กสท. เตรียมลงดาบ 'เคเบิล-ดาวเทียม-ดิจิตอล' ออกนอก Must Carry

11 ต.ค. 2558 การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 34/2558 วันจันทร์ที่ 12 ต.ค. นี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่ามีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ แนวทางการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดการชี้แจงการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมาในประเด็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมีหน้าที่ยินยอมให้ผู้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ (ดาวเทียมและเคเบิล) นำช่องรายการมาออกอากาศได้เฉพาะในหมวดหมู่ Must Carry เท่านั้น หากต้องการนำไปออกอากาศหมวดหมู่อื่นนอกเหนือจาก Must Carry จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยจะสามารถโฆษณาได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ (ไม่เกิน ชม.ละ 6 นาที ตลอดทั้งวันเฉลี่ยต้องไม่เกิน ชม.ละ 5 นาที) ตามมาตรา 28 แห่ง พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 รวมทั้งหากผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์เช่นกัน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ห้าแสนบาท แต่ไม่เกิน ห้าล้านบาท และปรับรายวันอีกในอัตราไม่เกินวันละห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
 
"เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและ กำกับการแข่งขันที่เป็นธรรมในวงการโทรทัศน์ ในเวลานี้ กสท. ให้ความสำคัญกับประเด็นการโฆษณาเกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คือฟรีทีวีไม่เกิน 10 – 12 นาที เคเบิล ดาวเทียมไม่เกิน 5-6 นาที ดังนั้น ถ้าช่องใดรู้ตัวเองว่าปล่อยโฆษณาเกินเวลา อาจถูกปรับสูงสุด 1 ล้านบาท เพราะ กสท. ได้ให้ สำนักงานตรวจสอบ รวมทั้งให้คนดูช่วยร้องเรียนมาที่ 1200 มีหลายช่องกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณา จึงฝากย้ำให้ทุกช่องระมัดระวังให้มากขึ้น" สุภิญญากล่าว
 
นอกจากนี้ที่ประชุมเตรียมถกโทษปรับทางปกครอง กรณีช่องไทยทีวี ออกอากาศคลิปข่าวอาชญากรรม รายการ”มุงข่าวดัง” ออกอากาศวันที่ 13 ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นเนื้อหารายการที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง อันเป็นการต้องห้ามการออกอากาศตามมาตตรา 37 แห่ง พรบ.การประกอบกิจการฯ 2551
 
วาระอื่นๆน่าจับตาได้แก่ การพิจารณาออกร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุกระจายเสียงเพื่อแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนการบิน และปัญหาในกระบวนการต่ออายุการทดลองประกอบกิจการ ได้แก่ ร่าง ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ... วาระร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การวัดการแพร่แปลกปลอมของสถานีทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ... และวาระร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ในกิจการวิทยุการบินของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. ... วาระแนวทางการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ กรณีไม่ส่งผังรายการหลักประจำปี ไม่ดำเนินการแก้ไขผังรายการตามคำสั่ง และแจ้งเปลี่ยนแปลงผังรายการไม่เป็นไปตามประกาศ วาระการกำหนดช่องความถี่วิทยุชั่วคราวสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในส่วนของสถานีเสริม วาระคำสั่งทางปกครองจากข้อขัดข้องในการให้บริการโครงข่ายดิจิตอลทีวี จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารสถานีเครื่องส่ง ณ สถานีลำปางเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2558
 
นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันพฤหัสที่ 15 ต.ค. 2558 คณะทำงานติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ที่ตนเป็นที่ปรึกษาจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการณ์เพื่อระดมความเห็นต่อแนวทางการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล สำหรับครัวเรือนที่ยังไม่ได้รับสิทธิและการเข้าถึงกล่องรับสัญญาณของประชาชน โดยจะมีการระดมข้อดี ข้อเสีย ปัญหาและอุปสรรคของการกลุ่มเป้าหมายและวิธีการที่จะดำเนินการแจกต่อไป โดยมีสำนักงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเข้าร่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท