Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อ 25 ปีก่อน (วันที่ 2 กันยายน 2533) พระราชบัญญัติประกันสังคมมีผลบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิประโยชน์แก่แรงงานจำนวนมหาศาลอย่างน้อยประมาณ 12 ล้านคน ในปัจจุบัน สิทธิประโยชน์จากการประกันสังคมทำให้คุณภาพชีวิตคนทำงานสูงขึ้นอย่างชัดเจน และบางรายการไม่เพียงเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกในครอบครัวด้วย ปรัชญาสำคัญของการประกันสังคมคือ "การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข" และย่อมจะคงอยู่ต่อไปอีกนาน ตราบเท่าที่กองทุนประกันสังคมยังคงเป็นแหล่งรวมทุนจากรายได้บางส่วนของผู้ทำงานที่มีรายได้ในระดับที่แตกต่างกัน และมีความสุขทุกข์ไม่เหมือนกัน

ในฐานะที่ "การประกันสังคม" ในประเทศไทยมีอายุมาถึง 25 ปี แล้ว (ซึ่งถือว่าหนุ่มแน่น และแม้จะเสียดายที่ควรมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ซึ่งเคยมีพระราชบัญญัติเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ตามเงื่อนไขของกฎหมายขณะนั้น ซึ่งหากมีการใช้จริงตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ประเทศเราก็จะมีระบบประกันสังคมมาแล้วถึง 61 ปี) เราจึงควรทบทวนกันว่า "การประกันสังคม" ของประเทศไทยมีสถานภาพเป็นอย่างไร และมีปัญหาสำคัญๆอะไรบ้าง และควรจะพัฒนางานประกันสังคมต่อไปอย่างไรในอนาคต

การประกันสังคมเป็นรูปแบหนึ่งของการจัดสวัสดิการสังคม โดยเราอาจแบ่งการจัดสวัสดิการสังคมออกเป็นหลายรูปแบบหรือแบบแผน(บางครั้งเราอาจเรียกว่า“ขอบข่าย” “กลยุทธ์” หรือ วิธีการ” ก็ได้) แต่ในบทความนี้ขอแบ่งออกเป็นสี่รูปแบบหลัก คือ

1.การสังคมสงเคราะห์ (Social Work)  - มีมาแต่โบราณกาลโดยเน้นการช่วยเหลือหรือให้บริการแบบให้เปล่าจากรัฐหรือองค์การการกุศลของประชาชนหรือเอกชนแก่ผู้ประสบความทุกข์ยากลำบาก ทั้งโดยตัวบุคคล กลุ่มคน และในชุมชน เป็นต้น เพื่อให้คนเหล่านี้กลับมามีสถานภาพที่เป็นปกติ

2.การบริการสังคม (Social Service) -  เกิดชัดเจนในรัฐสมัยใหม่นับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 - 18 อันเน้นบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยรัฐและเอกชนอาจรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและการจัดบริการให้แก่ประชาชน ในขณะที่ประชาชนก็อาจเสียค่าใช้จ่ายมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามระดับการพัฒนาประเทศและอุดมการณ์ทางสังคม เช่น การศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การมีงานทำ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และนันทนาการ เป็นต้น เพื่อให้ประชากรของประเทศมีความปกติสุขและพร้อมต่อการดำรงชีพที่มีมาตรฐานในสังคม

การประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีระบบการรักษาพยาบาลแบบประกันสังคมที่ให้กับทั้งผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้ามาอยู่ได้ด้วยแล้วนั้น เป็นการจัดสวัสดิการสังคมที่แยกกลุ่มบุคคลที่คุ้มครองออกไปต่างหากจากกลุ่มในขอบข่ายประกันสังคมก็อยู่ภายใต้แบบแผนการบริการสังคมนี้

3.การประกันสังคม (Social Insurance)  - เกิดขึ้นล่าสุดในสังคมอุตสาหกรรม โดยใช้วิธีการจัดตั้งกองทุนกลาง ที่ผู้ประกันตนมีส่วนสมทบเงินเข้ากองทุนดังกล่าว และกลายเป็นเจ้าของกองทุนไปด้วยโดยมีผู้ประกอบการหรือผู้จ้างงาน (นายจ้าง) ร่วมสมทบ และอาจรวมถึงการสมทบจากรัฐบาลในทุกรายการหรือบางรายการเพื่อให้มีกองทุนกลางที่มั่นคงรองรับความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในหลายลักษณะสิทธิประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

4.การจัดสวัสดิการสังคมด้วยรูปแบบหรือวิธีการอื่นๆ (Social Welfare Facilities) เช่น การ
ผสมผสานการจัดสวัสดิการสังคมของสามรูปแบบดังกล่าว การจัดสวัสดิการแรงงานให้แก่พนักงานในองค์การ (ซึ่งอาจมีขึ้นในองค์การของรัฐ เอกชน และประชาชน) โดยรัฐ ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจัดให้เอง หรือเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้ประกอบการกับสหภาพแรงงานหรือตัวแทนผู้ทำงาน) การจัดโดยองค์การที่ช่วยเหลือตนเอง (เช่น สหภาพแรงงาน สหกรณ์ สมาคม) การจัดสวัสดิการในชุมชน และการจัดสวัสดิการในหมู่เครือญาติ เป็นต้นที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลและสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเติมเต็มความจำเป็นพื้นฐานอันได้จากสามรูปแบบหรือวิธีการแรกที่ผู้เขียนคิดขึ้น

ทั้งสี่รูปแบบนี้ถือเป็นรูปแบบหลักของระบบงานสวัสดิการสังคมในโลกของเราทุกวันนี้ และแม้จะมีผู้เสนอว่าการสนับสนุนทางสังคม(Social Support) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นงานสวัสดิการสังคมนอกเหนือสามรูปแบบแรกนั้น แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นว่าการสนับสนุนทางสังคมก็เป็นเพียงแนวคิดสวัสดิการสังคมที่มิใช่แนวคิดแบบแผนหลัก แต่เป็นแนวคิดเสริมที่งอกออกมาจากการสังคมสงเคราะห์ที่ผู้คนเกื้อกูลกันทั้งทางความรู้ ข้อมูล จิตใจและร่างกาย หรือ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ และอาจเกิดจากการที่กองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุนในธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้ปล่อยกู้แก่คนจนสำหรับแก้ปัญหาหนี้สินก็ถือเป็นการสนับสนุนทางสังคมได้ เป็นต้น การสนับสนุนทางสังคมจึงย่อมสามารถเกิดจากรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือสองและสามรูปแบบที่มีการเกื้อกูลกิจกรรมกันเชิงเครือข่ายให้เกิดกิจกรรมการสนับสนุนทางสังคมขึ้นมาเสริมสิ่งที่มีอยู่ก็ได้ ทั้งอาจเกื้อกูลจากงานวิชาการหรือวิชาชีพสาขาอื่นๆที่มิใช่สวัสดิการสังคมโดยตรงทำให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

กองทุนการออมแห่งชาติที่เพิ่งประกาศใช้จริงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งให้โอกาสและการจูงใจแก่ประชาชนที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระจะได้ออมเงินและรัฐบาลสมทบให้อีกหนึ่งเท่า เป็นต้น เพื่อเบิกใช้ในยามชราภาพก็ดี กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนก็ดี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในรัฐวิสาหกิจต่างๆทั้งหลายและในบริษัทบางแห่ง  และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่บุคคลสมัครใจทำเอง ซึ่งมีขึ้นเพื่อการออมเงินของมนุษย์เงินเดือนเพื่อใช้หลังจากออกจากงาน โดยการสะสมของผู้ทำงานและการสมทบจากเจ้าของกิจการก็ดี และกองทุนเงินทดแทนเพื่อใช้รักษาพยาบาลและทดแทนการเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งบังคับให้เจ้าของกิจการจ่ายฝ่ายเดียว ก็ถือเป็นสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งเพื่อการชราภาพ (Pension Pillar) (ที่ไม่ใช้ระบบการสมทบเงินมาก่อนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนมาเป็นระบบการสมทบเงินจากข้าราชการแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางของฝ่ายข้าราชการตั้งแต่ พ.ศ. 2539) ก็ดีล้วนถือเป็นส่วนหนึ่งของงานสวัสดิการสังคมที่เข้าข่ายรูปแบบการทำประกันตามแนว “การประกันคุณภาพชีวิต” คือสมทบเงินหรือจ่ายเบี้ยประกันเข้ากองทุนกลางก่อนเบิกใช้  และอยู่ในกรอบความมั่นคงทางสังคมตามแนวองค์การแรงงานระหว่างประเทศอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม “การประกัน” ก็มิได้หมายถึงเสมอไปว่าต้องออกเงินหรือจ่ายเบี้ยประกันไปก่อนจึงจะรับบริการได้ ดังการประกันการเจ็บป่วยแบบหลักประกันสุขภาพแบบประเทศไทยที่รัฐบาลทำเองก็เป็นสวัสดิการแบบหนึ่งที่นิยมเรียกกันในเชิงการประกัน ซึ่ง “การประกัน” ดังกล่าว มีความหมายในเชิงเป้าหมายการให้หลักประกันแก่ประชาชนอย่างเป็นแบบแผนล่วงหน้าถึงคุณภาพชีวิตที่ควรได้ตามมาตรฐานตามที่กำหนด

จากการที่มีการจัดสวัสดิการในลักษณะ “การประกันคุณภาพชีวิต” แต่มิใช่การประกันสังคมในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันนี่เอง เราจึงอาจเรียกรูปแบบที่สามว่า “การประกันคุณภาพชีวิตร่วมของผู้คนในสังคม” ก็น่าจะได้  แต่ก็อีกนั่นล่ะ หากจะใช้ว่า “การประกันคุณภาพชีวิตร่วมฯ” ก็ต้องนิยามว่าหมายถึงและครอบคลุมเรื่องใด และ “การประกันสังคม” ก็เช่นกัน ยังเกี่ยวโยงไปถึงคำว่า “เครือข่ายความมั่นคงทางสังคม” ที่มาจากคำว่า “Social Safety Net” และการคุ้มครองทางสังคมที่มาจากคำว่า “Social Protection” ก็จะต้องมาจัดนิยามกันใหม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีที่ลงตัว หากเราจะทำให้ความซับซ้อนของแนวคิด "การจัดสวัสดิการสังคม" "ความมั่นคงทางสังคม" "การสังคมสงเคราะห์" "การบริการสังคม" และ "การประกันสังคม" เป็นต้น ไปด้วยกันอย่างลงตัวในเชิงความเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วย "สวัสดิการศาสตร์" แล้ว เราควรถือเอา  "ความมั่นคงทางสังคม" (Social Security) เป็นเป้าหมาย โดยอาศัย "การจัดสวัสดิการสังคม" (Social Welfare Management) เป็นกลยุทธ์หรือวิธีหลัก และภายใต้วิธีการหลักที่ว่านี้ ก็มีวิธีการหรือกลยุทธ์หรือรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมย่อยๆอย่างน้อยสามประการคือ "การสังคมสงเคราะห์" "การบริการสังคม" และ "การประกันสังคม" ดังที่กล่าวแล้ว โดยแต่ละรูปแบบก็จะมีแนวทาง ศัพท์ทางเทคนิค กฎเกณฑ์ และรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ทั้งยังมีในแง่มุมการจัดสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า (Universal/Demogrants) และ แบบเพาะเจาะจง (Targeting) อีกด้วย ซึ่งหากจะบูรณาการเข้าด้วยกันภายใต้ความเป็นสวัสดิการศาสตร์ก็เชื่อว่าจะขจัดความซับซ้อนต่างๆไปได้อย่างลงตัว

ก่อนที่การประกันสังคมอย่างที่เห็นในปัจจุบันจะมาถึงหรือมีขึ้นในประเทศไทยเป็นการเฉพาะนั้นการประกันสังคมได้วิวัฒนาการมาจากการสนับสนุนของหลักศาสนาและแนวคิดทางสวัสดิการสังคมในยุคกลางและพ่อค้าวาณิชย์ (Merchant Era) ในยุโรป ที่พ่อค้าต้องประกันภัยสินค้าเสียหายในระหว่างการเดินเรือหรือขนส่งสินค้าทางบก และวิวัฒนาการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Modernity Era) ของประเทศยุโรปผ่านกฎหมายหรือขบวนการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย อาทิ ในประเทศอังกฤษมีกฎหมายความยากจน (Poor Law) ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1601 เพื่อปลดเปลื้องความยากจน และขบวนการสังคมนิยมแนวสหกรณ์ของโรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) ตามด้วยขบวนการแรงงาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ที่สนใจการจัดสวัสดิการแก่กรรมาชีพในประเทศอังกฤษ การเคลื่อนไหวตามหลักสิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายความมั่นคงทางสังคมของประเทศเยอรมนีอันมีเป้าหมายที่จะให้แรงงานในสถานประกอบการต่างๆได้รับการดูแลในทางสวัสดิการไปตามลำดับในด้านการเจ็บป่วยนอกงาน การเจ็บป่วยในงาน ชราภาพ และการว่างงาน ในสมัยนายกรัฐมนตรีอ็อตโต วอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) เมื่อ ค.ศ. 1883 เป็นจุดเริ่มต้น (การเจ็บป่วยนอกงาน) ผ่านกลไกกลางของรัฐและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบกองทุนของแรงงานอันเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อสันติสุขในการอุตสาหกรรม เพราะแรงงานได้รับการดูแลสวัสดิการจากการเอาใจใส่ของรัฐในขณะที่นายทุนไม่พร้อมที่จะทำให้เองมากนัก ความสำเร็จในระดับหนึ่งของระบบประกันสังคมในเยอรมนีทำให้ระบบนี้ขยายไปสู่ประเทศ อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปด้วยกัน และต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองความสำคัญของการประกันสังคมก็ยิ่งมีมากขึ้น ดังที่ ลอร์ด เบเวอร์ริดจ์ (Lord William Beveridge) ได้พัฒนาการประกันสังคมและพันธมิตรของงานบริการสังคม (Social Insurance and Allied Services) ขึ้นอย่างเป็นระบบที่ก้าวหน้า ดังที่เสนอใน Beveridge Report (1942) และรัฐบาลพรรคแรงงานนำมาใช้ในปี 1945 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นับจากนั้นงานสวัสดิการสังคมในรูปแบบประกันสังคมก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่น้อยหน้าได้นำแนวคิดการประกันสังคมไปใช้เมื่อ 80 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1935) ในสมัยประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt)  นักการเมืองหัวปฏิรูป และเป็นผู้นำพรรคก้าวหน้า (Progressive Party) ภายใต้กฎหมายความมั่นคงทางสังคม (Social Security Act)

ความเป็นสากลของการประกันสังคมอันเป็นที่พึ่งของผู้ใช้แรงงานในประเทศต่างๆส่วนใหญ่ในโลกบังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ก็เมื่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศให้คุณค่าแก่เรื่องนี้และประกาศใช้เป็นอนุสัญญาฉบับที่ 102 ว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) โดยหัวใจหลักก็คือการมีกองทุนประกันสังคมแยกออกจากงบประมาณแผ่นดินปกติ และมีผลให้คำว่า “ความมั่นคงทางสังคม” (ซึ่งบางครั้งก็ใช้แทนคำว่า “การประกันสังคม” อย่างหลวมๆ แต่บางครั้งก็แสดงถึงความครอบคลุมที่กว้างขวางกว่า “การประกันสังคม”) ได้รับการยอมรับในเวทีสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในฐานะเป็นระบบงานที่อาศัยวิธีการประกันสังคมต้นตำหรับที่พัฒนามาก่อนจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยการยึดแบบแผนการสมทบหรือออกเงินค่าใช้จ่ายของผู้รับสิทธิประโยชน์มาก่อนจึงจะรับสิทธิประโยชน์ (Defined Contribution) ในภายหลังได้

สำหรับประเทศไทย สถานภาพการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมในรอบ 25 ปี ที่ผ่านมา พอจะสรุปได้โดยสังเขปดังนี้

1.สิทธิประโยชน์มี 7 กรณีหรือประการ คือ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณี
สงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และ กรณีว่างงาน โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิทธิเป็นครั้งคราว

2.การจ่ายสมทบเงินของนายจ้างและลูกจ้าง (ซึ่งในอนาคตอันใกล้ควรจะเรียกว่า “ผู้จ้างงาน”
และ “ผู้ทำงาน” ได้แล้ว) เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 โดยเริ่มจากสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คน ขึ้นไป จนปัจจุบันขยายครอบคลุมสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป รวมประมาณ 12 ล้านคน

3.การจ่ายเงินสมทบมีทั้งสามฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง มีสัดส่วนที่เท่ากันและไม่เท่ากัน
ในกองทุนย่อยหรือสิทธิประโยชน์ต่างประเภท โดยอัตราการสมทบเงินกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันเป็นดังต่อไปนี้


 

ผู้สมทบ

ประเภทสิทธิประโยชน์

การเจ็บป่วยนอกเหนือการทำงาน

การคลอดบุตร

การทุพพลภาพ

การเสียชีวิต

การสงเคราะห์บุตร

การชราภาพ

การว่างงาน

รวม

รัฐบาล

1.5

-

1.0

0.25

2.75

นายจ้าง

1.5

3.0

0.5

5

ลูกจ้าง

1.5

3.0

0.5

5

4.ยอดเงินกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันที่มีเข้าใกล้ 2 ล้านล้านบาทแล้วนั้น ส่วนใหญ่นำไป ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงทั้งภายในและต่างประเทศได้ผลตอบแทนพอสมควร ไม่มีปัญหาแบบ กบข. ตามกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกันสังคมอนุมัติ แต่กองทุนก็ยังมีไม่มากพอต่อความจำเป็น ดังจะเห็นได้ว่ากองทุนฯสามารถจ่ายเงินแก่ผู้เกษียณอายุให้ได้รับเงินบำนาญเพียงเดือนละประมาณ 4,100 บาทเท่านั้น หรือประมาณ 133 บาท ต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาก ผู้เขียนเองก็จะได้เท่านี้ ซึ่งคงต้องไปบวชหรือไม่เช่นนั้นก็ลดการรับประทานอาหารเหลือเพียงวันละมื้อและไม่ต้องไปไหน อยู่กับบ้านเท่านั้นจึงจะมีเงินพอใช้ทั้งเดือน หากใครยิ่งไม่มีลูกหลานเลี้ยงก็คงลำบากมากๆ


ปัญหาสำคัญๆของระบบประกันสังคมไทยและแนวทางการปฏิรูปในอนาคต

1.สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมทั้ง7 ประการ คือ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และ กรณีว่างงานที่ใช้มา 25 ปี แล้วนั้น ไม่สามารถเป็นการประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับอนาคตได้อีกต่อไป เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ที่เป็นไปอย่างจำกัดทั้งแก่คุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนและครอบครัว ซึ่งทั้งสองส่วนที่ต้องให้ความสำคัญร่วมกันมากขึ้นร่วมกันในอนาคต การปรับปรุงโครงสร้างและขนาดของสิทธิประโยชน์เหล่านี้จำเป็นต้องกระทำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และหากสามารถปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานความมั่นคงทางสังคมสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ทันสมัยมากขึ้นไปด้วยก็จะเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกพร้อมกันไปด้วย

สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคมที่เหมาะสมกว่าที่มีในขณะนี้ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณนั้น สมควรอาศัยการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานไทยที่เป็นการสังคายนากฎหมายและการบูรณการกฎหมายทุกฉบับ พร้อมกับการยกระดับมาตรฐานแรงงานและสวัสดิการให้สูงขึ้น ในระดับที่ไม่ด้อยกว่ามาตรฐานสากล [ปัจจุบันยกร่างเสร็จแล้วโดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน (ผู้เขียนร่วมงานอยู่ด้วย) ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดที่ คสช. ใช้อำนาจ มาตรา 44 ให้ยุติการปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558] และพร้อมกันนั้นก็ปรับรื้อหรือจัดโครงสร้างสิทธิประโยชน์เสียใหม่ภายใต้แบบแผนหรือเป้าหมายความมั่นคงทางสังคมที่กว้างขวางและลุ่มลึกกว่าสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ สามารถมีในรูปเงินสด สิ่งของ บริการ หรือประโยชน์อื่น ภายใต้มาตรฐานสิทธิประโยชน์ความมั่นคงทางสังคมให้ควรเป็นดังต่อไปนี้


1) สิทธิประโยชน์เพื่อการออมเงินขณะทำงาน ได้แก่

1.1) เงินสะสมจากรายได้ และเงินสมทบจากฝ่ายอื่น
1.2) ผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินสะสมและเงินสมทบ


2) สิทธิประโยชน์เพื่อการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงานและ
นอกการทำงาน ได้แก่

2.1) การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันอันตราย
2.2) การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน (อาศัยกองทุนเงินทดแทนต่อไป) และอันมิใช่จากการทำงาน(อาศัยกองทุนประกันสังคมต่อไป)
2.3) ประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้
2.4) ประโยชน์ทดแทนการสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงาน หรือทุพพลภาพ
2.5) เงินสงเคราะห์ผู้อยู่ในอุปการะที่ไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การครองชีพ(อาทิ บุตรและบุพการี)
2.6) บริการฝึกอาชีพเพื่อกลับเข้าทำงาน
2.7) เงินส่งเสริมการประกอบอาชีพใหม่

3) สิทธิประโยชน์สำหรับครอบครัว ได้แก่

3.1) การมีบุตร ได้แก่ การลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างเนื่องจากการมีบุตร เงินเพื่อใช้จ่ายในการตรวจ การบำรุงครรภ์ และการคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร
3.2) การสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัย
3.3) การศึกษาเรียนรู้ที่สูงขึ้นหรือเพื่อพัฒนาตนเองของผู้ประกันตนหรือบุตรของผู้ประกันตนได้แก่ เงินก้อน และ บริการด้านการศึกษา การเรียนรู้ หรือฝึกอบรม
3.4) สิทธิประโยชน์อื่นๆแก่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสหรือบุตรเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของครอบครัว

4) สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ได้แก่

4.1) เงินทดแทนการขาดรายได้
4.2) บริการด้านการฝึกอาชีพ
4.3) บริการด้านการมีงานทำ

5) สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ได้แก่

5.1) เงินบำนาญชราภาพ (เป็นเงินรายเดือน ไม่มีทางเลือกเงินบำเหน็จจากระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินก้อนที่อาจถูกใช้อย่างเสี่ยงต่อการหมดไปโดยง่าย แต่หากมีก็ควรอยู่ในสวัสดิการการออมเงินตามข้อ 1 อาทิ ตามกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งควรมีทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับผู้ทำงานในสถานประกอบการหรือแรงงานในระบบ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสาธารณะสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ)
5.2) บริการทางสวัสดิการอื่นที่จำเป็นในการดำรงชีพ

6) ประโยชน์ทดแทนกรณีตาย ได้แก่

6.1) เงินค่าทำศพ
6.2) เงินทดแทนสำหรับผู้อยู่ในอุปการะของผู้ประกันตน

7) สิทธิประโยชน์อื่นๆ ในรูปตัวเงิน สิ่งของ หรือบริการตามสมควร ที่กำหนดขึ้นภายใต้มาตรฐานสิทธิประโยชน์ความมั่นคงทางสังคม โดยจัดให้มีเสริมเพื่อเติมเต็มสิทธิประโยชน์หลักทั้งหกประการข้างต้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม

อนึ่ง ความครอบคลุมสิทธิประโยชน์ประกันสังคมในบางรายการที่ควรไปถึงคู่สมรสและบุตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยโดยคู่สมรสและบุตรไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อรับบริการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะสำนักงานประกันสังคมไทยมิได้ดำเนินการตามมาตรฐานความมั่นคงทางสังคมขององค์การแงงานระหว่างประเทศ (อนุสัญญาว่าด้วยความมั่นคงทางสังคมฉบับที่ 102) และแม้ พ.ร.บ. ประกันสังคม 2533 ของไทยเอง จะเปิดช่องให้สำนักงานประกันสังคมทำได้อยู่แล้วตลอดมาก็ตามนั้น ในอนาคตอันใกล้จึงควรเปิดบริการดังกล่าวนี้ให้สำเร็จ (อันจะช่วยลดภาระงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงไปอีกทางหนึ่งด้วย)


2.การสมทบเงินกองทุนกลางสมควรให้รัฐเข้ามาร่วมจ่ายในทุกกองทุน ทั้งนี้เพื่อบังคับให้รัฐใช้จ่ายภาษีชาวบ้านเพื่อสวัสดิการสังคมมากขึ้นและควรผูกโยงกับมูลค่าของ GDP ในแต่ละปี (เช่น รัฐบาลสมควรจัดงบประมาณในทางสวัสดิการสังคมโดยรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 ของมูลค่า GDP และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ทุกๆ 5 ปี) และอัตราการสมทบของแต่ละฝ่ายมากน้อยเพียงใด ก็ควรให้เป็นไปตามความรับผิดชอบอันควรของแต่ละฝ่าย แต่จำเป็นต้องปรับเพิ่มอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น อย่างน้อยทุกๆ 5 ปี เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการสมทบเพิ่มนี้ รวมทั้งการขยายเพดานเงินสมทบให้เกินกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ออกไปโดยไม่ควรมีเพดานขั้นสูง จำเป็นต้องกระทำโดยเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นเงินในกองทุนจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ได้มาตรฐานสูงขึ้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพ การรักษาพยาบาล การสงเคราะห์ครอบครัว (ในความหมายที่ครอบคลุมอย่างใหม่) และการชราภาพ


3.ผู้ประกันตนหลักยังจำกัดเฉพาะผู้เป็นลูกจ้าง หากจะเปิดให้คนอื่นเข้ามาร่วมก็เป็นไปตามมาตรา 40 สำหรับแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สมัครใจทำประกันสังคม ซึ่งโอกาสที่ประชาชนกลุ่มนี้จะสมัครเข้ามาเองมีน้อย เพราะการสมทบเงินและรับสิทธิประโยชน์เป็นไปอย่างจำกัดไม่(จูงใจ) เท่ากับแรงงานในสถานประกอบการ ด้วยสถานภาพที่ว่าประชาชนกลุ่มจ้างตนเองคือไม่มีนายจ้าง และรัฐไม่ประสงค์สมทบให้เป็นสองเท่าเพื่อทดแทนการขาดนายจ้าง ทั้งๆที่แรงงานส่วนนี้ที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือที่เรียกกันว่าแรงงานนอกระบบนั้น ก็คือผู้ทำมาหาเลี้ยงชีพที่มีรายได้ (ประจำวัน) และบังคับบัญชาตนเอง เพียงแต่มิใช่เป็นรายได้ประจำเดือน และมีผู้บังคับบัญชาแบบแรงงานในสถานประกอบการทั่วไป

ในขณะที่ระบบการรักษาพยาบาลแบบประกันสังคมได้รับการออกแบบให้ใช้ได้กับทั้งผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระตลอดมา แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระกลับไปได้รับการดูแลจากพรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เข้ามาทำประกันสังคมจึงมีน้อยเกินไป ทั้งๆที่เป็นผู้ทำงานหรือเป็นแรงงานที่มีรายได้หาเลี้ยงชีพด้วยกันกับแรงงานในสถานประกอบการหรือในระบบ การจัดบริการสุขภาพแก่แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศจึงขาดการเป็นหนึ่งเดียว และรัฐสูญเสียงบประมาณที่ต้องจัดบริการฟรีแก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ล้วนแล้วมีรายได้ และมีอำนาจที่จะจ่าย (มากน้อยแตกต่างกันไป) ในขณะที่ผู้มีรายได้จากเงินเดือน (ก็มากน้อยแตกต่างกันไป) แบบผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้ช่วยตัวเองในการรักษาพยาบาลตลอดมา

ปัญหาในเรื่องนี้ ถกเถียงกันมาพอสมควร (ผู้เขียนก็อยู่ในวงการถกเถียงตลอดมา) คือมีผู้มองว่ารัฐควรจัดบริการสุขภาพฟรีแก่ประชาชนและในเมื่อเรามีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว การประกันสุขภาพในระบบประกันสังคมก็ไม่ต้องมีอีก  โดยแรงงานก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินสมทบประกันสังคมอีก แต่ให้ไปรับบริการจาก สปสช.แทน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่แรงงานทั้งสองส่วนว่าได้รับบริการฟรี ความคิดเช่นนี้ผู้เขียนเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะหากพิจารณาว่าการประกันสังคมเป็นกิจกรรมที่มุ่งเจาะจงที่จะจัดขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะคือแรงงานหรือผู้ทำงานที่มีรายได้ และแรงงานทั้งสองส่วนสมควรมีกองทุนกลางขนาดใหญ่เพื่อร่วมทุกข์-สุขในหลายสิทธิประโยชน์ และร่วมกันทำให้ส่วนย่อยมีผลโดยรวมอย่างยิ่งใหญ่กว่าแยกกระจัดกระจายที่แต่ละส่วนจะมีพลังการขับเคลื่อนสังคมที่อ่อนแรงแล้ว ผู้ประกอบอาชีพอิสระนั่นแหล่ะที่ควรสมทบเงินประกันสังคมตามฐานรายได้ (มากหรือน้อยก็ต้องร่วมสมทบ เช่น 10 บาท 20 บาทหรือไม่ถึง 100 บาทต่อเดือนก็ยังดี) โดยอย่ามองว่าบริการดังกล่าวต้องเป็นของฟรีจากรัฐเสมอไป (เพราะการสมทบเงินสามารถนำกำไรอย่างมหาศาลกลับคืนแก่ผู้สมทบเงิน ในขณะที่ผู้รับบริการฟรีอาจได้ผลประโยชน์รวมเพียงเล็กน้อยในระยะยาวตลอดชีวิต) และย่อมจะทำให้ภาระงบประมาณแผ่นดินที่จ่ายเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพลดลง รัฐย่อมสามารถนำเงินแผ่นดินที่ประหยัดได้ไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆที่จำเป็น

การเอาคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมจึงต้องแก้ไขให้ยึดหลักการมีรายได้ ใครมีรายได้ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือประกอบอาชีพอิสระก็ต้องทำประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจำเป็นต้องพัฒนาระบบประเมินรายได้ของคนทำงานนอกตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจหลัก แต่สำหรับของผู้ประกอบอาชีพอิสระขึ้นด้วยและโดยเร็ว และรัฐจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องทำประกันสังคม ไม่ให้สมัครใจกันอีกต่อไป และไม่ควรอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพด้วย เว้นแต่ผู้ยากจนจริงๆ โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพอิสระตามสาขาอาชีพและพื้นที่ต่างๆ และต้องสามารถประมาณการรายได้ที่ใกล้เคียงความเป็นจริง รวมทั้งมีระบบการเก็บเงินสมทบประกันสังคมที่เป็นไปได้จริงและมีประสิทธิภาพด้วย หากทำไม่ได้ก็ต้องขับเคลื่อนให้มีการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจึงจะจัดบริการประกันสังคมแบบถ้วนหน้าในระยะยาวได้

ประเทศไทย ในที่สุด จึงสมควรปรับตนเองไปสู่ประเทศรัฐสวัสดิการเต็มรูปที่อาศัยฐานการเงินจากการเก็บภาษีเงินได้บุคคลในอัตราก้าวหน้า (ดังตัวอย่างที่กลุ่มประเทศนอร์ดิกหรือสแกนดิเนเวียนยังคงรักษาแบบแผนนี้ไว้) และมีกองทุนกลางบางประเภทที่ยังจำเป็นต่อไป (ซึ่งประเทศสแกนดิเนเวียนเองก็มีความหลากหลายในส่วนนี้ ทั้งที่ควรดูเป็นแบบอย่างและวิพากษ์วิจารณ์ให้ปรับปรุงใหม่) เพื่อที่จะได้มีเงินงบประมาณแผ่นดินเหลือพอต่อการจัดสวัสดิการสังคมทั้งหลายผ่านการบูรณการระบบงานกองทุนต่างๆที่อาศัยการจัดการอย่างเหมาะสมมากขึ้นๆ (มิได้หมายถึงว่าต้องยุบกองทุนสวัสดิการต่างๆมารวมกันเสมอไป) และเมื่อถึงตอนนั้นผู้ประกันตนก็อาจงดการจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลเสีย แต่หากประเทศไทยยังไปไม่ถึงตรงนั้น (ภาษีเงินได้บุคคลในอัตราก้าวหน้า) การขยายผู้รับบริการหลักประกันสุขภาพให้มีมากๆและด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้นแล้ว งบประมาณแผ่นดินก็จะไม่พอต่อการพัฒนาประเทศที่ยังขาดแคลนอีกหลายด้าน รัฐบาลก็ต้องไปกู้ยืมเงินจากเอกชนไทยหรือนอกประเทศมาดำเนินการพัฒนาประเทศ คนไทยก็จะเป็นหนี้สาธารณะสูงมากขึ้น

ฉะนั้น โดยหลักการแล้ว ผู้เขียนจึงขอคัดค้านการยกเลิกการสมทบเงินประกันการเจ็บป่วยของผู้ประกันตนแล้วให้ไปใช้ระบบบริการสุขภาพแทน ซึ่งนอกจากการสมทบเงินประกันการเจ็บป่วยของผู้ประกันตนจะทำให้กองทุนประกันสังคมมียอดเงินลดลงเพราะการเก็บเงินประกันการเจ็บป่วยนั้นได้กำไรกว่าขาดทุนในทุกปีๆ อันเป็นเงินสำรองในกองทุนรวมประกันสังคมไปโดยอัตโนมัติแล้ว ยังมีเหตุผลอีกสองประการคือ การที่คนทำงานเป็นเจ้าของกองทุนขนาดใหญ่ย่อมสามารถใช้เงินดังกล่าวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ถ่วงดุลกับระบบทุนนิยมเสรีที่ไร้ขอบเขตได้ เช่น การทำงานกับกองทุนการเงินจากระบบสหกรณ์ การลงทุนเพื่อสังคมและชุมชน และการเกื้อกูลทางสวัสดิการอื่นๆอีกจิปาถะนอกจากนี้การเป็นเจ้าของกองทุนเพื่อการรักษาพยาบาลอันเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคมนั้น ทำให้ผู้ประกันตนหรือผู้ใช้แรงงานเป็นนายของระบบบริการสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม และแพทย์รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ย่อมอยู่ในการบังคับบัญชาของเจ้าของเงิน อันจะทำให้บริการสุขภาพมีมาตรฐานตามที่ผู้เป็นเจ้าของต้องการมากขึ้น ไม่เพียงแต่ยึดต่อจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ที่ผู้รับบริการมักร่วมกำกับควบคุมไม่ได้อย่างที่ควร


4.ระบบการบริหารงานกองทุนประกันสังคมแม้จะเป็นการบริหารในรูปไตรภาคีของผู้แทนรัฐบาล นายจ้าง และ แรงงาน แต่ก็ยังอยู่ในระบบราชการ ในขณะที่กองทุนเป็นเจ้าของโดยผู้ประกันตนและผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ โดยรัฐซึ่งสมทบเงินน้อยกว่ามีอำนาจบริหารมากที่สุด ทำให้แนวนโยบาย ระบบงาน และการตัดสินใจยังไม่รองรับอย่างเต็มที่ต่อความต้องการของผู้เป็นเจ้าของเงินหลัก รวมทั้งการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการใช้จ่ายเงินบริหารที่เสี่ยงต่อการขัดกับหลักธรรมาภิบาลในอดีต ขบวนการสหภาพแรงงานส่วนหนึ่งจึงเคลื่อนไหวให้ประกันสังคมออกจากระบบราชการไปเป็นองค์การมหาชนอิสระ มิใช่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซง รวมทั้งมิให้ข้าราชการประจำมีอำนาจบริหารกองทุนมากเกินไปแบบปัจจุบัน ซึ่งการเป็นองค์การมหาชนอิสระมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ จึงสมควรสนับสนุน แต่กระนั้น เนื่องจากกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนสาธารณะทางสวัสดิการสังคมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงสมควรมีบทบาทกำกับในระดับหนึ่ง เช่น การแต่งตั้งประธานคณะกรรมการประกันสังคม หากมิใช่ข้าราชการประจำที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ก็พึงเป็นบุคคลที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถมีสิทธิวีโต้หรือทักท้วงมติคณะกรรมการประกันสังคมที่อาจขัดต่อนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาได้


5.ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ (น่าจะเรียกว่าแรงงานร่วมพัฒนาประเทศมากกว่า) ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เสมอภาคกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีปัญหาการได้รับการดูแลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งหากเข้าเมืองถูกกฎหมายและจ้างถูกกฎหมายก็มีสิทธิเข้าประกันสังคม แต่ที่คลุมเครือก็ไปใช้หลักประกันสุขภาพ บ้างก็ไปใช้บริการเอกชนรวมถึงไม่ได้สิทธิประโยชน์การว่างงาน และการชราภาพ นอกจากนี้ที่สำคัญการจ้างแรงงานกลุ่มนี้อย่างผิดกฎหมายทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากทั้งสิทธิประโยชน์ประกันสังคมและจากกองทุนเงินทดแทนที่อยู่คู่กัน การรับเอามาตรฐานแรงงานสากลสำหรับแรงงานอพยพเพื่อการมีงานมาใช้จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้พอสมควร


6.ในระยะเวลา 25 ปี ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมยังมีบทบาทอย่างจำกัดในการขับเคลื่อนเพื่อ เสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในมิตินอกเหนือประกันสังคม ฉะนั้นนับจากนี้ไป 25 ปี เป็นอย่างน้อย สำนักงานประกันสังคมควรหันมาทำให้กองทุนประกันสังคมเป็นกลไกกลางเพื่อการช่วยพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ยังต้องอาศัยเงินทุนทางสวัสดิการสังคมในแง่มุมอันหลากหลายอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว ควรกันเงินกองทุนกลางเฉพาะส่วนที่แรงงานได้สมทบออกมาก้อนหนึ่ง (เริ่มต้นควรจะประมาณหนึ่งแสนล้านบาท) จัดตั้งเป็น “กองทุนเพื่อการสร้างสรรค์การประกอบการที่รับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน ชุมชน และสังคม” ขอเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า (Labour Fund for Constructive Investment Capital) เพื่อให้ใช้เงินส่วนนี้พัฒนาการประกอบการธุรกิจให้สอดคล้องกับความเป็น “ทุนนิยมสวัสดิการ” อาทิ การจัดตั้งใหม่ หรือปรับเปลี่ยนและฟื้นฟูสถานประกอบการ (ทั้งที่ยังไม่ปิดกิจการ จะปิดกิจการ และปิดกิจการแล้ว) เพื่อให้แรงงานได้เป็นเจ้าของกิจการ (Workers’ Self Management Firm) หรือ ในรูปสหกรณ์ของคนทำงาน (Workers’ Cooperative) ในที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายเงินเพื่อการเป็นแบบอย่างอันควรดังกล่าวจำเป็นต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลด้วย และในที่สุดกองทุนพิเศษนี้ต้องมั่นคงในระยะยาว แม้จะไม่มีกำไรมากนักก็ตาม


7.การบริการตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีการพัฒนาไปได้ดีมากขึ้นๆ แม้จะยังมีปัญหามากที่สุดว่าบริการทางการแพทย์เป็นงานที่ผู้ประกันตนได้รับการปฏิบัติราวกับพลเมืองชั้นล่าง และถูกเปรียบเทียบว่าด้อยกว่าการให้บริการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ตาม การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์จึงต้องกระทำภายใต้ระบบการประเมินผลมาตรฐานคุณภาพของบริการที่ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมประเมินอย่างสม่ำเสมอ และย่อมหมายรวมถึงบริการทุกประเภทสิทธิประโยชน์อื่นๆที่พึงกระทำในแนวทางเดียวกันด้วย


8.ความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมต้องการความกว้างขวางและสม่ำเสมอของการสมทบเงินเข้ากองทุนจากประชากรผู้มีงานทำ แต่ที่ผ่านมากลุ่มคนทำงานบางกลุ่มมิได้เข้าร่วมระบบประกันสังคม เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งเคยเข้าร่วมตอนแรก แต่ถอนตัวออกไปไม่นานหลังจากเข้าร่วม) พนักงานองค์การมหาชนอิสระ แรงงานภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่ ประชากรเหล่านี้จึงมิใช่ว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่มีมาตรฐานสูงหรือในทุกด้าน (แม้แต่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่อาจดูเข้าท่าในช่วงทำงานว่ามีรายได้ดีและสวัสดิการเพียบ แต่หลังเกษียณอายุก็ต้องไปใช้โครงการ 30 บาท เมื่อเจ็บป่วย และขาดโอกาสได้เงินบำนาญชราภาพ) สมควรเข้ามาอยู่ในการดูแลของประกันสังคมได้แล้ว

9.การประกันสังคมในประเทศไทย รวมทั้งในอาเซียนที่หลายประเทศใช้ระบบกองทุนกลางเช่นกันนั้น กำลังพัฒนาตนเอง แต่ก็ยังไม่แข็งแกร่งพอ และยังไม่เป็นปึกแผ่นเดียวกัน ในฐานะที่สิ้นปีนี้ที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการนั้น ทุกประเทศจึงสมควรเรียนรู้กันและกัน และหาทางจัดตั้งระบบประกันสังคมอาเซียนที่ได้มาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกันให้มากที่สุดอย่างมีกรอบเวลาที่เป็นขั้นเป็นตอนย่อยๆภายในกรอบใหญ่ 25 ปี ข้างหน้า เพื่อร่วมกันทำให้ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนเป็น (สหรัฐ สหพันธ์ หรือสมาพันธ์) รัฐสวัสดิการร่วมกันในที่สุด


ดังนั้น แบบแผนการประกันสังคมไทยภายใต้ระบบความมั่นคงทางสังคมสากลที่ได้รับการจัดทำไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ก็สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่าดำเนินการมาอย่างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง (แต่ควรวิจัยประเมินผลอย่างเป็นระบบในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาคุณประโยชน์หรือคุณค่าของมันอย่างแท้จริงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ) และแม้การดำเนินงานจะมีปัญหาบ้างก็ตามอันเป็นธรรมดาโลก แต่ในอนาคตอย่างน้อย 25 ปี ข้างหน้า สมควรต้องปรับปรุงอย่างสร้างสรรค์หลายประการที่นำเสนอเหล่านั้น

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ผู้ซึ่งสมควรยกย่องว่าเป็นบิดาการประกันสังคมไทยในฐานะผู้นำที่ช่วยทำให้กฎหมายประกันสังคมประกาศใช้ได้จริงโดยความร่วมมือจากขบวนการแรงงานและนักวิชาการแรงงานเมื่อ พ.ศ. 2533 คงภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ท่านสามารถวางรากฐานการประกันสังคมไทยได้สำเร็จ และมีผลกระทบในเชิงบวกต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานและสันติสุขในอุตสาหกรรมได้ค่อนข้างมั่นคงจนกระทั่งทุกวันนี้ เราทั้งหลาย ผู้เป็นคนรุ่นหลังย่อมมีภารกิจสืบสานการประกันสังคมต่อไปให้มั่นคงและก้าวหน้ามากขึ้น และทำให้ความสำเร็จในประเทศไทยเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างน้อยในประชาคมอาเซียนของเราที่คนกว่า 600 ล้านคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมั่นคงในระยะยาว

 

 

หมายเหตุผู้เขียน: บทความร่วมรำลึกการครบรอบ 25 ปี ประกันสังคมไทย คือ วันที่ 2 กันยายน 2558 โดยเขียนขึ้นในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกันยายน และปรับปรุงจนเสร็จเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 ณ กรุงสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน ขณะที่ผู้เขียนมาประเทศนี้อีกครั้งเป็นเวลา 10 วัน หลังจากที่เคยมาเยือนดินแดนแถบนี้เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว เพื่อประเมินสถานภาพความเป็นจริงด้วยตนเองอีกครั้ง ต่อสังคมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนที่มักจะถือกันว่าเป็นตัวแบบประเทศ “สวรรค์บนดิน” อันมีเสน่ห์ไปทั่วโลกในปัจจุบัน)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net