Skip to main content
sharethis

15 ก.ย. 2558 เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM เผยแพร่วิดีโอคลิปสัมภาษณ์ประสบการณ์การรัฐประหารครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา หนึ่งใน 4 พลเมืองโต้กลับที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศคสช. ชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน หลังจากกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 14 ก.พ.58

สิรวิชญ์ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับรู้จากการรัฐประหารครั้งแรกในปี 49 ว่า ตอนนั้นอายุประมาณ 14 ย่าง 15 ปี เรียนอยู่ ม.3 ที่โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน เมื่อเกิดเหตุช่วงนั้นก็รู้สึกตกใจ เพราะดูโทรทัศน์อยู่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันมีทหารมานั่งพูดทางโทรทัศน์ ซึ่งตอนนั้นก็ตั้งคำถามว่าทหารจะมาทำอะไรหรอ ด้วยคำพูดของเขา ตนก็ฟังไม่ออก เขาพูดเพียงแต่ว่าจะมายุติความขัดแย้ง ยุติความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากทางการเมือง

สิรวิชญ์ เล่าต่อว่า สำหรับตอนนั้นตนก็ได้รับข้อมูลชุดหนึ่งว่าทักษิณเป็นคนที่ทุจริต ฉ้อโกงต่างๆ ทั้งในเชิงนโยบาย แต่ด้วยตอนนั้นองค์ความรู้ยังมีไม่มาก ก็ยังไม่เขาใจปรากฏการณ์ขณะนั้น ก็เลยดูสถานการณ์ต่อไป เพราถือว่าเป็นอะไรที่แปลกตาขึ้นมาในชีวิต

ต่อคำถามที่ว่าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา สำหรับตัวเขาม็อบถือเป็นเรื่องแปลกไหมนั้น สิรวิชญ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าอีกฝั่งหนึ่งมาไล่ทักษิณ มาไล่นอมินี ขณะที่ฝั่งเสื้อแดงออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ตอนปี49 ซึ่งตนก็เข้าไปสังเกตการณ์ปรากฏการณ์เหล่านี้มาโดยตลอด ผ่านมาทั้ง 2 ม็อบ

เมื่อเปรียบเทียบการรัฐประหารปี 49 กับ 57 สิรวิชญ์ กล่าวว่า แตกต่างกันมาก โดยที่คิดว่าภาพในขณะนั้น(ปี49) ไม่เห็นคนที่ถูกจับถูกรัฐบาลจัดการ คนเห็นต่างก็ยังพอมีพื้นที่อยู่ได้บ้าง และการมาและลงอย่างรวดเร็ว และลงไปโดยมีรัฐธรรมนูญต่อมา ขณะที่ปี 57 กลับมีหนทางที่จะสืบทอดอำนาจกันต่อ และได้ผู้นำทางการเมืองที่ไม่ประนีประนอมทางการเมืองกับใครเลย คิดว่ารัฐประหารปี 57 ถือว่าร้ายแรงกว่ารัฐประหารี 49 แต่โดยรวมตนถือว่าไม่โอเคทั้ง 2 ครั้ง

โดยตอนท้ายของวิดีโอคลิปดังกล่าวมีข้อความ “ร่วมลุกขึ้นประกาศอิสรภาพจากระบอบเผด็จการทหาร วันที่ 19 เดือนกันยา 58 เวลา 13.00 – 16.00 น. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net