Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เมื่อ คสช.ประกาศว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่เช่นเดียวกับการเลือกตั้งภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วอาจทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า คสช.กำลังจะคืนประชาธิปไตยให้กับคนไทย ทั้งที่ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้การเป็นประชาธิปไตยได้เสมอไป เป็นเรื่องจริงว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยยกเว้นบางประเทศเช่นอังกฤษมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป  ยกตัวอย่างเช่นไทยในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งพระทัยว่าจะมอบรัฐธรรมนูญให้กับคนไทยโดยโปรดให้มีการร่างหลายฉบับจากการช่วยเหลือของนักกฎหมายชาวตะวันตก แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มพยายามนำเสนอว่าพระองค์วางแผนจะมอบประชาธิปไตยให้กับคนไทยโดยอ้างพระราชดำรัสเพียงอย่างเดียว (ซึ่งต่อมาถูกคัดค้านโดยอภิรัฐมนตรีสภา) ผสมกับการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว รัชกาลที่ 7 ทรงเพียงต้องการจัดโครงสร้างทางอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ให้เข้ากับกระแสโลกในยุคนั้นเช่นมีการตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารงานแทนพระองค์ซึ่งยังคงเป็นประมุขของรัฐ ปัจจุบันบางประเทศก็มีการปกครองแบบนี้อยู่อย่างเช่นประเทศสวาซิแลนด์ที่มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศแต่อยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์คือพระเจ้าอึมสวาตีที่ 3 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศเผด็จการ (น่าจะ) ทุกประเทศล้วนมีรัฐธรรมนูญทั้งนั้นเช่นสหภาพโซเวียต จีนหรือแม้แต่เกาหลีเหนือต่างก็บรรจุคำอันสวยงามเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพแทบไม่ต่างอะไรจากรัฐบาลประชาธิปไตย (เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ที่เน้นย้ำเรื่องพลเมือง) ซึ่งก็มีอยู่ในตะวันตกเช่นกันแต่ว่าคำเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงรูปธรรมนักเพราะรัฐบาลเผด็จการเหล่านั้นมักมีกฎหมายในการควบคุมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยเฉพาะการเดินขบวนประท้วงอย่างเข้มงวด มีการการจับกุม คุมขังและทรมานร่างกายประชาชนบนข้ออ้างสารพัดเช่นความมั่นคงของรัฐ ศีลธรรมหรืออุดมการณ์อันดีงามและสูงสุด ดังนั้นเมื่อ คสช.อ้างถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการก้าวสู่การเป็นประชาธิปไตยเสมอไป
      
เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญเกิดปัญหาจนกลายเป็นตัวบั่นทอนพลังของ คสช.ก็ได้ทำให้หลายคนที่สนับสนุนรัฐบาลเกิดความหงุดหงิด บางคนอาจจะคิดไปว่าขอให้พลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดอย่างเช่นใช้กฎหมายมาตรา 44 บริหารประเทศไปเลย (เพื่อที่ว่าจะได้ “เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องดีกว่า”)  ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งเพราะรัฐบาลเผด็จการทั่วโลกนั้นล้วนจำต้องมีรัฐธรรมนูญทั้งนั้น ดังเหตุผลต่อไปนี้ 

เหตุผลข้อที่ 1 ก็คือการสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการต่อนานาประเทศเช่นเดียวกับประชาชนของตนเองในการอ้างได้ว่าก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยทั้งที่ความจริงรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้บอกความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป 

เหตุผลข้อที่ 2  รัฐธรรมนูญช่วยรักษาเสถียรภาพจากการเปลี่ยนผ่านอุดมการณ์แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินของการปฏิวัติ ดังเช่นพรรคคอมมิวนิสต์เปลี่ยนอุดมการณ์จากเดิมคือศักดินาผสมขุนศึกมาเป็นสังคมนิยมเช่นเดียวกับอิหร่านในปี 1979 ที่อยาตอลลาห์  โคไมนีเปลี่ยนอุดมการณ์ของรัฐจากเสรีนิยมผสมลัทธิราชานิยมในยุคพระเจ้าชาห์ปาละวีมาเป็นรัฐอิสลาม การบรรจุอุดมการณ์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้แก่อุดมการณ์นั้นว่าเป็นสิ่งที่รัฐยึดถือ  

เหตุผลข้อที่ 3  เมื่ออุดมการณ์อันมั่นคงได้ถูกสร้างขึ้นแล้วผ่านตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญก็จะช่วยส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเข็มทิศสำหรับรัฐในการล้มล้างความชอบธรรมของรัฐบาลเก่าพร้อมกับการจัดระบบและโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่เพื่อให้รัฐบาลเผด็จการนั้นสามารถประสานตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับโครงสร้างของรัฐรวมไปถึงสังคมหรือแม้แต่วิถีชีวิตของผู้คนผ่านการช่วยเหลือของรัฐธรรมนูญ ดังเช่นอาจารย์คนจีนท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยได้บอกกับผู้เขียนว่าคนจีนยุคใหม่นั้นนึกภาพไม่ออกว่าประเทศจีนที่ปราศจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นเป็นอย่างไร  สาเหตุหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญจีนได้มอบอำนาจสูงสุดให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ (แม้ว่าบรรดานักคิดหัวเสรีนิยมทั้งหลายจะโจมตีว่ารัฐบาลจีนไม่เคยมีพฤติกรรมแบบนิติรัฐคือเคารพในตัวกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็ตาม)
   
เป็นเรื่องแน่ชัดว่ารัฐยุคใหม่นั้นได้ก้าวข้ามผ่านยุคที่ผู้นำอย่างเช่นกษัตริย์หรือจอมเผด็จการปกครองแผ่นดินผ่านความคิดของตัวเองหรือตามอำเภอใจไปเสียแล้ว เพราะอาจนำไปสู่ความวุ่นวายสับสนหรือความไร้ประสิทธิภาพหากผู้นำไร้คุณภาพหรือฉ้อฉลอันจะนำมาสู่ความหายนะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นสูงแทน จึงต้องอาศัยกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ 
        
เหตุผลข้อที่ 4  รัฐธรรมนูญยังช่วยให้รัฐบาลเผด็จการดูดีขึ้นจากการบรรจุคุณค่าของประชาธิปไตยลงในรัฐธรรมนูญผสมกับคำที่ประดิษฐ์โดยรัฐบาลเผด็จการเองเช่นคำว่าความดี  ลักษณะเฉพาะตนของประเทศนั้น (เช่นความเป็นประเทศนั้นๆ )  หรือพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (อย่างอิหร่าน) หรือแนวปรัชญาของท่านผู้นำ (อย่างจีนที่อาศัยปรัชญาของหู จินเทา) ฯลฯ อันจะกลายเป็นสิ่งที่ช่วยห่อหุ้มให้อุดมการณ์นั้นมีพลังอันมั่งคงและยังช่วยในการแย่งชิงความหมายของคำว่าเสรีภาพ สิทธิ ความเสมอภาคซึ่งมักถูกผูกขาดโดยรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศตะวันตกเช่นสหรัฐอเมริกาใช้ในการกดดันหรือโจมตีทางการเมืองแก่ตนได้อย่างถนัดนัก  เป็นเรื่องจริงที่ว่าจีนถูกสหรัฐฯโจมตีเรื่องล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าจะเป็นเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่าหากจีนไม่บรรจุคำว่าสิทธิมนุษยชนลงในรัฐธรรมนูญเพราะจะถูกกล่าวหาว่าไม่มีความใส่ใจเลยแม้แต่น้อย 

หรือในทางกลับกันรัฐธรรมนูญกลับช่วยให้ประเทศเหล่านั้นสามารถรู้เห็นเป็นใจกับตะวันตกด้วยก็ได้ดังเช่นกรณีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2014 ของอียิปต์ในยุคหลังนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีถูกขับไล่จากตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่กองทัพและฝ่ายตุลาการแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้ช่วยให้สหรัฐ ฯ ใช้เป็นข้ออ้างในการกลับมาคบค้าสมาคมกับอียิปต์โดยอ้างว่าอียิปต์เป็นประชาธิปไตยแล้วควบคู่ไปกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี (แม้ไม่เป็นเสรีก็ตาม) ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าคสช.นั้นตั้งใจเจริญรอยตามอียิปต์โดยอ้างรัฐธรรมนูญว่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่ประชาธิปไตยหรือโรดแมปแต่กลับได้ผลตรงกันข้ามคือสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนด้วย
        
การส่งเสริมเรื่องพลเมืองในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่แท้งไปก็ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย ทั้งที่คำว่าพลเมืองหรือ Citizen ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเน้นย้ำมาตลอดเวลาอีกเช่นกัน  การที่อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเช่นนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณโดยใช้เกมทางภาษาเช่นโฆษณาป่าวร้องถึงความวิเศษของสิทธิพลเมืองเพื่อเป็นการกลบทับความสำคัญของสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งก็สำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมไม่ว่าการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายบริหารเช่นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ  เป็นที่น่าสนใจว่าแม้แต่สถาบันการศึกษาระดับมัธยมหรืออุดมศึกษาก็ขานรับโดยการเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองเป็นวิชาพื้นฐาน จึงทำให้ผู้เขียนคิดเล่นๆว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คงจะยืมเอาเรื่องพลเมืองมาใช้อีกครั้งในฐานะเป็นคำสำคัญ  เพราะถ้าสามารถทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคำว่าพลเมืองซึ่งเป็นคำที่ถูกผลิตซ้ำในสังคมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างไทยมาหลายสิบปีผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือเรียน ก็จะทำให้ประชาชนตกอยู่ในกับดักทางภาษาซึ่งสัมพันธ์อยู่กับเครือข่ายอำนาจของพวกขวาอำมาตย์นิยมและถอยออกห่างจากรัฐบาลกับรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
     
สิ่งนี้สอดรับกับความพยายามของพลเอกประยุทธ์ในการทำลายคำว่า “ชนชั้นรากหญ้า” จนถึงขึ้นลงทุนใช้กฎหมายมาตรา 44 เพื่อห้ามไม่ให้ใช้คำๆ นี้ เพราะนอกจากจะมีผู้วิเคราะห์ว่าคำว่ารากหญ้านั้นมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายทักษิณแล้ว ผู้เขียนยังเห็นว่าคำนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มประชาสังคมซึ่งไม่ได้ “เชื่อง” ต่อรัฐบาลและพร้อมจะทำการประท้วงเพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของตนไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นใครก็ตาม ดังนั้นแม้พวกขวาอำมาตย์นิยมจะพยายามโฆษณาสิทธิและหน้าที่ของการเป็นพลเมืองแต่สิ่งเหล่านั้นก็ล้วนถูกจำกัดอยู่ภายใต้อำนาจของคสช.และพวกขวาอำมาตย์นิยม ดังนั้นต่อให้ไทยมีการเลือกตั้งโดยนายกรัฐมนตรีมาตามครรลองของประชาธิปไตย นอกจากกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจอันล้นพ้นแก่ข้าราชการแล้ว บริบททางสังคมและวัฒนธรรมทางการเมืองไทยก็ยังคงมีรูปแบบเผด็จการเป็นสารัตถะอยู่ดีแต่ก็สามารถลวงให้ประชาชนคิดว่าตัวเองอยู่ในประเทศอันเป็นประชาธิปไตย อันสามารถทำนายได้ว่าคำว่า “ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์” ตามที่ คสช.สัญญาจึงไม่ใช่เสรีนิยมอย่างตะวันตกไม่
       
เหตุผลข้อที่ 5  รัฐธรรมนูญนอกจากจะป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามสามารถโต้กลับหรือโจมตีรัฐบาลเผด็จการได้อย่างถนัดแล้วยังช่วยในการจัดระเบียบของพวกเผด็จการด้วยกันเองดังเช่นกลุ่มคณาธิปไตยหรือเผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียว ซึ่งอาจมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันหรือมีแนวโน้มในการแก่งแย่งอำนาจกันได้ในระดับหนึ่งเช่นเดียวกับการกำหราบ ควบคุมและจัดระเบียบกลุ่มอื่นๆ ที่ท่าทีไม่ชัดเจนหรือสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้เช่นข้าราชการ กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มทางประชาสังคม นอกเหนือไปจากการใช้อำนาจแบบดุดันอย่าง เช่นอาวุธปืน นั้นคือการใช้อำนาจที่นิ่มนวลอย่างเช่นการโฆษณาชวนเชื่อโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือประการหนึ่ง ยิ่งรัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรมเท่าไร ก็จะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น  แม้ว่าหากกลุ่มทางอำนาจเกิดความขัดแย้งกันจริงๆ จนถึงขั้นใช้กำลังอาวุธเข้ามาประหัตประหารกัน แต่มีรัฐธรรมนูญไว้ก็จะช่วยให้ภัยคุกคามเหล่านั้นบรรเทาความรุนแรงลงเช่นเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถสร้างความชอบธรรมในการจัดการกับกลุ่มปรปักษ์ได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมีประโยชน์ต่อประเทศนั้นๆ คือช่วยทำให้ประเทศไม่แตกสลายในเวลาที่มีการเปลี่ยนผู้นำหรือกลุ่มผู้ปกครองใหม่ซึ่งอาจเป็นแบบประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการเหมือนกันเพราะจะช่วยประคองให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจได้ราบรื่นขึ้นยกเว้นว่ากลุ่มใหม่จะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง
       
ด้วยเหตุนี้ เนติบริกรของ คสช.จึงน่าจะเดาล่วงหน้าถึงความไม่แน่นอนของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557  ให้มีลักษณะที่ผสมผสานกันคือในขณะที่เปิดช่องทางอำนาจอย่างมากมายให้คสช.แต่ก็มีกรอบหลายอย่างที่จะช่วยประคองให้การใช้อำนาจนั้นเป็นไปตามครรลองและมีความถูกต้องชอบธรรมดังข้างบนเช่นเดียวกับการรักษาเสถียรภาพของ คสช.รวมไปถึงองค์กรในเครือข่ายอำมาตย์อื่นๆ ไม่ให้มีความขัดแย้งกันเอง ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดน่าจะมีลักษณะร่วมกันคือเป็นการปฏิวัติ (Revolution) ที่ทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐข้าราชการอย่างแท้จริงและเป็นทางการภายหลังจากเป็นอย่างแอบแฝงมาอย่างเนิ่นนาน นอกจากนี้ คสช.ยังน่าจะประสบความสำเร็จในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่าฉบับอื่นๆ เพราะเป็นการตอกย้ำระบอบเผด็จการหรือการสร้างโครงสร้างทางการเมืองที่มีอำนาจสั่งการจากบนสู่ล่างที่คนไทยมักคุ้นชินตั้งแต่อดีต

ที่สำคัญคนไทยจำนวนมากผู้หลงอยู่ในแนวคิดขวาอำมาตย์นิยมมักเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากกลุ่มบุคคลหนึ่งซึ่งซื่อสัตย์และปรารถนาดีต่อตนมากกว่าจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดกติกาและสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชนที่ฝ่ายหลังควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วยอย่างมากทำให้คสช.หันมาใช้รัฐธรรมนูญใดก็ตามอำเภอใจตน
      
อย่างไรก็ตามมุมมองเช่นนี้อาจถูกตั้งคำถามได้ คสช.ต้องแสดงท่าทีไม่พอใจเมื่อถูกกดดันให้ทำประชามติ (Referendum) ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่งจากการเป็นตัวเลขชัดเจนและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยปกติแล้วประชามติแทบไม่มีความหมายอะไรในประเทศเผด็จการที่สามารถควบคุมความคิดและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนไว้ได้ แต่ก็มีกรณียกเว้นหลายครั้งดังเช่นนายพลออกุส ปิโนเชต์แห่งชิลีซึ่งเปิดให้มีการทำประชามติในปี 1988  ที่จะให้ประชาชนยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับตนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ อันสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนและรอยแยกทางอำนาจอันนำไปสู่การเสื่อมลงของเผด็จการ  

สำหรับรัฐไทยแม้จะประสบความสำเร็จในปี 2550 แต่ผู้เขียนคิดว่าผู้มีอำนาจใน คสช.นั้นอาจเกิดความหวาดกลัวจะซ้ำรอยปิโนเชต์อันนำไปสู่การปลุกกระแสต่อต้าน คสช.และนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพของตนในที่สุดเพราะแท้ที่จริงแล้วพวกเขาไม่แน่ใจว่าความคิดของประชาชนผู้เงียบงันต่อตนเองนั้นเป็นอย่างไร เราจึงน่าจะเชื่อถึงความเป็นไปได้ของทฤษฎีที่ว่า คสช.บงการให้บรรดาสมาชิกสภาปฏิรูปแบบชาติแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเพราะการล้มร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ต้องผ่านประชามติและยังทำให้ คสช.มีอำนาจต่อไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อยตามกติกาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ระบุไว้
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net