Skip to main content
sharethis

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาล ซึ่งประกาศว่าเป็นกลางทางศาสนา ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและคัดค้าน โดยมีเสียงคัดค้านจากชนกลุ่มน้อยที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญยังกระจายอำนาจไม่พอ และเกิดเหตุประท้วงรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต ด้านยูเอ็นแสดงความเป็นห่วงขอให้แก้สถานการณ์ด้วยการเจรจาหารือ

ทำเนียบสิงหะ หรือ Singha Durba ทำเนียบรัฐบาลของเนปาล ที่กาฐมาณฑุ (ที่มา: Sigismund von Dobschütz, Wikipedia, Public Domain)

22 ก.ย. 2558 - องค์การสหประชาชาติระบุว่าในขณะที่พวกเขารับทราบถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาล แต่บันคีมุน เลขาธิการของยูเอ็นก็แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศในช่วงที่ผ่านมาและเรียกร้องให้มีการใช้สันติวิธีและการเจรจาหารือเพื่อแก้ไขปัญหา

สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกยูเอ็นกล่าวว่าเลขาธิการของยูเอ็นรับทราบเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลและเรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองทุกฝ่ายในเนปาลกระทำการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนในประเทศด้วย "ความยืดหยุ่น" และ "การมีส่วนร่วม" ดูจาร์ริกกล่าวอีกว่าเลขาธิการยูเอ็นมีความเป็นห่วงในเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้และเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือรวมถึงเคารพในเสรีภาพการชุมนุมและการประท้วงอย่างสงบ

เนปาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ก.ย.) หลังจากที่มีความล่าช้าในกระบวนการร่างมาเป็นเวลา 7 ปี กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้เขียนขึ้นโดยกษัตริย์หรือคณะกรรมการจากการคัดเลือก แต่ก็เกิดกระแสการต่อต้านจากประชาชนชาวเนปาลบางส่วน ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่ากลุ่มที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลเป็นกลุ่มพรรคการเมืองเล็กๆ และชนกลุ่มน้อยบางส่วนที่ประกาศข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงทำให้มีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดขึ้นทั่วประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลมีการระบุให้ประเทศเป็น "รัฐฆราวาส" หรือรัฐที่เป็นอิสระจากความเชื่อทางศาสนา โดยมีการแบ่งเขตปกครองออกเป็น 7 รัฐ แต่ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนาก็วิจารณ์ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่รับฟังวิธีการแบ่งรัฐของพวกเขาซึ่งต้องการให้แบ่งออกเป็นหลายรัฐมากกว่านี้รวมถึงการแบ่งรัฐโดยอาศัยเชื้อชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งยังเรียกร้องให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุมีพื้นที่ในสภาและในรัฐบาลมากกว่านี้

เหตุการณ์ประท้วงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปะทะกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 คน โดยในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและขว้างปาก้อนหินเข้าใส่ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจนได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามในรายงานข่าวของสำนักข่าวเอบีซีระบุว่าเหตุการณ์ในช่วงวันอังคาร (22 ก.ย.) เริ่มสงบลงบ้างแล้ว ทำให้รัฐบาลเนปาลประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวหลังจากที่มีการประกาศเคอร์ฟิวเป้นเวลาหลายสัปดาห์

ในประเด็นที่มีการเรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนส.ส.ชนกลุ่มน้อยมากขึ้นนั้น พรรครัฐบาลของเนปาลเปิดเผยว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยสามารถมีการเพิ่มบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่มีการเรียกร้องได้

ทั้งนี้ยังมีประชาชนบางส่วนในเนปาลที่แสดงความยินดี โดยหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีประชาชนหลายพันคนพากันเฉลิมฉลองที่อาคารรัฐสภาโดยมีการโบกธงชาติและจุดดอกไม้ไฟ มีผู้คนพากันจุดตะเกียงและจุดเทียนอยู่ตามท้องถนนของกรุงกาฐมาณฑุ อาคารต่างๆ ประดับประดาด้วยแสงไฟหลายสี

กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อคนรักเพศเดียวกันในเนปาลเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยินดีกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ความเคารพต่อสิทธิของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน โดย ซูนีล พันท์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนรักเพศเดียวกันกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลรับรองสิทธิ อัตลักษณ์ และการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นหนทางที่ดี

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติหลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 2549 ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์ของเนปาลกับรัฐบาลเนปาลในสมัยนั้น ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์ยอมวางอาวุธตามข้อตกลงสันติภาพเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2549 และได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองหลังจากนั้น

 

เรียบเรียงจาก

In wake of adoption of Nepal’s constitution, Ban stresses need for dialogue, non-violence, UN News Centre, 21-09-2015 http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=51931#.VgGJI9Kqqko

Nepal formally adopts new constitution amid protests from minorities, The Guardian, 20-09-2015 http://www.theguardian.com/world/2015/sep/20/nepal-formally-adopts-new-constitution-amid-protests-from-minorities

Nepal passes secular constitution amid protests, Aljazeera, 20-09-2015
http://www.aljazeera.com/news/2015/09/nepal-passes-constitution-protests-150920123704268.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Nepalese_Civil_War

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net