัฐว้าในเมียนมาร์มากที่สุด ชนเผ่าลาหู่จึงเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดมากที่สุด

แม้ว่าเกือบร้อยละ 90 ของชนชาติพันธุ์ลาหู่จำนวน 120,000-150,000 จะมีสัญชาติไทยและมากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถพูดภาษาไทยได้ แต่พวกเขาก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยมองว่าเป็นคนต่างด้าวอยู่นั่นเอง การที่ยังถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าว เจ้าหน้าที่จึงมีอคติต่อพวกเขาว่า ชนเผ่าลาหู่และชนกลุ่มน้อยชาวเขาเผ่าอื่นๆ เป็นพวกปลูกฝิ่น ถางป่า และลักลอบขนยาเสพติด ด้วยเหตุนี้ ชนเผ่าลาหู่และชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จึงได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรมระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด ทั้งด้วยการถูกทรมาน การสังหารนอกกฎหมาย (โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม) และการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ สีละ จะแฮ  นายกสมาคมลาหู่ ผู้ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้แก่ชนเผ่าลาหู่และชาวเขาชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆ เป็นผู้หนึ่งที่ต้องได้รับชะตากรรมดังกล่าว

 

สีละ จะแฮ ประธานสมาคมชาวลาหู่ ผู้ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้แก่ชนเผ่าลาหู่และชนกลุ่มน้อยชาวเขาเผ่าอื่นๆ เป็นผู้หนึ่งที่ถูกทรมานและกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างไม่เป็นธรรม ภายใต้ปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2546

 

สีละถูกขังในค่ายทหารพรานที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ถึง 2 ครั้งในปี 2546 เขาเล่าว่า ทหารพรานจับเขากับชาวลาหู่คนอื่นๆ ขังในหลุมดินที่มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร และลึกประมาณ 4 เมตร ที่ค่ายกักกันแห่งนั้น พวกเขาถูกนำตัวขึ้นจากหลุมดินเพื่อทุบตี ข่มขู่ว่าจะเอาชีวิต ถูกเอาไฟฟ้าช๊อต และสอบปากคำ พ่อของสีละเป็นหนึ่งในเหยื่อของปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด พ่อของสีละถูกนำตัวไปจากไร่ลิ้นจี่เพื่อขังในหลุมดินถึง 2 เดือนและถูกกล่าวหาอย่างลอยๆ ว่าพัวพันกับยาเสพติด ซึ่งจริงๆ แล้ว พ่อของเขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด

“เราทำทุกอย่าง ตั้งแต่กินข้าว ปัสสาวะและขับถ่ายในหลุมดินที่ใช้เป็นที่กักขังนั้น” สีละเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาถูกกระทำ และกล่าวว่า แต่ละหลุมมักมีผู้ถูกขัง 8-10 คน และในค่ายดังกล่าว มีหลุมสามหลุม นอกจากขังในหลุมแล้ว บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็จะเรียกพวกเขาขึ้นมาเพื่อเตะและซ้อม สีละ กล่าว

ตามคำชี้แจงของเทอเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย นโยบายที่คลุมเครือทำให้เกิดช่องว่างที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้อำนาจโดยมิชอบได้

"ในปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด นโยบายที่ใช้นั้นคลุมเครือพอสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นนโยบายที่เปิดช่องว่างไว้สารพัด เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ 'จัดการกับปัญหายาเสพติด' แต่ทักษิณและคนของทักษิณไม่เคยบอกเลยว่า เจ้าหน้าที่ควรจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร และนั่นเป็นสัญญาณที่ทำให้พวกเขาเข้าใจว่า จะทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าจำเป็นต้องทำ" ฮาเบอร์คอร์นกล่าว

สีละกล่าวว่า ครั้งหนึ่งทหารพรานเคยบอกกับเขาว่า "ทักษิณ (อดีตนายก) อนุญาตให้เราจับพวกนายได้ทั้งเป็นและตาย" เขากล่าวเสริมว่า เขาไม่รู้ว่า ทักษิณสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีและฆ่าคนชนเผ่าลาหู่ได้อย่างตามใจชอบด้วยข้อหายาเสพติดจริงหรือไม่

 

หลุมดินที่ใช้เป็นที่กักขังชาวลาหู่และชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่ถูกข้อหาลักลอบขนถ่ายยาเสพติดในช่วงปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด ปัจจุบันได้ถูกฝังกลบไปเรียบร้อยแล้ว

 

ประธานสมาคมลาหู่ยังบอกอีกว่า เมื่อเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่มักเข้าค้นบ้านพักและยึดของมีค่าของแต่ละครัวเรือนโดยที่ชาวลาหู่แทบไม่เคยได้ของเหล่านั้นคืนเลย เนื่องจากยังมีชาวลาหู่อีกมากที่อ่านและเขียนหนังสือภาษาไทยไม่ได้ หลายๆ ครอบครัวจึงไม่นิยมนำทรัพย์สินไปฝากธนาคาร และจะเก็บเงินสด ทอง และของมีค่าอื่นๆ ไว้ในบ้าน บางครอบครัวต้องถูกยึดเงินที่เก็บกันมาทั้งชีวิตหรือแม้กระทั่งยานพาหนะก็ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปด้วย

จะแด แกคา อายุ 47 ปี ชาวลาหู่อีกคนหนึ่งที่ถูกขังในหลุมดินเป็นเวลา 5 วันและถูกคุมขังด้วยขอหายาเสพติดอีก 3 เดือระหว่างปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดในปี 2546 น บอกเราว่า ทหารพรานเข้ามาค้นบ้านของเขาและยึดเงินสด 60,000 บาทไป “เจ้าหน้าที่มักหมายตาบ้านที่ดูมีฐานะเพื่อจะเข้ามาค้น” สีละกล่าว “หนำซ้ำ ชาวลาหู่บางคนยังใส่ความเพื่อนบ้านชาวลาหู่ด้วยกันเองเพื่อกลั่นแกล้งกัน อย่างในปี 2546 ชาวลาหู่ราว 30-40 คนต้องหลบหนีไปอยู่ในเขตพม่า”

 

จะแด แกคา อายุ 47 ปี เหยื่อปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดอีกรายหนึ่ง

 

สำหรับชาวลาหู่คนอื่นๆ บาดแผลที่เกิดจากปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดเมื่อ 10 ปีก่อน ถูกกรีดลึกลงไปกว่านั้นอีก ตามข้อมูลที่สีละให้ ชาวลาหู่ 20 รายถูกบังคับให้หายสาบสูญด้วยมือของกองทัพทหารพรานและตำรวจไทยที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายแดนระหว่างการกวาดล้างเครือข่ายลักลอบขนถ่ายยาเสพติด ระหว่างปี 2546 ถึง 2549

ครอบครัวจะอือ บ้านหนองปาย อำเภอฝาง เป็นหนึ่งในครอบครัวดังกล่าว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ระหว่างงานฉลองปีใหม่ของชนชาวลาหู่ พวกเขาต้องสูญเสียสมาชิกในครัวครัวไปอย่างไม่มีวันกลับ นาคา แม่เฒ่าผู้มีอายุมากที่สุดในครอบครัว บอกเราว่า จะก๊ะ ลูกชายของเธอ พร้อมด้วยยาโหลและนาสี ลูกชายและลูกสะใภ้ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยโดยไม่เคยมีผู้ใดพบร่างของพวกเขาอีก ในขณะที่พิชิตสามีของเธอและจะก่า ถูกวิสามัญฆาตกรรม

ร่างของสามีและลูกชายของเธอถูกพบในวันต่อมา ภายหลังทั้ง 5 คนถูกจับด้วยข้อหายาเสพติด ครอบครัวจะอือเล่าต่อไปว่า สามีและลูกชายของแม่เฒ่าถูกยิงที่ศีรษะ มีรอยช้ำและรอยบาดเจ็บอื่นๆ ทั่วทั้งร่างกาย ในตอนนั้นสื่อต่างก็รายงานว่า พิชิตและจะก่าลูกชายคนโตถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่เพราะลักลอบขนยาเสพติด แต่ทั้งครอบครัวยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดแต่อย่างใด

ส่วนชะตากรรมของคนในครอบครัวอีก 3 คนที่เหลือนั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหลังจากที่ถูกจับ “ฉันเชื่อว่าลูกของฉันยังมีชีวิตอยู่” นากากล่าว  ส่วนนาปลา น้องสาวของจะก่าและจะก๊ะบอกเราว่า “ลึกๆ แล้ว เรายังมีความหวังว่าพวกเขาอาจยังมีชีวิตอยู่” เธอกล่าวอีกว่า “ทุกวันนี้เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ อดไม่ได้ที่เราจะรู้สึกหวาดกลัว” เธอกล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีใครทำอะไรเพื่อเป็นการชดเชยให้ครอบครัวเป็นชิ้นเป็นอัน และยังไม่มีการสืบสวนสาเหตุการตายและการหายตัวไปโดยถูกบังคับของคนครอบครัวจะอือ

 

นาคา (ซ้าย) ถือรูปพิชิต สามีของเธอที่เสียชีวิต ในขณะที่นะมัย จะอือ ลูกสาวของเธอ (ขวา) ถือรูปพี่ชาย โดยผู้ตายทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในปี 2548

 

ตามคำบอกเล่าของจะแฮ คีรีรัศมี ซึ่งเป็น อาดอ หรือผู้นำทางศาสนาของชนชาวลาหู่ในบ้านหนองไผ่ การหายตัวไปอย่างไม่มีใครรู้ถึงชะตากรรมของคนในครอบครัวชาวลาหู่หมายถึงการที่คนในครอบครัวไม่สามารถประกอบพิธีศพตามประเพณีลาหู่ให้แก่คนในครอบครัวอันเป็นที่รักที่หายสาบสูญไปได้  เขาเล่าว่า ตัวเขาเองก็ต้องสูญเสียลูกเขยซึ่งก็ถูกฆ่าตายในตอนที่ปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดกำลังโหมกระหน่ำอย่างบ้าคลั่งถึงขีดสุดด้วยเช่นกัน

 

ความเจ็บปวดที่ไม่มีวันจบสิ้น

แม้ว่าปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดจะจบลงเมื่อหนึ่งทศวรรษที่แล้วก็ตาม ทหารพรานและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการทรมาน สังหารนอกกฎหมาย และทำให้ชาวลาหู่ต้องหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยนั้น ยังไม่ใครเคยถูกดำเนินคดีใดๆ เลย

หนำซ้ำการจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างไร้เหตุผลของเจ้าหน้าที่ต่อชนเผ่าลาหู่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่นเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 57 เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการจับกุม จะก่อ จะแหม ด้วยข้อหามีสารเสพติดในครอบครองหลังจากที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าพบยาเสพติดในบริเวณบ้านและพื้นที่ทำการเกษตร ในแฟ้มคดี เจ้าหน้าที่ลงบันทึกว่า มีสายรายงานว่า จะก่อ มียาเสพติดในครอบครองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบคนถ่ายยาเสพติดร่วมกับชาวลาหู่อีกสองคนในกิ่งอำเภอท่าตอน ของ อ.แม่อาย อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อสันติภาพ กลุ่มประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อยรวมทั้งชาวลาหู่ในเชียงใหม่และเชียงราย ระบุว่า บันทึกเกี่ยวกับการจับกุมจะก่อดังกล่าวมีช่องโหว่และมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันเองอยู่หลายจุด

มูลนิธิชี้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้บันทึกชื่อของสายที่ชี้เป้าจะก่อ ในบันทึกระบุว่า มีชนชาวลาหู่สามคนที่เกี่ยวข้อง แต่หนึ่งในผู้ต้องสงสัยถูกปล่อยตัวไปในวันที่ทำการจับกุม นอกจากนี้ บันทึกของเจ้าหน้าที่ยังระบุว่า พบยาเสพติด 2,000 เม็ดซ่อนอยู่ในหลุมข้างๆ ทุ่งข้าวโพดของผู้ต้องสงสัยและอีก 60 เม็ดซ่อนอยู่ข้างบ้านของจะก่อใกล้ลำธารของหมู่บ้าน อย่างไรก็ดี หลักฐานจากแฟ้มภาพแสดงให้เห็นว่า ไม่มีไร่ข้าวโพดในบริเวณดังกล่าวและบ้านของจะก่อก็ไม่ได้อยู่ใกล้ลำธารแต่อย่างใด

นาเดา ไอ่มู ภรรยาของจะก่อ ยืนยันว่า สามีของเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ เธอกล่าวว่า เจ้าหน้าที่และชายชาวลาหู่อีกคนหนึ่งที่ติดเงินสามีของเธอร่วมกันนำยามาซ่อนเพื่อให้เขาถูกจับตัว นาเดาบอกกับเราเป็นภาษาลาหู่ว่า เจ้าหน้าที่ตีศีรษะของจะก่อด้วยไม้กระบองจนเขาหมดสติ เจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องทำเช่นนั้นเพื่อป้องกันมิให้เขาหลบหนี ขณะนี้กะก่อยังถูกคุมขังอยู่

 

นาเดา ไอ่มู ภรรยาของจะก่อ ยืนยันว่าสามีชาวลาหู่ของเธอเป็นผู้บริสุทธิ์

 

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 56 เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดจับรถกระบะของนายธงชาติ ปานพัคริน ชายชาวลาหู่ ขณะขับรถดังกล่าวกลับบ้านที่อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ โดยขับมาจากงานเลี้ยงกับเพื่อนชาวลาหู่อีก 4 คน ชาวม้ง 5 คน และ ชาวลีซอ 2 คน ก่อนทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ค้นรถคันดังกล่าวและอ้างว่าเป็นรถที่ถูกขโมยมาจากบุคคลอื่น จึงเข้าจับกุมนายธงชาติกับพวก ตำรวจนำตัวพวกเขาไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ของเขต ที่ซึ่งพวกเขาถูกสอบปากคำและต่อมาได้รับหมายจับข้อหาขนถ่ายยาเสพติด

“เจ้าหน้าที่ ปปส. คุมตัวเราไว้เป็นเวลา 2 วัน พวกเขาถามผมว่า ผมรู้จักคนอื่นๆ ที่มาจากเผ่าอื่นที่ติดรถมาด้วยหรือไม่ และเมื่อผมบอกว่าไม่รู้จักพวกเขามาก่อน เจ้าหน้าที่ก็ซ้อมผมซ้ำแล้วซ้ำเล่าและช๊อตไฟฟ้าเรา” ธงชาติกล่าว “พวกเขาใช้ถุงพลาสติกครอบหัวก่อนจะทำการซ้อมเรา และเมื่อเราทำท่าว่าจะหมดสติจากการขาดอากาศหายใจ พวกเขาก็เอาถุงพลาสติกออกแล้วก็เริ่มสอบปากคำใหม่อีกครั้ง” ธงชาติเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สอบปากคำพยายามบังคับให้เขาลงชื่อในเอกสารอะไรสักอย่าง แต่เขาปฏิเสธ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เขาได้อ่านว่ามันคือเอกสารอะไร

หลังจากสอบปากคำเป็นเวลา 2 วัน ตำรวจนำธงชาติและผู้ต้องสงสัยอีก 11 คนไปยังกรุงเทพฯ และขังพวกเขาไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการดำเนินคดี ท้ายที่สุด ชาวลีซอ 2 คนที่สู้คดีถึงชั้นศาลฎีกา ถูกศาลฎีกาสั่งลงโทษด้วยการประหารชีวิต ส่วนชาวม้ง 5 คนที่ยอมรับสารภาพถูกตัดสินจำคุกหลายปี ส่วนธงชาติและเพื่อนชาวลาหู่อีก 4 คนซึ่งตลอดการดำเนินคดียืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองมาตลอด สุดท้ายก็ได้รับการปล่อยตัว แต่นั่นก็หลังจากถูกจำคุกในเรือนมาเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน

"ผมไม่เคยได้รับการขอโทษจากทางการ ครอบครัวผมต้องเสียเงินมากมายเพื่อเดินทางมาเยี่ยมผมขณะถูกจองจำที่กรุงเทพ รถกระบะของลูกสาวผมถูกยึดไปเป็นเวลา 11 เดือน แต่ทางการก็ไม่เคยชดเชยค่าเสียหายอะไรให้เลย" ธงชาติกล่าว "แต่ก็นับว่าผมยังโชคดีที่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้ ไม่เหมือนเพื่อนลาหู่คู่อื่นๆ ที่สุดท้ายถูกภรรยาทิ้งไป"

 

ธงชาติ  ปานพัคริน ชายชาวลาหู่ที่ถูกจำคุกเกือบ 2 ปี แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง

 

สีละกล่าวว่า เป็นการง่ายที่เจ้าหน้าที่จะเลือกสุ่มเล่นงานชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดน เพราะเป็นพื้นที่่ห่างไกลความเจริญและชาวลาหู่ส่วนมากอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ “ในอดีต เจ้าหน้าที่ทำเหมือนกับเราเป็นผักเป็นปลา นึกจะฆ่าเราก็ฆ่า”

ในอีกกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น ทหารพราน 4 นายได้สกัดจับนายอนุวัติ พุตเล็ก วัยรุ่นชาวลาหู่ที่ด่านตรวจ ขณะขับมอเตอร์ไซด์ระหว่างบ้านหนองไผ่และบ้านห้วยนกกกใน อ. ฝาง จ. ใหม่ เมื่อปลายปี 2557 อนุวัติกล่าวว่า เขาถูกลากเข้าพุ่มไม้และถูกเจ้าหน้าที่คนหนึ่งซ้อมและถามเขาว่า เสพยาเสพติดมาหรือเปล่า เมื่อเขาปฏิเสธ ทหารพรานก็รุมซ้อมเขาต่อจนเขาต้องยอมสารภาพอย่างไม่มีทางเลือกเพื่อให้เจ้าหน้าที่หยุดทำร้าย นายอนุวัติเล่าว่า ทหารพรานปล่อยตัวเขาไปอย่างง่ายดายภายหลังรับสารภาพ ราวกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่อาจเข้าใจผิดว่าเขาเป็นชายชาวลาหู่อีกคนหนึ่งที่เคยทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอใจเอาไว้ จึงต้องการเอาคืน

 

อนุวัติ พุตเล็ก วัยรุ่นชาวลาหู่ ซึ่งกล่าวว่า เขาถูกจับและทรมานโดยเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

 

ราวกับว่าชะตากรรมที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจอย่างตามใจชอบและการถูกเลือกปฎิบัติโดยเจ้าหน้าที่ยังเจ็บปวดไม่เพียงพอ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารในปัจจุบัน นโยบายคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูจะซ้ำเติมชะตากรรมของชาลาหู่ โดยสร้างผลกระทบอย่างสูง ต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้ ภายหลัง คสช. ออกคำสั่งหมายเลข 64/2014 เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เพื่อลงโทษผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนและล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย พื้นที่ทำการเกษตรหลายร้อยไร่ที่ชาวลาหู่เคยใช้ทำกินบัดนี้ถูกยึดคืนไปโดยกรมป่าไม้ ทั้งนี้แม้ว่าตามเนื้อความของคำสั่งหมายเลข 64/2014 กล่าวว่า คำสั่งนี้จะไม่บังคับใช้กับคนยากจน เจ้าหน้าที่ก็ยังมุ่งเป้าเล่นงานชุมชนลาหู่ผู้ซึ่งดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรในบริเวณนั้นมาหลายชั่วคนแล้ว อย่างเมื่อเดือนกรกฎาคม 58 ปะแอ๋ คีรีรัศมี อายุ 57 ปี และลูกชายวิฑูร คีรีรัศมี อายุ 22 ปี พร้อมด้วยจากุย จาปาโล ชาวนาจากห้วยบ้านนกกก อ. ฝาง อายุ 37 ปี ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนที่ดอยผ้าห่มปกและทำร้ายเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่

ปะแอ๋ อาดอของบ้านห้วยนกกกบอกประชาไทว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 58 เขาถูกซ้อมโดยเจ้าหน้าที่จนนิ้วนางมือข้างขวาแตกและต้องเย็บ 6 เข็มที่หนังศีรษะ เขากล่าวว่า ในวันนั้นเขาเดินไปตรวจดูระบบชลประทานของหมู่บ้าน และเมื่อบังเอิญไปเจอเจ้าหน้าที่่อุทยานเเห่งชาติเข้าจึงพยายามวิ่งหนี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่จับเขาได้ ก็ตีเขาเข้าที่ศีรษะ ต่อมาลูกชายและเพื่อนๆ ในหมู่บ้านออกมาช่วยเขาและพยายามพาเขาไปโรงพยาบาล แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็สกัดกั้นและล้อมเขาและพวกไม่ให้ออกไปไหน เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นและเกิดการปะทะกันระหว่างสองฝ่าย เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ทหารให้มายังที่เกิดเหตุ เพื่อสลายผู้ชุมนุมชาวลาหู่ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของหมู่บ้านบอกว่า เขาได้ทำการเกษตรตรงพื้นที่บริเวณนั้นมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว

คำ นาลู อดีตผู้นำทางศาสนาของห้วยนกกกบอกเราว่า "เราเพาะปลูกไม่ได้ เราก็อดตาย ปกติเราจะเริ่มเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม แต่ตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย" สีละชี้แจงต่อว่า เจ้าหน้าที่ยึดคืนที่ดินเพาะปลูกของชาวลาหู่ แต่กลับอนุญาตให้สวนส้มธนาธร--ผู้ผลิตส้มรายใหญ่ในบริเวณนั้นที่ได้จับจองพื้นที่ไว้มากกว่า 1 ตารางกิโลเมตร--สามารถทำการปลูกส้มต่อไปได้ "ทำไมทางการถึงอนุญาตให้พวกนายทุนทำการเกษตรได้ แต่กลับมารังเเกชาวบ้านที่มีที่ดินเพียงน้อยนิด" ผู้นำสมาคมลาหู่ตั้งคำถาม 

 

คำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลเรื่องเครือข่ายขนถ่ายยาเสพติดยอมรับว่า ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ทำพลาดและใช้อำนาจโดยมิชอบระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายกวาดล้างยาเสพติดจริง แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย

ตามคำชี้แจงของพันตำรวจเอก สมเกียรติ วรรณสิริวิไล รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดภายใต้การสั่งการของทักษิณเป็นเหมือน "ยาแรง" ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงานพิเศษ ของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2540 จนถึง 2552 เขากล่าวว่า นโยบายในตอนนั้นมีไว้เพื่อปราบปรามและกำจัดการค้ายาเสพติดใน "ทุกมิติ" เพราะการขนถ่ายยาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-พม่าระบาดไปทั่ว

ต่อข้อกล่าวหาเรื่องการสังหารนอกกฎหมาย (โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม) ของเจ้าหน้าที่ฯ โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน พันตำรวจเอก สมเกียรติกล่าวว่า "นโยบายที่ใช้เป็น 'ยาแรง' ที่อาจนำไปสู่ความผิดพลาด แต่ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย"

พันตำรวจเอก สมเกียรติบอกประชาไทว่า อย่างไรก็ดี เขาไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ทหารและทหารพรานใช้อำนาจโดยมิชอบรังแกชนกลุ่มน้อยระหว่างปี 2546 และ2549

รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มตามแนวชายแดนตอนเหนือของไทยยังกระทำการลักลอบขนถ่ายยาเสพติดอยู่เนื่องจากมีรายได้ประจำน้อยและอาศัยอยู่ในบริเวณติดกับชายแดนที่เอื้อให้เกิดการลักลอบยาเสพติดเข้ามาจากพม่าอย่างง่ายดาย

"พวกเขาสามารถทำรายได้ 5 หมื่นบาทต่อยาเสพติดหนึ่งห่อซึ่งโดยปกติแล้วจะมียา 2,000 เม็ดบรรจุอยู่ในนั้น นั่นเป็นจำนวนเงินที่พวกเขาจะได้จากการทำนาทั้งปีหรือนานกว่านั้น" พันตำรวจเอก สมเกียรติกล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงอีกคนหนึ่งในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดซึ่งไม่ประสงค์จะออกนามและตำแหน่งกล่าวเช่นเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่ทำพลาดจริงในปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด แต่ตัวเลขที่องค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น ฮิวเมนไรท์วอต์ช ให้นั้นมากเกินกว่าความเป็นจริงมาก

"ผมสามารถพูดได้ว่า ร้อยละ 90 ของผู้ที่ถูกสังหารเมื่อครั้งปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดเข้มข้นถึงขีดสุดนั้น เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายยาเสพติดจริง" เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าว "แต่แน่นอน นั่นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในช่วงเวลานั้น เจ้าหน้าที่บางรายถูกสอบสวนและถูกตั้งข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ผมก็ไม่ได้ติดตามผลของคดีเหล่านั้นต่อ"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงท่านนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่ถูกฆ่าระหว่างสงครามยาเสพติดที่จริงแล้วถูกฆ่าโดยเครือข่ายยาเสพติดคู่อริ หรือพวกของตัวเองที่ไม่ต้องการให้พวกเขาเปิดปากเกี่ยวกับกิจกรรมของเครือข่าย "ในบางคดี ผู้ต้องสงสัยถูกฆ่าเพียงไม่กี่วันหลังจากได้รับการประกันตัว" เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าว

ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าเจ้าหน้าที่บางคนเข้ายึดทรัพย์ของครอบครัวชนกลุ่มน้อยภายหลังการบุกเข้าตรวจค้นหาสารเสพติดในบ้านของพวกเขา เจ้าหน้าที่ท่านนี้กล่าวว่า อาจมีกรณีเหล่านั้นเกิดขึ้นบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหา มักจะถูกสอบสวนภายหลัง

เช่นเดียวกับพันตำรวจเอก สมเกียรติ วรรณสิริวิไล เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามท่านนี้ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่า เจ้าหน้าที่ทหารและทหารพรานชายแดนใช้อำนาจโดยมิชอบกับกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยเช่นกัน

ประชาไทพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่รับผิดชอบหน่วยทหารพรานที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ

 

หมู่บ้านชาวลาหู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

 

กลับมาที่กระท่อมไม้โทรมๆ ที่มีแต่แสงไฟสลัวจากเทียนเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ของนาอือ จะโล เธอหยิบยื่นผลลิ้นจี่ให้พวกเราได้กินเพื่อสู้กับอากาศร้อนอบอ้าวของเเดดเที่ยงวัน นาอือบอกเราเป็นภาษาลาหู่ว่า จะวะ สามีของเธอที่หายตัวไป ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม โดยชาวลาหู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่กักตัวอยู่ก็ถูกบังคับให้ออกมาร่วมซ้อมสามีของเธอด้วย แม้ว่าจะมีการพูดกันว่า เขาได้ตายไปเเล้วและเจ้าหน้าที่ก็ทิ้งศพเขาไว้ในหลุมที่ไหนสักแห่ง หญิงชาวลาหู่วัย 68 ปีคนนี้ ยังรอให้สามีของเธอกลับมาหาเธอเพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ด้วยกันอีกครั้ง ไม่ว่าเขาจะเป็นหรือตาย ตอนเธอเดินมาส่งพวกเรา เธอเเหงนมองดูกลุ่มเมฆบนฟ้าที่กำลังก่อตัวขึ้นเหนือหมู่บ้าน   แม้ว่าความกังวลของเธอที่จะต้องซ่อมกระท่อมอันทรุดโทรมเพื่อเตรียมรับมือหน้ามรสุมที่กำลังจะมาถึง อาจจะหมดไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ต้องใช้เวลาอีกกี่หน้ามรสุม กว่าความปวดร้าวในใจของเธอจะจางหายไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net