คดี 'ณัฐ' ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว ศาลอุทธรณ์สั่งปรับเท่านั้น

คดี ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว ศาลอุทธรณ์สั่งปรับเท่านั้น


กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ แปรงสีฟันที่ณัฐใส่ถุงเตรียมมาศาลด้วย
เพราะคาดว่าจะต้องเข้าเรือนจำอีกครั้ง

17 ก.ย. 2558 ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว โดยสั่งปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเป็นปรับ 2,000 บาท ส่วนโทษจำคุก 2 เดือน 20 วัน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง 1 เดือน 10 วันนั้น ศาลสั่งยกตามมาตรา 55 ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 55 ถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนด เวลาเพียงสามเดือนหรือน้อยกว่า ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกก็ได้ หรือถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียงสามเดือน หรือน้อยกว่าและมีโทษปรับด้วย ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลง หรือจะ ยกโทษจำคุกเสีย คงให้ปรับแต่อย่างเดียวก็ได้

ทั้งนี้ ในศาลชั้นต้นศาลลงโทษจำคุก 1 เดือน 10 วันเท่านั้นไม่มีโทษปรับ จำเลยอยู่เรือนจำ 5 วันก่อนได้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 40,000 บาท จากนั้นอัยการอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษปรับด้วย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า คดีการเมือง คดีเสรีภาพลักษณะนี้ถือว่าคดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลใช้มาตรา 55 มาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นโทษในคดีความผิดเล็กน้อย เช่น คดีจราจร ส่วนเหตุที่ศาลใช้มาตรานี้เพราะณัฐเคยถูกจำคุกมาก่อนในคดี 112 ตามกฎหมายอาญาซึ่งศาลไม่สามารถรอลงการลงโทษได้เหมือนคดีอื่นๆ

"นี่เป็นสัญญาณที่ดีที่ศาลพยายามหาช่องทางเพื่อไม่สั่งจำคุกจำเลยคดีนี้" ยิ่งชีพกล่าว

ด้านณัฐให้สัมภาษณ์ว่า "ตอนแรกทำใจ เตรียมใจแล้ว เตรียมกางเกงขาสั้น รองเท้าแตะมาด้วย แต่กลับเป็นว่าศาลเห็นใจ ผมก็ประหลาดใจอยู่"

เมื่อถามว่าจะทำอะไรต่อ "คงต้องโทรบอกทหารว่าไม่ติดคุก ตอนแรกไปบอกเขาว่าติดคุก ช่วงหลังมานี่เขาติดต่อเรื่อยๆ ตั้งแต่กรกฎาคม สิงหา บอกว่าถ้าจะออกนอกประเทศแจ้งเขาด้วย ก่อนหน้านี้นึกว่าไม่มีอะไรแล้ว ไม่ต้องติดต่อกันแล้วกับทหาร"

ทั้งนี้ คดีของณัฐพิจารณาที่ศาลพลเรือน เนื่องจากความผิดของณัฐนับว่าเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พ.ค. ที่ คสช.จะประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน คดีของณัฐจึงเป็นคดีไม่มารายงานตัวคดีแรกที่พิจารณาที่ศาลพลเรือน

ชื่อของเขาอยู่ในคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. ฉบับที่ 5/2557 วันที่ 24 พ.ค.2557 ต่อมาเขาถูกจับกุมที่บ้านพักในเวลาราว 1.00 น.ของวันที่ 7 มิ.ย.57 จากนั้นถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วันก่อนจะปล่อยตัวและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

ณัฐเป็นอดีตผู้ต้องโทษในคดี 112 ในปี 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 9 ปีจากกรณีส่งอีเมลเข้าข่ายหมิ่นให้นายอีมิลิโอ เอสเทแบน (Emilio Esteban) ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่สเปน แต่เนื่องจากรับสารภาพ โทษจำคุกจึงเหลือ 3 ปี 18 เดือน จากนั้นระหว่างถูกคุมขังเขาได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวาระพิเศษต่างๆ รวมถึงเป็นนักโทษชั้นดีที่ได้รับลดวันต้องโทษ ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนด วันที่ 19 เม.ย.2555 รวมระยะถูกคุมขัง 2 ปี 4 เดือน จากนั้นก็ออกมารับจ้างเป็นล่าม และทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเป็นลูกจ้างตามร้านขายของ

ณัฐเคยให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนว่า ในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนั้น เขาถูกใช้ผ้าปิดตาและควบคุมตัวในบ้านหลังหนึ่งคาดว่าในค่ายทหาร มีการสอบสวนหลายครั้งนอกรอบ แต่ในการสอบสวนอย่างเป็นทางการซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน คำถามหลักที่เจ้าหน้าที่ต้องการทราบคือเรื่องการสนับสนุนเงินแก่นักโทษการเมือง และการรวมตัวกันของอดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่มักไปพบปะกันตามงานต่างๆ แล้วถ่ายรูปร่วมกันสร้างความไม่พอใจกับหน่วยงานความมั่นคง แต่เขาระบุว่าเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวหลังจากรู้จักกันในเรือนจำและไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท