Skip to main content
sharethis

วารสารนิติสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นวารสารวิชาการ ที่จัดทำโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับ กรกฎาคม - ธันวาคม 2557 นำเสนองานวิชาการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น

สามารถดาวน์โหลดจาก เว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ มช. 

รายละเอียดของเนื้อหาในเล่ม มีดังนี้
 

กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและการประท้วงในสาธารณรัฐฝรั่งเศส
โดย อุษณีย์ เอมศิรานันท์

บทคัดย่อ
บทความชิ้นนี้มุ่งหมายที่จะอธิบายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะและการประท้วงในสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในภาพรวม ระบอบของเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของฝรั่งเศสวิวัฒนาการไปในแนวทางที่เอื้อต่อเสรีภาพของประชาชนเป็นลำดับ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขความจำเป็นในการหาสมดุลระหว่างการรับรองเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบเสรีประชาธิปไตยและการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งศาลปกครองของฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญในการหาสมดุลเช่นว่านั้นผ่านการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการบังคับใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเสรีภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในบทความนี้จะศึกษาใน 3ประเด็นหลักดังนี้ (1) สถานะของเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและการประท้วงตามกฎหมายฝรั่งเศส (2) หลักเกณฑ์ในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและการประท้วง และ (3) การจำกัดการใช้เสรีภาพโดยรัฐและการควบคุมตรวจสอบโดยศาล

 

เสรีชนกับเสรีภาพในการชุมนุมในสหรัฐอเมริกา
โดย นัทมน คงเจริญ

บทคัดย่อ
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา จัดอยู่ภายใต้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยึดถือกันในสังคมประชาธิปไตย ว่าประชาชนมีสิทธิพื้นฐานในการเรียกร้องและแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง แต่สิทธินี้ย่อมมีขอบเขตของการใช้สิทธิ เนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องในบางครั้งอาจกระทบสิทธิของผู้อื่น เช่น การเรียกร้องสิทธิในที่สาธารณะ อาจจะกระทบถึงสิทธิของผู้ใช้ที่สาธารณะนั้นด้วย รัฐจึงมีหน้าที่และบทบาทในทั้งการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลของผู้ใช้สิทธิคนอื่นๆในสังคมด้วย บทความนี้เป็นการศึกษาถึงการชุมนุมเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งเป็นการเรียกร้องทางด้านแรงงาน ความเสมอภาคทางสีผิว การเรียกร้องสิทธิเสมอภาคทางเพศ และการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเพื่อความเป็นธรรมในสังคม เช่น การต่อต้านสงคราม รวมถึงการต่อต้านกระแสโลกภิวัตน์ด้วย การศึกษาดังกล่าวนี้อาศัยการพิจารณาถึงบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัยในการทำความเข้าใจถึงท่าทีของรัฐในการจัดการกับการชุมนุมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามแต่ละยุคสมัย

 

เสรีภาพในการชุมนุมของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
โดย นิฐิณี ทองแท้

บทคัดย่อ

สาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศที่มีการชุมนุม เดินขบวนประท้วงมากประเทศหนึ่ง ทั้งจากประเด็นทางการเมืองและประเด็นทางเศรษฐกิจ บทความนี้ทำการศึกษาพัฒนาการของการชุมนุม โดยจากการศึกษาจะพบว่ามีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการ การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องสวัสดิการแรงงาน โดยมีพัฒนาการการชุมนุมและเดินขบวนจากกลุ่มเดี่ยว เช่น นักศึกษา แรงงาน ศาสนา จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการรวมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ และมีรูปแบบการชุมนุมและเดินขบวนที่มีระเบียบแบบแผน ในด้านกลุ่มทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมและเดินขบวน พบว่านักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุด และขยายตัวไปยังกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ในด้านบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการเดินขบวนนั้น แต่เดิมสาธารณรัฐเกาหลีใช้กฎอัยการศึก และการออกกฎหมายเฉพาะต่างๆ มาควบคุมการชุมนุมของประชาชน จนกระทั่งเกิดรัฐบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมและการเดินขบวน ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้ให้ในการรับรองและควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการเดินขบวนไปพร้อมกัน

 

กฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะกับสังคมญี่ปุ่น
โดย กฤษณ์พชร โสมณวัตร

บทคัดย่อ
งานศึกษาชิ้นนี้ได้ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศญี่ปุ่น โดยมีคำถามหลักว่า เสรีภาพในการชุมนุมของประเทศญี่ปุ่นได้รับการรับรองในลักษณะใด ในการศึกษาชิ้นนี้ได้ใช้แนวทางการศึกษาแบบกฎหมายกับสังคม (Law and Society studies) ซึ่งเป็นการศึกษาตัวบทกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลสูงบนโครงสร้างการเมืองและสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจระบอบของสิทธิที่สมจริงยิ่งขึ้น จากที่วงการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบของไทยมักเทียบเคียงตัวบทกฎหมายจากถ้อยอักษรในกฎหมายเป็นหลัก

ผลการศึกษาพบว่า “หัวใจ” ของเสรีภาพในการชุมนุมของญี่ปุ่น คือการประสานงานของศาลสูงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ออกข้อบัญญัติในการจัดการชุมในแต่ละท้องที่ ตลอดจนการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาอนุญาตให้จัดการชุมนุม จนกล่าวได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการการชุมนุม ในขณะที่บทบาทของศาลสูงคือการรับรองความชอบด้วยกฎหมายต่อปฏิบัติการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการอธิบายเหตุผลทางกฎหมาย เห็นได้ว่าตุลาการญี่ปุ่นไว้วางใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อสาธารณชนและตุลาการ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สุดในการชุมนุมคือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุม การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจึงพิจารณาจากปัจจัยของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ในขณะเดียวกันการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวินิจฉัยเรื่องการชุมนุมย่อมทำให้ศาลสามารถตั้งมั่นอยู่ในความเป็นกลางทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญ คือโครงสร้างทางสังคมและการเมืองของญี่ปุ่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเวทีในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประชาชนได้อย่างมีพลัง ทำให้เกิดผลสองประการ อย่างแรก คือมีการแข่งขันสูงในการเมืองทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกกำกับจากประชาชนโดยปริยายผ่านการเลือกตั้ง และประชาชนสำนึกว่าการเมืองบนท้องถนนหาใช้วิถีทางเดียวในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะไม่ บทบาทของการชุมนุมในสังคมญี่ปุ่นจึงเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าเป็นการชุมนุมเพื่อกดดันรัฐหรือเอกชนโดยตรง การควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวดในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่เป็นการปิดกั้นช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างสำคัญ

 

อดีต ปัจจุบัน อนาคต กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะของไทย
โดย ทินกฤต นุตวงษ์

บทคัดย่อ
พัฒนาการของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนชาวไทย พบว่าสามารถแบ่งได้ 3 ช่วงเวลา คือ ยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ช่วง พ.ศ. 2475-2530 ยุคการเมืองภาคประชาชน ช่วง พ.ศ. 2531-2549 ยุคความขัดแย้งทางการเมือง ช่วง พ.ศ. 2550 –ปัจจุบัน โดยแต่ละยุคมีความแตกต่างไปตามบริบททางการเมือง เศรษฐกิจสังคม ในด้านระบบกฎหมายของไทย พบว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 กลุ่ม คือ กฎหมายที่ส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม กฎหมายที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ในด้านองค์กรศาล พบว่ามีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองและศาลยุติธรรม โดยศาลยุติธรรมเป็นศาลที่รับคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะมากที่สุด สำหรับการร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะของไทย พบว่ามีพัฒนาการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และส่วนใหญ่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการนิยามความหมาย กำหนดสถานที่ห้ามชุมนุม หลักเกณฑ์เงื่อนไขการชุมนุม หน่วยงานหรือองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการชุมนุม และกำหนดบทลงโทษกรณีกระทำการฝ่าฝืน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าร่างกฎหมายต่างๆ ก็มีข้อถกเถียงในรายละเอียดหลายประการ

 

บทวิเคราะห์เปรียบเทียบระบบกฎหมายและเสรีภาพในการชุมนุมของ 5 ประเทศ
โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

บทคัดย่อ
เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย โดยแต่ละประเทศที่ยึดถือแนวคิดเสรีประชาธิปไตยต่างก็ได้ยอมรับให้การชุมนุมให้เป็นเสรีภาพประการหนึ่งในระบบกฎหมายของตน ซึ่งอาจมีการรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญหลายฉบับก็ได้รับรองถึงเสรีภาพในการชุมนุมไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการเคารพ อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการชุมนุมก็ย่อมมีขอบเขตและข้อจำกัดเช่นเดียวกันกับเสรีภาพด้านอื่นๆ แต่การจะจัดวางเสรีภาพในการชุมนุมกับสังคมส่วนรวมนั้นก็เป็นประเด็นที่มีความยากลำบากไม่น้อย เนื่องจากการนิยามความหมาย ขอบเขตและการจำกัดเสรีภาพของการชุมนุมเป็นประเด็นที่มีแง่มุมต่างๆ เข้ามาพิจารณาประกอบอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมเกิดขึ้นโดยที่ยังคงคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลุ่มอื่นๆ และผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมควบคู่กันไป

บทความนี้จะทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงรูปแบบการรับรองและการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของ 5 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net