Skip to main content
sharethis

2 ก.ย. 2558 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แถลงภายหลังประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งหารือร่วมภาคเอกชน ว่า นายกรัฐมนตรีกำชับ 4 ประเด็น คือ ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะราคาอาหารและของใช้จำเป็น โดยกำชับให้มีการจัดทีมลงพื้นที่ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและเอกชน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หากพบการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคให้ดำเนินการทันที พร้อมทั้งจัดทำตลาดกลางสินค้าทุกภูมิภาคและตลาดกลางย่อยแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าที่จำเป็นให้ทั่วถึงพื้นที่มากขึ้น โดยเน้นเฉพาะสินค้าจำเป็นเพื่อไม่ให้เป็นการแข่งขันกับภาคเอกชนและให้ดูแลราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และปาล์ม โดยร่วมกับเอกชนประคองราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออก เน้นเจาะตลาดเชิงลึกที่มีศักยภาพร่วมกับเอกชนและให้ทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศในการออกไปเจรจาการค้าและให้เอกชนจับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมปัญหาและอุปสรรคเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา โดยรัฐจะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เอกชนสามารถทำการค้าระหว่างประเทศคล่องตัวมากขึ้น ผลักดันการค้าภาคบริการ รวมทั้งการผลักดันและประชาสัมพันธ์การทำตลาดอี-คอมเมิร์ซร่วมกับภาคเอกชน และการส่งเสริมตลาดในประเทศ โดยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการเปิดตลาดในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตสินค้าใหม่ ๆ โดยต้องเร่งส่งเสริมสนับสนุนการเสริมสร้างภาคธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะรับหน้าที่ไปปรับแนวทางส่งเสริมอย่างเต็มที่ แม้จะมีปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเป็นปัญหามาก แต่เชื่อว่าหากสามารถสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาดีได้เช่นกัน และอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออกภาครัฐพร้อมที่จะแก้ไขและอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนไทยอย่างเต็มที่

โดย อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าหลังจากรับมอบนโยบายวันนี้จะเร่งหารือกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดแผนปฏิบัติการ เพื่อให้เห็นผลภายใน 3 เดือน

กกร.เสนอ 8 มาตรการกระตุ้น ระยะสั้น-กลาง

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาและช่วยให้เศรษฐกิจสามารถหมุนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเห็นผลเร็วมาก และช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ดี คาดว่า จะเห็นผลได้ภายใน 3 เดือนหลังการขับเคลื่อนมาตรการ ซี่งกกร.มองผลการขับเคลื่อนว่า ควรนำไปสู่ภาคชุมชนและนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กกร.เตรียม ข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะสั้น 4 มาตรการ ประกอบด้วย การเพิ่มศักยภาพ ให้กับ SME ได้แก่

1.ปรับลดอัตราภาษีเงินได้ให้ SME เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ SME ของภาครัฐ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ ดำเนินการลดอัตราภาษีเงินได้ สนับสนุนให้มีการใช้Software ทางบัญชีที่ได้มาตรฐาน และการฝึกอบรม SME จัดทำบัญชี

2.การผลักดันการค้าชายแดน โดยกำหนดเป้าหมายการค้าชายแดนที่ 2 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 2ปี (ปี 2560)  จากปัจจุบันมูลค่าการค้าชายแดนที่ 1.4 ล้านล้านบาท พร้อมกับขยายบทบาทหน้าที่ของพาณิชย์จังหวัด เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนเข้าสู่ตลาดเป้าหมายและครอบคลุมการค้าข้ามแดนให้ถึงเมืองหลักของประเทศเพื่อนบ้าน และควรจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า / SME Outlet ในพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ

3.การส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ให้มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้กกร.ยังเสนอ ให้ตั้ง “ทีมเศรษฐกิจ” ของจังหวัด โดยมีผู้แทนภาคเอกชน3 สถาบัน(กกร.)เพื่อดูแลเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เนื่องจากจุดแข็งของแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน และยังสามารถประสานงานกับส่วนกลางได้อย่างใกล้ชิด

4.การสร้างกำลังซื้อภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร โดยเร่งรัดการระบาย Stock ข้าว  อย่างน้อยร้อยละ 50 เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ

ส่วนข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะกลาง (6-12 เดือน) เสนอ 4 มาตรการ ประกอบด้วย

1.การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการสนับสนุนเกษตรกร ทั้งด้านการผลิตและการตลาด

2.การปรับวิธีการสรรหาผู้แทนการค้าไทย โดยให้ กกร. ร่วมในการจัดสรรหา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

3.สนับสนุนโครงการ Product Champion เพื่อยกระดับธุรกิจ SME ให้มีการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน  และเติบโตเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ได้ และ

4. การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการภาครัฐ  โดยการสร้างกลไกในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเน้นเรื่อง Ease of Doing Business / การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ โดย กกร. ยินดีจะเข้าไปร่วมหารือเพื่อการปรับปรุงกระบวนขับเคลื่อนการทำงานที่สำคัญ ต่อเนื่องจากการบังคับใช้  พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกภาครัฐ ที่ได้ออกมาแล้ว

บัณฑูร ล่ำซำ เชื่ออัดฉีดเงินถึงตำบล ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้

ขณะที่ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาท ของรัฐบาล โดยเฉพาะเงินกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นยาแรงที่สุดและสามารถอัดฉีดถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด เพราะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันต้องมีเงินหัวเชื้อเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยมีเงินใช้จ่าย กระตุ้นการค้าขายให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยผ่านทางธนาคารของรัฐซึ่งสามารถรับความเสี่ยงได้สูง

อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อไม่ให้มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นเงินที่รัฐบาลรับภาระแทนประชาชนไว้ทั้งหมดเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ได้

“มาตรการนี้ถือเป็นยาแรงที่สุดเพราะฉีดเงินได้ถึงที่ ลงถึงผู้มีรายได้น้อย ในระดับตำบล ซึ่งก็หวังว่าจะสามารถกระตุ้นได้ระดับหนึ่ง หากการใช้เงินไม่ผิดประเภท”  บัณฑูร กล่าว

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net