Skip to main content
sharethis
คำว่า “ปาตานี” (Patani) หรือที่ในภาษามลายูถิ่นออกเสียงว่า “ปตานี” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมและเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง ซึ่งกล่าวรวมๆ ได้ว่า คือพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคอาณาจักรปาตานีอันรุ่งเรืองเมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่แล้ว ก่อนที่จะถูกสยามยึดครองประมาณต้นยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมามีการแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็นเจ็ดหัวเมือง และแบ่งเป็นจังหวัดแบบปัจจุบัน 
 
 
ในขณะที่คำว่า ปาตานี ยังคงเป็นของแสลงสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและชาวไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมองว่า ปาตานี มีนัยยะทางการเมืองของการแบ่งแยกดินแดน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาคประชาสังคมชาวมลายูได้พยายามใช้คำนี้ในชื่อองค์กร และการจัดงานต่างๆ จนทำให้คำว่าปาตานีเป็นที่แพร่หลายและถูกยอมรับในวงกว้างมากขึ้น 
 
คำว่าปาตานี ปรากฎในข่าวล่าสุด เมื่อมีการเปิดตัวกลุ่ม มาร่า ปาตานี (MARA Patani) ซึ่งเป็นองค์กรร่มของขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อไทยบางสำนักปฎิเสธที่จะเรียกชื่อองค์กรตามชื่อที่ตั้ง แต่เปลี่ยนไปเรียกว่า “มาร่า ปัตตานี” แทน นอกจากนี้เมื่อเร็วๆ นี้ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวช่องสามเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อเธอใช้ “ประชาชนชาวปาตานี” เหล่าผู้วิจารณ์กล่าวว่า การเรียกเช่นนี้ไม่เหมาะสม และควรใช้ว่า “ประชาชนชาวไทย” จึงจะถูกต้อง
 
อนึ่ง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า ปาตานี หรือ ปตานี อาจมีรากมาจากคำว่า petani ซึ่งในพจนานุกรม ภาษามาเลย์ Kamus Dewan (Keempai edition) ให้ความหมายว่า เกษตรกร หรือ ชาวนา ส่วนคำว่า petanian แปลว่า เกี่ยวกับเกษตรกรรม (ดูฟุทโน้ต)
 
สไลด์จาก Deep South Watch 
 
อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมการใช้คำว่า ปาตานี ในภาคประชาสังคมและสื่อนั้นขัดแย้งกับผลการสำรวจของ Deep South Watch ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสามจังหวัดและสี่อำเภอจำนวน 2,104 คน พบว่า กว่า 63 เปอร์เซนต์เห็นว่าควรใช้ “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” 15 เปอร์เซนต์เห็นว่าควรใช้ “ฟาฎอนี” (ชื่อภาษาอาหรับของปาตานี) และมีเพียง 11.4 เปอร์เซนต์ที่เห็นว่าควรใช้ “ปาตานี” งานวิจัยชิ้นนี้สร้างข้อกังขาและการถกเถียงในหมู่ภาคประชาสังคมในสามจังหวัดเป็นอย่างมาก 
 
ประชาไทสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องห้าคน ได่แก่ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม ตัวแทนกลุ่มมาร่า ปาตานี, ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ชาวบาเจาะ, รักชาติ สุวรรณ์ แกนนำเครือข่ายคนไทยพุทธเพื่อสันติภาพ จาก จ.ยะลา, ณายิบ อาแวบือซา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมมลายู และ ซาฮารี เจ๊ะหลง บรรณาธิการกองข่าว สำนักสื่อวาร์ตานี ถึงความคิดเห็นของพวกเขาว่า ปาตานี คืออะไร ทำไมจึงมีกระแสอยากกลับมาใช้คำว่า ปาตานี ชาวปาตานีหมายถึงใคร และคำๆ นี้ทำไมถึงแสลงกับรัฐไทย
 
อนึ่ง ในวันที่ 14 ก.ย. เวลา 15.30 น. จะมีงานเสวนา ปาตานี ชื่อนี้สำคัญไฉน ณ สุเหร่า บ้านฮัจยีสุหลง อ.เมือง จ.ปัตตานี (อ่านรายละเอียด)
 

อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม

ตัวแทน มาร่า ปาตานี 

บ้านเกิด: จ.ปัตตานี
 
 
(ให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ) 
 
ปาตานี ใน มาร่า ปาตานี หมายความว่าอย่างไร? 
 
ปาตานี คือ พื้นที่ซึ่งเคยเป็น อาณาจักรปาตานีดารุสซาลาม ก่อนที่สยามจะเข้ามายึดครองในปี 2329 อาณาเขตของปาตานีครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา (อำเภอเทพา จะนะ สะบ้าย้อย นาทวี และสะเดา ซึ่งเป็นอำเภอที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) และยังรวมถึงรัฐกลันตันและตรังกานู ในบางช่วงเวลาอีกด้วย ด้วยเพราะสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ปี 2452 ซึ่งทำให้รัฐกลันตันและตรังกานูตกเป็นของอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับเอกราชในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียในปี 2500
 
เพราะฉะนั้น ในวันนี้เมื่อเราพูดถึง ปาตานี ในการสนทนาหรือเอกสารต่างๆ มันหมายถึง พื้นที่ซึ่งครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา (อำเภอเทพา จะนะ สะบ้าย้อย นาทวี และสะเดา ซึ่งเป็นอำเภอที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม)
 
ใครคือชาวปาตานี หรือ ปาตาเนียน
 
ปาตาเนียนคือพลเมืองของปาตานี โดยไม่สำคัญว่าเป็นชาติพันธุ์หรือศาสนาอะไร ในช่วงอาณาจักรปาตานีดารุสซาลาม นอกจากประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิมแล้ว ก็ยังมีชาวจีน ชาวสยาม ชาวยุโรป ชาวญี่ปุ่น ชาวชวา ชาวอาหรับ ชาวอินเดีย อีกด้วย มันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม พหุชาติพันธุ์ และพหุศาสนาเลยทีเดียว
 
ดังนั้นในวันนี้ เมื่อเราพูดว่า เราจะต่อสู้เพื่อประชาชนชาวปาตานี เราหมายถึงการต่อสู้เพื่อทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น และเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่เนื่องจากคนมลายูคือกลุ่มคนที่ต้องทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งมากที่สุด มันจึงเป็นธรรมดาที่เราให้ความสำคัญกับคนมลายู โดยที่เราก็ไม่ได้ละเลยสิทธิและความมีอยู่ของคนกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในปาตานี 
 
ทำไมคนไทยบางกลุ่มจึงรับไม่ได้กับการใช้คำนี้ 
 
คนไทยบางคนไม่สามารถยอมรับคำๆ นี้ได้ เพราะเป็นโรคไม่ยอมรับความจริง และปิดหูปิดตากับประวัติศาสตร์ พวกเขาคิดว่า ปาตานีเป็นของสยาม/ประเทศไทย มาโดยตลอด พวกเขาลืมถามสยามว่าได้ปาตานีมาได้อย่างไร? มันมาจากนโยบายการขยายอาณาเขตในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งมีการไปตีและยึดเมืองข้างเคียงเป็นเมืองขึ้น เช่น การไปตีลาวทางตะวันออกเฉียงเหนือ ล้านนาทางเหนือ เขมรทางตะวันออก มอญทางตะวันตก และปาตานีทางใต้
 
ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของปาตานี เริ่มต้นที่อาณาจักรลังกาสุกะในสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งเก่าแก่กว่าอาณาจักรสุโขทัยมาก ศูนย์กลางของลังกาสุกะตั้งอยู่แถบอำเภอยะรังในปัจจุบัน ซึ่งเรายังสามารถพบซากปรักหักพังของวัดพุทธ-ฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาของคนในยุคนั้น ได้
 
เมื่อเมืองถูกย้ายไปที่กรือเซะด้วยเหตุผลบางประการ ชื่อของอาณาจักรถูกเปลี่ยนเป็นปาตานี และเมื่อกษัตริย์และชาวเมืองรับอิสลามแล้ว วัดพุทธก็ถูกทอดทื้ง กฎหมายอิสลามถูกนำมาใช้ มัสยิดและปอเนาะถูกสร้างขึ้นจำนวนมาก แต่ผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์และศาสนาก็ยังอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
 
ในพุทธศตวรรษที่ 21 อยุธยาของชาวสยามก็ได้รุกรานปาตานีอีกครั้งแต่ก็ล้มเหลว แต่มาสำเร็จในยุคราชวงศ์จักรี สมัยรัชกาลที่ 1 ที่สามารถตีเมืองปาตานีได้ในปี 2329 ชาวปาตานีโดยเฉพาะชาวมลายูก็ได้เริ่มการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากนั้นเป็นต้นมา
 
เป็นเวลามากกว่า 200 ปีแล้วที่ชาวมลายูเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่ในช่วง 10-11 ปีที่ผ่านมาที่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ชาวไทยและชาวจีนก็กลายมาเป็นเหยื่อของความขัดแย้งเช่นกัน เพราะอะไร?
 
ก่อนหน้านี้ ชาวไทยและชาวจีนนั้นเป็นกลางในความขัดแย้ง พวกเขาไม่เลือกข้าง แต่ในช่วง 10-11 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยได้พยายามให้พวกเขาเลือกข้างรัฐ ดังนั้น เหล่าครู พระสงฆ์ คนพุทธ และคนจีน จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกลางอีกต่อไป แต่ถูกมองว่า อยู่ข้างรัฐไทยและบางส่วนก็ถูกฝึกให้จับอาวุธ นี่คือต้นเหตุที่ทำไมพวกเขากลายมาเป็นเป้าของการก่อการด้วยเช่นกัน 
 
 

ซะการีย์ยา อมตยา

กวีชาวมลายู, เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2553 

บ้านเกิด: อ.บาเจาะ จ.นราะธิวาส

 
คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ปาตานี’?
 
คำว่า “ปาตานี” ผมเพิ่งเห็นใช้กันมากขึ้นและแพร่หลายเมื่อสองถึงสามปีมานี้ เมื่อก่อนคำนี้เป็นคำต้องห้าม แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นคำค่อนข้างธรรมดาไปแล้ว พอมีคำว่าปาตานี ก็มีคำว่า Patanian (ชาวปาตานี) ไปด้วย อัตลักษณ์ของปาตานีนี่ก็ชัดเจนขึ้น คนในพื้นที่เอง โดยเฉพาะคนทำกิจกรรม ก็กล้าใช้คำนี้ และสื่อก็เริ่มใช้ แต่ก็ยังมีบางสื่อที่ไม่ยอมใช้อยู่ รวมๆ ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ทำให้เห็นว่า บรรยากาศเป็นไปในทางคลี่คลาย การใช้คำๆ นี้ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ปาตานี ไม่ใช่คำที่ชาวบ้านใช้กันจริงๆ เป็นคำทางการเมืองมากกว่า ซึ่งเซนส์ของมันหมายถึงอาณาเขต และลักษณะทางชาติพันธ์ุของคนในพื้นที่ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย และเป็นคนละอย่างกับคนมาเลย์ด้วยนะ มีเซนส์ของความเป็นเอกเทศ 
 
ผมรู้สึกว่าคำๆ นี้มันแพร่หลายเร็วมาก กลุ่มต่างๆ ที่ทำงานในสามจังหวัด ก็ใช้คำนี้หมดเลย และคำนี้ก็ไม่ได้ถูกขัดขวางด้วย ไม่ได้ถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้ ไม่ได้ห้ามก็คือยอมรับไปโดยปริยาย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า คนส่วนใหญ่ คนทั่วๆ ไปเขาไม่ได้ใช้คำนี้ คนที่ใช้คำนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกนักกิจกรรม นักรณรงค์เสียมากกว่า
 
เคยใช้คำว่า “ปาตานี” ในงานของตัวเองบ้างไหม? 
 
ใช้คำว่า “ปตานี”ในความหมาย ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ผมไม่เคยใช้ “ปาตานี” ในความหมายถึงพื้นที่ หรืออาณาเขต เพราะผมรู้สึกว่า มันไม่ใช่ศัพท์ดั้งเดิม (มิตรสหายบางคนบอกว่าปาตานีเป็นคำดั้งเดิมที่ถูกหลงลืมหรือทำให้ถูกลืม) เหมือนว่า อยู่ดีๆ คำนี้มันก็โผล่มา แต่ก่อนผมใช้ “ฟาฏอนี” นะ แต่สำหรับ “ปาตานี” ผมไม่รู้สึกกับคำๆ นี้มากพอที่เอามาใช้ในงานของผม มันเป็นคำที่ใหม่มาก และใช้ในหมู่คนมีการศึกษา พวกปัญญาชน ก็ขึ้นกับว่า เขาต้องการใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงอะไร 
 
สำหรับผม ผมรู้สึกว่า “ปาตานี” ไม่ใช่คำที่ผมจะใช้ เพราะมันมีเบื้องหลัง ผมรู้สึกว่ามันมีเบื้องลึกบางอย่างอยู่ เวลาผมเขียนงาน ผมต้องละเอียดกับการเลือกคำ ถ้าเราจะใช้คำสักคำ เราก็ต้องยอมรับมัน เข้าใจมัน คือตอนนี้ผมมีคำถามกับมันอยู่ ไม่ใช่ว่าผมไม่ยินดีที่คนอื่นเขาใช้คำนี้นะ แต่ตัวผมเองยังตะขิดตะขวงใจอยู่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมไม่มีส่วนร่วมในการสร้างคำนี้ ผมไม่ได้อยู่ที่นี่ตอนที่เขาสร้างมัน หากสักวันหนึ่งเมื่อผมรู้สึกกับคำๆ นี้จริงๆ ผมอาจจะใช้ในงานเขียนของผมก็ได้
 
มองคำว่า ปาตานี เป็นคำของขบวนการใช่ไหม? 
 
มันเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว จริงๆ มันก็เป็นคำดั้งเดิมในภาษามลายู แต่พอเขียนเป็นไทยว่า “ปาตานี” มันดูเป็นคู่ขัดแย้งกับ “ปัตตานี”  ในความรับรู้ของผม ตั้งแต่เด็กนั้นรู้สึกว่า พอเขียน “ปาตานี” เป็นไทยแล้วมันแปลกๆ แต่เขียนเป็นตัวยาวีก็ไม่แปลก อย่างถ้าชาวบ้านเขาจะระบุว่า เขามาจากพื้นที่ไหน เขาจะเรียกเป็นย่านๆ ไป ส่วนคำว่า “ปาตานี” ถ้าจะพูด ก็จะพูดในบริบททางการเมือง อยู่ดีๆ คงไม่พูด มันมีเวลาไหน ในชีวิตประจำวันบ้างล่ะที่ชาวบ้านจะพูดคำนี้ 
 

ณายิบ อาแวบือซา 

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมมลายู

บ้านเกิด: อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

 
ปาตานี หมายความว่าอะไร 
 
ปาตานี อนุมานได้ว่า คือพื้นที่สามจังหวัด แต่ไม่มีขอบเขตเป๊ะๆ ตามเขตจังหวัดขนาดนั้น มันเป็นคำเก่าที่ไม่มีเขตแดน โดยส่วนมากก็เข้าใจว่าคือสามจังหวัด บางทีลามเข้าไปในมาเลเซียด้วยซ้ำ สำหรับผม ปาตานีไปถึงแค่ไหน ผมดูที่คนมากกว่า คำว่า ออแฆตานิง หรือ ชาวตานิง ก็คือชาวปาตานี แต่ว่า เวลาเขียนว่า ปาตานี ให้ความรู้สึกเป็นของใหม่ในภาษาไทย ถ้าเราพูดมลายู มันไม่ใช่ของใหม่อะไร จริงๆ เราพูดว่า ปตานี ไม่มีเสียงสระอา แต่พอเขียนใส่ สระอา เลยให้ความรู้สึกใหม่ คำๆ นี้มันมีมานานก่อนมีเส้นพรมแดนด้วยซ้ำไป คำว่า ชาวปาตานี ก็เป็นซับเซท (subset) ของคำว่ามลายูอีกที ไม่ต่างอะไรจากการพูดว่า ชาวโคราช ชาวล้านนา  อาจมีคนตั้งแง่ว่า พอพูดว่าปาตานี จะหมายถึงการแบ่งแยก หรือ เขตการปกครองหรือเปล่า ผมว่าเราอย่าไปคิดในแง่ความมั่นคงอย่างเดียว
 
สำหรับผม ชาวปาตานี ไม่ใช่แค่คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ที่นี่ แต่คือคนดั้งเดิม คนท้องถิ่น ของที่นี่ด้วย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติพันธุ์ ศาสนาใดก็ตาม
 
คนดั้งเดิมนี่กำหนดอย่างไร พอจะบอกได้ไหมว่า “คนดั้งเดิม” นั้น หมายถึงครอบครัวของเขา ควรจะอยู่ที่นี่มากี่รุ่น หรือมีประวัติศาสตร์ร่วมกับพื้นที่นี้ตั้งแต่ยุคสมัยใด 
 
คงเอาอะไรตายตัวไม่ได้ แต่ผมคิดว่า น่าจะนับเอาการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นตัวตั้ง เพราะหลังปี 2475 การปกครองของไทยถูกรวมศูนย์มากขึ้น และรัฐไทยก็โยกย้ายคนนอกเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก คือก่อนหน้านี้ก็มีการโยกย้ายคนเป็นปกติอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่นโยบายรัฐหลังปี 2475 ทำให้มีการนำคนนอกเข้ามาขนานใหญ่ รัฐสร้างนิคมให้คนเหล่านั้นมาอยู่ แล้วเขาก็อยู่แต่ในนิคม ชุมชนของตัวเองโดยที่ไม่ได้มาสุงสิงกับคนท้องถิ่น ผมถือว่านี่ไม่ใช่คนท้องถิ่น ถึงเขาอยู่มาสามสิบปีแล้วก็ยังถือว่าใหม่ไป ประวัติศาสตร์ร่วมก็ไม่มี ซึ่งในที่นี้ ผมรวมถึงมุสลิมที่มาจากที่อื่นด้วย 
 
อะไรคือความเป็นปาตานี 
 
อัตลักษณ์ความเป็นปาตานี อัตลักษณ์ในที่นี้ ผมไม่ได้มองอย่างแคบๆ ว่าคือ ว่าว กริช เรือกอและ อะไรแบบนั้น แต่คือรสนิยม ความชอบแบบคนปาตานี เช่น เราชอบตากผ้าเพ่นพ่าน เราไม่ค่อยแต่งบ้านให้สวยงาม แต่เราชอบแต่งตัวให้ดูดี อะไรพวกนี้คือรสนิยมของเราชาวปาตานี ซึ่งก็ต่างจากคนมลายูที่อื่นด้วย
 

รักชาติ สุวรรณ์

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ 

บ้านเกิด: จ.ยะลา

 
คนไทยพุทธในพื้นที่คิดอย่างไรกับการเรียกพื้นที่นี้ว่า ปาตานี 
 
คนไทยพุทธในพื้นที่นี้ไม่ค่อยรู้จักคำนี้เลย ผมคิดเองว่า คนมลายูมุสลิมเขารู้คำนี้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ และผ่านการบอกเล่า แต่พอเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ก็มีการตั้งกำแพงระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิม   พอมีคำว่าปาตานี คนไทยพุทธก็ยิ่งตั้งกำแพงไปใหญ่ และมองด้วยอคติว่า ปาตานีมันแปลว่า เอกราช แปลว่า แยกดินแดน
 
ส่วนตัวแล้วยอมรับคำๆ นี้หรือไม่
 
ตอนที่ผมเข้ามาทำงานภาคประชาสังคมแรกๆ พอได้ยินคำพวกนี้ เช่น ปาตานี นักล่าอาณานิคมสยาม ผมก็รับไม่ได้ พอเวลาผ่านไปก็มองว่ามันเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ถ้าใครอยากใช้ก็เป็นเรื่องของเขา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเอกราช สำหรับผม ถ้าพูดว่า “ปาตานี ไทยแลนด์” ก็โอเค แต่ถ้าบอกว่า เป็น “ประเทศปาตานี” ไม่ยอมแน่นอน ถ้าเอาไปใช้ในเรื่องเอกราชได้ คนไทยพุทธไม่ยอมแน่
 
ผมก็เคยถามในวงเสวนาว่า ชาวปาตานีนี่หมายรวมถึงคนพุทธด้วยไหม ถ้าเขาไม่ยอมรับว่า คนไทยพุทธเป็นปาตาเนียนล่ะ คุณจะดูแลพวกเราอย่างไร คำถามพวกนี้ต้องได้รับการชี้แจงก่อนใช้คำนี้ ภาคประชาสังคมใช้คำนี้กันเยอะแล้ว บางสื่อก็เริ่มใช้ พอคนไทยพุทธรับสื่อที่มีคำว่าปาตานี เขาก็ข้องใจ พูดว่า “ดูสิ ขนาดสื่อยังยอมเลย ใช้คำนี้ด้วย” ผมว่าเรื่องคำนี่เป็นเรื่องเก่าแล้ว พี่น้องมลายูใช้กันมานานแล้ว แต่มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยพุทธ 
 
ก็มีคนไทยพุทธที่ตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องใช้ปาตานี ในเมื่อเรามี ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ผมก็ถามว่าเขาว่า ถ้าใช้ชื่อเก่าของยะลาว่ายาลอ จะโอเคไหม เขาก็บอกว่า จะเปลี่ยนทำไม ในเมื่อมียะลาอยู่แล้ว 
 
คนไทยพุทธมองว่าคำนี้เชื่อมโยงกับขบวนการปลดแอกเอกราชหรือไม่ 
 
คนพุทธส่วนใหญ่มองว่า ปาตานีเป็นคำของขบวนการ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกดินแดน คนมุสลิมที่ใช้คำนี้บ่อยๆ ก็จะถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ
 
แล้วจะทำให้ชาวไทยพุทธเปิดใจกับคำว่าปาตานีได้อย่างไร?
 
ผมคิดว่าต้องมีเวทีให้ความรู้กับคนพุทธที่ให้ความรู้ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของพื้นที่นี้ อย่างน้อยก็จะคลี่คลายไปเปลาะหนึ่ง เพราะเมื่อเราเข้าใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ เราก็เข้าใจพี่น้องมลายูมุสลิมมากขึ้น  
 
อะไรคือความเป็นปาตานี
 
คงต้องมองที่ประวัติศาสตร์ เราอย่าเพิ่งไปมองที่ประวัติศาสตร์ความเจ็บปวด แต่น่าจะมองที่ประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาในพื้นที่นี้ อย่างที่ผมเคยศึกษา ก็พบว่าคนมลายูพุทธก็มี การแต่งกายคล้ายกัน ใช้ชีวิตคล้ายกัน แต่คนพุทธอาจแขวนพระ คนมลายูพุทธไม่คลุมผ้า เป็นต้น 
 

ซาฮารี  เจ๊ะหลง 

บรรณาธิการกองข่าว สำนักสื่อวาร์ตานี

บ้านเกิด: อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

 
 
ปาตานี หมายความว่าอะไร 
 
ปาตานี  เป็นคำที่ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดและห้าอำเภอในจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่ขบวนการปลดปล่อยอ้างว่า คือรัฐชาติที่ถูกสยามผนวกในสมัยก่อน สัญญาสยาม - สหราชอาณาจักร (สนธิสัญญาแองโกล-สยาม ปี 2452 เริ่มดำเนินการเจรจาสัญญาตั้งแต่ปี 2445 ใช้เวลาเจ็ดปีจึงสิ้นสุดกระบวนการ ผลปาตานีตกเป็นของประเทศสยามบริบูรณ์ตามแบบรัฐชาติสมัยใหม่)
 
ปาตานี เป็นคำของ ขบวนการปลดแอกเอกราชหรือไหม?
 
ไม่ใช่นะ มันมีมาแต่เดิม ในเอกสารเก่าๆ ก็ใช้คำนี้ แต่ไทยมาแบ่งแยกเป็นจังหวัด สมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดให้ใช้คำว่ามนฑลเทศาภิบาล ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ใช้คำว่าเจ็ดหัวเมือง จังหวัดมาใช้เมื่อไหร่ไม่แน่ใจ ต้องไปดูช่วงประวัติศาสตร์ มันคาบเกี่ยวกับ ช่วงปฏิวัติ 2475 ด้วย อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มีข้อมูลเรื่องนี้ ท่านเขียนในหนังสือ ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ สยาม-ปาตานี 
 
อย่างคนไทยพุทธเขาก็มีคำถามว่า ก็มีคำเรียกว่า สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ก็ดีอยู่แล้ว จะไปเรียกชื่อเก่าทำไม? 
 
เราอยากเรียกปาตานี เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน ว่าเราคือคนปาตานี เราไม่ใช่คนไทย เหมือนที่เวลาเราไปต่างประเทศ เราจะบอกชาวต่างชาติว่าเราคือ คนปาตานี อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย 
 
คนไทยพุธถือเป็นคนปาตานีไหม
 
พวกเขาก็เป็นคนปาตานีเหมือนกัน แต่นับถือศาสนาพุทธ อาจเรียกว่าเป็น คนปาตานีพุทธ เพราะ คำว่า ปาตานี รวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ มันเป็นคำที่รวมบริบทของประวัติศาสตร์ร่วม มากกว่าเชื้อชาติ และศาสนา มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองในพื้นที่นี้ร่วมกัน เหมือนประเทศไทย มีล้านนา มีมอญ มีลาว 
 
กำหนดได้ไหมว่า ครอบครัวๆ หนึ่งต้องอยู่ที่นี่กี่เจนเนอเรชั่นขึ้นไปจึงนับเป็นชาวปาตานี? หรือครอบครัวของเขามีประวัติศาสตร์ร่วมกับที่นี่ตั้งแต่ยุคไหน
 
คำถามนี้ น่าสนใจมาก เรื่องนี้ไม่กล้าตอบเหมือนกัน คงต้องมาคุยร่วมกัน หลายๆ ฝ่าย  
 
แต่มองว่า ปาตานี นี่มีความหลากหลายมากกว่า คนมลายู มุสิลม ใช่ไหม
 
ใช่ๆ มันรวมถึงคนจีน คนไทยพุทธในพื้นที่ แต่ถ้าตามผลสำรวจของ Deep South Watch ประชาชนส่วนใหญ่ยังชอบใช้ ชื่อสามจังหวัดชายแดนใต้ 60 เปอร์เซ็นต์กว่านะ
 
แปลกใจไหมกับผลสำรวจของ Deep South Watch?
 
ก็เป็นที่กังขาอยู่เหมือนกัน
 
----------------
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net