Skip to main content
sharethis
กลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) นั่งปักหลักประท้วงอธิการบดีมหาวิทยาลัยรับเงินกลุ่มบรรษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้เกิดโลกร้อน ด้วยเหตุผลทั้งในเชิงจรรยาบรรณของสถานศึกษาและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
 
 
กลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) นั่งปักหลักประท้วงอธิการบดีมหาวิทยาลัยรับเงินกลุ่มบรรษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้เกิดโลกร้อน (ที่มาภาพ: ecowatch.com)
 
กลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT) รวมตัวกันนั่งปักหลักประท้วงหน้าห้องสำนักงานอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมาเพื่อประท้วงการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยที่ไม่ยอมถอนเงินทุนที่ได้รับจากอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล 13,500 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังสร้างความใกล้ชิดกับบรรษัทเหล่านี้มากขึ้นรวมถึงบรรษัที่ปฏิเสธว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องโกหก
 
กลุ่มนักศึกษาที่รณรงค์ให้มีการถอนทุนแสดงความไม่พอใจที่อธิการบดีของเอ็มไอทีไม่ยอมขายหุ้นจากกลุ่มบรรษัทเชื้อเพลิงถ่านหินและทรายน้ำมัน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ได้รับการสนับสนุนจากมติคณะกรรมาธิการให้คำปรึกษาของอธิการมหาวิทยาลัยเองในคะแนนเสียง 9 ต่อ 3
 
จ็อฟฟรีย์ สุปราน หนึ่งในนักศึกษาผู้ประท้วงและเป็นสมาชิกกลุ่มเรื่องโลกร้อนกล่าวว่ามหาวิทยาลัยควรถอนการลงทุนของกลุ่มธุรกิจถ่านหินและทรายน้ำมันซึ่งจะทำให้ประชาคมมหาวิทยาลัยมีความกลมเกลียวมากกว่านี้แทนที่จะทำให้สถาบันเอ็มไอทีถูกแบ่งแยกจากมหาวิทยาลัยอื่น โดยยกตัวอย่างว่ามีมหาวิทยาลัยอย่างสแตนฟอร์ด, อ็อกฟอร์ด และมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่ถอนเงินทุนจากกลุ่มพลังงานถ่านหินและทรายน้ำมันแล้วรวม 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้การถอนทุนนี้ถือเป็นเรื่องที่สุปรานบอกว่า "เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ถูกต้องตามหลักจริยธรรม และส่งผลทางการเมือง"
 
การประท้วงของนักศึกษาในครั้งนี้ยังมาจากการที่อธิการบดีเอ็มไอทีเพิกเฉยต่อการให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดของกลุ่มบรรษัท และเพิกเฉยต่อคำแนะนำของคณะกรรมาธิการมหาวิทยาลัยที่คัดค้านการสนับสนุนบรรษัทพลังงานเหล่านี้เพราะเป็นท่าทีที่ส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างผิดๆ โดยสุปรานกล่าวอีกว่าพวกเขาประท้วงที่อธิการบดีเอ็มไอทีเลือกอยู่ข้างบรรษัทยักษ์ใหญ่แทนที่จะอยู่กับข้างเดียวกับนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของตัวเองที่คัดค้านเรื่องนี้
 
เว็บไซต์อีโควอทช์ระบุว่าเอ็มไอทีเป็นสถาบันที่รับเงินทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ในสหรัฐฯ รวมถึงบรรษัทใหญ่ๆ อย่างเอ็กซอนโมบิล, บีพี, เชฟรอน นอกจากนี้ยังมีการยอมรับเดวิด โคช หนึ่งในกลุ่มธุรกิจตระกูลโคชซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์แบบผิดๆ ในประเด็นโลกร้อนเข้าเป็นหนึ่งในกรรมการจัดการทรัพย์สินของเอ็มไอทีด้วย
 
หนึ่งในผู้ประท้วงการรับทุนสนับสนุนจากบรรษัทคือ เจเรมี พอยน์เด็กเตอร์ นักศึกษาปริญญาเอกผู้ที่กำลังทำงานเกี่ยวกับเรื่องแผงพลังงานแสงอาทิตย์ พอยน์เด็กเตอร์กล่าวว่าการยกเลิกสนับสนุนบรรษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิลส่งผลให้สามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้ 2 องศาเซลเซียส และเหตุที่เขาประท้วงเพราะว่าเหล่าบรรษัทที่คอยโกหกว่าไม่มีภาวะโลกร้อนพยายามใช้เงินเพื่อล็อบบี้ต่อต้านการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนรวมถึงใช้เงินสร้างธุรกิจที่ก่อให้เกิดวิกฤตโลกร้อนหนักขึ้นซึ่งถือเป็นการทำลายสิ่งที่พวกเขาพยายามจะสร้าง
 
ประชาคมเอ็มไอทียังมีการล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านการรับเงินสนับสนุนและคัดค้านแนวทางการใช้พลังงานถ่านหิน ทรายน้ำมัน ของเหล่าบรรษัท มีผู้ลงนามมากกว่า 3,500 คน โดยการเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเรื่องโลกร้อนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักกิจกรรมและนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง 33 คน รวมถึงเจมส์ ฮันเซน ประธานมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ นอม ชอมสกี นักวิชาการชื่อดัง และมาร์ค รัฟฟาโล นักแสดง-ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลิวูด
 
 
เรียบเรียงจาก
 
MIT Students: We’re Sitting-In at President Reif’s Door Until He Divests From Fossil Fuels, Eco Watch, 22-10-2015
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net