Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยื่นเรียกร้อง รบ. - ยูเอ็น ให้ความช่วยเหลือต่อคนไร้บ้าน เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก พร้อมติดตามการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินภาคประชาชน

5 ต.ค.2558 เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ที่หน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนราชดำเนิน เครือข่ายสลัม 4 ภาค นำโดยจำนง หนูพันธ์ ประธานเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านทาง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงซึ่งดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนจน รวมถึงขอให้รัฐบาลอนุมัตินโยบายและงบประมาณสำหรับคนเร่ร่อนไร้บ้าน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่จนที่สุดของเมือง นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลอนุมัติการอุดหนุนระบบสาธารณูปโภคในโครงการของรัฐ ให้รัฐบาลอุดหนุนการวางระบบประปาและไฟฟ้าส่วนต่อขยายฟรีในโครงการที่อยู่อาศัยที่ดำเนินการโดยรัฐ อีกทั้งขอให้มีการแต่งตั้งกลไกคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนที่ถูกไล่รื้อ เพื่อประสานงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหา  ทั้งนี้รัฐบาลต้องเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดการพัฒนาและการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ยังรายงานด้วยว่า เครือข่ายดังกล่าวยังได้เดินทางมาบริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เพื่อหนังสือถึง นายบัน กี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นโดยมี นายเลียม ฟี เจ้าหน้าที่ยูเอ็นในประเทศไทย เป็นตัวแทนรับ โดยเรียกร้องให้ยูเอ็น กระตุ้นรัฐบาลไทย ให้ความช่วยเหลือต่อคนไร้บ้าน เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก

รวมทั้งเครือข่ายฯ ได้มาติดตามผลการแก้ปัญหา และรับฟังการแถลงนโยบาย ตามข้อเสนอดังกล่าว และได้ร่วมกันระดมทุนจากชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ และบุคคลทั่วไป เพื่อจัดตั้ง “กองทุนธนาคารที่ดินภาคประชาชน” ขึ้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และจะมีมาตรการในการติดตามผลการแก้ปัญหาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จนกว่าคนจนจะมีหลักประกันในที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย 

สำหรับแถลงการณ์ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่าเนื่องด้วยในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้นานาประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัย และหามาตรการในการแก้ปัญหา เครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานของคนจนเมืองที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด และคนเร่ร่อนไร้บ้านทั่วทุกภูมิภาค เป็นองค์กรภาคประชาชน ที่ดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตคนจนเมือง มาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวาระวันที่อยู่อาศัยโลก มาตั้งแต่ปี 2544 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  

จากการทำงานของเครือข่ายสลัม 4 ภาค พบว่ามีชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ไล่รื้อ จำนวน 86 ชุมชน 8,100 ครอบครัว 34,000 คน อันเนื่องมาจากโครงการ  การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งรถไฟฟ้า  รถไฟความเร็วสูง  การขยายทางคู่  ที่มีแผนการก่อสร้างในทุกภาคของประเทศไทย โครงการการจัดการน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มใน 9 คลองหลัก  และในพื้นที่เอกชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการพัฒนาของรัฐ ส่งผลให้เป็นพื้นที่เปิดเหมาะแก่การลงทุน เช่น การสร้างคอนโดมีเนียม เป็นต้น โครงการพัฒนาเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมทางรถไฟ ริมคลอง และในพื้นที่เอกชน ต้องถูกไล่รื้อ  ถูกรื้อย้ายชุมชน ถูกแย่งชิงที่ดินไปให้กับการพัฒนาที่ไม่รับผิดชอบต่อคนจน และอาจต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยในอนาคต ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงชุมชนในชนบทที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จากแผนพัฒนาของรัฐ เช่น แผนแม่บทป่าไม้ – ที่ดิน การให้สัมปทานขุดเจาะทำเหมืองแร่ การสร้างโรงไฟฟ้า ที่กำลังทำให้คนในชนบทต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย เป็นจำนวนมาก

แถลงการยังระบุอีกว่า โครงการพัฒนาของรัฐที่เกิดขึ้น เป็นการเอื้ออำนวยต่อการลงทุนของกลุ่มทุนทั้งในประเทศ และทุนข้ามชาติ แต่ส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจน คนในพื้นที่ ต้องประสบกับสภาวะการไร้ที่อยู่อาศัย  ครอบครัว และชุมชนต้องล่มสลาย โดยไม่มีกลไก มาตรการ หรือนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับประเทศ และในท้องถิ่นของตนเอง    

โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการในทางมาตรการ และนโยบายเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหามาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี  โดยมีข้อเสนอดังนี้

1. ด้านการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

1.1  ให้รัฐบาลสนับสนุน โครงการบ้านมั่นคง ที่ดำเนินการโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนจนเมืองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสร้างหลักประกันในด้านที่อยู่อาศัยของคนจน

1.2  ให้รัฐบาลอนุมัตินโยบายและงบประมาณ สนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนเร่ร่อนไร้บ้าน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่จนที่สุดของเมือง  ที่ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์

1.3  ให้รัฐบาลอนุมัติการอุดหนุนระบบสาธารณูปโภคในโครงการของรัฐ   ให้รัฐบาลอุดหนุนการวางระบบประปา และไฟฟ้า ในส่วนต่อขยายฟรี  ในโครงการที่อยู่อาศัยที่ดำเนินการโดยรัฐ

1.4  ให้มีการแต่งตั้งกลไกคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนที่ถูกไล่รื้อ  เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา  เพื่อเป็นกลไกในการลดความรุนแรง และคลี่คลายปัญหาในเบื้องต้น 

1.5 โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่กระทบต่อคนจน และคนจำนวนมาก   รัฐบาลต้องเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการกำหนดการพัฒนา และการแก้ปัญหา  และต้องมีการอนุมัติงบประมาณในการแก้ปัญหาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาไว้อย่างชัดเจน

2. ด้านการแก้ปัญหาที่ดิน และรับรองสิทธิ์การถือครองอย่างเป็นธรรม และยั่งยืน

2.1  ให้ตั้งคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องการจัดให้มีโฉนดชุมชนโดยเร่งด่วน และจัดให้มีการประชุม  เพื่อเดินหน้าทำงานให้คนจนมีหลักประกันในที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย

2.2  ทบทวน และปรับปรุงการดำเนินการตามแผนแม่บทป่าไม้-ที่ดินของรัฐบาล เนื่องจากส่งผลกระทบต่อคนจนต้องถูกขับไล่ ถูกดำเนินคดี ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย

 2.3   ให้เร่งรัดนำโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน จำนวน 4 พื้นที่ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติงบประมาณดำเนินการตามโครงการนำร่อง เพื่อสร้างหลักประกันในที่ดินทำกินให้กับชุมชน

3. การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการแทนตำแหน่งเดิม  เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ และสามารถตัดสินใจในเชิงนโยบายให้เกิดการแก้ปัญหาได้จริง

ภาพประกอบจาก ปกรณ์ อารีกุล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net