Skip to main content
sharethis

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเปิดเผยว่าวัตถุที่ตกจากฟ้าเมื่อ 7 ก.ย. คืออุกกาบาตแบบ "ลูกไฟ" ขนาด 3.5 เมตร มวลหนัก 66 ตัน จุดที่สว่างสุดห่างจากพื้นโลก 29.3 กม. พลังงานการชนเท่าระเบิดทีเอ็นที 3.9 กิโลตัน โดยยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ อุกกาบาตตกใส่โลกทุกวัน ส่วนมากตกบริเวณที่ไม่มีคนอาศัย

แผนที่ซึ่งแสดงจุดที่อุกกาบาต "ไฟร์บอล" สว่างที่สุด เมื่อเวลา 08.41.19 น. วันที่ 7 ก.ย. 2558 โดยอาศัยข้อมูลจากเว็บไซต์ "Near Earth Object Program" ขององค์การนาซา โดยพิกัดของอุกกาบาตอยู่บริเวณ ละติจูดที่ 14°30'00.0" องศาเหนือ ลองติจูดที่ 98°54'00.0" องศาตะวันออก เทียบได้กับบริเวณ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี โดยจุดที่สว่างที่สุดอยู่ห่างจากโลกประมาณ 29.3 กม. ก่อนที่อุกกาบาตจะพุ่งตกลงพื้นผิวโลก โดยขณะนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยังไม่มีรายงานการพบวัตถุจากอุกกาบาตดังกล่าว (ที่มา: ประชาไท/google maps)

15 ก.ย. 2558 จากปรากฏการณ์ที่มีผู้พบเห็นลูกไฟสว่างบนท้องฟ้า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. เวลา 08.40 น.  โดยมีรายงานว่ามองเห็นได้จากหลายพื้นที่ทั้ง กรุงเทพมหานคร อุทัยธานี และกาญจนบุรี โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่าเป็นสะเก็ดดาวหรือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กพุ่งเข้าสู่บรรยากาศ และอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 50-100 กิโลเมตรนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ว่า "จากการรวบรวมข้อมูลจากเครือข่ายดาราศาสตร์ทั้งภายในและต่างประเทศภายใต้ความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ดาราศาสตร์สู่สาธารณะ ทางสถาบันฯ รวบรวมข้อมูลวิดีโอและภาพนิ่งที่ได้จากประชาชนผู้พบเห็นเหตุการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับข้อมูลการสังเกตจากดาวเทียมสำรวจอากาศของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอนุเคราะห์โดยองค์การนาซา จากนั้นก็ทำการวิเคราะห์หาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวัตถุต้นกำเนิดของแสงวาบดังกล่าวได้ดังนี้"

"จากข้อมูลพบว่าแสงวาบที่เกิดขึ้นอาจเป็นลูกไฟ (Fireball หรือ Bolide) จากดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เสียดสีเกิดความร้อนจนลุกไหม้ เห็นเป็นลูกไฟ มีควันขาวเป็นทางยาว เสียงดังคล้ายระเบิด เห็นได้เป็นบริเวณกว้าง ข้อมูลเบื้องต้นที่จังหวัดกาญจนบุรีปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าววิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นวัตถุจากนอกโลก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 เมตร มวลประมาณ 66 ตัน พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วประมาณ 75,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (21 กม. ต่อวินาที) มีความสว่างที่สุดในขณะอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 29.3 กิโลเมตร พลังงานการชนของวัตถุดังกล่าวมีค่าเทียบเท่าการระเบิดของ TNT  3.9 กิโลตัน (หรือ 1 ใน 4 ของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา) ทิศทางการเคลื่อนที่มุ่งไปทางตะวันตก ที่มุมอะซิมุท  269.8 องศา มุมเอียงของการชนเทียบกับพื้นโลก 45.4 องศา ระบุพื้นที่ที่อาจมีอุกกาบาตตกบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กินพื้นที่เป็นวงกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 กิโลเมตร นับเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่สุดที่พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกในรอบปีที่ผ่านมา ดังรูปที่ 1"

รูปที่ 1 จากกราฟจะพบว่าพลังงานของวัตถุดังกล่าวมีค่าเทียบได้กับระเบิด TNT 3.9 กิโลตัน ขนาดที่สอดคล้องกันดูได้จากแกน x ที่อยู่ด้านบนคือเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 เมตร และมีอัตราการตกเฉลี่ยปีละครั้ง

รูปที่ 2 แสดงพื้นที่ที่อาจมีอุกกาบาตตกบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กินพื้นที่เป็นวงกว้างมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 กิโลเมตร (ที่มา: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)

รูปที่ 3 แสดงจำนวนเหตุการณ์ที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กเคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกตั้งแต่ปี 1994 -2013   ในช่วงระยะเวลาประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมา มีวัตถขนาดเล็กเคลื่อนที่พุ่งชนบรรยากาศโลกจำนวนถึง 556 ครั้งจุดสีน้ำเงินหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนมีทั้งหมด 301 ครั้ง ส่วนจุดสีเหลืองหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลากลางวันมีทั้งหมด 255 ครั้ง (ที่มา: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)

"อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามีการพบอุกกาบาตจากวัตถุดังกล่าว สดร. ยังคงจะติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และขอยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปกติที่อธิบายได้ จากสถิติพบว่ามีอุกกาบาตตกลงมาบนโลกเป็นจำนวนมากแต่ไม่เป็นข่าวเนื่องจากส่วนมากตกในมหาสมุทรหรือบริเวณที่ไม่มีบริเวณที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก จึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นแต่ไม่น่าตกใจ กรณีนี้ไม่ต่างจากที่เราเห็นดาวตกตอนกลางคืน เพียงแต่เหตุการณ์นี้เห็นได้ในแหล่งชุมชนและเกิดขึ้นในเวลากลางวันเท่านั้น" รายงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุ

 

เว็บไซต์นาซาบันทึกพิกัดอุกกาบาต 7 กันยา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทั้งนี้ในเว็บไซต์ "Near Earth Object Program" ขององค์การนาซา ได้บันทึกด้วยว่า เกิดอุกกาบาตขนาด "ไฟร์บอล" ตก เมื่อเวลา 01:41:19 น. ตามเวลาสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 พิกัดโดยประมาณ 14.5N 98.9E หรือ ละติจูดที่ 14°30'00.0" องศาเหนือ ลองติจูดที่ 98°54'00.0" องศาตะวันออก เทียบได้กับบริเวณ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีความเร็วประมาณ 16.8 กม. ต่อวินาที จุดที่อุกกาบาตตกมีที่ตั้งค่อนไปทางทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ประมาณ 12 กม. และห่างจากทางหลวงหมายเลข 323 ราว 6 กม.

จุดที่สว่างที่สุดอยู่ห่างจากพื้นผิวโลก 29.3 กม. พลังงานจากการแผ่รังสี 179.8e10 (J) และปล่อยพลังงานออกมาเท่ากับการระเบิดขนาด 3.9 กิโลตัน

วันหนึ่งมีอุกกาบาตตกเป็นล้านชิ้น-ขนาด "ลูกไฟ" ตกเกือบปีละ 5 แสนลูก

ปรากฏการณ์อุกกาบาตขนาด "ลูกไฟ" ที่มองเห็นในกรุงเทพมหานคร และหลายพื้นที่ของประเทศเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 ในคลิปเริ่มต้นที่วินาทีที่ 00:28 (ที่มา: คลิปของคุณ Porjai Jaturongkhakun/YouTube)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า อนึ่ง ในวิกิพีเดีย คำว่า อุกกาบาต (Meteor) หรือที่เรียกกันว่า "ดาวตก" (Shooting Star) หมายถึง การพุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกของ สะเก็ดดาว (Meteoroid) ละอองดาว (micrometeoroid) ดาวหาง (comet) หรือ ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) โดยเกิดการเผาไหม้จากการเสียดสีกับอนุภาคของอากาศในชั้นบรรยากาศที่อยู่ระดับสูง และทำให้วัตถุที่เป็นองค์ประกอบของอุกกาบาตเกิดเปล่งแสง และเพียงพอที่จะทำให้เกิดแสงที่มองเห็นได้ โดยอุกกาบาตมักลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศช่วงมีโซสเฟียร์ ตั้งแต่ความสูง 76 ถึง 100 กม.

โดยในแต่ละวันมีอุกกาบาตเป็นล้านชิ้นที่พุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก แต่สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดอุกกาบาตมีขนาดประมาณเม็ดทรายเท่านั้น บางทีก็เกิดขึ้นในรูปแบบฝนดาวตก เมื่อโลกโคจรผ่านเศษละอองของดาวหาง

ทั้งนี้อุกกาบาตจะเริ่มมองเห็นได้ตั้งแต่ระยะ 75 ถึง 220 กม. จากพื้นผิวโลก และจะเริ่มแตกกระจายเมื่อตกลงมาถึงระยะ 50 ถึง 95 กม. โดยอุกกาบาตตกทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน แต่ที่มองเห็นในตอนกลางคืนมากกว่าเป็นเพราะช่วงกลางคืน ความมืดทำให้วัตถุที่มีแสงสว่างน้อยปรากฏเห็นชัด โดยที่แสงที่เกิดจากการลุกไหม้เสียดสีกับอากาศของอุกกาบาตเกิดขึ้นกินเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" (fireball) ซึ่งใช้เรียกอุกกาบาตที่มีความสว่างมากกว่าอุกกาบาตทั่วไป โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) นิยามว่า "ลูกไฟ" หมายถึงอุกกาบาตที่มีแสงสว่างบนท้องฟ้ากว่าดาวเคราะห์

โดยในปี 2557 สมาคมอุกกาบาตอเมริกัน (American Meteor Society) บันทึกว่ามีผู้เห็นอุกกาบาตแบบ "ลูกไฟ" เกิดขึ้นกว่า 3,751 ครั้ง ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าปีหนึ่งๆ เกิดปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" นับ 500,000 ครั้งในแต่ละปี แต่มักเกิดขึ้นโดยไม่มีการบันทึกเนื่องจากไปเกิดในบริเวณที่ไม่มีมนุษย์อาศัย รวมทั้งมหาสมุทร และอีกครึ่งหนึ่งก็ไปเกิดในช่วงกลางวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net