ส่องค่ายเด็ก ป.4-ม.3 เรียนรู้ชุมชน หลังพี่ทหารพยายามสกัด อ้างไม่สบายใจ

ผ่านไปแล้วสำหรับค่ายเด็กและเยาวชน ภายใต้ชื่อ “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆแน๊ว" ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นค่ายที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย อายุระหว่าง 10-15 ปี หรือ ป.4 ถึง ม.3 มีพี่เลี้ยงค่ายที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นนักเรียน ม.ปลาย ส่วนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ เป็นผู้ช่วยกระบวนการและทักษะวิธีการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิต  ภูมิปัญญา ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตนเองอยู่

ค่าย เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆแน๊ว ภาพจากเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส. 

ค่ายเด็กและเยาวชนนี้เริ่มปรากฏเป็นข่าวเนื่องจากตั้งแต่ปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา ทหารค่ายศรีสองรัก ซึ่งเป็นทหารในพื้นที่อ้างไม่สบายใจ เกรงจะเป็นปลุกปั่นเยาวชนต่อต้านอำนาจรัฐ และพยายามเชื่อมโยงกับ 7 ดาวดิน ได้สั่งห้ามจัดค่ายดังกล่าวไป (อ่านรายละเอียด) ทำให้ค่ายดังกล่าวต้องเลื่อนมาจัดช่วงปลาย ส.ค. แต่ก็มีความพยายามสกัดจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่โดยให้ขออนุญาตก่อนที่จะจัด พร้อมทั้งมีมาตรการกดดันจนทำให้ต้องย้ายสถานที่จัดและสร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองเด็กที่สมัครเข้าร่วมค่ายจนต้องถอนตัวไปหลายราย (อ่านรายละเอียด)

สันทนาการ-เกมส์

ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้สัมภาษณ์ วศินี บุญที หนึ่งในทีมค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของและเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของการจัดค่ายดังกล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการค่ายมีเด็กที่มาร่วมประมาณ 40 กว่าคน พี่เลี้ยงประมาณ 4 คน และทีมคนรุ่นใหม่อีกประมาณ 10 คน เป็นกระบวนการที่ต้องทำกับเด็ก ไม่มีอะไรซับซ้อน โดยวันแรกมีกิจกรรมสันทนาการ เล่นเกมส์ ทำความรู้จักกันเป็นหลัก

กิจกรรมสันทนาการ-เกมส์

นักสืบสายน้ำ สายดิน สายลม เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว

ขณะที่ช่วงบ่ายวันแรก วศินี เล่าว่าจะเป็นกิจกรรมฐานเรียนสิ่งแวดล้อม มี ฐานดิน ฐานน้ำ ฐานอากาศ ฐานลม เป็นต้นสำหรับฐานดินก็จะเรียนรู้สังเกต ดูสี ดูชนิดของดินง่ายๆ เป็นการออกแบบมาเพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา ฐานลม นักสืบสายลมก็จะดูไลเคน ที่เป็นตัวชี้วัดอากาศ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ทำให้สามารถได้เรียนรู้ธรรมชาติ

ช่วงบ่ายแรก กิจกรรมเข้าฐานเรียนรู้ธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ รอบๆ ตัวเรา #ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ #นักสืบลำน้ำฮวย

Posted by คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส. on 29 สิงหาคม 2015

ส่วนฐานนักสืบสายน้ำจะสำรวจลำน้ำฮวยที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งไหลผ่าน 6 หมู่บ้าน และผ่านเหมืองแร่ทองคำด้วย เนื่องจากมีต้นน้ำมาจากภูเขา โดยเด็กๆ สวบบทบาทเป็นนักสืบสายน้ำจะไปตักน้ำมาส่องว่าในน้ำมีอะไร มีสัตว์อะไรอยู่บ้าง และดูว่ามันบ่งชี้วัดคุณภาพน้ำอะไรได้บ้าง

วศินี กล่าวเสริมถึงฐานนักสืบสายน้ำว่า แม้ฐานนี้จะถูกโหวตว่าเป็นที่ชื่นชอมของเด็กที่เข้าร่วมค่าย แต่ก็ไม่มีการลงไปเล่นในน้ำ ขนาดให้ตักน้ำมาเด็กๆ ก็ไม่กล้าตัก เพราะกลัวและไม่ใช้น้ำที่นั่น เนื่องจากมีสารโลหะหนักในน้ำ โดยมีประกาศของสาธารณสุขเอง

เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ทำแผนที่ชุมชน รู้บ้านตัวเอง

ส่วนวันที่สองนั้น วศินี เล่าว่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุมชน เรียนรู้วิถีชุมชน ก็จะเป็นเรื่องการลงไปชุมชน ให้น้องๆ แบ่งกลุ่มกันแล้วไปหาว่าในชุมชนมีศิลปวัฒนธรรมอะไรบ้าง ชาวบ้านทำอาชีพอะไร ในชุมชนมีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร เหมือนรู้จักตัวเอง แล้วก็มีการทำแผนที่ชุมชน เพื่อที่จะให้เขารู้ว่าหมู่บ้านเขานั้นมีอะไรบ้าง

โดยรู้แบบ วศินี อธิบาย ว่า จะเดินแยกย้ายกัน 5 หมู่บ้าน จะไปเจอพ่อๆ แม่ๆ ที่เขาทำทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้ายก็มี รวมทั้งทอด้ายเพื่อเอามาทำเป็นถุงย่ามก็มี นอกจากนี้ยังมีการทำความเข้าใจประวัติชุมชนว่าทำไมหมู่บ้านนี้ถึงชื่อนี้ รู้จักและทราบที่มาของชื่อลำธาร ชื่อภูเขา แล้วก็จะมีการบอกเล่าที่มาตำนานของแต่ละชื่อ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการดูหนังการ์ตูนโทโทโร่เพื่อนรัก(My Neighbor Totoro) ซึ่งพูดถึงสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายคนรุ่นใหม่เตรียมจะมีค่ายเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าวอีก ส่วนรายละเอียดนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดกัน เนื้อหาก็จะลึกขึ้น ยากขึ้น

ภาพเด็กๆ ร่วมดูการ์ตูน โทโทโร่เพื่อนรัก 

คุกคามมากกว่าอุ่นใจ ทหารนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูป

วศินีเล่าว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามสกัดก่อนทำค่ายนั้น พอลงไปทำกิจกรรมก็ไม่มีอะไร แต่วันสุดท้ายของค่าย (30 ส.ค.58) ซึ่งมีการลงพื้นที่โดยแบ่งน้องเป็นกลุ่มๆ ลงไปแต่ละชุมชน เพื่อเรียนรู้ชุมชนเรียนรู้ภูมิปัญญาและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของชุมนุม โดยระหว่างทางที่เดินก็มีรถกระบะขับมาโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบถ่ายภาพเด็ก พี่เลี้ยงและทีมงานค่ายด้วย สอบถามกับชาวบ้านก็ยืนยันว่าเป็นทหารชุดที่อยู่ที่ผาหนุ่มผาสาวใกล้พื้นที่ จากนั้นเมื่อกลับมาที่วัด ชาวบ้านก็แจ้งว่ามีทหารมาคุยกับเจ้าอาวาสที่วัด พร้อมทั้งพยายามเดินเข้าไปศาลาที่ทำค่ายอยู่ แต่มีชาวบ้านคอยขวางไม่ให้เข้าจึงไม่สามารถเข้ามายังศาลาได้

การที่เจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปและพยายามมาดูค่ายในวัดนั้น สังคมบางส่วนอาจมองว่าเป็นการสร้างความอุ่นใจที่มีฝ่ายความมั่นคงมาดูแล แต่สำหรับวศินีมองว่า ความจริงแล้วพื้นที่ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร ถ้าเขารู้การข่าวมีประสิทธิภาพว่าจะเกิดความรุนแรง หากเขารู้ขนาดนั้นก็ควรที่จะจัดการกับคนที่จะใช้ความรุนแรง ไม่ใช่มาทำแบบนี้กับพวกเรา หรือเข้ามาคุยกันตรงๆ กับเราก็ได้ ไม่ใช่มาแบบนอกเครื่องอย่างนี้

“แค่จัดค่ายมันจะมีความรุนแรงอะไร” วศินี ตั้งคำถาม

จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่พยามเข้ามาแทรกแซงการทำกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ วศินี บอกว่า รู้สึกว่ามันตลก ไม่เข้าใจว่ากลัวทำไม 

ภาพเด็กนำเสนอแผนที่ชุมชนที่กลุ่มพวกเขาไปทำในค่าย

ยันชี้แจงชัดเจนตั้งแต่ ปลาย มิ.ย. ไม่เข้าใจค่ายเด็กต้องขออนุญาต

วศินี ยืนยันว่าครั้งแรกเมื่อปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โดนเลื่อนจัด ก็ลงไปและมีการคุยกันที่โรงเรียนบ้านห้วยผุก มีทั้ง ผอ.โรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน สันติบาล ทหาร มีการคุยและแจ้งชัดแล้วว่าเรามาทำอะไร จะมีเนื้อหาอะไรบ้าง

“เราไม่เข้าใจว่าทำไมการจัดค่ายเยาวชนต้องขออนุญาตฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง” วศินี กล่าว

วศินี ตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า มันมากเกินไปหรือไม่กับแค่ค่ายเยาวชนที่ก็ทำกันมานานแล้ว มีการทำค่ายในลักษณะนี้เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ชุมชนอยู่หลายพื้นที่เป็นปกติอยู่แล้ว ทำไมตอนนั้นไม่ต้องขออนุญาต แต่ตอนนี้กลับต้องขออนุญาต

“ขนาดไหนที่เรียกเป็นภัยต่อความมั่นคง” วศินี ตั้งคำถามทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท