ศาลปกครองรับฟ้องสมศักดิ์ ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า สำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือถึงทีมทนายความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 58 แจ้งคำสั่งรับฟ้องคดีที่สมศักดิ์ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

โดยศูนย์ทนายฯ สรุปเนื้อหาคำฟ้องประเด็นต่างๆ ไว้ ดังนี้

 

  • เหตุแห่งการไล่ออกจากราชการ

4 ก.ย. 58 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลยที่ 1 และ ก.พ.อ. เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง โดยมอบอำนาจให้ทีมทนายความยื่นฟ้องและดำเนินคดีจนถึงที่สุด จากกรณีที่มีคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษไล่ออกจากราชการ ให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 57 เป็นต้นไป โดยมหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติคำขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ และยังไม่มีคำสั่งอนุมัติหนังสือขอลาออกจากราชการของผู้ฟ้องคดี ต่อมาวันที่  16 มี.ค. 58 ผู้ฟ้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ต่อ ก.พ.อ. แต่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 58 ก.พ.อ. มีมติให้ยกอุทธรณ์

  • สถานการณ์ก่อนรัฐประหาร ภัยคุกคามต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ

ก่อนรัฐประหาร ผู้ฟ้องคดีได้ถูกข่มขู่ คุกคาม อันอาจมีอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีถูกแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้การในรายละเอียด เพราะประสงค์จะสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

อย่างไรก็ดี 6 ก.พ. 57 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่าได้ให้ฝ่ายกฎหมายของกองทัพตรวจสอบและจะใช้มาตรการทางสังคมกดดันผู้ฟ้องคดี

ต่อมา วันที่ 12 ก.พ. 57 ขณะที่ผู้ฟ้องคดีอยู่ในบ้านเวลากลางวัน มีคนร้ายไม่ทราบชื่อจำนวน 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงบ้านของผู้ฟ้องคดีจำนวนหลายนัด เป็นเหตุให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้จะไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ฟ้องคดีรู้สึกหวาดกลัว มีผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการพยายามฆ่า

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 57 ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องขออนุญาตไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ เรื่องปรัชญาประวัติศาสตร์และสังคมของเฮเกล ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 57 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 58 โดยทางหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์มีความเห็นควรอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปปฏิบัติงานได้ และให้เสนอความเห็นให้คณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์ต่อไป ในระหว่างนั้นผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ

  • สถานการณ์หลังรัฐประหาร

ภายหลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.58 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ คสช. มีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว อีกทั้ง คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุเหตุผลในการเรียกให้ไปรายงานตัวและไม่ปรากฎผลภายหลังการรายงานตัว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ไปรายงานตัว

  • เหตุแห่งการไม่ไปรายงานตัว

ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การรัฐประหารถือเป็นการกระทำความผิดข้อหากบฏ เป็นการล้มล้างการปกครองประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ตนจึงไม่ประสงค์จะเข้าร่วมกับ คสช. ไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหารของ คสช. จึงไม่ไปรายงานตัว

อีกทั้งเห็นว่าตนไม่ได้กระทำการใดๆอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย ประกอบกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ได้บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และบุคคลมีหน้าที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ตามมาตรา 69 และมาตรา 70 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร

ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลตามคำฟ้องอีกว่า โดยข้อเท็จจริงในขณะนั้นยังมีประชาชนออกมาต่อต้านการรัฐประหาร สถานทูตและองค์การระหว่างประเทศได้แสดงความห่วงกังวลและขอให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว อีกทั้งยังไม่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. แต่อย่างใด จึงอาจเป็นไปได้ว่าการรัฐประหารของ คสช. ยังไม่สำเร็จ หากไปรายงานตัวอาจจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกบฏ และอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในภายหลัง ซึ่งตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีกลุ่มคณะทหารหรือคณะบุคคลที่ได้กระทำการรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ และถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ เช่น กรณีกบฏยังเติร์ก หรือกบฏเมษาฮาวาย เมื่อวันที่ 1-3 เม.ย. 24 เป็นต้น หากผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ก็อาจจะถูกเรียกว่าไปเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ

แม้ความปรากฎภายหลังว่าการรัฐประหารกระทำการสำเร็จ  แต่ก็ยังถือว่าเป็นความผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อประเทศกลับไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย คณะรัฐประหารและผู้ที่เข้าร่วมกับการรัฐประหารก็อาจจะถูกดำเนินคดีย้อนหลังได้ ดังกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น กรณีเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 57 ศาลประเทศตุรกีพิพากษาจำคุกนายทหารที่ก่อการรัฐประหารในปี 2523 เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดียังทราบจากสื่อมวลชนว่า บุคคลที่ไปรายงานตัวหรือถูกจับจะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน  โดยไม่มีความผิด ซึ่งการควบคุมตัวดังกล่าวจะไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว และไม่ให้ติดต่อกับญาติหรือทนายความ ไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าเยี่ยม ทำให้ไม่ทราบชะตากรรมว่า เมื่อถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกแล้วจะมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และจิตใจแค่ไหนอย่างไร ทั้งยังปรากฏว่า มีการร้องเรียนถึงการถูกซ้อมทรมานหรือปฏิบัติที่เลวร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัว  และบางรายถูกดำเนินคดีอาญาภายหลังจากไปรายงานตัว และถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวผู้ฟ้องคดีอาจต้องถูกกักขังอันเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้ฟ้องคดี และอาจจะต้องถูกดำเนินคดีในภายหลังได้ด้วย

ประกอบ คสช. ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ให้บุคคลที่ไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เป็นความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจ และออกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช. และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 57

กรณีดังกล่าวคณะรัฐประหารจึงเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แบบเบ็ดเสร็จ การประกาศให้คดีของผู้ฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้น อีกทั้งขณะนั้นอยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 36 และมาตรา 61 กำหนดให้เป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ห้ามคู่ความไม่ให้อุทธรณ์ฎีกาได้ เป็นศาลทหารชั้นเดียว  คำพิพากษาของศาลทหารชั้นต้นถึงที่สุด

  • การดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีไม่มีความชอบธรรม

กรณีที่เกิดขึ้นเห็นได้ว่า หากผู้ฟ้องคดียังอยู่ในประเทศไทย จะต้องถูกข่มขู่คุกคามทั้งโดยกระบวนการทางกฎหมาย และที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเหตุจากการเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างกับอำนาจรัฐซึ่งมีที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้น

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่เป็นเหตุให้ ผู้ฟ้องคดีจะได้รับภัยอันตรายต่อเสรีภาพและความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ทำให้ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ และเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 58 ประเทศฝรั่งเศสได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ฟ้องคดี และอนุญาตให้พักอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างถาวร ตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (Convention Relating to the Status of Refugees)

อีกทั้งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการเรียกรายงานตัวโดย คสช. ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความขัดแย้งกับตน จะเกิดภัยคุกคามแก่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผู้ฟ้องคดีจึงเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้อันเป็นเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง  และหลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช.  ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดอีก ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้การปกครองในระบอบทหารต่อไป

ทั้งยังเห็นได้ชัดว่าการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 57 ผู้ฟ้องคดีจึงทำหนังสือขอลาออกจากราชการ เพื่อไปประกอบอาชีพใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 57 ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป แต่ในวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และแม้ผู้ฟ้องคดีจะอุทธรณ์แล้ว แต่ ก.พ.อ. ก็มีมติให้ยกอุทธรณ์

  • ขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลงโทษไล่ออกจากราชการ และคำสั่ง ก.พ.อ. ที่ยกอุทธรณ์ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงฟ้องร้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้ถูกฟ้องคดีที่  1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษออกจากราชการ และขอให้เพิกถอนผลการอุทธรณ์คำสั่งที่ ศธ.0592 (3) 1.9/6266 สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงวันที่ 7 มิ.ย. 58

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท