Skip to main content
sharethis

19 ก.ย. 2558 ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังคุกรุ่นด้วยบรรยากาศของการต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ทั้งในรัฐสภาและจากผู้คนที่ชุมนุมอยู่ภายนอกเพราะกังวลว่าจะเป็นกฎหมายที่จะนำไปใช้ทำสงคราม เว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัมได้นำเสนอบทวิเคราะห์ทั้งจากนักวิชาการในญี่ปุ่นและนักวิชาการเอเชียศึกษาจากประเทศอื่นเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอันเป็นประเด็นความตึงเครียดระหว่างประเทศที่น่าจับตามอง

ในบทความของอะกิโอะ ทะกะฮะระ ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโตเกียวระบุถึงกรณีที่จีนรู้สึกกังขาต่อการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันรำลึกครบรอบ 70 ปี ที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตามการแสดงออกของฝ่ายจีนเองทั้งถ้อยแถลงและการจัดขบวนสวนสนามของกองทัพก็ไม่ได้สื่อให้เห็นถึงความร่วมมือในการสร้างความสงบระหว่าง 2 ประเทศช่วงหลังสงครามเลย และจีนยังนำเรือลาดตระเวณรุกล้ำน่านน้ำรอบหมู่เกาะเซงกะกุ/เตียวหยู ซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องความเป็นเจ้าของระหว่าง 2 ประเทศนี้อยู่ด้วย

ทะกะฮะระชี้ว่าฝ่ายญี่ปุ่นเองก็กำลังพิจารณากฎหมายความมั่นคงใหม่ที่จะอนุญาตกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นเข้าร่วมรบในเชิงป้องกันประเทศพันธมิตรเช่นสหรัฐฯ ได้

ทะกะฮะระระบุอีกว่ามีปัจจัย 4 ประการที่อาจจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น ปัจจัยแรกคือถึงแม้ว่าการรุกล้ำน่านน้ำของจีนเป็นการกระตุ้นการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์การทหารของสองประเทศแต่ไม่มีประเทศใดต้องการทำสงคราม และจากเหตุการณ์ที่จีนนำเครื่องบินเข้าไปในเขตน่านน้ำที่ยังเป็นข้อพิพาทเมื่อปี 2557 จนเกือบเป็นเหตุปะทะกัน ทะกะฮะระมองว่าทั้งสองประเทศต้องใช้วิธีการเจรจาหารือกันในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์รุนแรง

ปัจจัยที่ 2 คือเรื่องเศรษฐกิจของจีนที่กำลังชะลอตัว กิจการภายในจีนหลายแห่งก็กำลังประสบภาวะหนี้เสียและขาดดุลงบประมาณ แต่ญี่ปุ่นก็เป็นคู่ค้าสำคัญของจีนและผู้นำจีนก็เล็งเห็นว่าความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในจีนน้อยลง

ปัจจัยที่ 3 คือเรื่องที่จีนกำลังพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์แบบใหม่กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก ถึงแม้ว่าจีนกับสหรัฐฯ จะมีการตกลงร่วมมือกันเพื่อขยายผลประโยชน์ร่วมกันด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ แต่การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ก็มีความเข้มข้นขึ้นในแถบแปซิฟิกตะวันตก ความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องปรับเป้าหมายมาที่การทูตกับประเทศเพื่อนบ้านและปรับสมดุลย์ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นใหม่

ปัจจัยที่ 4 คือการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ผ่านฐานอำนาจจากโครงการ "ต่อต้านการคอร์รัปชั่น" และการเป็นผู้นำสถาบันกำหนดนโยบายทำให้เขาไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะถูกวิจารณ์จากในประเทศถ้าหากมีการปรับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ในขณะที่นโยบายแบบอ่อนข้อต่อญี่ปุ่นจะทำให้ศัตรูทางการเมืองต่อว่าเขาในเรื่องการนำพรรค แต่สีจิ้นผิงก็สถาปนาอำนาจตัวเองและสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองเป็นผู้นำที่แข็งกร้าวไว้แล้ว

อย่างไรก็ตามทะกะฮะระประเมินว่าถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แต่สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นดีขึ้นได้ยาก ทั้งจากการที่สื่อจีนยังคงวิจารณ์นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อไปหลังจากพิธีรำลึกจบไปแล้ว และไม่สนใจเมื่อผู้นำญี่ปุ่นพยายามส่งสารเชิงบวกต่อจีน รวมถึงในที่ประชุมสันติภาพโลกรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนก็เพิกเฉยต่อคำถามเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจีนกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังบอกอีกว่าชาวญี่ปุ่นยังคงไม่ยอมรับในเรื่องที่จีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจ

ทะกะฮะระมองว่าการที่กลุ่มต่างๆ ในจีนพยายามโจมตีทางการทูตต่อญี่ปุ่นแบบอ้อมๆ เป็นสัญญาณว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังท้าทายการนำของผู้นำจีน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะกำลังมีการช่วงชิงอำนาจกันอยู่ในจีน แต่ทะกะฮะระก็ยังย้ำว่ายังมีปัจจัย 4 ประการข้องต้นที่เป็นโอกาสทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นดีขึ้นได้และตัวผู้นำอย่างสีจิ้นผิงเองก็มีท่าทีต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

ด้านปรานามิตา บารัวห์ นักวิชาการแลกเปลี่ยนจากศูนย์เอเชียศึกษาซิเกอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันวิเคราะห์โดยเน้นเรื่องข้อพิพาทเขตน่านน้ำโดยระบุว่าญี่ปุ่นมีท่าทีต่อต้านจีนอย่างมากในเรื่องที่จีนกำลังพัฒนาแหล่งขุดเจาะน้ำมันทางทะเลในทะเลจีนตะวันออก รวมถึงอ้างว่ามีการรุนรานน่านน้ำในเชิงข่มขู่ในเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นออกเอกสารด้านการกลาโหมเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ปีนี้ เรียกร้องให้จีนหยุดการขุดเจาะดังกล่าวโดยระบุอีกว่าการกระทำของจีนในครั้งนี้ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงในปี 2551 เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน ซึ่งบารัวห์มองว่าญี่ปุ่นกลัวว่าจีนจะสูบเอาทรัพยากรน้ำมันของฝั่งญี่ปุ่นไปหมดทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น อีกทั้งยังกลัวว่าจีนจะฉวยโอกาสเปลี่ยนฐานขุดเจาะน้ำมันให้กลายเป็นฐานกำลังทางทหาร

ทางฝ่ายจีนอ้างว่าเอกสารด้านกลาโหมของญี่ปุ่นในเรื่องนี้เป็นการ "สร้างความตึงเครียดปลอมๆ" และ "สร้างความหวาดกลัวเกี่ยวกับภัยทางทหารของจีน" อีกทั้งยังถือเป็นการทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยากในด้านการจัดการทะเลจีนตะวันออก

บารัวห์ชี้ว่าเมื่อพิจารณาร่วมกับการออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของญี่ปุ่นและเรื่องที่จีนมีปัญหากับสุนทรพจน์รำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นแล้ว เห็นได้ว่าปัญหาความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศนี้มาจากที่พวกเขาต่างก็ไม่มีเจตจำนงค์ทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเน้นเอาผลประโยชน์ร่วมกันเป็นที่ตั้ง บารัวห์ระบุอีกว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่สองมหาอำนาจในเอเชียไม่สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูตร่วมกันได้ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาด้วยกำลังก็ไม่เป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย พวกเขาจึงควรหันมาแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางการเมืองและการทูตแทน

 

 

เรียบเรียงจาก

Are Japan–China relations sweetening or souring?, Akio Takahara, East Asia Forum, 09-09-2015

Abe’s China policy fuel tensions in Japan–China relations, Pranamita Baruah, East Asia Forum, 17-09-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net