Skip to main content
sharethis

20 ต.ค. 2558 สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานวา เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2558 มีการประชุม คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ, (ว่าที่) รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ และกรรมการทั้งจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกับ “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า” ที่คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) นำเสนอ หลังจากคณะกรรมการได้เห็นชอบ โครงการศึกษาการวางแผนกำลังคนฯ นี้ไปแล้ว ในการประชุมครั้งแรกเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยอย่างน้อย 16  ชุด ที่ครอบคลุมสาขาอาชีพ อาทิ แพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, พยาบาล, เทคนิคการแพทย์, สาธารณสุข, แพทย์แผนไทย, สัตวแพทย์ และกลุ่มวิชาชีพเฉพาะที่จำเป็นต่อสถานการณ์สุขภาพ เช่น ผู้ดูแลคนพิการ/ผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา เป็นต้น โดยจะวางแผนกำลังคนแบบบูรณาการไปพร้อมกับการแบ่งกลุ่มตามรูปแบบบริการสุขภาพที่จำเป็น อาทิ การบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ระบบดูแลการผลิต ดูแลยาและเภสัชภัณฑ์ ความปลอดภัยในการทำงาน รูปแบบสังคมเมือง เป็นต้น

นพ.มงคล กล่าวว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ จะช่วยให้แต่ละสาขาวิชาชีพ คาดการณ์ความต้องการกำลังคนของตนเอง และกำหนดสมรรถนะที่เหมาะสมกับความจำเป็นและรูปแบบการให้บริการ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการบุคลากรในอนาคตได้ โดยวางกรอบการทำงานให้ได้คำตอบ ภายใน 6 เดือนข้างหน้า 

“การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ตัวเลขบุคลากรมารองรับการบริการในอนาคต แต่จะบูรณาการการทำงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกำลังคนในระดับพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ขาด แต่บางพื้นที่กลับมีแพทย์จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่มีโครงสร้างการทำงานรองรับ เช่น โรงพยาบาลบางแห่งมีศัลยแพทย์เป็นสิบคน แต่มีห้องผ่าตัดแค่ 3 ห้อง”

นอกจากนั้นมองว่า ระยะ 10 ปีข้างหน้า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อระบบสุขภาพและกำลังคน โดยเฉพาะโครงสร้างประชากรไทย ที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 4 ของประชากร ในอีก 20 ปีข้างหน้า และการเติบโตของสังคมเมือง ทำให้การจัดบริการด้านสุขภาพมีความซับซ้อน โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่แฝงในชุมชนต่างๆ รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนต่อระบบบริการสุขภาพที่มากขึ้น และความคาดหวังของประชาชนต่อการรับบริการด้านสุขภาพ

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยใหม่ที่มากระทบ ได้แก่ โรคติดต่อเดิม อาทิ โรคเอดส์ ไข้เลือดออก และโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง รวมถึงกระแสโลกาภิวัตน์ การค้าระหว่างประเทศ และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระตุ้นให้มีการเคลื่อนย้ายคนระหว่างประเทศง่ายขึ้น ทั้งกำลังคนด้านสุขภาพ นักท่องเที่ยว และแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น 

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า กล่าวเสริมว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ จะเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ประธานคณะทำงานทุกชุดจะร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมการ โดยเลขานุการของคณะทำงานฯ ทุกชุดจะเป็นทีมเลขานุการร่วมกัน การศึกษานี้จึงเป็นงานชิ้นใหญ่และสำคัญ ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำไปสนับสนุนการบริหารจัดการกำลังคนอย่างเหมาะสม

“หลังจากนี้ จะมีการตั้งทีมเลขานุการร่วมของคณะทำงานย่อยแต่ละคณะ พร้อมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงาน โดยเปิดช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการกำลังคนฯ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอแนะที่ได้จาก ผลการสำรวจทัศนคติการทำงานในชนบทและปัจจัยในการเลือกสถานที่ปฏิบัติงาน ของบัณฑิตจบใหม่สาขาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ปี 2558 ซึ่งพบว่า โครงการหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ (One District One Doctor – ODOD) สามารถสร้างโอกาสในการศึกษาให้กับนักเรียนจากพื้นที่ชนบทได้มากกว่าหลักสูตรอื่นๆ บัณฑิตมีแนวโน้มที่ตั้งใจจะทำงานในชนบทมากกว่ากลุ่มอื่น โดย ODOD และเภสัชกรชนบท เป็นสองหลักสูตรที่ลูกเกษตรกรมีสัดส่วนในการเข้าศึกษามากกว่าหลักสูตรอื่น ที่บัณฑิตมักจะมาจากครอบครัวข้าราชการหรือนักธุรกิจ ข้อสังเกตเชิงนโยบายเบื้องต้น คือ การผลิตกำลังคนสุขภาพที่ต้องการตอบโจทย์การคงอยู่ต่อเนื่องในชนบทนั้น มีองค์ประกอบสำคัญ คือ หลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ชนบท ต้องเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มเด็กที่เป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้จริง และการให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของนักเรียนก่อนเข้ามาศึกษาในหลักสูตร ตั้งแต่ระดับมัธยม ข้อสังเกตนี้จะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงสาธารณสุข และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net