Skip to main content
sharethis

‘องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)’ ทำการจัดสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’  ขึ้น เพื่อประณามและแฉกลวิธีในการคอร์รัปชันรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยออกมาเป็นประติมากรรมรูปปั้นสีดำ โดยนำเอาคดีต่างๆ จำนวน 10 คดีมาจัดแสดง ได้แก่ คดีจำนำข้าว คดีคลองด่าน คดีนกน้อยในไร่ส้ม คดีโกงลำไย คดีทุจริตโรงพัก คดีสนามฟุตซอลโรงเรียน คดีปลัดคมนาคม คดีรถหรูเกรย์มาร์เก็ต คดีบางกอกฟิล์มเฟส และคดีป้ายโฆษณาป้อมตำรวจ

จากรายงานหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยว่าแนวคิดหลักของการทำนิทรรศการ ‘พิพิธภัณท์กลโกงชาติ’ เพื่อตีแผ่ และประณามผู้กระทำผิดที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ โดยประมนต์กล่าวด้วยว่าเนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา องค์กรฯได้ติดตามคดีสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง คดีเหล่านี้นอกจากมีผลกระทบอันรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้ประชาชนได้มีความตระหนักรู้ถึงผลของการทุจริตคอร์รัปชันได้อีกด้วย 

 

มานะ นิมิตรมงคล

ดร.มานะ นิมิตรมงคล  เลขานุการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน  ให้สัมภาษณ์ ‘ประชาไท’ ว่า งบประมาณที่ใช้จัดทำพิพิธภัณฑ์มาจากองค์กรทั้งหมด และองค์กรเป็นผู้จัดสร้างเอง ส่วนข้อมูลที่นำมาอธิบายคดีต่างๆ อ้างอิงจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

มานะ ยอมรับว่าคดีทุจริตคอร์รัปชันที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการนั้น ขณะนี้ ยังไม่มีคดีไหนเลยที่สิ้นสุด ทั้งหมดยังคงมีการดำเนินคดีกันอยู่ หากแต่มีกรณีอย่างคดีบางกอกฟิล์มเฟสที่ผู้รับสินบนในต่างประเทศถูกดำเนินคดีและรับโทษไปแล้ว แต่ในประเทศไทย คดีผ่านมา 6 ปีแล้วเพิ่งมีการรับฟ้องคดี

 

คดีบางกอกฟิล์มเฟส

รูปปั้นประติมากรรมต่างๆ ในนิทรรศการถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นตัวแทนในแต่ละคดี ผู้จัดระบุว่า  สาเหตุที่หุ่นแต่ละตัวไม่มีหน้าเพราะต้องการให้ทุกคนมาช่วยกันฉีกโฉมหน้าของคนที่ก่อคดีเหล่านี้ ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังว่ามีหน้าตาอย่างไร (www.anticorruption.in.th/พิพิธภัณฑ์กลโกงจัดแสด/)  แต่ถึงอย่างนั้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ ของรูปปั้นบางคดีทำให้สามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าสื่อถึงใคร

 

รูปปั้นประติมากรรมพิพิธภัณฑ์คอร์รัปชัน คดีนกน้อยในไร่ส้ม

 

นอกจากนี้จากการรายงานข่าวผ่านเว็บไซต์ ‘สปริงนิวส์’ ระบุว่าจะมีการนำข้อมูลรายละเอียด 10 คดีกลโกงของ ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ มาลงเนื้อหาการเรียนของนักเรียนชั้นประถมทั่วประเทศ และรณรงค์โครงการ “คนไทย ไม่โกง” เพื่อสร้างค่านิยมให้ทุกคนพร้อมประณามการทุจริต

การนำเสนอผู้ร้าย ของ ‘องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน’ ออกมาในรูปแบบรูปปั้นประติมากรรมจัดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ จากคดีต่างๆ 10 คดีดังของไทยทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยหลายประเด็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ และการเลือกใส่รายละเอียดต่างๆ

 

ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการความทรงจำและการเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการนำเสนอผู้ร้ายในพิพิธภัณฑ์ว่า บางประเทศมีกลไกหรือโครงสร้างทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้แม้แต่จะตั้งคำถามพื้นฐานหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสำคัญ ซึ่งเธอมองว่าสิ่งนี้ไม่เพียงแต่บั่นทอนหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่ยังทำให้กระบวนการยุติธรรมหยุดชะงักอีกด้วย

“ประเด็นของเราคือ ในสังคมนั้นๆ มีโครงสร้างที่สนับสนุนให้เราสามารถแสดงออกได้อย่างเสรีไหม หากมี เราคิดว่าไม่ว่าใครก็ตามมีสิทธิที่จะนำเสนอถึง “ผู้ร้าย” ในรูปแบบที่ตัวเองต้องการเล่า ส่วนจะให้ข้อมูลแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ เช่น การให้ข้อมูลส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะไม่ถูกต้องแน่ๆ แต่มันจะมีประโยชน์มากกว่าไหม หากเราไม่ได้นำเสนอเฉพาะตัวผู้ร้าย แต่ยังนำเสนอไปถึงระบบ โครงสร้างหรือวัฒนธรรมที่สร้าง “ผู้ร้าย” คนนั้นขึ้นมา” ภัทรภร กล่าว 

เมื่อถามถึงข้อควรระวังในการสร้างพิพิธภัณฑ์ ภัทรภร กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นด้วยการถามตัวเองก่อนว่า ทำไปทำไม ต้องการอะไร เช่น แค่อยากประจาน อยากสร้างวัฒนธรรมความคิดเชิงวิพากษ์และการตั้งคำถาม อยากสร้างแนวร่วม อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรืออยากให้ประเด็นได้ไปสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านี้จะนำไปสู่การออกแบบว่าจะนำเสนออะไร อย่างไร แล้วควรระวังอะไร

“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกๆ กรณีมีผู้คนหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายคน และมันไม่ใช่มีผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเดียว แต่ยังมีระบบ มีโครงสร้างต่างๆ  ก็ต้องทบทวนว่า นำเสนออย่างครอบคลุมไหม มีที่มาที่อย่างไร เป็นธรรมไหม เราไม่ได้เสียบประจานผิดคนหรือเปล่า” ภัทรภร กล่าว

ส่วนในประเด็น การเกิดพิพิธภัณฑ์รูปแบบการประณามหรือนำเสนอผู้ร้ายนั้นจะเป็นการปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกหรือไม่ ภัทรธร ให้ความเห็นว่า ไม่แน่ใจว่าในเมืองไทย พิพิธภัณฑ์มีอิทธิพลขนาดไหน แต่เนื้อหาในหนังสือเรียน วิธีการสอนและการเล่าซ้ำๆ ผ่านสื่ออย่างละครหรือนิยายนี้มีอิทธิพลแน่นอน

ภัทรภร กล่าวต่อว่า พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบที่นำเสนอผู้ร้ายในต่างประเทศ อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ Oka Masaharu Memorial Nagasaki Peace Museum ที่นางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนเล็กๆ ไม่มีใครรู้จักเท่าไหร่ ที่ได้นำเสนอความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่น เช่นกรณีฆ่าสังหารที่นานกิง คอมฟอร์ทวูเมนหรือหน่วยทดลอง 731 ที่ทดลองอาวุธชีวภาพจากมนุษย์สำหรับโครงการอาวุธชีวภาพของกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น การสร้างทางรถไฟสายมรณะที่ภาคตะวันตกของไทยไปพม่า ซึ่งประเด็นที่ถือว่าเป็นความอ่อนไหวทางการเมืองพวกนี้ไม่ค่อยมีพิพิธภัณฑ์ที่ไหนในญี่ปุ่นกล้าพูดถึงมากนัก แต่ในฐานะที่ศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์สันติภาพ ภัทรภร ให้ความเห็นว่า การนำเสนอผู้ร้ายรูปแบบดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่สิ่งที่เธอสนใจคือ จะทำให้คนดูเข้าใจได้อย่างไรว่า ทหารญี่ปุ่นเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยเหมือนกัน เราจะชวนคนดูตั้งคำถามกับระบบทหารหรือจักรพรรดิญี่ปุ่นอย่างไร จะชวนคนดูเข้าใจความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรมอย่างไร

ภัทรภร เล่าว่า โดยทั่วไปแล้วพิพิธภัณฑ์แต่ละที่จะมีจุดประสงค์ในการนำเสนอที่ต่างกันออกไป แต่ถึงที่สุดแล้ว พิพิธภัณฑ์ถูกสร้างขึ้นมาด้วยพื้นฐานที่ต้องการสื่อสารและสร้างคุณค่ากับสังคมถึงความคิด ประสบการณ์ ความคาดหวังและอุดมการณ์อุดมคติของตน ซึ่งพิพิธภัณฑ์บางแห่งก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นมุ่งหวังให้การสื่อสารของตัวเองนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเช่น ให้เกิดกระบวนการยุติธรรม อย่างพิพิธภัณฑ์ของผู้หญิงที่ถูกใช้บริการทางเพศให้กับทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (Comfort Women) พิพิธภัณฑ์บางแห่งมีกิจกรรมการศึกษาเพื่อสร้างคุณค่าของค่านิยมและชุดความคิดหนึ่งๆ หรือพิพิธภัณฑ์บางแห่งเปลี่ยนตัวเองจากการเล่าเรื่องจากมุมมองของตนอย่างเดียวไปสู่การเป็นพื้นที่ทางสังคม ให้ชุมชนหรือกลุ่มคนหลากหลายได้มาพบปะแลกเปลี่ยนหรือเรียนรู้ระหว่างกัน

ภัทรภร เสนอแนะว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการจัดรูปแบบของพิพิธภัณฑ์คือ สังคมที่มีโครงสร้างทางกฎหมายและวัฒนธรรมที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น และคิดต่าง มีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความคิดเชิงวิพากษ์หรือการตั้งคำถาม อย่างไรก็ตามหากเป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐโดยที่งบประมาณมาจากเงินของประชาชน เธออยากเห็นความโปร่งใสของการใช้เงิน การบริหารจัดการและที่สำคัญการเล่าเรื่องหรือการนำเสนอที่พูดถึงทุกคน มีที่ทางให้คนทุกคนในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ หรือในที่สุดแล้ว หากรัฐมีเรื่องที่ตัวเองอยากเล่า ก็ควรจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนได้เล่าเรื่องของตัวเองด้วยเช่นกัน

“ใครอยากจัดแสดง หรือนำเสนออะไรก็ได้ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่องานมันออกไปแล้ว คือสิทธิของคนดูที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเราคิดว่า การปะทะสังสรรค์ทางความคิดมันนำไปสู่ความเจริญ การถูกทำให้นิ่งเงียบไม่มีปากมีเสียงต่างหากคือทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อม” ภัทรภร กล่าว

 

ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง Keiko Sei (เคโกะ เซ) ภัณฑารักษ์และนักเขียนชาวญี่ปุ่น ผู้ศึกษาประเด็นสื่อ-วัฒนธรรมศึกษา ได้ให้สัมภาษณ์ และวิจารณ์ในมุมมองเชิงศิลปะหลังจากที่เธอได้เข้าไปชม ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ มาแล้ว

เธอชี้ถึงลักษณะอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ทำออกมาในแบบศิลปะแบบติดตั้ง (installation) แต่ก็มีลักษณะของสิ่งก่อสร้างในลักษณะอนุสรณ์สาธารณะ (public monument) ทั้งทางรูปธรรมคือ สร้างด้วยสิ่งก่อสร้างที่มีความแข็งแรงคงทนและนามธรรม จากการ ที่การสร้างอนุสรณ์สาธารณะเป็นไปเพื่อต้องการสะท้อนคุณค่าของสังคมบางประการ จะต่างกันอยู่ก็ตรงที่อนุสรณ์สาธารณะนั้นมีลักษณะสำคัญคือต้องได้รับฉันทานุมัติจากสังคม ผ่านกระบวนการนำเสนอโครงการ มีการถกเถียง ตรวจสอบจากสาธารณะ มีกรรมการ และมีความเห็นร่วมกันจากสังคมว่ามีคุณค่าบางอย่าง

อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากนัก เป็นเรื่องรสนิยมของปัจเจกที่จะนำเสนอเรื่องราว และ จะไม่มีปัญหาจนกว่าจะออกสู่พื้นที่สาธารณะในรูปแบบของอนุสรณ์สาธารณะ

เคโกะให้ความเห็นว่า ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ เป็นเหมือนเสียงซุบซิบนินทาที่ออกมาในรูปแบบของรูปปั้นมากกว่า  ซึ่งมันย้อนแย้งกันระหว่างการสร้างเพื่อแสดงคุณค่าบางอย่างกับการสร้างออกไปในเชิงการซุบซิบนินทา

อย่างไรก็ตาม เคโกะ มองว่าแม้เนื้อหาจะขัดกับรูปแบบ แต่เธอคิดว่าคนออกแบบก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันย้อนแย้งกัน แต่เขาคงคิดจริงๆ ว่าเรื่องนี้ควรที่จะกระจายออกไปสู่สังคม และเป็นเรื่องที่คนควรตระหนักร่วมกัน นอกจากนี้เธอยังให้สัมภาษณ์ประเด็นการนำเสนอผู้ร้ายใน ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ จะทำให้เกิดอคติหรือไม่ โดยเธอให้ความเห็นว่า จากที่สังเกต คนที่ไป ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ คือคนที่ไปไปเพื่อยืนยันความคิด ความเชื่อของตนเองว่า ‘ฉันคิดถูกแล้ว’ หรือมีความคิดแบบเดียวกันจึงไปดู ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีพื้นที่ของการถกเถียงเกิดขึ้นเลย ถึงได้เน้นย้ำว่ามันจะเกิดอันตรายได้เมื่อลงสู่พื้นที่สาธารณะ ส่วนหากว่ามีคนที่ไม่ชอบตัวพิพิธภัณฑ์นี้ เธอเสนอแนะว่าให้ไปสร้างเป็นของตนเองขึ้นมา ไม่ใช่ไปทำลาย

 

ส่วนกรณี กลุ่ม ‘ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)’ ไปทำกิจกรรมกับประติมากรรมในพิพิธภัณฑ์ ถือป้ายมีเนื้อความว่า “รัฐประหาร=โกง???” ใน ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ เพื่อเล่นกับการตีความคำว่าคอร์รัปชัน  เคโกะมองว่าเป็นการแสดงออกทางศิลปะที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้ performance art เล่นกับงานที่ติดตั้งอยู่กับที่

ภาพจากเพจ กลุ่ม ‘ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)’

 

นอกจากนี้ เว็บไซต์ ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ ระบุด้วยว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แรกของประเทศไทย ที่นำเสนอผู้ร้ายจากการคอร์รัปชัน ส่วนข้อสงสัยจากคำตอบของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขานุการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กรณีที่แม้หลายคดียังไม่สิ้นสุด แต่ยังนำข้อมูลมาจัดแสดง เว็บไซต์ของ ‘พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ’ ได้ให้คำตอบว่า

“เราเสียใจที่ต้องบอกว่า... หลายคดีโกงระดับชาติยังยืดเยื้อ ไม่มีการตัดสินว่าใครผิด ถ้าไม่อยากเห็นคนโกงลอยนวล ช่วยกันติดตามและแชร์คดีเหล่านี้ออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยกระตุ้นความจำสังคม สะกิดขบวนการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันให้ทำงานอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และมีประสิทธิภาพ” เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ ระบุ

 

10 คดีในพิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ ความเป็นมาและสถานการณ์ปัจจุบัน

คดีจำนำข้าว เป็นคดีที่เกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่าสุดเดือนกันยายน 2558 ศาลรับฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาคนรับผิดชอบกับเงินที่สูญ หายไปจากการทุจริตในคดีจำนำข้าว โดยมี ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายเป็นประธาน

คดีคลองด่าน   โครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ เสนอโดย ยิ่งพันธ์ มนะสิการ รัฐมนตรีในขณะนั้นร่วมกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ได้รับอนุมัติในปี 2538  ต่อมา พบความไม่ชอบมาพากลในการจัดสร้างและการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่เมื่อปี 2542 ทำให้เกิดการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยตั้งอนุกรรมการ และ ป.ป.ช.ไต่สวนการทุจริตคอร์รัปชัน โดย ป.ป.ช. ปี 2550 ศาลตัดสินว่า นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่มีความผิด ส่วนนายยิ่งพันธ์ (ปัจจุบัน เสียชีวิตแล้ว) และนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ถูกตัดสินมีความผิดต้องโทษจำคุก 10 ปี  แต่ปัจจุบันนายวัฒนา อยู่ระหว่างการหลบหนี

คดีนกน้อยในไร่ส้ม คดีที่ นายสรยุทธ สุทัศนจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหากระทำการโฆษณาเกินเวลา ขณะจัดทำรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ระหว่างปี 2548-2549 โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2555 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีอาญากับ เจ้าหน้าที่ บริษัท อสมท. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีช่วยเหลือบริษัท ไร่ส้ม ซึ่งโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาโดยไม่เรียกเก็บเงินค่าโฆษณาเกินเวลา แต่เมื่อเดือนกรกฏาคม 2558 ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดได้แก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ว่าบริษัท อสมท. ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนลดค่าโฆษณาเป็นจำนวนเงินกว่า 55 ล้านบาทให้แก่บริษัท ไร่ส้ม

คดีโกงลำไย เป็นคดีที่เกิดขึ้นในปี 2547 เกิดจากการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจลำไยโดยเจตนา และมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลายขั้นตอน  ในวันที่ 8 มกราคม 2557 คณะ ป.ป.ช. ได้พิจารณากรณีทุจริตโครงการแปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้งปีใน 2547 โดยมีผู้เกี่ยวข้องถึงคดี 22 ราย แต่จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะบอกได้ ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ทำให้ข้อกล่าวหาตกไป ล่าสุดช่วงเดือนมีนาคม 2558 ตร.ภาค 5 ได้รวบตัวนายประเสริฐ ภู่พิสิฐ หรือ ‘โกเก๊า’ อดีตนายก อบจ.ลำพูน ในข้อหาผู้เกี่ยวข้องคดีทุจริตโกงลำไยในปี 2547 โดยนายประเสิฐ ได้ให้การปฏิเสธ และขอสู้ในชั้นศาล หากผิดจริง ยินดีจ่าย 200 กว่าล้านบาท แต่หากไม่ผิด จะฟ้องกลับ

คดีทุจริตโรงพัก เกิดจากบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด ชนะการประมูลเป็นผู้รับเหมารายเดียว โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เป็นผู้อนุมัติในการจัดจ้างบริษัท ซีพีพี เมื่อ 11 ตุลาคม 2553 โดยสัญญาเริ่มต้นตั้งแต่ 26 มีนาคม 2554 - 17 มิถุนายน 2555 แต่บริษัท พีซีซี สร้างไม่เสร็จตามสัญญา โดยมีการขยายสัญญาถึง 3 ครั้ง จนในที่สุด 18 เมษายน 2556 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีมติยกเลิกสัญญาว่าจ้างบริษัท พีซีซี ปัจจุบันบริษัท ซีพีพี และ ตร. อยู่ระหว่างขึ้นศาลหาข้อสรุปเรื่องค่าเสียหายชดใช้

คดีสนามฟุตซอลโรงเรียน โรงเรียนใน 17 จังหวัด หรือ 358 โรงเรียน ได้งบประมาณของรัฐบาล? ปี 2555 มาจัดสร้างสนามฟุตซอล แต่แปรญัตติจากการสร้างตึกอาคารโรงเรียนเป็นการจัดสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งการจัดสร้างนั้นไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ครูในโรงเรียนถูกสอบสวนในทางวินัยและอาญา เนื่องจากเป็นผู้รับเซ็นมอบสนามฟุตซอลดังกล่าว ล่าสุดต้นเดือนสิงหาคม 2558 ป.ป.ช. ในแต่ละเขตพื้นที่ภาคต่างๆ เดินหน้าคดี ลงพื้นที่ตรวจสอบสนามฟุตซอลในแต่ละโรงเรียน เพื่อหาพยานหลักฐานในการจับหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องการการจัดสร้างสนามฟุต ซอล โดย ป.ป.ช. แจ้งคำสั่งการไต่สวนแล้ว 63 ราย เพื่อให้รูปคดีชัดเจน นำไปสู่การหาคนทุจริตและสั่งฟ้องคดีต่อศาลได้

คดีปลัดคมนาคม เหตุเกิดจากกรณีขโมยขึ้นบ้าน นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เมื่อปี 2554 หลังถูกจับ โจรให้การว่า ในบ้านของนายสุพจน์ มีเงินซ่อนอยู่อีกจำนวนมาก ทำให้ ป.ช.ช. เดินทางเข้าค้นบ้านนายสุพจน์ พร้อมกับอายัดเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง ทรัพย์สิน อายัดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบ ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ว่านายสุพจน์ ร่ำรวยผิดปกติ และศาลตัดสินให้ทรัพย์สินรวม 19 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 46,141,038.83 บาท ของนายสุพจน์ กับพวกที่เป็นเครือญาติ พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน

คดีรถหรู เกรย์มาร์เก็ต เหตุเกิดจากการกรณีไฟไหม้รถยนต์ราคาแพงในปี 2556 แต่ไม่สามารถหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จึงได้เข้าตรวจสอบพบว่าเป็นรถเลี่ยงภาษี และยังมีผู้ประกอบการนำเข้ารถหรูหลายยี่ห้อเลี่ยงภาษีนำเข้าเป็นจำนวนมาก ในปี 2557 ดีเอสไอ ได้ส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรจำนวน 108 คน  แก่ ป.ป.ช. แต่ไม่มีความคืบหน้า ต่อมาปี 2558 ดีเอสไอแถลงข่าวว่าจะเร่งการสอบสวนเพื่อสรุปสำนวนสั่งฟ้องโดยเร็ว

คดี บางกอกฟิล์มเฟส  นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจำนวน 60 ล้านบาท จากนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน นักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน เพื่อให้ได้สิทธิการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok Film Festival) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยสองสามีภรรยาถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินแล้วว่ามีความผิดและต้องโทษจำคุก ปัจจุบันคดีหมดอายุความในสหรัฐอเมริกา ขณะที่สองสามีภรรยาดังกล่าวพ้นโทษแล้วเรียบร้อย สำหรับในไทย ศาลได้รับฟ้องคดีแล้ว

คดีป้ายโฆษณาป้อมตำรวจ เป็นคดีการติดตั้งป้ายโฆษณาแอลอีดี (LED) บนป้อมตำรวจ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 จากการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ สรุปรายละเอียดการติดตั้งป้ายออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. บริษัทเอกชนที่ติดตั้งป้ายโฆษณาโดยไม่มีสัญญาใดๆ กับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แต่มีการติดต่อเพื่อขอติดตั้งป้ายโฆษณา ซึ่งคณะกรรมการแจ้งว่ามีการให้ข้อมูลกับ บช.น.ว่าจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นรายเดือน บางส่วนมีการลักลอบใช้ไฟฟ้าของทางราชการ
  2. บริษัทเอกชนทำสัญญากับ บช.น. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 สมัย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ดำรงตำแหน่ง ผบช.น. จากแนวคิดที่ต้องการหาเงินสมทบเงินกองทุนช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสีย ชีวิต เอกชนกลุ่มนี้ได้มีการมอบเงินค่าตอบแทนให้แก่ บช.น.เพื่อสมทบกองทุนดังกล่าวเป็นรายเดือน
  3. เป็นภาคเอกชนที่มีการสร้าง ป้อมให้กับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ และขอติดตั้งป้ายโฆษณากิจการของตนเอง ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน กลุ่มที่ 3 สรุปได้ว่า กระทำไปโดยสุจริตใจ

ปัจจุบันป้ายโฆษณาแอลอีดีที่ เคยติดตั้งอยู่บนป้อมตำรวจหลายจุดก็ถูกระงับการใช้งาน และถูกรื้อถอนออกไปบ้างแล้ว แต่บางพื้นที่ยังคงเปิดใช้ตามปกติ  และกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการหาผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เบื้องหลังจากคดีนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net