แสนยานุภาพทางทหารกับความมั่นคงของรัฐ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากผลสำรวจของ globalfirepower 2015(1)  ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงรักษาอันดับหนึ่งในฐานะผู้นำโลกในด้านแสนยานุภาพทางการทหารมาตั้งแต่ปี 2001 ท่ามกลางประเทศรัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยเหตุผลหลักของการช่วงชิงการครอบครองอาวุธที่มีประสิทธิภาพก็เพื่อรักษา “ความมั่นคงของรัฐ” (security of the state) และการคุ้มกันภัยจากการก่อการร้าย (terrorism) อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2015 เว็บไซด์ซีเอ็นเอ็น (CNN)(2) ได้เปิดเผยสถิติจำนวนพลเมืองอเมริกันที่เสียชีวิตเนื่องจากการก่อการร้ายเปรียบเทียบกับจำนวนพลเมืองอเมริกันผู้เสียชีวิตเนื่องจากความรุนแรงจากการพกพาอาวุธปืน (gun violence) ภายหลังเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 พบว่า จำนวนพลเมืองผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในรอบทศวรรษมีจำนวนทั้งหมด 3,380 คน โดยในแต่ละปีหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรมมีเพียงปี 2004 เท่านั้นที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 74 คน และสถิติผู้เสียชีวิตคงที่ในค่าเฉลี่ยไม่เกินที่ 40 คนจนถึงปี 2013 ทางตรงกันข้าม จำนวนพลเมืองอเมริกันที่เสียชีวิตจากการก่ออาชญากรรมโดยอาวุธปืนมีจำนวนรวมทั้งหมด 406,496 คน และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีมีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 30,000 คน หากจะตั้งคำถามจากค่าความเสียหายดังกล่าวโดยเปรียบเทียบ คำถามก็คือ เหตุใดสภาคองเกรสในฐานะตัวแทนประชาชนจึงผ่านงบประมาณกลาโหมตลอดทศวรรษ ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ขณะที่มีความมั่นคงของรัฐในแง่อื่นที่น่ากังวลและมีความต้องการแก้ไขยิ่งกว่า

หากพิจารณาจากกลุ่มประเทศที่แข่งขันกันในด้านแสนยานุภาพทางการทหาร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส จะเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างของกลุ่มประเทศเหล่านี้คือ การเป็นประเทศมหาอำนาจในเวทีโลก คุณประโยชน์จากการครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงหรือกองทัพที่มีประสิทธิภาพจึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่การข่มขู่ หรือเพื่อวัดกำปั้นว่าใครใหญ่กว่าใครเท่านั้น แต่ยังมีพลังในเชิงอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจในระบบตลาดการค้าระหว่างประเทศ การช่วงชิงทรัพยากร และอำนาจในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมือง การสร้างและรักษาแสนยานุภาพของกองทัพของประเทศมหาอำนาจไปเสริมอำนาจให้แก่รัฐ แสนยานุภาพของกองทัพของประเทศมหาอำนาจมีหน้าที่(function) ทั้งในทางตรงคือ การรบเพื่อปกป้องรักษาดินแดน และชีวิตพลเรือน อีกแง่หนึ่งคือ มันได้ส่งผลกระทบต่อท่าทีและแนวทางปฏิบัติระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างสำคัญ ดังนั้น เหตุผลเรื่อง “ความมั่นคง” ที่ประเทศเหล่านี้ใช้เป็นเหตุผลหลักในการเสนอนโยบายกลาโหมแก่สภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน(ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างไรก็ตาม)ในประเทศที่สมาทานประชาธิปไตย และประเทศสังคมนิยมพรรคเดียว จึงฟังขึ้น กลไกการตรวจสอบทั้งหลายของประเทศประชาธิปไตยจึงอนุมัติให้ “ผ่าน”

กลับมาย้อนมองบริบทของประเทศไทย ในปี 2015 แสนยานุภาพของกองทัพไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 20 ของโลก เป็นอันดับสองของกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียว และมีแนวโน้มจะเพิ่มกำลังด้านการทหารมากขึ้นทุกปีนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 25493จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยสองประการ หนึ่ง ประเทศไทยในฐานะประเทศเล็กๆในเอเชียมีเหตุผลด้าน “ความมั่นคง” อะไรที่ทำให้ประเทศไทยทะยานไปสู่ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางการทหารสูงเป็นอันดับที่ 20 ของโลกจากร้อยกว่าประเทศ สอง กลไกการตรวจสอบงบประมาณด้านการทหารของไทยให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าอย่างไร

ก่อนจะตอบคำถามข้อหนึ่ง พบว่าคำถามข้อที่สองมีผู้หาคำตอบไว้ได้แล้ว จากรายงานโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ระบุว่าหน่วยงานที่มี “อำนาจ” หรือเป็นที่น่า “เกรงขาม” จะได้รับโอกาสจัดสรรงบประมาณมากกว่าหน่วยงานอื่น ตัวอย่างเช่น กระทรวงกลาโหม โดยคณะผู้วิจัยฯ อ้างถึง รัชนิภา สายอุบล (2552:236) ซึ่งได้สัมภาษณ์สมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ความว่า

“ ปัจจุบันประเทศก็ไม่ได้จะมุ่งเน้นเรื่องการทหารหรือการป้องกันประเทศ แต่ว่าพอมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร(คมช.) กองทัพก็ได้รับจัดสรรงบประาณให้เยอะ ก็จะทำให้ประเด็นของการที่จะจัดสรรนโยบายลงตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลตั้งไว้ก็จะต้องผิดเพี้ยน คือ เหมือนกับเทงบประมาณไปให้กับทหาร ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 3-4 ปีก่อนมีการทำรัฐประหาร กระทรวงกลาโหมมีงบประมาณ 80,000ล้านบาท แต่ตอนนี้ยอดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 140,000 ล้านบาท ก็จะขัดแย้งกับที่รัฐบาลพูดว่า มุ่งเน้นด้านการศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเรานี่ยังเกรงใจทางทหารอยู่ว่ารับบาลจะอยู่ได้ต้องให้ทหารช่วยค้ำ บทบาทเขาสูงมากเลย...ตอน คมช.ต้องยอมรับว่ามีความเกรงใจ เพราะว่าที่สำเร็ขขึ้นมาได้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็อยู่ที่เหล่าทัพทั้งนั้น ก็เป็นการตอบแทนบุญคุณกัน มีความเกรงอกเกรงใจกัน ”(4)

จากผลการศึกษาของงานวิจัยข้างต้นนำไปสู่การตอบคำถามที่หนึ่ง คือ การที่รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณกลาโหมไม่ได้มีเหตุผลเพื่อ “ความมั่นคง” ในความหมายเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศมหาอำนาจอื่นใช้ แต่เป็น “ความมั่นคง” ของความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายในประเทศ และ “ความมั่นคง”ในการดำรงอยู่ของรัฐบาลมากยิ่งกว่าการป้องกันการก่อการร้ายหรือคุณประโยชน์ในการต่อรองอำนาจเชิงเศรษฐกิจในตลาดโลก เพราะท่าทีของกองทัพไทยจะส่งผลอย่างสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะเมื่อใดที่กองทัพเห็นว่ารัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าไว้วางใจ หรือไม่มีความเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกัน กองทัพก็จะช่วงชิงอำนาจของรัฐบาลมาได้โดยง่าย แสนยานุภาพของกองทัพไทยจึงไม่ใช่เพียงแต่การสำแดงความแข็งแกร่งทางการทหารแก่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนเสริมอำนาจการต่อรองเชิงเศรฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง หากแต่คือเครื่องประดับราคาแพงลิบลิ่วที่สะท้อนความเกรงอกเกรงใจ และความเกรงขามจากรัฐบาลในนามของประชาชน!

สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ ขณะที่รัฐไทยกำลังไต่อันดับรัฐที่มีแสนยานุภาพของกองทัพสูงขึ้นเรื่อยๆติดอันดับโลก ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนจะมีท่าทีต่อรัฐไทยอย่างไร รัฐไทยจะคาดหวังความเกรงอกเกรงใจหรือเกรงขามจากประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากแสนยานุภาพของกองทัพหรือไม่ แล้วมันจะก่อคุณูปการอันใดในนาม “ความร่วมมือระหว่างประเทศ”ของอาเซียน หรือตรงข้ามกลับจุดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้น.

 

อ้างอิง

http://www.globalfirepower.com/countries-listing.asp
http://edition.cnn.com/2015/10/02/us/oregon-shooting-terrorism-gun-violence/
http://thaipublica.org/2013/01/corruption-budgeting-6/
เจาะขบวนการทุจริตงบประมาณแบบบูรณาการ(6): จัดงบฯ กระทรวงกลาโหม “หลักการ” หรือ “ความเกรงใจ”, 28 มกราคม 2013

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ปัจจุบัน ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ศึกษาอยู่ที่ Peace and Conflict Studies The University of Manchester, UK
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท