Skip to main content
sharethis

3 ก.ย. 2558 - รายการ "รัฐธรรมนูญไทย 101" กับ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอนแรก ตอบคำถามเรื่องสำคัญว่าทำไมจึงต้องเรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง การฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า

โดยบัณฑิตยกวาทะของ "หยุด แสงอุทัย" นักวิชาการกฎหมายมหาชน ว่าเหตุใดจึงต้องศึกษารัฐธรรมนูญว่า

"ข้าพเจ้ารู้สึกว่ายิ่งรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกหรือถูกแก้ไขเพิ่มเติมบ่อยครั้งเท่าใด ความจำเป็นที่พี่น้องชาวไทยจะต้องศึกษาวิชารัฐธรรมนูญนี้ก็มีมากขึ้นเท่านั้น แม้รัฐธรรมนูญจะได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าการศึกษารัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปจะไม่มีประโยชน์ ข้าพเจ้าเห็นว่าการศึกษารัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกนี้ มีประโยชน์ยิ่งกว่าการศึกษารัฐธรรมนูญต่างประเทศเสียอีก เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเราจริงๆ และเราย่อมได้พบประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้รัฐธรรมนูญนั้นๆ โดยตัวของเราเอง และทำให้เรามีโอกาสเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังจะร่างขึ้นใช้ใหม่"

นอกจากนี้ โทมัส เพน นักปรัชญาคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ยังกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎหมายของรัฐบาล แต่เป็นกฎหมายของประชาชนเพื่อสถาปนารัฐบาล รัฐบาลที่ไร้รัฐธรรมนูญ ก็เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจ แต่ปราศจากสิทธิในการปกครอง

บัณฑิตกล่าวด้วยว่า ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่า รัฐทุกรัฐจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับความชอบธรรมในการใช้อำนาจ การมีรัฐธรรมนูญสะท้อนการมีความชอบธรรมของผู้ปกครองในที่สุด การมีรัฐธรรมนูญหรือไม่มีรัฐธรรมนูญในระดับของชุมชนนานาชาติมีความสำคัญ เพราะทุกวันนี้รัฐไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องไปสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะฉะนั้นการมีพันธะสัญญาต่อประชาชน การมีรัฐธรรมนูญในด้านหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนภายในรัฐ แต่อีกด้านหนึ่งเป็นพันธะสัญญากับนานาชาติว่าประเทศนี้ปกครองด้วยหลักกฎหมาย และหลักการนั้นผูกพันกับประชาชนอย่างไรบ้าง ถูกใช้ ถูกจำกัดอย่างไร จึงเป็นพันธะสัญญา ถ้าเขาทำการค้าขายกับประเทศเรา คำถามคือเขาจะเข้าใจกฎ กติกาที่เราใช้หรือไม่ ใช้กฎหมายอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไหม คนของประเทศเขาจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งก็เป็นพันธะสัญญา ที่ต่างประเทศให้ความสนใจในความหมายที่เป็นกติกา

อีกประการคือความชอบธรรมของผู้ปกครองในการใช้อำนาจ ต้องมีกฎหมายรองรับ ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับก็ไม่มีความชอบธรรม ถ้าไม่มีลายลักษณ์อักษรรองรับ ก็จะกลายเป็นอำนาจที่ไม่มีขีดจำกัด การมีรัฐธรรมนูญจึงเป็นการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ก็จะปรากฏเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ โดยชุมชนต่างประเทศนานาชาติจะก็ดูเนื้อหารัฐธรรมนูญว่าประเทศเรามีอารยะ ในแง่การมีสิทธิ เสรีภาพของปวงชนหรือไม่ นี่คือหลักพื้นฐานของการมีรัฐธรรมนูญ บัณฑิตกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net