Skip to main content
sharethis

ประกาศผลประกวดหนังสั้น หัวข้อ ‘Living in Harmony : อยู่ร่วมในความต่าง’ เชื่อหนังสั้นเป็นสื่อทรงพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ฯ ชี้หนังสั้นยังมีแนวโน้มสะท้อนภาพสังคม-อคติเดิมๆ ทั้งนี้ ทีม 'NOWHERE’ ของนิสิตนิเทศ จุฬาฯ คว้าแชมป์ คกก.ระบุเป็นหนังสั้นเรื่องเดียวที่จบด้วยการตั้งคำถาม ไม่รู้สึกเหมือนถูกสอนอะไรบางอย่าง


รางวัลที่ 1-3 และรางวัลขวัญใจมหาชน ตามลำดับ

3 ต.ค. 2558  ณ โรงภาพยนตร์ House Rama RCA มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (path2health foundation) ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization Thailand) จัดประกวดหนังสั้นภายใต้หัวข้อ ‘Living in Harmony : อยู่ร่วมในความต่าง’ จาก 10 เรื่อง 10 ทีมสุดท้าย

ภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวเปิดงานและอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ‘Living in Harmony : อยู่ร่วมกันในความต่าง’ ว่า หวังว่าเยาวชนไทยจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นความหลากหลายที่เกิดในสังคม โดยเหตุที่เลือกเยาวชน เพราะว่าเยาวชนคือผู้ที่จะอยู่ในสังคมนี้ต่อไปในอนาคต พวกเขาควรได้ออกแบบสังคมในแบบที่พวกเขาอยากเห็น และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบหนังสั้น ซึ่งผู้จัดงานเชื่อว่าหนังสั้นจะเป็นสื่อที่ทรงพลัง และสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้

ตอนหนึ่งในวงเสวนาหัวข้อ “ความหลากหลาย เยาวชน และหนังสั้น จะสร้างการอยู่ร่วมกันได้อย่างไร” ชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หนังสั้นบางเรื่องเหมือนจะนำเสนอในรูปแบบการทำลายอคติเดิมๆเป็นหลัก แต่กลับกลายเป็นว่าไปตอกย้ำภาพเดิมของเรื่องนั้นๆ โดยใช้พื้นที่ไป 80 เปอร์เซ็นของหนังโดยไม่รู้ตัว ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นที่เหลือเป็นจุดคลายอคติหรือจุดเปลี่ยนความคิดของเรื่อง ซึ่งมันอาจส่งผลให้สังคมตอกย้ำความคิดแบบเดิม และจากการสังเกตแนวโน้มหนังสั้นที่ส่งเข้าประกวดหนังหลายๆ เรื่อง พบว่ามักเป็นหนังที่เล่าเรื่องในแบบเดิมๆ เช่นถ้าเป็นเรื่องของแรงงานก็จะเป็นพม่า การจับคู่ความขัดแย้งทางศาสนาก็จะเป็น พุทธ-อิสลาม

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ตัวแทนเยาวชน จากกลุ่ม Youngfilm หนึ่งในคณะกรรมการโครงการฯ กล่าวในวงเสวนาหัวข้อ “ความหลากหลาย เยาวชน และหนังสั้น จะสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างไร” ว่า เมื่อเยาวชนได้เข้ามาทำหนังซึ่งไม่ได้อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้เขาได้พูดในสิ่งที่ต้องการจะพูด และในประเด็นการยอมรับใครสักคนที่ต่างจากเราเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หนังสั้นในโครงการนี้ทำให้เห็นว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความเมตตาหรือการยอมรับ เราไม่ควรวัดว่าเราปฏิบัติอย่างไรกับคนที่เหมือนกับเรา แต่ควรวัดว่าเราปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ต่างจากเรามากกว่า
 
“ผมคิดว่าการอยู่ร่วมบนความต่างเราคงไม่ได้เห็นเร็วๆ นี้ แต่เชื่อว่าหนังที่เยาวชนทำกันในครั้งนี้จะช่วยย่นระยะเวลาการยอมรับเหล่านั้นให้สั้นลงได้” เปรมปพัทธกล่าว

จากการประกวดหนังสั้น ทีม 'NOWHERE’ น.ส.จิดาภา รัตน โสภินสวัสดิ์ และ น.ส.ฐานิสรา เพ็ชรรื่น นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดหนังสั้น ในโครงการ “Living in Harmony : อยู่ร่วมในความต่าง” ด้วยชื่อ “โอเคอะเหรอ” ซึ่งเป็นเรื่องของตัวละครนำชายชื่อ “บิว” ทดสอบกล้องวิดีโอตัวใหม่ด้วยการบันทึกภาพ “แพน” เพื่อนผู้หญิงของเขามาตลอดทั้งวัน ตกกลางคืน ‘บิว’ เปิดดูวิดิโอทั้งหมด ทำให้เขาได้พบกับบางสิ่งที่ดูผิดปกติของ ‘แพน’

ตัวแทนคณะกรรมการให้ความเห็นในการคัดเลือกให้ทีม ‘NOWHERE’ เป็นผู้ชนะการประกวดหนังสั้นว่า เป็นหนังสั้นที่คนทำไม่ได้ให้คำตอบหรือทางออกอะไรเลย ไม่มีการเรียกร้องให้คิดตามตัวของหนัง ซึ่งมันเป็นการไม่ยัดเยียดข้อมูลแก่ผู้ชมให้รู้สึกเหมือนกำลังถูกสั่งสอน โดยหนังสั้นเรื่องนี้กลับเป็นการตั้งคำถามถึงผู้ชมว่าเราโอเคกับสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ หรือเปล่ากับคนเชื้อชาติพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชาที่อยู่รอบตัวเรา และเป็นเพียงกลุ่มเดียวจาก 10 กลุ่มที่เป็นเป็นหนังสั้นที่จบด้วยการทิ้งคำถามให้ผู้ชมกับไปคิดต่อเอาเอง

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่เรื่อง “หม่าเอ๊” โดยนายณัฐภัทร ไกรตรวจพล และนายณัฐพล ทะนะเบะ บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ เรื่อง “2…3000” โดยนายตฤณพัฒน์ คงรอด นายณัฐชา นิ่มนวล และนายพีรพัฒน์ รักงาม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชลราษฎร์อำรุง นอกจากนี้รางวัลหนังสั้นขวัญใจมหาชน ได้แก่เรื่อง “Behind the Harmony” โดยนายคณิน พรรคติวงษ์ และน.ส.พีรดา อธิคมบัณฑิตกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  สำหรับคณะกรรมการในการตัดสินครั้งนี้ ประกอบด้วย ชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน),เปรมปพัทร ผลิตผลการพิมพ์ จากกลุ่ม Youngflim,พิศาล แสงจันทร์ และทายาท เดชเสถียร จากรายการ ‘หนังพาไป’ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net