ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 28 ก.ย.-4 ต.ค. 2558

พระ-ชาวบ้าน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ฯ สุดทนรวมตัวประท้วง ตร.จับโจรไม่ได้
 
(28 ก.ย.) ที่วัดเสริมนิมิต บ้านยาง ม.2 ต.บ้านยาง อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี พระปลัดถาวร ถาวโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดเสริมนิมิต พร้อมชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุกว่า 100 คนได้รวมตัวกันภายในบริเวณวัด พร้อมถือป้ายเขียนข้อความประท้วงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คีรีรัฐนิคม ที่ไม่สามารถติดตามจับกุมคนร้ายที่เข้าไปก่อเหตุลักทรัพย์ภายในวัดมาดำเนินคดีได้ 
 
พระปลัดถาวร ถาวโร เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีแก๊งตีนแมวบุกเข้ามาโจรกรรมทรัพย์สิน ที่เป็นเงินสดในตู้บริจาคต่างๆ ภายในวัดมามากกว่า 10 ครั้ง รวมแล้วเป็นเงินกว่า 300,000 บาท ทางวัดได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.คีรีรัฐนิคม ไว้ทุกครั้ง แต่คดีไม่มีความคืบหน้า ล่าสุด ทางคณะกรรมวัดได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ 8 ตัว เพื่อป้องกันการก่อเหตุ และเมื่อเวลา 08.00 น.ของวันที่ 28 กันยายน ได้เกิดเหตุอีกครั้งในขณะที่พระ และชาวบ้านกำลังทำพิธีทางศาสนาในวันพระบนศาลาการเปรียญ 
 
มีคนร้าย จำนวน 3 คน ลักลอบปีนเข้าทางห้องน้ำกุฏิเจ้าอาวาส โดยมีกล้องวงปิดได้จับภาพได้อย่างชัดเจน ทั้งใบหน้า และรูปพรรณสัณฐาน จำนวน 1 คน ซึ่งถือปืนเข้าไปในห้องที่เก็บของของวัด นอกจากนั้น ภาพจากกล่องวงจรปิดยังสมารถจับภาพคนร้ายได้อีก 1 คน ซึ่งใช้ใช้ถุงน่องคลุมศีรษะปิดปังใบหน้าเดินตามเข้ามา เมื่อเข้ามาคนร้ายได้ทำลายกล้องวงจรปิดเสียหายไป 3 ตัว หลังเข้าก่อเหตุได้หลบหนีไปอย่างลอยนวล โดยกลุ่มคนร้ายได้เงินสดที่เป็นกองทุนฌาปกิจศพไร้ญาติไป จำนวน 50,000 บาท โทรศัพท์มือถือ มูลค่า 5,000 บาท 1 เครื่อง 
 
หลังเกิดเหตุทางวัดได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน พร้อมนำภาพจากกล้องวงจรปิดไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้รับความสนใจปล่อยให้เรื่องเงียบจึงสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก จึงรวมตัวประท้วง และเดินทางมาติดตามคดีที่ สภ.คีรีรัฐนิคม แต่ไม่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่จึงไม่มีใครชี้แจงต่อชาวบ้าน จนชาวบ้านเกิดความไม่พอใจเตรียมเดินทางไปร้องต่อผู้บังคับการจังหวัดให้เร่งดำเนินการต่อไป 
 
 
ชาวธัญบุรี ประท้วงรื้อสะพานลอยทำสะพานกลับรถ วอนทบทวนก่อน
 
(29 ก.ย.58) ที่บริเวณสะพานลอยคนข้าม หน้าหมู่บ้านอยู่เจริญ และสะพานลอยคนข้ามหน้าชุมชนศรีประจักษ์ ถนนรังสิต-นครนายก ช่วงกม.ที่ 3-700 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้มีชาวบ้านของชุมชนอยู่เจริญ นำเอาป้ายผ้าสีแดงขนาดใหญ่มีใจความว่า ชาวชุมชนอยู่เจริญ ขอคัดค้านการรื้อถอนสะพานลอยและการก่อสร้างสะพานกลับรถตรงจุดนี้ มาติดที่สะพานแห่งนี้ ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่ชุมชนอยู่เจริญเพื่อสอบถามถึงเรื่องราวดังกล่าว
 
นายกรพันธ์ ตรีเวช ประธานชุมชนอยู่เจริญ เปิดเผยว่าชาวชุมชนอยู่เจริญกว่า 600 หลังคาเรือนต่างแสดงออกถึงการคัดค้านการรื้อถอนสะพานลอยแห่งนี้และเตรียมก่อสร้างสะพานกลับรถแทนที่สะพานลอยโดยเหตุที่ชาวบ้านคัดค้านนั้นเนื่องมาจากว่า หากไม่มีสะพานลอยแห่งนี้แล้วชาวบ้านหมู่บ้านอยู่เจริญจะต้องมีความลำบากในการเดินทางข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นเรื่องอันตรายเป็นอย่างมาก อีกทั้งหากสะพานลอยตรงจุดนี้ถูกรื้อไปแล้ว ชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างจักรยานยนต์รับจ้างไปอีกสะพานที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร
 
นายกรพันธ์กล่าวว่า จากเรื่องดังกล่าวนี้เอง ตนไม่เข้าใจว่าทำไมกรมทางหลวงถึงได้มีความคิดที่จะรื้อสะพานลอยแห่งนี้ เนื่องจากชาวบ้านในบริเวณที่มีหลายชุมชนรวมแล้วหลายพันหลังคาเรือนที่ต่อสู้เรียกร้องไปยัง เทศบาลนครรังสิต เพื่อขอให้มีการก่อสร้างสะพานลอยแห่งนี้ขึ้น เพราะเมื่อก่อนที่ยังไม่มีสะพานลอยคนข้ามแห่งนี้ ชาวบ้านในหลายชุมชนได้ข้ามถนนเพื่อไปอีกฝั่งหนึ่งแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิตมาแล้วหลายสิบราย หากจะมีการรื้อถอนจริงๆชาวบ้านคงไม่ยอมอย่างแน่นอน
 
นายกรพันธ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการร้องขอให้มีการทบทวนเรื่องโครงการนี้ โดยตนเองพร้อมชาวบ้านในชุมชนอยู่เจริญต่างได้มีการทำหนังสือคัดค้านและลงรายมือชื่อทั้งชุมชน เพื่อยื่นต่อ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปทุมธานี และ เทศบาลนครรังสิต  เพื่อขอให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าวนี้
 
เช่นเดียวกับ นายอุดม แสนทวี ประธานชุมชนศรีประจักษ์ เปิดเผยว่าชุมชนศรีประจักษ์ที่มีชาวบ้านกว่า 400 หลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรื้อสะพานลอยคนข้ามแล้วดำเนินการก่อสร้างสะพานกลับรถทดแทนขึ้นมานั้นกล่าวว่า ตนเองและชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการรื้อสะพานลอยเพราะมันจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่มีสะพานข้ามฝั่งหากจะข้ามต้องเดินไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรจึงจะข้ามได้เนื่องตรงจุดนี้ชาวบ้านใช้เวลาเรียกร้องขอให้มีสะพานลอยคนข้ามมานานนับปีแต่อยู่ดีๆ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับจะรื้อสะพานทิ้งลงเพราะเห็นว่ามันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ อีกทั้งสะพานลอยแห่งนี้ยังใช้งานไม่ถึงสิบปีเลยด้วยซ้ำ
 
ทั้งนี้นายอุดมกล่าวว่า ชาวบ้านจากหลายชุมชนยังตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงไม่มีการแจ้งชาวบ้านในเรื่องโครงการดังกล่าวนี้หรือว่าทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนก็ไม่มี มาบอกชาวบ้านอีกทีก็มีการทำสัญญาว่าจ้างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโครงการสะพานกลับรถที่มาทดแทนสะพานลอยคนข้ามแห่งนี้นั้น ชาวบ้านหลายชุมชนในบริเวณนี้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง สารอินทรีย์ระเหย และ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากรถเล็กและรถใหญ่ที่มากลับรถตรงจุดนี้ อีกทั้ง สะพานกลับรถแห่งนี้หากก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะมีประโยชน์ต่อเส้นถนนคลองสามเพียงแห่งเดียว เนื่องจากเป็นทางกลับรถทางเดียวมุ่งหน้าขาออกเพียงเท่านั้น โดยตนและชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการนี้ไม่ใช่ว่าจะมาขัดขวางความเจริญ ทุกคนอยากเห็นความเจริญแต่ว่าโครงการดังกล่าวนี้ชาวบ้านทุกคนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนอีกครั้งโดยชาวบ้านขอให้นำสะพานกลับรถไปก่อสร้างที่บริเวณสะพานแดงคลองหนึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าเนื่องจากจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่คลองสามลงอีกด้วย 
 
 
ชาวบ้านกว่า 200 คน บุกศาลากลางนครนายก ประท้วงสร้างสะพานพังไม่เสร็จสักที
 
วันที่ 28 ก.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดนครนายก ได้มีชาวบ้านกลุ่มรักนครนายกได้ร่วมตัวประมาณ 200 คน ถือป้ายประท้วงถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากสะพานทางเบี่ยงถูกน้ำพัดสะพานพังทั้งสองเส้นทาง จึงได้มาเข้าพบนายสราวุธ วงศ์วิวัฒนา โยธาธิการและผังเมือง  และนายบุญมา โรจนาปิยาวงศ์ ผู้รับเหมา พร้อมตัวแทนชาวบ้านประมาณ 10 คนเข้าห้องประชุมได้ข้อตกลงว่าทางผู้รับเหมาได้รับปากว่าจะเร่งสร้างสะพานทางเบี่ยงให้ใหม่ทั้งสองสายให้เสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2558  และพานข้ามแม่น้ำนครนายกจะเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และชาวบ้านที่ร่วมประชุมต่างพอใจที่ผู้รับเหมารับปากไว้จึงได้แยกย้ายกันกลับดังกล่าว
   
ทั้งนี้ สะพานข้ามแม่น้ำนครนายกหน้าธนาคารกรุงไทยได้มีการทุบทิ้งเพื่อสร้างสะพานใหม่และผู้รับเหมาได้สร้างสะพานทางเบี่ยงข้ามแม่น้ำจำนวน2 สะพาน 1. สะพานทางเบี่ยงซอยธนาคารกรุงไทย 2. สะพานทางเบี่ยงซอยร้านเท่งฮง ข้ามโรงเรียนนครนายกวิทยาคมได้ถูกน้ำพัดเสียหายทั้ง 2 สะพาน  เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน  ซึ่งเกิดจากพายุหวามก๋อทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรไปมา  ไม่สะดวกต้องอ้อมไปข้ามสะพานบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ซึ่งมีปริมาณรถเยอะมากและเป็นอันตราย  
 
ส่วนแม่ค้าต้องจ้างรถจักยานยนต์รับจ้างลากรถเข็นอ้อมไปทางหน้าจวนผู้ว่าฯ เช่นกัน  ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และทางแม่ค้าฝั่งวังกระโจมก็ขายของไม่ได้ เพราะผู้ซื้อจะต้องขับรถอ้อมไปไกลสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก  ชาวบ้านจึงร่วมตัวกันดังกล่าว
 
 
โวย รง.พลาสติกเหม็น-ส่งเสียงดัง
 
อ่างทอง * วันที่ 30 ก.ย. ชาวบ้านกว่า 50 คน รวมตัวร้องเรียนเรื่องโรงงานพลาสติกปล่อยควันส่งกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้รวมตัวกันที่ศาลาการเปรียญวัดท่าโขลง หมู่ 4 ต.อ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เพื่อให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง ช่วยนำเรื่องไปแก้ไข เนื่องจากทางโรงงานไม่ได้มีการป้องกันหรือการแก้ไขแต่อย่างได หลังจากที่ได้มีการร้องเรียนไปเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา และชาวบ้านในพื้นที่ ต.อ่างแก้ว ต.บ่อแร่ ต.คำหยาด และตำบลใกล้เคียง ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากทางโรงงานนี้กันอยู่ประจำ
 
นายอภิวัฒน์ อันทมหันต์ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ 6 ต.อ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้มีการรวมตัวกันไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง และวันนี้ก็มาติดตามความคืบหน้ากับทาง อบต.อ่างแก้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของโรงงานพลาสติกปล่อยควันมลพิษส่งกลิ่นเหม็น จนชาวบ้านทนกันไม่ไหวจึงต้องออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ เพื่อจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีอำนาจสั่งการช่วยเหลือ แก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องทุกข์กับการสูดดมกลิ่นเหม็นมานาน.
 
 
ชาวบ้านชุมนุมถามสิทธิ์ทำกิน “น้ำตกนางรอง”
 
วันที่ 30 ก.ย. 2558 ชาวบ้าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ประมาณ 50 คน รวมตัวชุมนุมบริเวณน้ำตกนางรอง โดยชาวบ้านที่มีอาชีพหาเห็ดป่า หน่อไม้ป่า และบางส่วนที่ต่อท่อน้ำมาจากน้ำตกนางรอง อยากได้คำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่ายังสามารถใช้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ หลังจากป่าไม้ได้เข้ามาดูแลพื้นที่แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนครนายก
 
นายกิตติชัย รุ่งไพบูรณ์วงศ์ เจ้าหน้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชี้แจ้งว่าชาวบ้านยังทำมาหากินได้เหมือนเดิม อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ในการพิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดิน แต่ขอให้ชาวบ้านช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมและพื้นที่ป่าร่วมกัน
 
ส่วนช่วงบ่ายตัวแทน อบจ.นครนายก จะเข้าแจ้งความตำรวจภูธรเมืองนครนายก โดยยืนยันว่าที่ผ่านมา อบจ.บริหาร น้ำตกนางรองตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาปี 2501 ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี 2504
 
 
แท็กซี่เชียงใหม่ประท้วงหยุดบริการ ขณะท่องเที่ยวเดือดร้อนหนักไม่มีรถออกจากสนามบิน 
 
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.นายสิงห์คำ นันติ ประธานสหกรณ์นครล้านนาเดินรถ จำกัด นำสมาชิกคนขับรถแท็กซี่มิเตอร์ จำนวน 140 คัน รวมตัวกันที่ประตูเข้าออกท่าอากาศยานพร้อมประกาศให้สมาชิกหยุดวิ่งรถเข้าท่าอากาศยานสนามบินเชียงใหม่ทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1-7 ต.ค.อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากบริษัท คาร์เรนทัล เชียงใหม่ จำกัด ชนะประมูลที่จอดรถรับ-ส่งในบริเวณท่าอากาศยานเชียงใหม่ภายใต้การดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด
นายสิงห์คำ กล่าวอีกว่า  ทางคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นครล้านนาเดินรถ ได้ประชุมสมาชิกที่มีรถแท็กซี่มิเตอร์ที่บริการในท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อ วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติว่า ไม่ให้นำรถแท็กซี่มิเตอร์ของสหกรณ์เข้าไปร่วมกับบริษัท คาร์เรนทัล เชียงใหม่ ถ้ารถแท็กซี่มิเตอร์คันไหนไม่ทำตามมติของสหกรณ์ ให้ทางสหกรณ์ดำเนินการถอดถอนออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ตามข้อบังคับสหกรณ์ทันที
 
ด้านนายนำพล จุลพันธุ์ ทนายความ บริษัทคาร์เรนทัลเชียงใหม่  กล่าวว่า บริษัทได้เข้ามาบริหารที่จอดรถรับ-ส่งที่บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป แม้ว่าสหกรณ์นครเดินรถล้านนาประท้วงหยุดวิ่ง แต่บริษัทมีสมาชิกผู้ขับขี่รถแท็กซี่กว่า 160 ราย สามารถให้บริการลูกค้าเพียงพอ ส่วนกรณีคณะกรรมการของสหกรณ์นครล้านนาเดินรถ จะถอดป้ายทะเบียนของรถแท็กซี่ออกไป ตามหลักกฎหมายไม่สามารถทำได้ เพราะผิด พระราชบัญญัติกรมขนส่งทางบก และจะมาตั้งด่านก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงตามอำนาจของ คสช. โดยในเรื่องนี้จะได้มีการพูดคุยตกลงทำความเข้าใจกันต่อไป
 
ขณะที่บรรยากาศนอกจากนี้มีรายงานอีกว่า หลังจากสหกรณ์นครล้านนาเดินรถประท้วงหยุดวิ่งเมื่อเช้าที่ผ่านมาทำให้นักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากไม่มีรถแท็กซี่บริการออกจากสนามบินไปยังที่พัก ส่วนโรงแรมต้องนำรถไปนักท่องเที่ยวออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่
 
 
หนุ่มราดน้ำมันขู่เผาตัว บุกทำเนียบ-ร้องแก้หนี้ หวิดซ้ำรอยยายสังเวียน
 
เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 1 ตุลาคม ได้เกิดเหตุการณ์ระทึกขึ้นที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อนายเฉลิม สอนนนทฐี อายุ 43 ปี ชาวบ้านต.หมอเมือง อ.แม่จริม จ.น่าน ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ได้น้ำมันเบนซินราดตัวเอง พร้อมถือไฟแช็ค บุกเข้ามาทำเนียบรัฐบาล วิ่งฝ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยบริเวณประตู 4 จำนวน 2 นาย ไปยืนที่หน้าธนาคารออมสิน และอยู่ติดกับที่ทำการไปรณีย์และธนาคารกรุงไทย
 
จากนั้นนายเฉลิม ได้ตะโกนขู่ที่จะจุดไฟเผาตัวเอง โดยมือข้างหนึ่งถือถังน้ำมันขนาด 5 ลิตรและมืออีกข้างถือไฟแช็ค และส่งผลให้กลิ่นน้ำมันลอยคุ้งไปทั่วบริเวณ โดยเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้ช่วยเหลือจากการเป็นหนี้นอกระบบ
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวนนับ 10 นาย พยายามเกลี้ยกล่อม และกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้สื่อข่าวออกห่าง จนกระทั่ง เวลาผ่านไปกว่า 30 นาที นายเฉลิมจึงยอม ส่งถังน้ำมันและไฟแช็คให้เจ้าหน้าที่ จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายเฉลิมไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ห้องน้ำ และนำตัวไปพูดคุยที่ชั้น 2 ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ขณะที่นายเฉลิมได้ยกมือไหว้ขอโทษทุกคน พร้อมกับกล่าวว่าที่ทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความถูกต้อง และความเป็นธรรม
 
โดยนายเฉลิม กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า มาขอให้นายกฯช่วยติดติดตามความคืบหน้า ที่เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาเคยขอให้ช่วยเหลือหนี้นอกระบบที่มีอยู่กว่า 7 แสนบาท แต่ไม่มีความคืบหน้า รวมถึงเรื่องที่ขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างระบบประปาบาดาลขององค์การบริหารส่วนตำบลหมอเมือง อ.แม่จริม จ.น่าน เนื่องจากถูกกลั้นแกล้งจากการรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่รับปากติดตามเรื่องให้ และส่งนายเฉลิมขึ้นรถเดินทางกลับจ.น่าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา นายเฉลิมได้ปีนต้นไม้ข้างรั้วทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนราชดำเนินขึ้นไปบนดาดฟ้าตึก กองรักษาการณ์ตำรวจ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับชูป้ายข้อความว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากตำรวจสันติบาลเกลี้ยกล่อมเป็นเวลา 1 ชั่วโมงจึงยอมลงมา
 
ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่นางสังเวียน รักษาเพ็ชร์ อายุ 52 ปี ชาว จ.ลพบุรี ใช้น้ำมันราดใส่ตัวเองก่อนจุดไฟเผาบาดเจ็บสาหัส ภายในศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2557 หลังมายื่นหนังสือร้องทุกข์ปัญหานี้สิน 1.5 ล้านบาท และถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ด้วยสภาพแผลไฟไหม้ตามร่างกาย ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
 
 
ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. ให้ยกเลิกเปอร์เซ็นต์นำจับจากใบสั่งจราจรและยกเลิกการตั้งด่านลอย
 
2 ต.ค. 2558 ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยื่นหนังสือผ่านโฆษก สตช. ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ให้ยกเลิกเปอร์เซ็นต์นำจับจากใบสั่งจราจรที่ให้ตำรวจถึงร้อยละ 47.5 และยกเลิกการตั้งด่านลอย โดยนำรายชื่อประชาชน 35,000 รายชื่อ พร้อมเอกสารร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบมามอบให้ด้วย ชี้จะเกิดผลดีกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ขณะเดียวกันตำรวจก็จะได้รับความรักจากประชาชนมากขึ้น โดยให้เวลา 30 วัน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท