หอภาพยนตร์ประกาศ 25 หนังไทย ขึ้นทะเบียนมรดกชาติ

25 ภาพยนตร์มรดกของชาติ ครั้งที่ 5  สะท้อนเรื่องราวหลากหลายมิติ ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม รักแห่งสยาม บ้านผีปอบ ซัตเตอร์ เรื่องตลก 69 สุริโยไท บางระจัน และหนังต้านภัยคอมมิวนิสต์ ขึ้นทะเบียน

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2558 ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thai Film Archive (หอภาพยนตร์) ได้มีการประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 25 เรื่อง ที่ได้รับการจดทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องมาทุกปีในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย โดยหอภาพพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการประกาศให้วันที่ 4 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ซึ่งวันที่ 4 ต.ค. 2508 ที่สถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรม ได้มีการประมีการประชุมของคณะอนุกรรมการการสื่อสารมวลชน ในคณะกรรมการชาติว่าด้วยองค์การยูเนสโกแห่งประเทศไทย  ซึ่งมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงเป็นประธานหัวข้อสำคัญที่สุดคือ เรื่องที่คณะอนุกรรมการมีมติเสนอแนะให้หอสมุดแห่งชาติ เปิดแผนกเก็บฟิล์มภาพยนตร์ ในฐานะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่มีผลสำเร็จแต่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงเจตนาสาธารณะอย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้มีการอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทย หอภาพยนตร์จึงได้ถือกำหนดและประกาศให้วันที่ 4 ต.ค.  เป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย โดยริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554

สำหรับรายชื่อภาพยนตร์ 25 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 5 พร้อมคำบรรยาย ประกอบด้วย

1. ภารกิจทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2461

ภาพยนตร์บันทึกกิจวัตรของกองทหารอาสาสยามที่ไปร่วมรบในสงครามโลก ครั้งที่ 1 ที่ประเทศฝรั่งเศส นับตั้งแต่เดินทางไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศส ไปจนถึงการเดินทางไปประจำการตามสถานที่ต่าง ๆ และการฝึกอบรมหน้าที่ตามภารกิจ นับเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ของกองทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นภาพอันมีชีวิตชีวาแทนตัวทหารผ่านศึกผู้ล่วงลับทั้งหลายเหล่านั้นตลอดไป

2. เด็กซนสมัย ร.7 พ.ศ. 2470 – 2475

ภาพยนตร์นิรนามที่ถ่ายทำในราวปี 2470–2475 บันทึกภาพเด็ก ๆ ชายหญิง อายุราว 3-4 ขวบ ถึง 10 ขวบกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแสดงการละเล่น เช่น มอญซ่อนผ้า และท่าทางจากหนังฝรั่ง ที่สะท้อนให้เห็นว่าภาพยนตร์มีอิทธิพลอย่างใดและเพียงไรต่อวิถีชีวิตของคนและสังคมในสมัยนั้น ทั้งเป็นตัวอย่างอันหาได้ยากยิ่งของภาพยนตร์ที่บันทึกให้เห็นพฤติกรรมการเล่นซนหรือการเล่นอวดของเด็กไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ไม่อาจบรรยายให้เห็นได้เลยด้วยภาษาพูดเขียนหรือภาพนิ่ง

3. พันท้ายนรสิงห์ พ.ศ. 2493 บริษัทสร้าง อัศวินภาพยนตร์ ผู้กำกับ มารุต

สร้างจากบทละครเวทีของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งเป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมระหว่างสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ ๆ โดยเล่าเรื่องที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลพระเจ้าเสือ กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อเป็นภาพยนตร์ก็ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนผู้ชมทั่วประเทศ นับเป็นภาพยนตร์ที่เป็นประวัติการณ์ และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความเชื่อของผู้คนทั่วไปในสังคมไทย

4. ทหารไทยไปเกาหลี พ.ศ. 2494 – 2495 ผู้สร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ ผู้สร้าง ปรเมรุ

ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ ที่สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ ให้ผลิตขึ้นสำหรับเผยแพร่สู่ประชาชนไทย เพื่อให้เห็นเหตุผลที่ประเทศไทยต้องส่งกองกำลังอาสาสมัครเข้าร่วมสงครามเกาหลี ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2493-2496 และส่งผลให้เกิดการแบ่งประเทศเกาหลีเป็นสองประเทศ เป็นตัวอย่างของภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามเย็นของโลก และเป็นเอกสารหรือหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยกับสงครามเกาหลีที่มีค่าในการศึกษาชิ้นหนึ่ง

5. มรดกพระจอมเกล้า (HERITAGE FROM KING MONGKUJ) พ.ศ. 2497 อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน ผู้สร้าง ปรเมรุ

ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ของสำนักข่าวสารอเมริกัน ที่เข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ในช่วงสงครามเย็นโดย ให้ม.จ. ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล พระโอรสของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นผู้กำกับไทยมืออาชีพเป็นผู้กำกับ เนื้อเรื่องว่าด้วยสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณกาล ย้อนไปจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ผ่านหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีคือ หมอบรัดเล เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยเห็นถึงคุณงามความดีและความเป็นมิตรของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทยมาช้านาน ตั้งแต่ครั้งยังใช้ชื่อว่า “สยาม”

6. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช พ.ศ. 2499 อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน ผู้สร้าง พิฆเนศภาพยนตร์

สารคดีบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 จนกระทั่งลาผนวชในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ถ่ายทำโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน เพื่อเผยแพร่พระราชจริยวัตรในขณะที่ทรงผนวชให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นตัวอย่างในการเป็นพุทธมามกะที่ดีให้แก่ปวงชนชาวไทย 

7. โฆษณาพระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500 อำนวยการสร้าง กระทรวงมหาดไทย

ภาพยนตร์โฆษณาที่กระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลิตขึ้นเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนเช่าพระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่จัดสร้างมาจำนวนมากหลายล้านองค์ เพื่อเรี่ยไรเงินรายได้ไปสมทบทุนสร้างพุทธมณฑล เป็นพุทธบูชาและเป็นถาวรสถานใหญ่ให้เป็นหลักหมายของกึ่งพุทธกาล ถ่ายทำโดยสำนักงานโฆษณาสรรพสิริ นับเป็นเอกสารหลักฐานชิ้นหนึ่งในการวัดระดับความเลื่อมใสศรัทธาและระดับการเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของสังคมไทย

8. ทะโมนไพร พ.ศ. 2502 ผู้สร้าง ธำรง รุจนพันธุ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ บุญรัตน์ ชัยวิเศษ

หนังไทยที่สร้างโดยคนท้องถิ่น จังหวัดนราธิวาส โดยใช้ฉากสถานที่ในท้องถิ่น และเพื่อนฝูงญาติมิตรเป็นผู้แสดง แล้วนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง นับเป็นตัวอย่างอันหาได้ยากยิ่งของภาพยนตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งในอดีตแทบทุกจังหวัดมักมีผู้ที่รับถ่ายภาพยนตร์บันทึกงานพิธีกรรมต่าง ๆ คิดและจัดการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง แล้วนำออกฉายดูกันในจังหวัดตนและจังหวัดใกล้เคียงทำนองเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง ทะโมนไพร นี้

9. การปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและผู้นำทางทหารจนถึงล้มป่วยและอสัญกรรมของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2506 อำนวยการสร้าง กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป. กลาง)

สร้างขึ้นหลังจากการอสัญกรรมของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ไม่นานนัก เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณงามความดีของ ฯพณฯ ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นงานบันทึกอารมณ์ที่มีกระแสสูงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติ และเป็นเอกสารแห่งความทรงจำที่ไม่อาจบันทึกด้วยสื่ออื่นๆ ให้รู้สึกได้ดีเท่าภาพยนตร์

10. ยุทธนา-ศิริพร YUTHANA UND SIRIPON MONCH AUF ZEIT พ.ศ. 2506 อำนวยการสร้าง Hans Berthel

สร้างโดย ฮันส์ เบอร์เทล ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวเยอรมัน บันทึกภาพสถานที่สำคัญ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในเมืองกรุงราวปี 2506 ผ่านตัวละครหนุ่มสาวคู่รักชื่อ ยุทธนา และ ศิริพร โดยมี แท้ ประกาศวุฒิสาร
ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ช่วยประสานงาน เมื่อถ่ายทำเสร็จได้ออกฉายทางโทรทัศน์ของเยอรมนี โดยมีเสียงบรรยายภาษาเยอรมันตลอดทั้งเรื่อง นับเป็นบทบันทึกของยุคสมัยที่สื่อใดก็ไม่อาจฉายภาพได้เด่นชัดเท่ากับที่ปรากฏในภาพยนตร์

11. สายเลือดเดียวกัน (THE SPREAD OF KINSHIP) พ.ศ. 2509-2511 อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ

ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของสำนักข่าวสารอเมริกัน และเป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ พิศาล อัครเศรณี โดยเนื้อหาได้จำลองเหตุการณ์ให้เห็นถึงความโหดร้ายและวิธีการแทรกซึมเข้ามาในหมู่บ้านของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งมีฉากซึ่งแสดงให้เห็นถึงยุทธวิธีที่รัฐนำการแสดงพื้นบ้านมาปรับใช้ในการสื่อสารกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าถึงการชวนเชื่อได้ดียิ่งขึ้น นับเป็นตัวอย่างภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่สำคัญที่ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทยในยุคสมัยหนึ่งได้เป็นอย่างดี

12. ชู้ พ.ศ. 2515 ผู้สร้าง เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์

ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องที่มีตัวละครนำอยู่เพียง 3 ตัวละคร ที่ไม่ใช่เป็นแค่ตัวแทนความดีชั่วแบบพระเอกนางเอกและตัวร้าย ทั้งยังพยายามตั้งคำถามถึงศีลธรรมของมนุษย์ ซึ่งแตกต่างไปจากภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น โดยได้รับรางวัลพิเศษในฐานะภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาโดดเด่นแปลกแหวกแนว ในมหกรรมภาพยนตร์ เอเซีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 19 นับเป็นตัวอย่างอันหายากของภาพยนตร์ไทย ที่ผู้สร้างมีเจตนาใช้ศิลปภาพยนตร์แสดงธรรม ว่าด้วยกิเลส ตัณหา ราคะ ความโลภ และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

13. วัยตกกระ พ.ศ. 2521 บริษัทผู้สร้าง นครพิงค์โปรดักชั่น ผู้กำกับ ชนะ คราประยูร

ถึงเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีความกล้าหาญที่จะแสดงเรื่องของคนแก่หรือผู้สูงอายุ ให้เป็นตัวหลักของเรื่อง และเป็นครั้งแรกที่คนแก่มีพื้นที่ในการสื่อสารเรื่องของตัวเองบนจอหนังไทย โดยสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการสร้างภาพยนตร์ไทยออกฉายเป็นจำนวนมากกว่าปกติ ทั้งยังมีเรื่องราวแปลกใหม่หลากหลายกว่าที่เคยสร้างกันมา

14. เงาะป่า พ.ศ. 2523 ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์

เรื่องแรกและเรื่องเดียวที่สร้างจากบทละครร้องพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “เงาะป่า” โดยเป็นผลงานการกำกับร่วมกันระหว่างผู้กำกับคนสำคัญต่างยุคสมัย คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และ เปี๊ยก โปสเตอร์ เพื่อถ่ายทอดบทละครร้องและรำซึ่งเป็นภาษานาฏศิลปะแบบประเพณี ให้ออกมาเป็นภาษาภาพยนตร์ไทยสมัยใหม่ จนเกิดเป็นภาพแทนอันมีชีวิตชีวาเสมือนมีตัวตนจริงของตัวละครที่เคยมีอยู่แต่ในจินตนาการจากบทพระราชนิพนธ์

15. ประชาชนนอก (ON THE FRINGE OF SOCIETY) พ.ศ. 2524 ผู้สร้าง สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ผู้กำกับ มานพ อุดมเดช

ภาพยนตร์ที่สร้างโดย สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคม โดยกลั่นกรองเรื่องราวจากประสบการณ์ของคนใกล้ตัว ทั้งจากชีวิตจริงของพ่อและแม่ของผู้กำกับ คือ มานพ อุดมเดช ฉายครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับความสนใจจากนักศึกษา นักวิชาการเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังได้รับเชิญไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศหลายแห่ง นับเป็นผลงานสะท้อนปัญหาสังคมเรื่องสำคัญที่ปรากฏในโลกภาพยนตร์ไทย

16. เพื่อน-แพง (PUEN-PAENG) พ.ศ. 2526 บริษัทสร้าง เชิดไชยภาพยนตร์ ผู้กำกับ เชิด ทรงศรี

ดัดแปลงขึ้นจากเรื่องสั้นแนวลูกทุ่งเรื่อง “เพื่อน-แพง” ของ ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) บอกเล่าตำนานรักสามเส้าแห่งท้องทุ่ง ระหว่าง ลอ ชายหนุ่มผู้ผิดคำสาบาน กับ เพื่อน และ แพง สองพี่น้องผู้มีใจรักชายคนเดียวกัน และได้สอดแทรกวิถีชีวิตชาวไทยในช่วงประมาณ พ.ศ. 2476 เอาไว้อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะด้านการบันเทิงและมหรสพซึ่งหล่อเลี้ยงจิตใจของบรรพชนไทยมาก่อนหน้า นับเป็นผลงานอันมีเลือดเนื้อและตอกย้ำให้เห็นถึงความรักความชื่นชมและความเข้าใจในความเป็นไทยอย่างลึกซึ้งของ เชิด ทรงศรี ผู้กำกับผู้เป็น “จ้าวแห่งหนังไทยลูกทุ่ง”

17. ด้วยเกล้า พ.ศ. 2530 บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี โดยเชื่อมโยงเรื่องราวความยากลำบากของชาวนา ความเอารัดเอาเปรียบของนายทุน และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อชาวนาผ่านโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ได้อย่างประณีต พิถีพิถัน เป็นธรรมชาติ และเป็นเนื้อเดียวกันไปกับภาพยนตร์ นับเป็นตัวแทนของวงการภาพยนตร์ไทยที่ทำขึ้นเพื่อถวายความจงรักภักดีและบูชาน้ำพระราชหฤทัยของพระราชาผู้ทรงเป็นพลังของแผ่นดิน

18. บ้านผีปอบ 2 พ.ศ. 2533 บริษัทสร้าง กรุ๊ฟโฟร์โปรดักชั่น ผู้กำกับ ศรีสวัสดิ์

เป็นการผสมผสานระหว่างหนังผีกับหนังตลกไว้ด้วยกัน ซึ่งสร้างปรากฏการณ์การเป็นหนังระดับรอง ทุนสร้างไม่สูง เน้นฉายโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัด แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูงจนสามารถเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ชั้นนำในกรุงเทพได้ โดยบ้านผีปอบ ภาค 2 เป็นภาคแรกที่มีตัวละครปอบหยิบ ซึ่งเป็นตัวละครผีหลักในภาพยนตร์ชุดนี้ไปจนจบ รับบทโดย ณัฐนี สิทธิสมาน โดยท่าจีบมือของปอบหยิบ รวมทั้งฉากการวิ่งหนีด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ ได้กลายเป็นภาพจำของผู้คน จนกระทั่งสามารถสร้างภาคต่อได้ถึง 13 ภาค ในช่วงเวลา 5 ปี

19. เรื่องตลก 69 (6ixtynin9) พ.ศ. 2542 บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง

หนังแนวตลกร้ายที่เล่าเหตุการณ์ในภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำยุคฟองสบู่แตกหรือวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2540 ผ่านเรื่องราวของสาวออฟฟิศคนหนึ่งที่ถูกปลดออกจากงาน และเจอกล่องใส่เงินสดจำนวนมหาศาลมาวางไว้หน้าห้องพักโดยบังเอิญ นับเป็นผลงานแห่งยุคสมัยที่ช่วยปลุกวงการหนังไทยซึ่งขณะนั้นกำลังสลบไสลให้ฟื้นตื่นขึ้นมาพบเจอทิศทางใหม่ ๆ ในโลกภาพยนตร์ นับเป็นเอกสารบันทึกเรื่องราว ความรู้สึก หรืออารมณ์ของสังคมไทย ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตกและโรคต้มยำกุ้ง ที่มีชีวิตชีวาที่สุด ซึ่งไม่อาจรับรู้ได้จากสื่ออื่นๆ

20. บางระจัน (BANG-RAJAN The legend of the Village Warriors) พ.ศ. 2543 บริษัทสร้าง ฟิล์มบางกอก ผู้กำกับ ธนิตย์ จิตนุกูล

บอกเล่าตำนานวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันที่คนไทยรู้จักกันดีในฐานะภาพแทนของความสมัครสมานสามัคคีอุทิศตนต่อสู้กับศัตรูที่เข้ามารุกราน โดยเพิ่มอรรถรสให้ตัวละครนำซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาทั้ง 11 คนมีมิติมากยิ่งขึ้น และคัดเลือกนักแสดงให้ละม้ายคล้ายกับตัวละครนั้น ๆ มากที่สุด นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งด้านรายได้และรางวัล

21. สุริโยไท (THE LEGEND OF SURIYOTHAI) พ.ศ. 2544 บริษัทสร้าง พร้อมมิตรภาพยนตร์ ผู้กำกับ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ภาพยนตร์ระดับปรากฏการณ์ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์พงศาวดารในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระสุริโยไท พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์จนถึงวีรกรรมซึ่งยอมสละชีพแทนพระสวามีในสงครามยุทธหัตถีกับกองทัพพม่า นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวได้ในรูปแบบของภาพยนตร์ และช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ของชาติ จนได้รับการการขนานนามว่าเป็น ภาพยนตร์แห่งสยามประเทศ

22. 15 ค่ำ เดือน 11 (MEKHONG FULL MOON PARTY) พ.ศ. 2545 บริษัทสร้าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส, หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม ผู้กำกับ จิระ มะลิกุล

สร้างจากตำนานพื้นบ้านกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นในคืนวันออกพรรษาของทุกปี และเป็นที่ขึ้นชื่อมากในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดยหยิบเอาเรื่องราวของชุมชนพื้นบ้านมาเล่าในแง่ของความเชื่อบางประการ และตั้งคำถามระหว่างการทำสิ่งที่ถูกต้องกับทำสิ่งหลอกลวง เมื่อออกฉายได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่รู้ถึงสาเหตุของการเกิดบั้งไฟพญานาค จนเกิดการหาข้อพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงนับเป็นภาพยนตร์ที่ดีเรื่องหนึ่ง ที่สมควรส่งเสริมให้ผู้คนได้เรียนรู้ผ่านภาพยนตร์

23. องค์บาก (ONG-BAK) พ.ศ. 2546 บริษัทสร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, บาแรมยู ผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว

ภาพยนตร์ประเภทศิลปะการต่อสู้แบบไทย ที่มีเอกลักษณ์และเป็นเอกภาพ รวมทั้งมีฉากแอ๊กชั่นที่น่าตื่นตาตื่นใจตลอดทั้งเรื่อง โดยเกิดจากการผสมผสานความสามารถเฉพาะทางของทีมงานสร้างและนักแสดงนำได้อย่างลงตัว นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์โลก และเป็นความตื่นตาตื่นใจของแฟนภาพยนตร์ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำตลอดไป

24. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (SHUTTER) พ.ศ. 2547 บริษัทสร้าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส, จีเอ็มเอ็ม ไท หับ, ฟีโนมีนา โมชั่น พิคเจอร์ส

หนังไทยแนวสยองขวัญที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังผีไทยที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่ง โดยนำเรื่องราวของรูปถ่ายติดภาพวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องลี้ลับยอดนิยมของผู้คนในสังคมมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง และซ่อนเงื่อนคลายปมอย่างชาญฉลาดด้วยบทภาพยนตร์ที่แข็งแรงกว่าหนังผีไทยเรื่องอื่น ๆ ที่เคยมีมา จนส่งผลให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นผลงานที่ปักธงหนังผีไทยให้เป็นที่รู้จักในแผนที่ภาพยนตร์โลกอย่างแท้จริง

25. รักแห่งสยาม (THE LOVE OF SIAM) พ.ศ. 2550 บริษัทสร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, บาแรมยู ผู้กำกับการแสดง ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

ดูเหมือนเป็นภาพยนตร์รักวัยรุ่นใส ๆ แต่เนื้อหากลับพลิกความคาดหวังกลายเป็นเรื่องของครอบครัวที่มีบาดแผลจากการหายตัวไปของสมาชิกในบ้าน ทั้งยังนำเสนอความสับสนในเพศวิถีของตัวละคร แต่ท่ามกลางกระแส
การวิพากษ์วิจารณ์ กลับมีผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้จำนวนมากจนเกิดการรวมตัวเป็นแฟนคลับ นับเป็นภาพยนตร์ที่ทั้งสะท้อนอารมณ์ร่วมของยุคสมัยและสร้างกระแสความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นในสังคมไทย ในระดับทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสถาบันต่างๆ ที่จัดประกวดในปีนั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท