Skip to main content
sharethis

กลุ่มคนข้ามเพศประชุมเชิงปฏิบัติการหาทางออกบริการด้านสุขภาพ เผยข้อมูลสาวประเภทสองมีโอกาสติดเชื้อ HIV สูง คาดเกิดจากเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ-ถูกเลือกปฏิบัติ

17 ก.ย.2558 ที่โรงแรมโนโวเทล เพลินจิต กรุงเทพมหานคร มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการวิจัยเพื่อการพัฒนาต้นแบบการให้บริการด้านสุขภาพแก่คนข้ามเพศในประเทศไทย จัดโดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ร่วมมือกับ สถาบัน Research Triangle Institute (สถาบัน RTI) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร  โดยมีกลุ่มคนข้ามเพศจากหลายภาคส่วน เช่น มูลนิธิซิสเตอร์  ซาริน่า ไทย นางแบบข้ามเพศ ณิชา รองราม อดีตรองอันดับหนึ่งมิสทิฟฟานี ฯลฯ เข้าร่วม

รีน่า จันทร์อำนวยสุข ผู้ประสานงานโครงการ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากการรายงานวิจัยโครงการ Transrespect versus Transphobia (TvT) หรือ ทีวีที ที่ศึกษาโดยองค์กรข้ามเพศแห่งสหภาพยุโรป (Transgender Europe) ร่วมกับเครือข่ายเพื่อนกะเทยในปี 2558 สำรวจจากประชากรตัวอย่างที่เป็นกะเทย สาวประเภทสอง ผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ชายข้ามเพศ จำนวน 202 คนในประเทศไทย มีข้อมูลสำคัญพบว่าร้อยละ 84 ระบุว่าตนไม่เคยเข้ารับคำปรึกษาเรื่องการใช้ฮอร์โมนสำหรับการเปลี่ยนร่างกายเพื่อการข้ามเพศจากแพทย์โดยตรง และร้อยละ 55 ระบุว่าตนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจากแพทย์ และร้อยละ 47 ระบุว่าตนมีประสบการณ์เชิงลบต่อการรับบริการจากหน่วยงานให้บริการด้านสุขภาพ และสุดท้ายร้อยละ 10 ระบุว่าตนไม่มีความสามารถในการเบิกจ่ายค่าบริการได้

รีน่า กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์การติดเชื้อ HIV ทั่วโลกตอนนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูงสุดคือสาวประเภทสองที่มีความเสี่ยงถึง 49 เท่าของคนวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป กรณีนี้ สาวประเภทสองอาจถูกมองว่ามั่วเซ็กส์ แต่เธอชี้ว่า สาเหตุของความเสี่ยงน่าจะเกิดจากการที่พวกเขาเข้าไม่ถึงการให้บริการ ได้รับการบริการไม่เป็นมิตร ถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ

รีน่า กล่าวถึงข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วยว่า คนข้ามเพศควรมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพเพื่อการปรับเปลี่ยนทางร่างกายตามอัตลักษณ์ทางเพศของตน และได้การสนับสนุนการใช้ฮอร์โมนด้วยการฉีดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี

แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ TvT กล่าวว่า “การให้บริการสุขภาพแก่ประชากรทุกกลุ่มนั้น เราควรให้ความสำคัญต่อการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนเจ้าปัญหา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การเป็นเจ้าของร่วมและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสนอข้อเสนอ ผู้ร่วมประชุมรายหนึ่งกล่าวถึงกรณีการเข้าไปรับบริการสุขภาพว่า เวลาไปตรวจภายใน จะรู้สึกกดดัน เนื่องจากแพทย์บางคนเป็นผู้ชาย หรือแม้เป็นผู้หญิงก็ตาม เพราะลักษณะทางกายภาพของตนเองต่างกับผู้หญิงอย่างเรื่องช่องคลอดใหม่ ซึ่งแพทย์หลายคนไม่มีความรู้เรื่องนี้มากนักหรือเรื่องที่แพทย์ไม่มีความรู้ความเข้าใจกลุ่มคนข้ามเพศพอที่จะให้คำแนะนำหรือปรึกษาได้

สำหรับข้อเสนอซึ่งผู้เข้าร่วมนำเสนอ ได้แก่
1. เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าใจและศึกษาเรื่องของกลุ่มคนข้ามเพศอย่างแท้จริง เช่นเรื่องการตรวจภายใน และให้มีการอบรมทำความเข้าใจกลุ่มคนข้ามเพศ ให้กับแพทย์ให้รู้และเข้าใจต่อกลุ่มคนข้ามเพศ 2. รองรับผู้ป่วยคนข้ามเพศ กรณีที่ศัลยกรรมมา แต่เกิดเหตุทำให้ได้รับอันตรายในบริเวณที่ทำ ให้มีบริการข้อมูลที่สามารถเชื่อมเข้าหากันได้แม้จะไม่ใช่โรงพยาบาลเดิมที่ทำมาก็ตาม
3. ประเด็นการศัลยกรรมและการฉีดฮอร์โมนของคนข้ามเพศ อยากให้มีการรับรองจากหน่วยงานของรัฐว่าได้มาตรฐาน สามารถทำได้โดยไม่เกิดอันตราย
4. มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการใช้สิทธิในการรักษา และเรื่องยาฮอร์โมน เช่นการกินยาฮอร์โมนจะมีผลต่อการรักษาโรคที่เป็นอยู่หรือไม่
5. การบริการตรวจหลังการผ่าตัด เช่นการผ่าตัดแปลงเพศ (ช่องคลอดใหม่) และให้คำแนะนำในการดูแลอวัยวะ
6. ให้กลุ่มคนข้ามเพศผู้สูงอายุเข้าถึงการดูแล โดยมีแพทย์ที่มีความรู้จริง และมีการเก็บข้อมูลจำนวนประชากรของกลุ่มคนข้ามเพศที่ชัดเจนจะได้ง่ายต่อการดูแลและดูแลได้อย่างทั่วถึง
7. ให้มีคลินิกที่ไม่บ่งบอกชื่อแบบเฉพาะเจาะจงเกินไปเพื่อลดความกดดันจากสภาพแวดล้อม เพื่อที่จะได้ลดความกลัวและทำให้อยากเข้าไปใช้บริการได้ อย่างเช่นเวลาไปเจาะเลือดก็จะทำให้ถูกมองว่าติดเชื้อ HIV

ประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากบริการทางการแพทย์ ได้แก่
1. ให้มีการรวมกลุ่มแบบ Peer Support ของคนข้ามเพศ ซึ่งช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ สามารถเป็นพื้นที่เหมือนที่พึ่งพิงของคนกลุ่มนี้ได้ และให้มีแพทย์ในกลุ่มนี้ด้วยจะได้เรียนรู้และนำข้อมูลไปรักษาดูแลกลุ่มคนข้ามเพศที่ถูกต้อง
2. ให้มีการติดตั้งช่องทางในการติดต่อให้คำปรึกษา เช่น ศูนย์ฮอตไลน์ หรือเว็บไซต์ โดยมีการรองรับภาษาอื่นๆ ด้วย
3. มีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาสำหรับเยาวชนที่เป็นกลุ่มของคนข้ามเพศ ที่อาจเกิดความกดดัน ภาวะเปราะบางจากครอบครัวและสังคม รวมถึงให้มีการให้คำแนะนำสำหรับพ่อ แม่ ที่มีลูกเป็นกลุ่มของคนข้ามเพศด้วย

ตัวแทนจากสภากาชาดไทย กล่าวว่า จะนำไปข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมไปทำการวิจัยต่อไป และจะพัฒนาเรื่องบริการด้านสุขภาพที่ดีแก่คนข้ามเพศต่อไป

รีน่า กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการประชุมนี้จะนำไปเป็นแนวทางในการสร้างศูนย์ดูแลของกลุ่มคนข้ามเพศต่อไปในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net