Skip to main content
sharethis

นักสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาวะเขียนบทความในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศวิพากษ์ยูเอ็นและรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทำให้เฮติเกิดการระบาดหนักของโรคอหิวาต์ เนื่องจากความเลินเล่อของกองทัพยูเอ็นที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนแบคทีเรียในแหล่งน้ำ และการระงับเงินทุนโครงการสร้างสาธารณูปโภคสมัยรัฐบาลบุช


เฮติ ในปี 2553
ภาพจาก 
UN Photo/Sophia Paris (CC BY-NC-ND 2.0) 

20 ต.ค. 2558 ถึงแม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเฮติจะผ่านมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ตอนนี้เฮติกำลังประสบภัยที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าแผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านมา นั่นคือการแพร่ระบาดอย่างหนักของอหิวาตกโรคที่มีผู้ป่วยในเฮติ 1 ใน 15 คน และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 9,000 ราย

ฟราน ควิกลีย์ ผู้อำนวยการคลินิกเพื่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของวิทยาลัยกฎหมายแมคคินนีย์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา เขียนบทความในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (FPIF) ระบุว่าในขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่การระบาดของอหิวาตกโรคในคราวนี้ถือเป็นเรื่อง "โศกนาฏกรรมทางสิทธิมนุษยชน"

อหิวาตกโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 'วิบริโอ คลอเรลลา' (vibrio cholera) ที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางน้ำที่ปนเปื้อนของเสีย ถึงแม้ว่าอหิวาตกโรคจะเป็นโรคที่ป้องกันได้ง่ายโดยระบบการประปาสมัยใหม่ จนทำให้กลายเป็นโรคเก่าล้าสมัย ไปแล้ว แต่ในเฮติผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตโดยไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ พวกเขายังต้องใช้น้ำจากแม่น้ำเพื่อดื่มและอาบ และเนื่องจากไม่มีระบบกำจัดของเสียที่ดีพอทำให้โรคระบาดทางน้ำแพร่กระจายไปได้เร็วมาก

ควิกลีย์ชี้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความล้มเหลวด้านสาธารณสุข แต่มีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เดิมทีแล้วในปี 2541 รัฐบาลเฮติในยุคนั้นได้รับเงินทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาะหว่างทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) ซึ่งต้องการนำมาสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงระบบบำบัดน้ำ แต่รัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ไม่พอใจรัฐบาลเอียงซ้ายของเฮติจนมีการปิดกั้นเงินกู้ดังกล่าว และหลังจากที่เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคในเฮติเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การไม่มีเงินทุนสร้างสาธารณูปโภคที่ดีก็ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคมาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ ควิกลีย์ตั้งคำถามว่าอะไรที่นำเชื้ออหิวาตกโรคมาสู่เฮติเนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกรณีอหิวาตกโรคในเฮติมาก่อน ในบทความของควิกลีย์ระบุว่าผู้ที่ปล่อยของเสียลงน้ำคือค่ายทหารของสหประชาชาติแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ต้นน้ำแม่น้ำอาร์ติบอไนท์ และบ้านของชาวเฮติผู้เป็นโรคอหิวาต์คนแรกก็ตั้งอยู่ริมแม่น้ำดังกล่าว มีผู้สื่อข่าวไปสำรวจพบว่าค่ายทหารดังกล่าวมีการทิ้งของเสียลงในแม่น้ำจริง นอกจากนี้กลุ่มกองกำลังดังกล่าวของยูเอ็นยังเคยตั้งค่ายอยู่แถวหุบเขากาฐมาณฑุ ในเนปาลที่มีการระบาดของอหิวาตกโรคก่อนหน้าที่จะเดินทางมาตั้งค่ายในเฮติ

ในแง่นี้ควิกลีย์วิจารณ์ยูเอ็นว่าขาดประสิทธิภาพในการคัดกรองโรคในหมู่กองกำลังของตนเองและมองข้ามว่าเฮติมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อทางน้ำได้ ซึ่งทางยูเอ็นเองก็ยอมรับว่าระบบสุขอนามัยในค่ายทหารของพวกเขาเป็นแบบ "ปล่อยไปตามยถากรรม" และไม่มีการคัดกรองโรคอย่างเหมาะสม

ควิกลีย์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องความไม่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของยูเอ็น ทั้งที่การกระทำของกองทัพยูเอ็นทำให้เกิดการละเลยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในแง่ขององค์กรหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งทำอันตรายต่อผู้ที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ตามความคิดเห็นของควิกลีย์คือการปล่อยให้สิ่งเป็นพิษลงสู่ทางน้ำจนทำให้เกิดโรคระบาด มีกรณีการพยายามฟ้องร้องจากชาวเฮติแต่เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นก็พยายามบ่ายเบี่ยงปกป้องตัวเองโดยอ้างว่าอยากใช้เวลาไปกับการป้องกันการระบาดในอนาคตแทนการแสดงความรับผิดชอบ โดยทางยูเอ็นให้สัญญาว่าจะมีโครงการด้านสุขอนามัยและสาธารณูปโภคด้านการประปาขนาดใหญ่รวมถึงการแจกวัคซีน

ควิกลีย์มองด้วยว่า จะมีการบริจาคเกิดขึ้นในเฮติมากแล้ว แต่การบริจาคก็ไม่มากพอจะทดแทนการได้รับความยุติธรรมได้ ผู้เป็นโรคอหิวาต์ในเฮติฟ้องร้องยูเอ็นในเรื่องนี้ต่อศาลทางการกลางสหรัฐฯ ซึ่งการฟ้องร้องได้รับการสนับสนุนจากนักสิทธิมนุษยชนหลายพันคนรวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ยูเอ็น แต่ทางการสหรัฐฯ กลับตัดสินให้ยูเอ็นได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งในตอนนี้มีการเรียกร้องต่อในศาลชั้นอุทธรณ์ของสหรัฐฯ

ควิกลีย์ระบุในบทความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในเฮติควรมีการชดเชยให้กับผู้เสียหายแต่การที่ไม่มีผู้ใดออกมายอมรับผิดหรือแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเลยถือเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมทางสิทธิมนุษยชน

"แผ่นดินไหวยังเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โศกนาฏกรรมทางสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดได้" ควิกลีย์ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Haiti’s Earthquake Was Devastating. The Cholera Epidemic Was Worse, Fran Quigley, FPIF, 14-10-2015
http://fpif.org/haitis-earthquake-was-devastating-the-cholera-epidemic-was-worse/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net