Skip to main content
sharethis

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2551 เนปาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้ประเทศเป็นรัฐที่แยกออกจากศาสนา และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเวลายาวนานจากสภาร่างฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งล่าสุดมีมติโหวตคัดค้านไม่ให้เนปาลกลับไปเป็นรัฐศาสนาฮินดู

15 ก.ย. 2558 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งเนปาลมีมติคัดค้านไม่ให้ประเทศเนปาลกลับไปเป็นรัฐศาสนาฮินดู และยังคงความเป็นรัฐที่แยกออกจากศาสนา (Secular State) แบบเดียวกับที่เคยเป็นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์กลายเป็นระบอบสาธารณรัฐเมื่อปี 2551

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 ก.ย.) สมาชิกสภาเริ่มโหวตลงมติร่างข้อเสนอดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การลงมติดำเนินมาจนเสร็จสิ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ก.ย.) โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า 2 ใน 3 โหวตคัดค้านการทำให้เนปาลกลับไปเป็นรัฐศาสนาฮินดูอีกครั้ง โดยร่างข้อเสนอดังกล่าวต้องการความเห็นชอบอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสภาถึงจะถือว่ามีมติยอมรับ

หลังจากการลงมติดังกล่าวเสร็จสิ้นก็เกิดเหตุผู้ประท้วงชาวฮินดูหลายร้อยคนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้าอาคารรัฐสภาทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุมและทุบตีผู้ชุมนุมด้วยกระบองไม้ไผ่ นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังไล่โจมตียานพาหนะที่สัญจรผ่านไปมารวมถึงยานพาหนะของสหประชาชาติที่กำลังไปส่งเจ้าหน้าที่ที่สนามบิน โดยที่เจ้าหน้าที่และคนขับรถไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ และในการปะทะที่เกิดขึ้นไม่มีรายงานว่ามีผู้ใดได้รับบาดเจ็บสาหัส

อัลจาซีราระบุอีกว่ามติในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญเนปาลซึ่งมีความล่าช้ามาเป็นเวลาหลายปีเนื่องจากความเห็นที่ไม่ตรงกันของพรรคการเมือง จนกระทั่งในปีนี้พรรคการเมืองหลัก 3 พรรคในเนปาลตกลงกันได้ในที่สุดทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินต่อไปได้

ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เป็น สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย (Federal Democratic Republic) ระหว่างปี 2550-2551 เนปาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและจัดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากพรรคการเมืองต่างๆ ของเนปาล ในระหว่างนั้นเนปาลก็เปลี่ยนจากประเทศศาสนาฮินดูเป็นประเทศที่รัฐกับศาสนาแยกจากกันตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว

เนปาลมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูร้อยละ 80 รวมถึงในยุคก่อนหน้านี้ก็มีการเชื่อมโยงศาสนาฮินดูกับกษัตริย์โดยมีความเชื่อว่ากษัตริย์เนปาลเป็นการกลับชาติมาเกิดของเทพฮินดูชื่อพระวิษณุ ในขณะที่กลุ่มผู้นำศาสนาเรียกร้องให้เนปาลกลายเป็นรัฐศาสนาฮินดูอีกครั้ง พรรคสายกลางอย่างพรรคเนปาลีคองเกรสหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาลเรียกร้องให้ใช้คำว่า "เสรีภาพทางศาสนา" แทนคำว่า "รัฐฆราวาส" ซึ่งหมายถึงรัฐที่แยกจากศาสนาแทน ส่วนกลุ่มศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฮินดูเรียกร้องให้ยอมรับว่าเนปาลเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม

บทความของปาวัน คุมาร์ เซน นักศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า สำหรับคนกลุ่มน้อยทางศาสนาและคนชายขอบทางวัฒนธรรมแล้ว การประกาศให้เนปาลเป็นรัฐที่แยกจากศาสนาตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเนปาลเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เป็นการแสดงอัตลักษณ์ใหม่ของเนปาลในฐานะประเทศที่ยึดหลักความหลากหลายทางวัฒนธรรม


เรียบเรียงจาก

Nepal rejects reverting back to a Hindu state, Aljazeera, 14-09-2015
http://www.aljazeera.com/news/2015/09/nepal-rejects-reverting-hindu-state-150914133321948.html

Will Nepal once again become a Hindu state?, Pawan Kumar Sen, East Asia Forum, 12-09-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/09/12/will-nepal-once-again-become-a-hindu-state/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Nepal

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net