เสวนาวิกฤตการเมืองมาเลเซีย ชี้ 3 กลุ่มใหญ่เคลื่อนชิงอำนาจ แต่ไม่จบด้วยรัฐประหาร

รายงานเสวนา “วิกฤตการเมืองมาเลเซีย” นักวิชาการชี้ชุมนุม 'Bersih 4.0' ประชาชนต้องการให้นาจิบลาออก-จัดเลือกตั้งใหม่ที่ขาวสะอาด เปิด 3 กลุ่มใหญ่ที่เคลื่อนไหวชิงอำนาจ แต่ไม่จบด้วยรัฐประหารแน่นอน

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ “วิกฤตการเมืองมาเลเซีย Political Crisis in Malaysia” ณ ห้องมินิเธียเตอร์ หอสมุดจอห์นเอฟ เคเนดี้ โดยมี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู และ ดร.ไฟซอล หะยีอาวัง เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก

ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ได้เกริ่นนำสถานการณ์การเมืองในมาเลเซียที่มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในนาม 'Bersih 4.0' ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี 'นาจิบ ราซัก' ลาออก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ก่อนที่การชุมนุมจะยุติลงไปอย่างเรียบร้อยในช่วงก่อนเที่ยงคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2558 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมเฉลิมฉลองในงานวันฉลองเอกราชของประเทศมาเลเซียในวันรุ่งขึ้น

จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้โยนคำถามไปยังวิทยากรทั้งสองคน อาทิ ทำไมเราควรรู้ความเป็นไปของการเมืองมาเลเซีย? เหตุใดอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด ร่วมชุมนุมครั้งนี้ด้วย? จุดจบของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะเป็นอย่างไร? หรือการเมืองมาเลเซียจะมีผลต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหรือไม่? เป็นต้น

ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู กล่าวว่า การเมืองการปกครองของประเทศมาเลเซียต่างกันกับการเมืองการปกครองของประเทศไทย เพราะมาเลเซียปกครองแบบสหพันธรัฐ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ และมีมุขมนตรีแห่งรัฐหรือสุลต่านเป็นหัวหน้ารัฐบาลท้องถิ่น โดยนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา มาเลเซียมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 6 คน โดยที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 เป็นบุตรชายคนโตของ “ต่วนอับดุลราชัค บิน ฮุสเซ็น” นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย

ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวว่าต่อไปว่า มาเลเซียได้รับการชื่นชมอย่างมากจากประเทศทางฝั่งตะวันตกหรือทางฝั่งตะวันออกเองที่มาเลเซียใช้ระบอบการปกครองแนวทางประชาธิปไตยในการนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันการเมืองมาเลเซียกลับพบกับวิกฤติ ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวผู้นำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน การชุมนุม 'Bersih 4.0' ก็เกิดจากประชาชนที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกและมีการเลือกตั้งใหม่ที่ขาวสะอาด

“การเมืองมาเลเซียมีพรรคอัมโนครองอำนาจมาอย่างยาวนาน หากอัมโนวางตัวผู้ที่จะเป็นผู้นำไม่ดีการพัฒนาประเทศก็จะมีปัญหา การที่อดีตนายกฯ มหาธีร์ โมฮัมหมัด ออกมาร่วมชุมนุม 'Bersih 4.0' ด้วย ก็เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนเพราะเขามีส่วนในการเลือกตัวนายกฯ คนปัจจุบัน แม้ว่าบิดาของนายกฯ คนปัจจุบันจะมีบุญคุณในทางการเมืองกับมหาธีร์ก็ตาม” ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว

ผศ.ดร.วรวิทย์ มองว่าการเมืองมาเลเซียมี 3 ฝ่ายที่น่าสนใจ คือ ฝ่ายพรรคอัมโน ฝ่ายพรรคปาส และฝ่ายหัวก้าวหน้า ซึ่งตนมองว่าสองพรรคแรกยังคงเคลื่อนไหวในทางการเมืองแบบเดิมๆ ส่วนฝ่ายหัวก้าวหน้ามีการทบทวนอยู่ตลอดและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกได้

“แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเมืองมาเลเซียจะไม่จบลงด้วยการเกิดรัฐประหารเหมือนประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน เพราะทหารของมาเลเซียเข้าใจหน้าที่ของตัวเองดีว่ามีขอบเขตแค่ไหน และประชาชนของมาเลเซียเองก็มีแนวคิดที่จะให้ประเทศพัฒนา ซึ่งไม่ยอมที่จะให้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารเพราะจะทำให้ประเทศไปสู่ความล้าหลังได้” ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว

ขณะที่ ดร.ไฟซอล หะยีอาวัง ได้เสริมถึงลักษณะการดำเนินการเมืองของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคปาสว่า เป็นแนวทางการเมืองอิสลามที่เน้นการเชื่อมโยงการเมืองให้เข้ากับอัตลักษณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับอิสลาม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่กรอบการตัดสินใจทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการสานต่อสู่เยาวชนรุ่นใหม่ให้มีการเคลื่อนไหวบนฐานของความรู้มากขึ้น ด้วยกับแนวคิดที่ว่าสร้างคนก่อนแล้วการเข้าสู่การปกครองจะตามมา

“อย่างไรก็ตามในกรณีของ Bersih 4.0 แม้ว่าพรรคปาสจะไม่ได้ออกตัวสนับสนุนอย่างเต็มที่  แต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคเข้าร่วม และในอนาคตหลังจากนี้ รูปแบบของการเมืองในมาเลเซียจะเป็นอย่างไร ก็อาจจำเป็นต้องตระหนักถึงแนวคิดตามแนวทางอิสลามประกอบไป พร้อมๆกับการฟื้นฟูระบบต่างๆ อย่างรอบด้าน” ดร.ไฟซอล กล่าว

“เหตุผลที่เราควรให้ความสนใจการเมืองมาเลเซียเพราะมีพี่น้องในชายแดนใต้/ปาตานีทำมาหากินในประเทศมาเลเซียจำนวนมาก ทั้งยังผูกพันในเชิงชาติพันธุ์และบางส่วนก็เป็นเครือญาติกัน และที่ผ่านมาอดีตนายกฯ มหาธีร์ ก็เคยพูดถึงเหตุการณ์ตากใบในช่วงรัฐบาลทักษิณด้วย” ดร.ไฟซอล กล่าว

ดร.ไฟซอล กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่สำคัญ มหาธีร์ เคยกล่าวว่าอยากเห็นพี่น้องในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี มีการพัฒนาด้วยกระบวนการในทางวิชาการ โดยยกตัวอย่างกรณีการสร้างโครงการปัตตานีจายา ที่เขามองว่าควรที่จะมีการพัฒนาลักษณะนี้ในทุกจังหวัด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท