Skip to main content
sharethis

“จริงๆ แล้ว ‘ภูเก็ตหวาน’ คำว่า หวาน มาจากคำว่า วัน เป็นคำทับศัพท์ เนื่องจากมีเว็บนึงเขาจดทะเบียนแล้ว เราก็เลยใช้คำทับศัพท์ phuketwan ม็อตโต้ของเรา คือ Sweet Phuket Every day  เราไม่ได้เป็นคนภูเก็ต คุณอลัน (มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน) ก็ไม่ได้เป็นคนไทยหรือคนภูเก็ต แต่เรามาทำมาหากินในจังหวัดภูเก็ต เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคนภูเก็ต ที่อยากจะพัฒนาภูเก็ตให้มันดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ให้ได้รับการแก้ไข เราก็เลยนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา โดยผ่านสื่อในระดับมาตรฐานสากล

“เราไม่ได้อยากนำเสนอข่าวที่เป็นเรื่องการโปรโมท ซึ่งปกติมีอยู่แล้วโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น เช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดภูเก็ต หรือแมกกาซีนต่างๆ ที่เขาก็มีอยู่แล้ว แต่ในทาง ‘ภูเก็ตหวาน’ เราก็อยากนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การคอร์รัปชัน การทุจริต การบุกรุกพื้นที่สาธารณะ การจัดระเบียบชายหาดต่างๆ พวกนี้ เพื่อที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาต่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ช่วยให้แก้ปัญหา” ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน เล่าถึงที่มาของชื่อ “ภูเก็ตหวาน”

ชื่อของเว็บข่าว “ภูเก็ตหวาน” เป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังถูกกองทัพเรือฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่บทความ ซึ่งอ้างอิงเนื้อหาตอนหนึ่งจากรายงานรางวัลพูลิตเซอร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อปี 2556 ในบทความดังกล่าวพาดพิงถึงกองทัพเรือของไทยโดยระบุว่ากองทัพเรือมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์และมนุษย์เรือ (Boat People)

1 ก.ย. 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ต อ่านคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่กองทัพเรือโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องอลัน มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ชาวออสเตรีเลีย และ ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์ ระบุว่า ประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา คำพิพากษาระบุว่า ข้อความตามฟ้องในคดีนี้เป็นข้อความที่จำเลยนำมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับและสามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่าผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สจะตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นความจริงก่อนเผยแพร่ การที่จำเลยอ้างอิงข้อความมาจากรอยเตอร์ส ไม่ได้เขียนเอง จึงไม่ถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ส่วนประเด็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ปรากฏว่าข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างมาจากรอยเตอร์สเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง นอกจากนี้เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้แล้ว

ชุติมา เล่าย้อนไปตอนหยิบงานของรอยเตอร์สมาอ้างอิงว่า ตอนนั้น เธอไม่ได้คิดถึงประเด็นเรื่องจะถูกฟ้องเลย 

"ภูเก็ตหวานได้ทำข่าวเกี่ยวกับโรฮิงญามาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว และก็ได้มีการรายงานมาอย่างต่อเนื่อง แล้วก็เราเห็นว่าข่าวที่เราได้นำเสนอนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยควรที่จะรับรู้ และก็เจ้าหน้าที่ก็ควรที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง เราก็เลยนำเสนอข่าวเรื่องนี้" เธอบอกและว่า "เราสนใจมาตั้งแต่ปี 2552 ถือว่าเป็นสื่อแรกของคนไทยที่ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรฮิงญา เนื่องจากว่าเราเห็นแล้วว่า ในประเด็นนี้เป็นปัญหา ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่มันเป็นปัญหาของอาเซียนด้วย แล้วก็เข้าใจว่าตรงนี้ ปัญหาตรงนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะว่าตัวเคสโรฮิงญาเองเนี่ย เขาเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ และก็ดูเหมือนว่าทางสหภาพเมียนมาร์เขาก็จะยังไม่ยอมรับคนเหล่านี้เป็นพลเมืองของเขา ซึ่งมันก็สร้าง ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนเอง"

ชุติมา เล่าว่า ก่อนหน้านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือและสำนักข่าวก็ทำงานร่วมกันด้วยดีมาตลอด เวลากองทัพเรือมีกิจกรรมอะไรต่างๆ ภูเก็ตหวานก็เข้าไปเสนอข่าว รายงานข่าว ประชาสัมพันธ์ให้ตามปกติ ก็เหมือนสำนักงานข่าวทั่วไปที่ทำงานกัน แต่ก่อนจะฟ้องร้องคดีนั้น ทางกองทัพเรือไม่เคยมาคุยด้วยเลย 

"แม้กระทั่งเราจะโทรเข้าไปสัมภาษณ์ กับท่านผู้บัญชาการกองทัพเรือภาค 3 ท่านพลเรือโท ธราธร ขจิตสุวรรณ ท่านก็ไม่ได้รับสาย หรือตอบรับการสัมภาษณ์ใดๆ จนกระทั่งเราทราบข่าวว่าทางกองทัพเรือประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับทางภูเก็ตหวาน ในข้อหาหมิ่นประมาท กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ทำให้กองทัพเรือเสื่อมเสียชื่อเสียง" เธอกล่าวและว่า ทั้งที่ ที่ผ่านมา มีการสัมภาษณ์ข่าว เขียนข่าว รายงานข่าวนี่ล่ะค่ะ อย่างตรงไปตรงมาตลอด ไม่ได้มีการโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ หรืออคติ ทำงานร่วมกันโดยดีมาโดยตลอด

"จริงๆ แล้วประเด็นเรื่องโรฮิงญา ครั้งแรกที่เราได้ยินคำว่าโรฮิงญาเนี่ยก็มาจากกองทัพเรือภาคที่ 3 เป็นคนที่ให้สัมภาษณ์ แล้วก็ยังมีข้อเรียกร้องให้กับทาง UN ให้ออก reaction เพื่อที่จะร่วมแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ หรือว่าการอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติของโรฮิงญา เมื่อปี 2552 ด้วยซ้ำไป"

ชุติมา ระบุว่า ตอนที่รู้ว่าโดนฟ้องนั้น รู้สึกผิดหวังกับการแสดงออกในลักษณะที่ทางรัฐใช้กฎหมาย คุกคาม ปิดปาก สิทธิเสรีภาพของผู้สื่อข่าว โดยมองว่ามันเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของนักสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวที่เป็นคนไทยเอง หรือว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นชาวต่างชาติที่มีการทำงานอยู่ในประเทศไทย ตรงนี้สุดท้ายแล้วการที่ทางรัฐเอากฎหมายมาฟ้องคดีในลักษณะนี้ คนที่เสียผลประโยชน์จริงๆ ก็คือชาวบ้านประชาชนคนทั่วไปที่จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงหรือว่าข้อมูลข่าวที่ตรงไปตรงมา หลักการก็คือเพื่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ตรงนี้มันเป็นพื้นฐานของประเทศที่มุ่งหวังปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การถูกฟ้องร้องจากกองทัพเรือส่งผลให้เกิดความยากลำบากทั้งการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เธอบอกว่า มันส่งผลถึงความเชื่อถือจากแหล่งข่าวต่อสำนักข่าว

"ในฐานะที่กองทัพเรือเป็นกองทัพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทุกคนก็เชื่อมั่นในความดี ความมีศักดิ์ศรี ที่ดีของทางกองทัพเรือ ก็อาจจะเป็น message อย่างนึงว่าถ้าคนเหล่านี้ไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐจริง เขาก็จะไม่ฟ้องไม่มาดำเนินคดีในลักษณะแบบนี้ ซึ่งมันทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจ มโนภาพให้กับสังคมทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด ในตรงนี้มันก็ยากที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตโดยปกติมีความลำบากมากขึ้นตรงนี้ และก็ในระยะแรกเนี่ยเหมือนกับว่าทำลายขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว ทำให้เกิดความหวาดกลัวในระยะแรกค่ะ แต่ว่าก็ต้องขอบคุณกำลังใจเพื่อนสื่อทั้งท้องถิ่น ทั้งต่างประเทศ ประชาชนคนทั่วไป ผู้ที่อ่านข่าว องค์กรเอ็นจีโอต่างๆ Human Rights Watch ต่างๆ ที่ได้ให้กำลังใจ และสนับสนุนเรามาโดยตลอด ทำให้เรามีแรงสู้ เหมือนเป็นน้ำที่หล่อเลี้ยงให้เราสู้ได้จนถึงวันนี้" ชุติมาระบุ

ตลอดกระบวนการจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษานี้ เว็บไซต์ภูเก็ตหวานได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสิทธิหลายแห่ง อาทิ สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ที่ออกแถลงการณ์ประณามการดำเนินคดี  สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยถอนข้อกล่าวหาต่อ 2 ผู้สื่อข่าว ทั้งหมดนี้ ชุติมามองว่า เป็นเพราะต่างชาติให้ความสำคัญสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งในกรณี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะสื่อเพียงอย่างเดียว แต่มันส่งผลกระทบถึงประชาชนชาวไทย หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่มีถิ่นพำนักมาหากินอยู่ที่นี่ด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก แล้วก็ทุกคนมุ่งหวังที่จะเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การแสดงออกทางด้วยเสรีภาพ ทางด้านความคิดต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์ อย่างตรงไปตรงมา ไร้อคติ และเป็นธรรม ตรงนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ในการที่จะนำพาประเทศ หรือว่าที่เราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่อไป หรือที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในสิ่งอื่นๆ

ขณะที่ส่วนของประเทศไทยนั้น เธอมองว่า การให้การรณรงค์ หรือการให้ความเห็น หรือความสำคัญตรงนี้ คิดว่ายังมีน้อยมาก แม้กระทั่งสื่อกระแสหลักของไทยเอง ควรที่จะมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ในประเด็นนี้ให้มากเกี่ยวกับเรื่องการบังคับใช้กฎหมายโดยผิดเจตนารมณ์

"ปัจจุบันนี้ ประเทศไทย คนในสังคมเริ่มใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แบบหมิ่นประมาทฟ้องควบคู่กันไป เราจะเห็นตามว่าในโพสต์เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นั่น นู่น นี่ นั่น ไม่พอใจอะไรกันก็ฟ้องด้วยข้อหา หมิ่นประมาท ร่วมกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งมันเป็นการเข้าใจผิด ตรงนี้สื่อกระแสหลักของไทยจะช่วยได้เยอะ เพื่อที่จะลบสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ให้มันน้อยลงไป สร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่บังคับใช้กฎหมายและประชาชน ไม่ใช่ว่าเอะอะก็จะปรับฟ้อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ร่วมกับหมิ่นประมาท ซึ่งมันเป็นคดีอาญา ซึ่งมันเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดเจตนารมณ์โดยสิ้นเชิง" ชุติมากล่าว

นอกจากประเด็นเรื่องการใช้กฎหมายให้ถูกเจตนารมณ์ เธอตั้งข้อสังเกตจากคดีนี้ในเรื่องของข้อหาหมิ่นประมาท โดยย้ำว่า จะต้องจับหลักให้ได้ก่อนว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องของสาธารณะประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้เป็นการให้ร้าย เธอนำเสนอข่าวเพื่อให้มีการตรวจสอบ รับรู้ รับทราบ ปัญหาร่วมนี้กัน ไม่ใช่เป็นปัญหาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของสังคมร่วมกัน พร้อมทั้งหวังว่า คดีนี้จะเป็นอานิสงส์กับเคสอื่นๆ ด้วย มันก็จะเป็นมาตรฐาน ในการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์ วิจารณ์ ในประเด็นต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

เมื่อถามถึงบทเรียนจากการทำหน้าที่สื่อในครั้งนี้ ชุติมาบอกว่า เพื่อนสื่อท้องถิ่นเองก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป อย่างบางคนก็มองว่า ช่างกล้าที่จะนำเสนอข่าวนี้นะ ช่างกล้าที่จะไปให้ร้าย ท.ร. ซึ่งจริงๆแล้วสื่อหลายคน ในตัวสื่อเองก็ยังไม่เข้าใจในหน้าที่ของสื่อ ตรงนี้เป็นประเด็นที่กังวลมาก

"การทำหน้าที่สื่อคุณไม่จำเป็นว่า คุณกล้า หรือไม่กล้า แต่คุณต้องรู้ว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร ถึงแม้ว่าประเด็นนั้นจะมีความล่อแหลม หรืออันตราย คุณก็ต้องมีจรรยาบรรณของคนที่จะคอยให้ข้อมูลข่าวสารที่มันเกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่เรานำเสนอเพราะเรากล้า เพราะเราอยากดัง ต้องนำเสนอเพราะมันเป็นหน้าที่ ถ้าเราเห็นประเด็นเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นในสังคม เราไม่สามารถที่จะเงียบ หรือนิ่งเฉยต่อปัญหาอย่างนี้

"เราเลือกที่จะนำเสนอ เพราะเรามั่นใจว่าหนึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ และต้องการที่จะให้ปัญหาเหล่านี้ที่จะได้รับการแก้ไข สมมติว่าทางข่าวนี้เสนอไปตั้งแต่ปี 2556 ถ้าเจ้าหน้าที่ลงมือทำการสำรวจ ตรวจสอบอย่างเข้มข้น เชื่อว่าโรงฮิงญาหลายคนรู้ว่า หากอพยพทางเรือหลายคนก็จะไม่จบชีวิตลงที่แคมป์กลางป่า ตามตะเข็บชายแดนมากมายอะไรขนาดนั้น" เธอทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net