ยุคทองของข้าราชการไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 เห็นชอบอนุมัติกรอบตำแหน่งข้าราชการเพิ่มอีก 13,280 อัตรา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินสวัสดิการต่างๆ ของข้าราชการเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนในฐานะที่ติดตามแวดวงระบบราชการไทยก็ตกใจมิใช่น้อย เพราะเท่าที่ทราบมา ผู้บริหารสำนักงาน ก.พ. หลายท่านได้ยืนยันมาตลอดทั้งจากเอกสารและการสัมภาษณ์ ว่าจำเป็นต้องควบคุมอัตรากำลังคนภาครัฐ เพราะค่าใช่จ่ายเกี่ยวกับ “คน” มีสูงมาก หากไม่ลดค่าใช้จ่ายเรื่องคนก็จะไม่มีเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

ข้อมูลจากหนังสือที่ นร 1008.6/4 ลงวันที่ 18 กันยายน 2556 เรื่องมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557-2561) และบันทึกเสนอคณะรัฐมนตรีเรื่อง มาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2557-2561) ระบุชัดเจนว่า ช่วง พ.ศ. 2545 – 2555 ตัวเลขงบบุคลากร เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 23-30 แต่หากพิจารณา “ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่แฝงอยู่ในงบประมาณหมวดต่างๆ” เช่น เงินเบี้ยหวัด เงินช่วยเหลือข้าราชการ เงินเลื่อนขั้น เงินปรับวุฒิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าอบรมดูงาน ค่าเบี้ยประชุม ฯลฯ ตัวเลขจะเกินกว่าร้อยละ 40 ของงบประมาณรวม และไม่มีแนวโน้มจะลดลง

ในระบบราชการไทย มีอัตรากำลังคนในฝ่ายพลเรือนจำนวน 2.19 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นข้าราชการจำนวน 1.27 ล้านคน (1)โดยข้าราชการ 1 คนจะได้ประโยชน์ เช่น เงินเดือน เงินช่วยเหลือ เงินเลื่อนขั้น ค่ารักษาพยาบาลของบุคคลในครอบครัว ค่าเบี้ยเลี้ยงกรณีเดินทางไปราชการ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปอบรมดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เงินบำนาญ หากเป็นข้าราชการระดับสูงก็จะได้ค่าโทรศัพท์ เงินประจำตำแหน่ง เงินชดเชยแทนรถประจำตำแหน่ง ค่าเบี้ยประชุมต่างๆ การเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือกิจการของรัฐโดยตำแหน่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ข้าราชการระดับสูงยังมีโอกาสได้รับประโยชน์อื่นๆ ทางสังคม(2) เช่น การเป็นชนชั้นนำในสังคม การมีที่จอดรถพิเศษ โอกาสในทางเศรษฐกิจและการเมืองหลังเกษียณอายุราชการ การได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้ใต้บังคับบัญชา (มีเรื่องเล่าว่า “นักเรียนทุนฯ จบนอกบางคนมีหน้าที่เดินถือกระเป๋าให้กับผู้บริหารระดับสูง” หรือ “พอรถนายมาจอดหน้าสำนักงาน เราต้องรีบไปเปิดประตู และถือเอกสารให้ และกดลิฟต์ให้นาย”) เป็นต้น

ผลประโยชน์ข้างต้นเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว แม้จะมีการเกษียณอายุราชการไป แต่ก็จะมีการสรรหาคัดเลือกคนใหม่มาแทนในอัตราที่ว่างลง ดังนั้นรัฐจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ “คน” ไปจนกว่าจะมีการยุบเลิกอัตรา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มอัตรากำลัง หรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของข้าราชการ เพราะการเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคนจำนวน 2.19 ล้านคน ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายประจำขนาดใหญ่ที่รัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และส่งผลต่อโอกาสในการริเริ่มนโยบายอื่นๆ ที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนตอนเลือกตั้ง

ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มีเพียงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้นที่อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการ 300 อัตรา และพนักงานราชการ 170 อัตรา ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วนที่ดีเอสไอจะต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งหลายฝ่ายตีความว่าการอนุมัติ 470 อัตราดังกล่าวเป็นการให้รางวัลดีเอสไอที่ทำหน้าที่ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ดี

นอกจากอัตรากำลังแล้วรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันการปรับขึ้นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการทุกประเภทในอัตราร้อยละ 4 ผ่าน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการไทยมักเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ที่ออกในช่วงรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตามมติของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หรือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ออกในช่วงรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตามมติของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เหตุผลเพราะ

ประการแรก รัฐบาลทหารจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากข้าราชการ เพราะข้าราชการมีข้อมูลต่างๆ รู้กฎระเบียบ รู้ขั้นตอนและเทคนิคการบริหาร มีความเชี่ยวชาญในตำแหน่ง และมีประสบการณ์ในการบริหารมายาวนาน ดังจะเห็นได้จาก (1) การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ เช่น นายสมหมาย ภาษี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นางอรรชกา สีบุญเรือง เป็นต้น และ (2) การให้ข้าราชการพลเรือนมาร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติรวม 83 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ประการสอง ข้าราชการต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจกึ่งเบ็ดเสร็จที่จะผลักกฎหมายที่ตนเสนอได้ กฎหมายหลายฉบับที่ประกาศใช้ในยุครัฐบาลทหารแท้จริงแล้วมีการศึกษา ยกร่างและผลักดันมาอย่างยาวนานแต่สุดท้ายนักการเมืองไม่สนับสนุน ดังนั้น ในยุคที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ที่ฝ่ายข้าราชการเห็นสมควรให้ลุล่วงไปได้

นอกจากอัตรากำลังข้าราชการ 13,280 อัตรา และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแล้ว ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดตั้งกรมใหม่อีก 2 กรม คือ 1) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ และ2) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ และที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดตั้งอีก 1 กระทรวง 2 กรม รวม 3 หน่วยงาน คือ 1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2) กรมสำรวจและทำแผนที่พลเรือน และ3) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน

การเพิ่มจำนวนกระทรวงและกรม หมายถึง (1) รัฐขยายอำนาจไปในสังคมมากขึ้น (2) ตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มขึ้นได้แก่ ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี ซึ่งผูกโยงกับรถประจำตำแหน่ง เงินประจำตำแหน่ง ค่าโทรศัพท์ ค่าเบี้ยประชุม ห้องทำงานผู้บริหาร สวัสดิการอื่นๆ  (3) สำนักงานใหม่เกิดขึ้นซึ่งหมายถึงมีการตกแต่งอาคารสถานที่ใหม่ โต๊ะทำงาน เก้าอี้ ต้นไม้ ห้องประชุม เป็นต้น

หากเรามองข้าราชการในฐานะ “กลุ่มผลประโยชน์” เช่นเดียวกับที่เรามองกลุ่มชาวนา กลุ่มชาวสวนยาง กลุ่มผู้ประกอบการ/นักธุรกิจ กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ หรือกลุ่มแรงงาน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาให้ เราก็ปฏิเสธได้ยากเหลือเกินว่า ข้าราชการไทย เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูแลห่วงใยดีมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น และเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ระยะยาวที่ส่งผลต่อรัฐบาลในอนาคต

 

อ้างอิง

1. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. 2557. กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน 2556. กรุงเทพฯ: บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.
2. อรุณี สัณฐิติวณิชย์. 2555. ข้าราชการระดับสูงกับการปฏิรูประบบราชการในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ระงับการเผยแพร่)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท