Skip to main content
sharethis

ในขณะที่ประเทศแถบยุโรปกำลังรับมือกับผู้ลี้ภัยจากซีเรียจำนวนมาก ประเทศญี่ปุ่นถูกมองว่ายังไม่เปิดรับผู้ลี้ภัยมากเท่าที่ควรจากปัญหานโยบายคนเข้าเมืองที่เข้มงวดและไม่ปรับตามโลก โดยนักกิจกรรมชี้ว่าการเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้าญี่ปุ่นจะช่วยแก้ปัญหาประชากรขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้

ค่ายผู้ลี้ภัยซีเรียที่ชายแดนตุรกี (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

10 ก.ย. 2558 สำนักข่าวเจแปนไทม์รายงานว่าในขณะที่ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นยังคงวางตัวอยู่ห่างจากปัญหานี้มาก จากที่พวกเขารับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศเพียง 11 คน ในปี 2557 ซึ่งในเนื้อข่าวระบุว่าญี่ปุ่นสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้มากกว่านี้

ในสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากประเทศที่หนีตายจากความรุนแรงในตะวันออกกลางโดยเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อปักหลักบนพื้นที่ๆ เป็นแผ่นดิน สหประชาชาติประเมินว่าตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนอย่างน้อย 850,000 คน พยายามเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อเข้าถึงฝั่งทวีป

ทางสำนักข่าวเจแปนไทม์ระบุว่าจำนวนตัวเลขผู้ลี้ภัยจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนี้ชวนให้ญี่ปุ่นต้องหันมาพิจารณานโยบายการรับผู้ลี้ภัยที่เข้มงวดของพวกเขารวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะให้เงินช่วยเหลือในระดับนานาชาติจำนวนมากโดยจัดเป็นผู้บริจาคมากเป็นอันดับ 2 ให้กับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในปี 2557 แต่ก็ไม่ค่อยเปิดรับผู้ลี้ภัยโดยในปีเดียวกันพวกเขาให้การรับรองผู้ลี้ภัยเพียง 11 คนจากที่มีผู้ขออนุญาตลี้ภัย 5,000 คน

ในปีก่อนหน้านี้คือ 2556 ญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเพียง 3 คน ซึ่งเป็นการรับภายใต้วีซ่าที่เรียกว่า "การพิจารณาเชิงมนุษยธรรม" แต่ก็เป็นวีซ่าที่มีปัญหาเนื่องจากเป็นการยากที่ผู้ลี้ภัยจะให้ครอบครัวพวกเขาเข้าไปลงหลักปักฐานในญี่ปุ่นได้เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเช่นการเรียนภาษาและการฝึกอาชีพด้วย

สำนักงาน UNHCR ในญี่ปุ่นระบุว่าในช่วงที่กำลังมีวิกฤตผู้ลี้ภัยเช่นนี้พวกเขาหวังว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีนโยบายรัฐผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะจากซีเรียเพิ่มขึ้นในฐานะการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระและความรับผิดชอบของนานาชาติ รวมถึงเป็นการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย โดย UNHCR เสนอให้ญี่ปุ่นมีการให้วีซ่าอย่างเสรีมากขึ้น ส่งเสริมให้ครอบครัวผู้ลี้ภัยย้ายมาอยู่ด้วยกันได้ และมีแผนการด้านการจ้างงานผู้ลี้ภัย

เจแปนไทม์รายงานอีกว่ามีผู้ประสงค์ลี้ภัยชาวซีเรียรายหนึ่งฟ้องร้องทางการญี่ปุ่นว่าทางการญี่ปุ่นมีการนิยามคำว่า "ผู้ลี้ภัย" ในแบบเข้มงวดและล้าหลังเกินไปเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และนโยบายเช่นนี้ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ชิโฮะ ทานากะ ผู้ประสานงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสมาคมญี่ปุ่นเพื่อผู้ลี้ภัยเปิดเผยว่าในขณะที่ประเทศแถบยุโรปมีการนิยามผู้ลี้ภัยในความหมายที่กว้างขึ้นเพื่อรองรับวิกฤตผู้ลี้ภัยตามแนวทางของ UNHCR แต่วิธีการนิยามผู้ลี้ภัยของญี่ปุ่นมีความเข้มงวดโดยไม่ปรับตัวตามประเทศอื่นๆ หรือตามสถานการณ์ของโลก

ทางด้านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นโต้แย้งในประเด็นนี้ว่าพวกเขาพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยตามแนวทางที่ระบุว่าผู้ลี้ภัยต้องเป็นผู้ที่ถูกปราบปรามลงโทษหรือกลัวว่าจะถูกปราบปรามลงโทษในทางเชื้อชาติ, ศาสนา, สัญชาติ, ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การหนีตายจากพื้นที่สู้รบเพียงอย่างเดียวจึงไม่ถูกจัดเป็นผู้ลี้ภัยในมุมมองของทางการญี่ปุ่นปัจจุบัน แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะส่งตัวผู้ขอลี้ภัยกลับประเทศ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลชินโซ อาเบะ เคยสัญญาว่าจะให้เงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่หนีตายจากกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มไอซิสในซีเรียและอิรัก แต่ก็ถูกวิจารณ์เรื่องไม่เปิดประตูรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากประเทศเหล่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างออสเตรเลียเปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 ก.ย.) ว่าพวกเขาจะรองรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียและอิรักเพิ่มขึ้น 12,000 คน จากเดิมที่รับผู้ลี้ภัยอยู่แล้วปีละ 13,750 คน

มิเอะโกะ อิชิกะวะ ผู้อำนวยการจากองค์กรประชาคมเพื่อผู้ลี้ภัยญี่ปุ่นกล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นขาดความโปร่งใสในเรื่องการให้เงินช่วยเหลือและล้มเหลวในการตั้งเป้าหมายและกำหนดหนทางแก้ไขปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัยซีเรีย อิชิกะวะกล่าวอีกว่าประเทศญี่ปุ่นมักจะรับผู้ลี้ภัยที่มีชื่อเสียงที่ตกเป็นเป้าการปราบปรามและมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น แต่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่มีชื่อเสียง

อิชิกะวะกล่าวอีกว่าการเปิดรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยแรงงานของญี่ปุ่นที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมถึงอาจจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในญี่ปุ่นด้วย โดยอิชิกะวะอ้างความสำเร็จก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2521-2548 ที่มีการรับผู้ลี้ภัยจากแถบอินโดจีนมากกว่า 11,000 คน จนทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนระดับรากหญ้าในญี่ปุ่นได้ และการพัฒนาระดับรากหญ้าดังกล่าวก็ยังจะส่งผลให้ผู้ลี้ภัยจากซีเรียสามารถหลอมรวมเข้ากับสังคมญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้นด้วยเนื่องจากมีเครือข่ายคอยชั่วเหลือสนับสนุนอยู่แล้ว เช่น กลุ่มชุมชนชาวมุสลิมที่ทำให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ฮาลาลและศาสนสถานได้ง่ายขึ้น

ในส่วนของทานากะกล่าวว่าถึงแม้การรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียจะเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทั้งสังคมญี่ปุ่นและตัวผู้ลี้ภัยเอง แต่เขาเชื่อว่าการรับผู้ลี้ภัยจะทำให้สังคมญี่ปุ่นได้ประโยชน์ เพราะผู้ลี้ภัยที่ปักหลักอยู่เป็นเวลานานจะมีแรงกระตุ้นในการทำงานสูงและถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีในที่ทำงาน

 

เรียบเรียงจาก

Europe’s approach to Syria exodus contrasts with Japan’s dodging of refugees, Japan Times, 10-09-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net