Skip to main content
sharethis

เก็บประเด็นวงเสวนา "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?" ปิยบุตรชี้ คสช. อาจบีบประชาชนให้เลือกระหว่างร่างรธน. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือจะอยู่ใต้อำนาจ คสช. ต่อไป พร้อมเสนอ หยิบรธน.40 มาใช้ เปิดช่องเลือกตั้ง สสร.

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 เวลา 13.00 น. ที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, รังสิมันต์ โรม และคมสันติ์ จันทร์อ่อน ดำเนินรายการโดย เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยภายในงานเสวนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

รังสิมันต์ โรม : ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ คสช. จะหมดความชอบธรรม

รังสิมันต์ โรม เริ่มต้นด้วยกล่าวว่า การพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปแล้วอาจจะดูไม่มีประโยชน์อะไร แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือประเทศไทย และประชาชนไทยสูญเสียเงินกว่าพันล้าน ซึ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเงินในส่วนของสภาปฎิรูปแห่งชาติ ซ้ำยังเสียเวลาไปแล้ว 16 เดือนโดยที่ประเทศชาติไม่ได้ก้าวไปไหนเลย

สำหรับที่มาของรัฐธรรมนูญ รังสิมันต์เห็นว่า ตราบใดที่รัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงกับประชาชน เราไม่สามารถเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่าเป็นประชาธิปไตยได้ ไม่ว่าจะมีการอ้างว่าเนื้อหาดีเพียงใดก็ตาม พร้อมทั้งเชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่โดย คสช. จะยังคงมีโครงสร้างที่ให้อำนาจกับประชาชนน้อยอยู่เช่นเดิม

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เราอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ซึ่ง คสช.สามารถที่จะทำอะไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า คสช. หมดความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปแล้ว เนื่องจากการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเป็นการคว่ำโดยคนของ คสช. เอง โดยเสนอว่า คสช. ต้องวางมือจากการร่างรัฐธรรมนูญ และปล่อยให้มีกระบวนการที่ประชาชนเป็นผู้ร่าง เพราะผู้ที่จะตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด คือคนที่มาจากการประชาชน

คมสันติ์ จันทร์อ่อน : รัฐบาลอ้างว่าจะลดความเหลือมล้ำ แต่กลับกลายเป็นการเบียดขับคนจน

ด้าน คมสันติ์ จันทร์อ่อน เลขาธิการเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงมุมมองของภาคประชาชน โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชน คมสันติ์ยังกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาระหว่างช่วงรัฐประหาร มีการไล่รื้อชุมชนแออัด และชุมชนในชนบท รวมทั้งการทวงคืนผืนป่า ทำให้คนจนไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในรัฐบาลที่อ้างว่าจะลดความเหลือมล้ำทางสังคม แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นการเบียดขับคนจน

ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ สปช. เพิ่งมีมติไม่รับร่างไปนั้น คมสันติ์ เห็นว่าโดยตัวเนื้อหานั้นไม่ได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เช่นเรื่องว่าด้วยสิทธิการชุมนุมที่มีเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอ่านดูแล้วสวยหรู แต่ในขณะที่ คสช. มีอำนาจอยู่ กลับมีการออก พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ออกมา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คมสันติ์ กล่าวต่อไปว่า การคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนให้เร็วที่สุด จะเป็นทางออกจากวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ แต่ก็ไม่ได้มีการตอบรับจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย และหากรัฐบาลยังคงไม่แก้ไขปัญหาให้กับคนจน และรังแกคนจนอยู่ ก็คงต้องปรึกษากันต่อไปว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

ปิยบุตร แสงกนกกุล : คสช. อาจบีบให้ประชาชนหนีเสือปะจระเข้ หากไม่รับร่าง ก็อยู่ใต้อำนาจต่อไป

ปิยบุตร แสงกนกกุล เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงทฤษฎี และประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ เพื่อวิเคราะห์ว่าการกระจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้นได้มาตราฐานที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โดยปิยบุตรกล่าวว่า การทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขเฉพาะรายมาตรา อันดับแรกจะมีจุดเริ่มจากการทำลายรัฐธรรมนูญเก่า และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาแทน หลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และจึงลงมาดูที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยทั้ง 3 สิ่งคือจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ จะเป็นสิ่งที่บอกเราว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า จุดเริ่มต้นของการทำรัฐธรรมนูญนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่นแบบที่เราเห็นกันเป็นประจำในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือการเริ่มต้นการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการนอกระบบ คือการทำรัฐประหาร แล้วฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศอื่นก็เคยทำลักษณะนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น โปรตุเกส ตุรกี และอียิปต์

ขณะที่วิธีในระบบคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องทางให้มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น ปิยบุตรกล่าวว่า กรณีนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย คือรัฐธรรมนูญปี 2489 ซึ่งได้มีการเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญปี 2475 แล้วทำให้ทั้งฉบับโดยไม่ต้องมีการทำรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2540 เองก็เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันคือ การเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญปี 2534 เพื่อทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ บทเรียนในต่างประเทศที่เคยร่างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีเดียวกันเช่น สเปน ชิลี บราซิล

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอีกลักษณะหนึ่ง การเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญให้โดยสหประชาชาติ หรือสมาคมระหว่างประเทศ ที่เข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมแก้ไขปัญหาให้กับประเทศที่มีความวุ่นวาย เกิดสงครามกลางเมือง เช่น ยูโกสลาเวีย กัมพูชา อิรัก ญี่ปุ่น และเยอรมันนี  

ปิยบุตรกล่าต่อไปว่า กระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นมีได้ 2 แบบ โดยรูปแบบแรกคือ กระบวนการทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และรูปแบบที่สองคือ กระบวนการทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อสังเกตว่า กระบวนการทำมีจุดยึดโยงกลับไปหาประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญหรือไม่ ในส่วนของรูปแบบแรกคือ ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนมากจะเป็นร่างกันเองในหมู่ชนชั้นนำ หรือกลุ่มนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างรัฐธรรมนูญที่ชั้นนำร่างกันเอง อาจจะย้อนแย้งต่อความเข้าใจในปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนี ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญของหลายประเทศในปัจจุบัน ขณะที่กระบวนการร่างนั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย

การบวนการร่างรัฐธรรมนูญของเยอรมันนีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเกิดจากการแพ้สงครามโลก เมื่อแพ้สงครามโลกประเทศสัมพันธมิตรซึ่งยึดเยอรมันนีเอาไว้ประมาณ 4-5 ปี ได้ตัดสินใจว่าเยอรมันนีควรปกครองตัวเองได้แล้ว จึงได้มีการเรียกนายกรัฐมนตรีของแต่ละมลรัฐมานั่งคุยกันและตัดสินใจให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยการตั้งคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละมลรัฐเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ โดยไปเก็บตัวอยู่ที่เกาะ แคว้นบาวาเรีย และใช้เวลาร่างเพียง 14 วัน จากนั้นก็นำกลับมาให้ประเทศสัมพันธมิตรดูว่าผ่านหรือไม่  จากนั้นให้ผู้แทนของแต่ละมลรัฐดูว่าผ่านหรือไม่ แม้กระบวนทั้งไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน แต่มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย ปัจจัยหนึ่งที่ทำใหรัฐธรรมนูญของเยอรมันนีมีหน้าตาที่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากก่อนหน้านี้เยอรมันนีตกอยู่ภายระบบเผด็จการของฮิตเลอร์ และนำพาประเทศไปแพ้สงครามโลก ฉะนั้นความคิดชี้นำของการทำรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นคือ ความต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

สำหรับกรณีของไทยนั้น ปิยบุตรกล่าวว่า ที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญเองก็ได้มาจากอำนาจนอกระบบ กระบวนการก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เนื้อหาจึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มีความคิดชี้นำตั้งแต่แรกว่าต้องทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

ปิยบุตรกล่าวต่อไปถึงกรณีของประเทศไทย หลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2489 ถูกเลิกใช้ก็มีการทำรัฐธรรมนูญปี 2490 สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีอภิรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรปี 2492 สิ่งที่เกิดขึ้นคือการมีองคมนตรีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สภาชิกวุฒิสภามาจากกาแต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการปรับดุลอำนาจเพื่อสนองต่อวัถตุประสงค์ของการรัฐประหารเอง ต่อมาในช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 รัฐธรรมนูญที่มีการประกาศใช้คือรัฐธรรมนูญปี 2511 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายทางการเมือง ให้มีการเลือกตั้งกลับมาใหม่ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สามารถควบคุมการเมืองได้ต่อกลุ่มเผด็จการ การรัฐประหารตัวเองจึงเกิดขึ้น และก็นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หลักจากนั้นก็มีการรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การเพิ่มโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าการรัฐประหารนั้นมีจุดมุงหมายเพื่ออะไร หลังจากนั้นประเทศไทยก็เจ้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ก่อนจะมาคลี่คลายหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540

สำหรับข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปิยบุตรเสนอว่าให้มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เนื่องจากตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหา เพราะมีการออกแบบไว้ทั้งหมดว่า กรอบในการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นอย่างไร โดยเสนอว่าให้มีการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้เป็นการชั่วคราว พร้อมแก้กฎหมายเปิดช่องทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลา 3 เดือน และให้ประชาชนลงประชามติ

ทั้งนี้ปิยบุตร มองว่า โรดแมปเดิมของ คสช. เป็นการสร้างสภาวะให้ประชาชนต้องเลือกระหว่างเสือกับจระเข้ หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ต่อไป โรดแมปจึงเป็นการซื้อเวลาต่อไปเท่านั้น ไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า ข้ออ้างของการรัฐประหารครั้งนี้คือ การเข้ามารักษาความสงบ และจัดการกับความขัดแย้ง ซึ่งไม่มีทางจะทำได้ เนื่องจากความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย การกระทำของ คสช. เป็นเพียงการซ่อนความขัดแย้งเอาไว้เท่านั้นไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่ในระบอบประชาธิปไตยจะมีระบบที่จัดการกับความขัดแย้งโดยตัวมันเอง คือความขัดแย้งสามารถดำรงอยู่อย่างสันติได้ในสังคมประชาธิปไตย ฉะนั้นวิธีการที่จะจัดการกับความขัดแย้งได้ถูกต้องคือ การเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด

จาตุรนต์ ฉายแสง : ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ และเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จาตุรนต์ ฉายแสง เริ่มต้นด้วยการระบุถึง ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำ ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เผด็จการ และเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา การมีอยู่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯทำให้เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะสะท้อนถึงความพยายามสืบทอดอำนาจ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ไม่มีคณะกรรมยุทธศาสตร์ฯ ร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นร่างที่รับไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากมีการกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือประชาชน และเหนือองค์กรที่เชื่อมโยงกับประชาชน มี ส.ว. ที่มาจากการลากตั้ง และโยงไประบบถอดถอนที่ให้ ส.ว. มีอำนาจถอดถอนทุกฝ่ายได้หมด ระบบที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดรัฐบาลที่อ่อนแอ และไม่มีเสถียรภาพ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้

จาตุรนต์กล่าวต่อไปว่า จุดเริ่มต้นของร่างรัฐธรรมนูญนั้นมาจากการรัฐประหาร ปัญหาที่ตามคือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเองก็ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ในขณะที่เนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญเองก็ถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 แล้วว่ารัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาอย่างไร เช่นการระบุให้มีการปฏิรูปและกลไกที่ค่อยขับเคลื่อนการปฏิรูปให้เกิดผลหลังจากการเลือกตั้ง ขณะที่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แม้จะมีการเปิดรับฟังข้อเสนอของกลุ่มต่างๆ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะ ข้อเสนอต่างๆ ที่มีการเสนอเข้าไปไม่ได้มีการนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

จาตุรนต์กล่าวต่อไปถึงกรณีการเดินหน้าต่อของการร่างรัฐธรรมนูญจากที่ วิษณุ เครืองาม เสนอให้มีการเดินหน้าแบบ 6+4+6+4 คือการร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน เตรียมลงประชามติ 4 เดือน ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 6 เดือน และเตรียมเลือกตั้ง 4 เดือน สรุปกระบวนการทั้งกว่าจะมีการเลือกตั้งคือ 20 เดือน หากเป็นเช่นนั้น ประชาชนจะมีความแน่ใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีความตั้งใจร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการล้มร่างอีก เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะต้องวนกลับไปที่เดิมอีก คสช.ก็จะอยูในอำนาจต่อไปได้ จนกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บอกว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด

จาตุรนต์กล่าวถึงข้อเสนอโดยระบุว่า หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คสช. ไม่จะเป็นผู้กำหนดกติกาในการร่างรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาสาระ เงื่อนไขที่มีการระบุว่าคนที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีความคิดที่ไม่ขัดแย้งกับ คสช. ไม่ควรจะมีอยู่ และหากต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยควรจะมีการเลือกตั้ง สสร. ขึ้นมา โดยจะมีเงือนไขอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยปรึกษาหารือกันได้ แต่หลักสำคัญคือประชาชนต้องเป็นคนกำหนดผู้ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นซึ่ง จาตุรนต์ชี้ขึ้นมาคือ การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรที่จะสามารถกระทำได้อย่างเปิดเผย สามารถให้ความรู้กับประชาชน หรือรณรงค์เพื่อรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ถูกปิดกั้น อย่างไรก็ตามในขั้นตอนของการลงประชามตินั้น ควรจะมีข้อเสนอที่ชัดเจนว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ควรจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อที่จะได้ไม่ต้องวนกลับมาทีเดิมอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net