เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: หนามความทรงจำ

 

น้ำตาบนใบหน้าที่ไม่รู้จัก

ภาพและคำยาวประมาณสิบนาทีเศษในงานรำลึก 6 ตุลาฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลที่ชี้ประเด็นปัญหาของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ  บางประเด็น สั้นและง่าย เช่น รู้ไหมคนตายกี่คน? รู้ไหมในรายชื่อวีรชนมีรายชื่อคนที่เป็นมือสังหารรวมอยู่ด้วย? รู้ไหมสหายบางท่านทำไมหาไม่พบ? รู้ไหมเขาแขวนคอคนที่มะขามต้นไหน? อาจเป็นเหตุให้หลายคนต้องหลั่งน้ำตา

เกือบ 40 ปีแล้ว ทำไมคำถามเหล่านี้ยังต้องถาม?

เกือบ 40 ปีแล้ว ทำไมคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่ร่วมสมัยจึงมีผลสะเทือนถึงเจ้าของน้ำตาที่ 6 ตุลาฯ เป็นอดีตอันเลือนลาง?

ถามได้แต่ไม่ถาม

ทำไมยังต้องถาม? แน่นอนว่ากลไกของรัฐมีส่วนในการกำหนดการรับรู้ของสังคม ข้อมูลบางส่วนบางด้านคงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ-ชนชั้นนำ การใช้กำลังบังคับของรัฐและอำนาจครอบงำทางสังคมคงจะสามารถปิดกั้นกดทับคำถามบางคำถามให้เลือนลางลง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคำถามจะถูกปิดกั้นด้วยกระบวนการบังคับและครอบงำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หมายความว่าภายใต้เรื่องเล่าและความทรงจำตามแบบฉบับของเรื่องเล่าในสังคมไทยนั้นมีความเป็นไปได้ของการเสนอเรื่องเล่าและความทรงจำฉบับอื่น ๆ ได้ คำถามธรรมดาเรียบง่าย เช่น มะขามต้นไหนที่ใช้แขวนคอ คงไม่ใช่คำถามที่ถามไม่ได้ในสังคมไทย ไม่ใช่คำถามที่อยู่ในกรอบกำลังบังคับของรัฐ ไม่ใช่คำถามที่อยู่ในกรอบอำนาจครอบงำของสังคมอย่างเด็ดขาดและคงไม่ใช่คำถามที่ไม่มีผลสะเทือนต่อปมปัญหาของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

...ปัญหาอยู่ที่ทำไมไม่มีใครถาม?

การต่อสู้เรื่องความทรงจำ

ทำไมภาพและคำไม่กี่นาทีกระทบใจคนวงนอกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ?

อาจเป็นเพราะภาพและคำดังกล่าวโดยตัวมันเองถ่ายทอดโศกนาฏกรรมของมนุษย์ได้อย่างกระชับและเรียบง่าย ในขณะเดียวกันเนื้อหาคงตรงจริตผู้รับ แน่นอนว่าการสื่อสารที่ได้ผลย่อมมีส่วนจากการฝึกฝนทางปัญญาของผู้พูดและเหตุที่ผู้รับจับเนื้อหาที่ส่งมาได้คงเป็นเพราะความทรงจำอันแปลกแยกนี้แม้ถูกบังคับให้ลืมแต่มันก็ดิ้นรนปรากฏอยู่ในที่ทางบางแห่งและอยู่รอดตกทอดถึงบุคคลที่ห่างเวลาและไกลออกไปได้เข้าถึงและฝังเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของพวกเขาแม้มันจะแปลกแยกจากความทรงจำแบบฉบับก็ตาม

...ความทรงจำแปลกแยกนี้อยู่รอดและสืบทอดได้อย่างไร?

สังคมคงจะไม่ได้ประกอบขึ้นมาด้วยความทรงจำแบบฉบับเพียงอย่างเดียว เรื่องเล่าทั้งหลายย่อมมีทั้งเรื่องหลักและเรื่องรอง กระทั่งมีเรื่องโลดโผนหรืออัปลักษณ์จนยากจะรับ ขอเพียงมีที่ทางอยู่บ้างแม้เรื่องกระแสรองดูเหมือนจะจางหายไปแต่ประวัติศาสตร์ของกระบวนการปะทะ-ตีความ-สร้างใหม่ของเรื่องเล่าแสดงให้เห็นชัดว่าไม่มีเรื่องเล่าใดครองได้ทุกพื้นที่และอยู่เหนือกาลเวลา ทุกเรื่องเล่าไม่ว่าหลักหรือรองกระทั่งเรื่องนอกกระแสล้วนมีโอกาสปะปนพลิกกลับสับเปลี่ยนสถานะและความสำคัญของตนเองภายใต้เงื่อนไขหนึ่ง ๆ เสมอ

การต่อสู้เรื่องความทรงจำจึงมีมิติอื่นพ้นไปจากเรื่องของการชนะกันด้วยกำลัง ในทางกลับกันการเอาชนะกันด้วยกำลังต่างหากมีฐานมาจากความทรงจำ

การต่อสู้เรื่องความทรงจำจึงมีมิติที่หลากหลายและไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงเรียงลำดับ ในทางกลับกันการไม่มีลักษณะของเงื่อนไขเบื้องต้นว่าต้องกระทำสิ่งใดก่อนหลังต่างหากคือธรรมชาติของการต่อสู้เรื่องความทรงจำ

ด้วยเหตุนี้ แม้มันสมองที่ดีที่สุดในโลกก็คงไม่อาจกำหนดได้ว่าในการต่อสู้นี้ใครควรทำอะไร เช่นใด เมื่อไร?

ความยุติธรรม ความจริงและความทรงจำ

ความยุติธรรมทำงานบนฐานความจริง ทว่าความจริงนั้นเป็นสมมติร่วมชนิดหนึ่ง

ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวแต่ยังขึ้นอยู่กับการรับรู้และยอมรับของสังคมด้วยว่าเรื่องใดเป็นความจริงของพวกเขา ถ้าสังคมปฏิเสธ หลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฎก็กลายเป็นเพียงสัญญะที่ไร้ความหมาย

การสร้างความยุติธรรมจึงไม่ได้มีเฉพาะมิติของการแสวงหาความจริง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการกำหนดว่าอะไรเป็นความจริงสูงสุด แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจร่วมระหว่างผู้พูด-ผู้ชม

สิ่งที่คนไม่จำหรือจำไม่ได้จะนับเป็นความจริงได้หรือไม่? สิ่งที่กระทั่งการมีอยู่ของมันยังไม่เป็นที่รับรู้จะสามารถกลายเป็นความจริงได้หรือไม่? หากทุกคนตื่นมาแล้วลืมเรื่องที่เกิดที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาฯ จนหมดสิ้น “ความจริง” ของเรื่องในวันนั้นคืออะไร? ใช่หรือไม่ว่าความจริงมิใช่อะไรอื่นนอกจากความทรงจำร่วม

ใช่หรือไม่ว่า ความจริงเป็นเรื่องของความทรงจำมากกว่าหลักฐาน หลักฐานเป็นเพียงเครื่องช่วยจำมิใช่ความจริงในตัวมันเอง

ใช่หรือไม่ว่า ความจริงในโลกนี้จำนวนมาก “จริง” เพราะคน “จำ” ไม่ใช่จริงเพราะปรากฎหลักฐาน

ถ้าต้องการให้สังคม “จำ” อะไรบ้างพอจะเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชนที่ไม่มีกำลังบังคับของอำนาจรัฐและพลังโฆษณาของอำนาจทุน?

ศิลปะ? วิชาการ?

ด้วยสถานะนำในสังคมร่วมกับลักษณะเฉพาะทางเทคนิคที่สามารถใช้รูปแบบถ่ายทอดเนื้อหาได้หลากหลายกว้างขวางส่งผลสะเทือนได้ลึกซึ้ง ศิลปะและวิชาการน่าจะสามารถเป็นเครื่องมือในการสร้าง/รักษาความทรงจำบางประเภทไว้เพื่อสะสมก่อรูปเป็นความทรงจำร่วมในสังคมก่อนจะนำไปสู่การต่อสู้ชิงสำนึกแบ่งแยกความจริงในขั้นต่อไป

ถ้าศิลปะและวิชาการสามารถเป็นเครื่องมือสร้างความจริงร่วมซึ่งน่าจะเป็นก้าวแรกไปสู่ความยุติธรรมได้แล้วล่ะก็...

ศิลปะที่ไม่ปะทะโดยตรงกับอำนาจขั้วตรงข้ามความทรงจำที่ต้องการเก็บรักษาไว้?

วิชาการบนหอคอยงาช้างที่ไม่ปลุกเร้าผู้คนไปปะทะกับอำนาจโดยตรง?

เป็นไปได้ไหมว่า หากหอคอยงาช้างนี้เข้มแข็งพอมันอาจทำหน้าที่เป็นหนามความทรงจำที่คอยสะกิดให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของจมูกที่บิดเบี้ยวบนใบหน้าเพื่อรอวันเยียวยาได้...แม้มันจะตั้งอยู่เงียบ ๆ เป็นที่รับรู้ในวงจำกัดและหลายครั้งหลายคราดูเหมือนมันจะโผล่ผิดกาละเทศะในสายตาใครบางคน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท