กรณีโป๊ปฟรานซิสขอขมาผู้เคยถูกนักบวชละเมิดทางเพศ ให้ความเป็นธรรมเหยื่อหรือไม่?

กรณีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในหมู่นักบวชเป็นที่โจทก์ขานกันมานาน เร็วๆ นี้ พระสันตะปาปาองค์ล่าสุดเข้าพบและแสดงความเสียใจต่อเหยื่อที่เคยถูกกระทำและให้คำมั่นว่าจะมีการตรวจสอบที่ดีขึ้น แต่ก็มีผู้ตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เพียงพอหรือไม่ในการแก้ไขปัญหา

28 ก.ย. 2558 ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสวันสุดท้ายมีการเยือนเมืองฟิลาเดลเฟียเพื่อพบปะกับเหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนักบวชนิกายคาทอลิกตั้งแต่สมัยพวกเขายังเด็ก หลังจากนั้นพระสันตะปาปาจึงประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงกล่าวในที่ประชุมนักบวชของโรงเรียนสอนศาสนา เซนต์ชาร์ลส์ บอร์โรมิโอ ว่าเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กๆ ทำให้พระองค์ทรงรู้สึกเสียพระทัยอย่างสุดซึ้ง และเป็นเรื่องน่าเศร้าในระดับที่ "พระเจ้ายังร่ำไห้" และทรงประกาศอีกว่าไม่ควรมีการปกปิดความผิดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในสำนักสงฆ์อีกต่อไปโดยการจัดระบบตรวจสอบโบสถ์เพื่อคุ้มครองเด็กเหล่านี้

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาสนจักรวาติกันเคยกล่าวไว้ว่าเรื่องอื้อฉาวทางเพศของศาสนจักรเป็น "จุดอ่อน" สำหรับพระสันตะปาปาฟรานซิสในการที่พระองค์จะทรงต้องการวางตัวเป็นปากเสียงในทางศีลธรรมของโลก

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศอีกว่ากลุ่มผู้ที่รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศเหล่านี้เป็นผู้ที่กล้าหาญที่เป็นผู้ "ฉายแสงของพระคริสต์" เพื่อให้มองเห็น "ความชั่วร้ายของการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก"

เดอะการ์เดียนระบุว่าก่อนหน้านี้พระสันตะปาปาฟรานซิสเคยขอโทษแทนศาสนจักรต่อเรื่องวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนแล้ว แต่การพบปะครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากถือเป็นครั้งแรกที่พระสันตะปาปาเข้าพบปะกับเหยื่อการล่วงละเมิดภายนอกประเทศ โดยผู้อำนวยการด้านสื่อของสันตะสำนักเปิดเผยว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสเข้าพบเหยื่อ 5 คนทั้งชายและหญิงที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในอดีตซึ่งปัจจุบันโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จากนั้นพระองค์จึงทรงสวดมนต์ รวมถึงทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดร่วมกับพวกเขา

อย่างไรก็ตาม มีผู้มองว่าพระสันตะปาปาพยายามรักษาสมดุลทั้งกับการเยียวยาจิตใจของเหยื่อและการสร้างขวัญกำลังใจแก่นักบวชที่เสียกำลังใจไปหลังจากที่มีการเปิดเผยเรื่องอื้อฉาวในสำนักสงฆ์ ทำให้ในการเยือนโบสถ์แหล่งอื่นๆ ก่อนหน้านี้มีการกล่าวในเชิงให้กำลังใจนักบวชด้วยประโยคที่ว่า "ข้าพเจ้าสนับสนุนพันธกิจของพวกคุณในการเยียวยาเหยื่อด้วยความจริงใจ ซึ่งทำให้รับรู้ว่าในการเยียวยาพวกเขาพวกเราก็จะได้รับการเยียวยาไปด้วย"

ในแง่นี้กลุ่มเครือข่ายผู้รอดพ้นจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยนักบวช (Survivors Network of those Abused by Priests หรือ SNAP) ยังคงไม่พอใจโดยกล่าวว่า พระสันตะปาปาแสดงออกเหมือนฝ่ายศาสนจักรเป็นเหยื่อที่แท้จริงของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และก่อนหน้าที่เหยื่อทั้ง 5 จะเข้าพบพวกเขาบอกว่าการพบปะกับพระสันตะปาปายังไม่มากพอจะชดเชยพวกเขาได้

การกระทำของพระสันตะปาปา มากพอจะสร้างความเป็นธรรมหรือไม่

ในบทความของสเตฟานี เคิร์ชเกสเนอร์ ที่เขียนลงในเดอะการ์เดียนระบุว่าสำหรับเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศทั้งหลายที่ต้องปกปิดเรื่องราวของตัวเองมาเป็นเวลานานและถูกปฏิเสธเรื่องราวจากคริสตศาสนจักรมาโดยตลอดแล้ว การพบปะและขอโทษพวกเขาโดยพระสันตะปาปาเป็นแค่ "การแสดงออกที่กลวงเปล่า" อีกทั้งเหยื่อในอดีตหลายคนยังไม่เชื่อว่าศาสนจักรจะสามารถปกป้องไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศได้อีกในอนาคต

บาร์บารา เบลนน์ ผู้ที่เคยถูกนักบวชในโอไฮโอล่วงละเมิดทางเพศบอกว่าคนที่เป็น "เหยื่อจริงๆ" อย่างเธอรู้สึกเหมือน "ถูกตบหน้า" ตอนที่พระสันตะปาปาพูดราวกับว่าตัวแทนของเหยื่อทั้ง 5 คนนั้นได้ช่วยปลดเปลื้องภาระของศาสนจักรต่อคดีความทั้งหลายที่เคยก่อไว้ และทำเหมือนว่าปัจจุบันไม่มีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในคราบศาสนาเกิดขึ้นอีกแล้ว

"มันเป็นเรื่องหลอกลวงที่ทำเหมือนว่าปัญหาวิกฤตเรื่องนี้เป็น 'ประวัติศาสตร์' ไปแล้ว พวกเรารู้ว่ามันยังคงเกิดขึ้นอยู่" เบลนน์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีความไม่พอใจของเหยื่อในเรื่องการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยผู้กระทำผิดบางคนเช่นกรณีหัวหน้าบาทหลวงฮวน บาร์รอส ในชิลี ศาสนจักรวาติกันยังแสดงการสนับสนุนจำเลยอย่างชัดเจน และจากการสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวโกลบอลโพสต์เมื่อไม่นานมานี้ก็ระบุว่าทางศาสนจักรยังคงอนุญาตให้นักบวชที่ถูกกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศคงสถานะนักบวชต่อไปในแถบอเมริกาใต้

ในอีกมุมหนึ่ง จิมมี เบิร์นส์ นักข่าวและผู้เก็บข้อมูลชีวประวัติของพระสันตะปาปาก็กล่าวว่าถึงแม้ฟรานซิสจะไม่เป็นคนที่ตื่นตัวในเรื่องการรณรงค์ต่อต้านและการจัดการกับการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ในอดีต แต่ฟรานซิสก็ทำให้ประเด็นนี้มีความก้าวหน้าขึ้นบ้างจากการทำลายแนวคิดที่จะปกปิดเรื่องนี้ และจะทำให้นักบวชที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศหนีรอดยากขึ้น

เบิร์นส์กล่าวอีกว่าการเดินทางมาเยี่ยมเยือนเหยื่อของพระสันตะปาปายังเป็นการแสดงออกต่อเหยื่อว่าสถาบันคริสตศาสนจักรไม่ได้มองพวกเขาเป็นศัตรูหรือเป็นอุปสรรคของศาสนจักรอีกแล้ว

 

เรียบเรียงจาก

Pope Francis’s words on clergy sex abuse ring hollow for some survivors, The Guardian, 27-09-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/sep/27/pope-francis-sex-abuse-scandal-survivors

Pope Francis vows clergy in sex abuse cases will face justice, The Guardian, 27-09-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/sep/27/pope-meets-with-sexual-abuse-victims-philadelphia

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท