ครม. เห็นชอบกฎหมายวัยรุ่นตั้งครรภ์ 10-19 ปี ต้องสอนเพศวิถีศึกษา

ครม. เห็นชอบกม. ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมส่ง สนช. พิจารณาต่อ ระบุ 10-19 ปี ต้องได้รับการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา ตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ 

วานนี้(22 ก.ย.58) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไปพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่ง เจตน์ ศิรธรานนท์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ทันภายในกำหนดเวลาต่อไป

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญให้วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ต้องได้รับการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาตามความเหมาะสมของอายุ รวมถึงตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ป้องกันแก้ไขเยียวยา เพื่อให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน รวมถึงมีบทลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าว

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีดังนี้

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “วัยรุ่น” หมายความว่าบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี ถึง 19 ปีบริบูรณ์

2. กำหนดให้วัยรุ่นมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และบริการตามสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ และกำหนดให้สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนและนักศึกษา รวมถึงการจัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้การปรึกษา ตลอดจนกำหนดให้สถานบริการ สถานประกอบกิจการ ราชการส่วนท้องถิ่นต้องให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างถูกต้อง เหมาะสม ครบถ้วน และทั่วถึง

3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกรุงเทพมหานคร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการสาธารณสุข ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของวัยรุ่น ด้านการศึกษา ด้านจิตวิทยา และด้านการสังคมสงเคราะห์ ด้านละ 2 คน และผู้แทนเด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ชาย 1 คน หญิง 1 คน โดยให้อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการและเลขานุการ

4. กำหนดให้คณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี ประสานงาน ติดตาม ประเมินผล และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้มีการปฏิบัติตามนโยบายแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนกำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การป้องกัน การช่วยเหลือ การแก้ไข และการเยียวยาปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางเพศ การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ และการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

5. กำหนดให้นโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลข่าวสาร และความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิทางเพศของตนเอง มาตรการเกี่ยวกับการได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์จากรัฐอย่างทั่วถึงเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการป้องกัน การช่วยเหลือ การแก้ไขและการเยียวยาปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาสังคมและวัยรุ่นในท้องถิ่นด้วย

6. กำหนดให้คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการอาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็นทางวิชาการได้ เมื่อเห็นควร และอาจขอความร่วมมือจากบุคคลใดเพื่อให้ส่งคำชี้แจง เอกสาร ข้อมูล หลักฐาน หรือวัตถุใดที่เกี่ยวข้องมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาได้

7. กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ โดยไม่มีเหตุหรือไม่อาจแสดงเหตุผลอันสมควร ตลอดจนกำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานใดของรัฐ ไม่ดำเนินการตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจเสนอเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานนั้นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท